“เริ่มจากการนั่งรถอันยาวนานทรหด ตั้งแต่จากร่วมๆเที่ยงคืน หลังจากที่ออกจากสนามบินที่นิวเดลี โดยการขึ้นรถรับจ้างเถื่อน ขณะฝนตก รถไม่มีแอร์ แถมยังเหม็นกลิ่นน้ำมันอีกต่างหาก ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่รถมาเสีย แบตเตอรี่หมด เข็นกันอยู่หลายรอบ จนในที่สุดพวกเราจึงตัดสินใจเปลี่ยนรถ มาเป็นอีกยี่ห้อหนึ่งชื่อ Ambassador ที่ผลิตในอินเดียเอง บนถนนรถแข่งกันขับเป็นว่าเล่น บีบแตรกันสนั่นหวั่นไหว… นั่งรถกินเวลาทั้งหมด 12-14 ชั่วโมงได้ เพราะมาถึงดารัมศาลา (Dharamsala) เอาเมื่อตอนบ่ายสองบ่ายสามของอีกวันหนึ่ง…ยาวนานมาก ระหว่างทางหลับๆตื่นๆมาตลอด ผ่านชนบทที่ไม่คิดว่าจะได้มาพบเห็นอีก ตลอดระยะทางเกือบๆ 500 กิโลเมตร รถบรรทุกมีให้เห็นตลอดทาง ด้านหลังทุกคันเขียนว่า Horn Please หรือไม่ก็ Blow Horn มิน่าถึงได้ใช้แตรกันแบบไม่บันยะบันยังแบบนั้น ผ่านกลางคืนมาได้ ก็เริ่มมองเห็นสองข้างทางเป็นทุ่งนา ทุ่งทานตะวัน ทุ่งดอกมัสตาร์ด แหล่งชุมชน วัว ควาย ม้า ล่อ แพะ มีให้เห็นตลอดทาง จะว่าไปก็สวยงามดีอยู่หรอก แต่ใจก็ต้องมานั่งตุ้มๆต่อมๆกับการเริ่มหลับในเป็นพักๆของโชเฟอร์ เฮ้อ…ถนนหนทางแม้จะไม่ใช่ทางอย่างดี แต่ก็ดูร่มรื่น แปลกหูแปลกตา น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง…จนเส้นทางเริ่มไต่เข้าเข้าสู่ดารัมศาลานี่แหละ ที่เริ่มมองเห็นเทือกเขาส่วนหนึ่งของหิมาลัยที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี และเข้าสู่เมืองเล็กๆบนขุนเขา ผ่านลำธารน้ำสีเขียวเพราะเป็นน้ำที่ละลายมาจากหิมะ อากาศสะอาดสดใส วิวสวยจับใจ และยิ่งดูดีมากกับชาวพื้นเมืองในชุดส่าหรีเดินไปมาอยู่ในทุ่ง… แล้วในที่สุดพวกเราก็เริ่มเข้าสู่เขตเมืองที่ดูเป็นทิเบตมากกว่าอินเดีย เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น Little Lhasa เมืองที่เป็นที่พำนักของดาไลลามะองค์ปัจจุบัน เมืองที่เป็นที่ตั้งของที่ทำการของรัฐบาลผลัดถิ่นของทิเบต เมืองดารัมศาลา เมืองที่มีบรรยากาศดีๆ อากาศเยี่ยมๆ ฟ้าใส แดดสวย (อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,387 เมตร) มีเขาสูงๆสองเทือกหลักๆซ้อนกันให้เห็น เทือกแรกอยู่บริเวณเมืองที่พวกเราอยู่ เขียวครึ้มไปด้วยแนวสนเขา ส่วนเทือกหลังอยู่สูงขึ้นไปอีก เป็นบริเวณที่มีหิมะปกคลุม…”
นั่นคือบทบันทึกเริ่มการเดินทางที่ฉันเขียนไว้ เมื่อครั้งมาเยือนดินแดนแปลกถิ่นแห่งนี้ ฉันมาที่ดารัมศาลา โดยลืมความเป็นอินเดียไปเสีย ทั้งๆที่ตัวเมืองตั้งอยู่ในหุบเขา Kangra ในรัฐ Himachal Pradesh ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เนื่องจากชาวทิเบตผลัดถิ่นสองคนที่ฉันรู้จักชักชวนให้มาเยี่ยมเยือนถิ่นฐานดั้งเดิมที่พวกเขาเคยอยู่ (ปัจจุบันทั้งสองตั้งถิ่นฐานอยู่ในอเมริกาและแคนาดาแล้ว) พวกเขาเจ้ากี้เจ้าการรับฉันที่สนามบินและจับใส่รถแท็กซี่อินเดียทันทีที่ลงจากเครื่องบินเพื่อเดินทางไกลอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งสองคนเป็นไกด์จำเป็นของฉันตลอดการเดินทางในครั้งนี้อย่างไม่ต้องร้องขอ และไม่จำเป็นต้องหลบเลี่ยงแต่อย่างใด
พอมาถึง พวกเรารี่เข้าที่พัก อันได้แก่ Hotel Tibet (ซึ่งฉันมารู้ทีหลังว่า โรงแรมนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่ฉันพักนั้น เป็นห้องที่ริชาร์ด เกียร์ ดาราชื่อดังเคยเข้าพักมาก่อน เวลาที่มาเยี่ยมเยือนดาไลลามะและสถานที่แห่งนี้) และตรงเข้าอาบน้ำ กินข้าวกันโดยทันที เพราะนอกจากการแวะดื่มชาระหว่างทางแล้ว พวกเรายังไม่ได้สัมผัสน้ำและอาหารเป็นมื้อเต็มๆ เลยตั้งแต่ลงจากเครื่อง เมื่อปรับสภาพร่างกายให้สดชื่นสดใสได้แล้ว พวกเราจึงเริ่มออกสำรวจเมือง โดยสถานที่แห่งแรกที่ไม่ไปไม่ได้ เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว คือการเข้าไปนมัสการ ไหว้พระที่ Namgyal Monastery วัดที่ท่านดาไลลามะพำนักอยู่ และเป็นวัดหลักของที่นี่ อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยองค์ดาไลลามะที่ 3 ของทิเบตมาตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 16 และเป็นที่เผยแพร่ศาสนาของทิเบตมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อดาไลลามะองค์ปัจจุบันใช้ที่นี่เป็นที่ลี้ภัยตั้งแต่ทศวรรษ 1960 อารามแห่งนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาจนถึงปัจจุบัน พิธีกรรมต่างๆ ที่ฉันได้ประสบเป็นไปอีกลักษณะหนึ่งที่ดูไม่เป็นอินเดีย และไม่เหมือนพุทธแบบไทยๆ แต่ก็พอจะดูออกมาอะไรเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้ การเดินรอบศาสนสถาน 3 รอบ การสวด ภาพเขียนผนัง และอื่นๆ ที่ว่าแปลกดี ก็ตรงที่ตัวศาสนสถานเองดูเหมือนเป็นเพียงตึก ธรรมดาๆ ทาสีเหลืองภายนอก ดูไม่ฉูดฉาด หรือตกแต่งอะไรมาก เรียบง่ายดี ซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้สีกับภาพเขียนผนัง หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่สีออกแนวสดเข้ม ฉูดฉาดบาดตามากทีเดียว…อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะไม่ได้เจอองค์ดาไลลามะตัวจริง แต่การได้เห็นรูปขององค์ดาไลลามะ และบัลลังค์ที่นั่งของท่าน ก็ถือเป็นศิริมงคลมากทีเดียว ก็ในเมื่อไม่ว่าจะกี่วัดต่อกี่วัดในทิเบตเอง การมีรูปดาไลลามะองค์ปัจจุบันอยู่ถือเป็นของต้องห้าม ไม่เว้นแม้แต่การพกรูปติดตัวของบุคคลทั่วไป ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบเช่นในปัจจุบัน ฉันว่าการได้มาเยือนที่นี่ ยังมีโอกาสได้เห็นความเป็นทิเบตที่แท้จริง มากกว่าความเป็นทิเบตในลาซาที่ถูกรัฐบาลจีนเข้าครอบงำเสียอีก
ตกเย็นพวกเรากลับมานั่งเล่นจิบชาและรับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม โดยมีอาหารทิเบตเป็นตัวชูโรง โดยเฉพาะโมโม่ เกี๊ยวใส่ไส้ห่อกลมๆนำมาต้มหรือทอดเป็นอาหารจานหลัก ถึงแม้รสชาติจะจืดไปนิดสำหรับคนไทย แต่พริกที่มีวางอยู่ที่ร้านก็ช่วยให้รสชาติกลมกล่อมได้ไม่น้อยทีเดียว
วันต่อมาหลังจากพักผ่อนจากการเดินทางกันอย่างเต็มที่ พวกเราก็นั่งรถไป Norbulingka Institute ศูนย์รวมวัฒนธรรมทิเบต ที่สร้างโดยกรมศาสนาและวัฒนธรรมของรัฐบาลผลัดถิ่นทิเบต เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมศิลปและวัฒนธรรมทิเบต ไม่ให้สูญหายไปไหน ซึ่งชื่อของสถาบันเองก็มาจากชื่อของพระราชวังฤดูร้อนอันสวยงามขององค์ดาไลลามะในทิเบต ตัวตึกเป็นโครงสร้างแบบสถาปัตยกรรมทิเบต มีภาพเขียนผนังของดาไลลามะทั้ง 14 องค์ ฉันมีโอกาสได้ไหว้องค์พระพุทธรูป ดูพิพิธภัณฑ์หุ่นใส่ชุดประจำชาติของชาวพื้นเมืองเผ่าต่างๆของทิเบต มีวิวด้านหลังเป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ และซื้อสินค้าหัตถกรรมของเด็กชาวทิเบตผลัดถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในอินเดียแห่งนี้ จากนั้นเราแวะผ่านลำธารสายเล็กๆ พักผ่อนตามสบาย ก่อนเดินกลับเข้าไปที่ตลาดในเมือง McLeod Ganj บริเวณที่ถือเป็นดารัมศาลาตอนบน (เนื่องจากความสูงกว่าของดารัมศาลาตอนล่าง และห่างกันประมาณ 9 กิโลเมตร) อันถือเป็นศูนย์กลางของเมืองและศูนย์กลางชุมชนทิเบตก็ว่าได้ เมืองนี้ค่อนข้างพลุกพล่าน มีผู้คนและข้าวของที่มีทั้งแบบทิเบต และของอินเดียวางเรียงราย และเป็นศูนย์กลางการอพยพย้ายถิ่นของชาวทิเบต รวมถึงการมาเยือนของนักท่องเที่ยว และนักวิชาการจากหลากหลายอาชีพ ที่ต้องการศึกษาความเป็นทิเบตนอกพื้นที่ อย่างไรก็ดี เมืองนี้ตั้งอยู่บนเนิน การเดินขึ้นๆลงๆตามถนนที่สร้างไปตามทางลาดชันจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
วันถัดมา พวกเราใช้เวลาสบายๆทั้งวัน เดินจากตัวเมืองไปที่น้ำตก Bhagsunag เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรจาก McLeod Ganj เพื่อเป็นการเตรียมตัวซ้อมเดินก่อนจะเดินขึ้นเขาในอีกวันหนึ่ง ทางเดินเป็นทางหินที่เขาถูกเฉือนหรือจะว่าฝานก็ได้ เป็นแผ่นๆเอามาสร้างบ้าน บ้านที่เห็นระหว่างทางจึงเป็นการเรียงหินแผ่นบางๆวางซ้อนกัน ดูสวยแปลกตาดี เส้นทางยังผ่านทุ่งที่เขาใช้ปลูกพืชไร่ต่างๆ แบบขั้นบันได ผ่านสาวๆชาวบ้านที่ว่างจากการทำไร่ นั่งหาเห็บหาเหาให้กัน คนแก่ๆ แบกกองฟางข้าวขึ้นหลังเดินไปตามคันนาสูงๆต่ำๆแบบสบายๆจนฉันไม่กล้าเหนื่อย ตัวน้ำตกไม่ใหญ่ไม่โตอะไรมาก เป็นทางน้ำไหลจากที่สูงชัน มองเห็นวิวหุบเขาด้วย ตรงน้ำตกยังมีร้านของน้ำชาเป็นจุดๆ ดูน่ารักดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานฮินดูเล็กๆ และน้ำพุอยู่ทางด้านล่างของน้ำตกอีกด้วย เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้พื้นที่
การเทรคกิ้งจริงเริ่มขึ้นในวันต่อมา ไกด์จำเป็นของพวกเราใช้วีธีจ้างทัวร์ท้องถิ่นให้จัดการเรื่องอาหารและที่พักระหว่างทางให้ รวมถึงการขนของหนักๆ เต๊นท์พักแรม พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆด้วย การเทรคกิ้งย่อยๆแบบหนึ่งวันหนึ่งคืนนี้ เป็นการเดินขึ้นเขา Triund ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งพวกเราใช้เวลา เอ้อระเหยกันถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง เริ่มจากการเดินขึ้นเขาผ่านป่าสนและป่าต้นกุหลาบพันปี ที่ออกดอกสีแดงๆขาวๆกันสลอน พวกเราเดินเลาะเขาไปตามทางที่เห็นได้ชัดเจนเรื่อยๆ ระหว่างทางมีร้านขายน้ำเป็นระยะๆ ซึ่งก็มีราคาแพงขึ้นตามระยะเหมือนกัน ผ่านคนเลี้ยงแกะกับฝูงแกะ และแพะภูเขา ให้ได้ถ่ายรูปวิวโดยไม่เหงาเกินไปนัก ทางทัวร์ที่จัดเตรียมอาหารไว้ให้กลางทาง ตรงช่วงเวลาที่พวกเรากำลังหิวพอดี เรียกว่าพอไปถึงจุดพักกลางทางก็มีของให้รับประทานกันทันที ช่วงหลังๆของการเดินฉันเริ่มรู้สึกเหนื่อยเอามากๆ จนก้าวขาไม่ค่อยออกแถมเจ็บหัวเข่าอีกต่างหาก แต่พอขึ้นไปถึงจุดหมายปลายทาง ก็ต้องตะลึง! กับภาพภูเขาหิมะที่อยู่เบื้องหน้า เพราะมันตั้งตระหง่านอยู่ต่อหน้าจริงๆ ใหญ่โตและยิ่งใหญ่ เทือกเขาที่ฉันเห็นคือแนวเทือกเขา Dhauladhar ที่มียอดสูงสุดที่ 5,200 เมตรและเป็นแนวเทือกเขาแนวนอกที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย จุดที่ราบด้านบนที่พวกเราเดินถึงเป็นสนามหญ้าโล่งๆ มีหินเป็นหย่อมๆ ให้หาที่หลบทำธุระหนักเบาได้ตามอัธยาศัย โดยส่วนใหญ่จะหันหน้าเข้าหาภูเขาหิมะกันขณะปลดทุกข์ เป็นห้องน้ำธรรมชาติที่มีวิวดีที่สุดที่ฉันเคยเข้ามา ส่วนอีกด้านหนึ่งของลานที่พักก็จะมองเห็นวิวเมืองทางด้านล่าง อันได้แก่ดารัมศาลารวมทั้งเมืองเล็กๆอื่นๆที่ทอดตัวยาวออกไปไกลๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดพักแรมเอาตอนบ่ายๆ พวกเราก็ไม่รู้จะทำอะไรเนื่องจากจ้างทัวร์ให้ทำให้ทุกอย่าง (เรื่องการเตรียมที่พักและอาหาร) จึงได้แต่ถือโอกาสพักผ่อนชมวิว และก็นอนเอาแรงกันอย่างเต็มอิ่ม…จุดที่พวกเราอยู่บนเขา ที่เรียกว่า Triund ที่พวกเราอยู่นั้น อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2,842.26 เมตร สภาพเป็นเนินทุ่งหญ้าสอง สามเนิน ด้านหนึ่งเป็นทางเดินต่อขึ้นเขาสูงขึ้นไป ด้านหลังเป็นขุนเขา ที่สูงขึ้นไปอีก ที่ยอดมีหิมะปกคลุม ด้านหน้าเป็นวิวตัวเมืองและที่ราบด้านล่างอย่างที่อธิบายไปแล้ว กลางคืนมีแสงไปวอบๆแวบๆเห็นอยู่ลิบๆ…วันทั้งวันฉันได้แต่นั่งมองวิวทิวทัศน์ อย่างสบายอกสบายใจ ก่อนมุดเต๊นท์เข้าหาที่นอนอันอบอุ่นเมื่ออากาศเริ่มเย็นลงอย่างมากยามค่ำคืน เช้าวันต่อมา อาการเจ็บหัวเข่าที่ก่อตัวขึ้นตัวแต่วันวานทำให้ฉันอดเดินไปกับพรรคพวกเพื่อไปชมธารหิมะ ตรงแนวเขาสูงขึ้นไปตรงที่ยังมีธารหิมะเกาะค้างอยู่ตั้งแต่ฤดูหนาวที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ฉันก็ดื่มด่ำเต็มอิ่มเต็มที่กับแสงสียามเช้าที่ได้เห็น
ปัญหาใหญ่ของชาวเมืองอย่างฉันคือส้วมนั่นเอง ว่าที่จริงแล้ว บริเวณที่พักแรมกันนั้น ก็มีส้วมหลุมจัดเตรียมอยู่เหมือนกัน แต่เนื่องจากด้านบนไม่ค่อยมีน้ำ ส้วนหลุมที่ว่าจึงสุดจะทานทน จนพวกเราหันไปพึ่งส้วมธรรมชาติมากกว่า แม้ว่าจะเป็นส้วมที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามที่สุดเท่าที่อย่างที่กล่าวให้ฟังข้างต้น แต่ความเป็นจริงเบื้องต้นก็คือการหามุมสงบหลังก้อนหินที่มีอยู่เป็นหย่อมๆบนลานหญ้าโล่งๆนั่นเอง อันว่ามุมดีๆทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็มักมีกับระเบิดวางล่วงหน้าไว้ก่อนอยู่แล้วแทบทั้งนั้น สังเกตได้จากหย่อมกระดาษทิชชู่สีขาวโพลนตัดกับหญ้าเขียวขจีอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังต้องระวังมูลของสัตว์ต่างๆ ที่ผ่านทางเข้ามาและเล็มหญ้าบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพะ แกะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัวและจามรีอีกด้วย อย่างไรก็ดี โชคดีที่ช่วงที่พวกเราขึ้นไป มีคนไม่มากนัก ความเป็นไปได้ที่จะหามุมสงบปลดทุกข์ พร้อมความรื่นรมย์จากการชื่นชมธรรมชาติจึงไม่ถึงกับเป็นการลำบากลำบนจนเกินไปนัก กลับกลายเป็นประสบการณ์แปลกใหม่อันน่าสนุกสนานมากกว่า เมื่อเวลากลับมาเล่าให้ฟังกันถึงการสรรหามุมของแต่ละคนและสิ่งที่ได้พบเห็นก่อนทิ้งระเบิดกัน
การเดินลงเขาในเส้นทางเดิม ไม่เป็นอุปสรรคมากนักสำหรับคนแรงน้อยๆอย่างพวกเรา (ยกเว้นอาการเจ็บเข่าของฉัน) พวกเราใช้เวลาน้อยกว่าขาขึ้นมาก แต่ก็ได้พบสัจธรรมของความแรงของแดดบนที่สูงและความเย็นเยือกจากหิมะได้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละคนหน้าดำไหม้ไปตามๆกัน…เพราะด้วยความที่ไม่ได้เตรียมพร้อมกันมาก่อน
พวกเราแวะไปเที่ยวบ่อปลาศักดิ์สิทธิ์ที่ Dal Lake ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 3 กิโลเมตรก่อนแวะเยี่ยมหมู่บ้านเด็กทิเบต โรงเรียนเก่าของไกด์จำเป็นของพวกเรา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กกำพร้าและเด็กที่อพยพมาจากทิเบต ซึ่งมีนักเรียนในสังกัดเป็นพันๆคน และจุดชมวิวที่เมือง Naddi นั่งมองเทือกเขาเดียวกันแต่ในอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่างไปจากบริเวณที่พวกเราไปเยือนมา และที่ฉันชอบมากคือการแวะร้านน้ำชาบนยอดตึก (มีอยู่ทั่วไปในดารัมศาลาและเมืองใกล้เคียง) ที่สามารถจิบชาร้อนๆพร้อมดื่มด่ำกับทิวทัศน์ของขุนเขารอบตัวได้อย่างเต็มที่
เช้าวันกลับ ไกด์จำเป็นของเราขอแวะวัด Namgyal อีกครั้งเพื่อไปผูกธงภาวนาอันเป็นธงศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมตามความเชื่อของคนทิเบต เพื่ออธิษฐานขอพรก่อนลาจากบ้านเมืองที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยที่ตัวพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาอีกเมื่อไหร่ ก่อนพากันตีรถประมาณ 3 ชั่วโมงไปยังสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดที่ชื่อ Pathankot เพื่อขึ้นรถไฟตู้นอนชั้นสองทั้งคืนกลับเข้าสู่เมืองหลวงของอินเดียอันแสนสับสนวุ่นวายอีกครั้ง…