Homestay in Raja Ampat, West Papuan

Lionfish
Lionfish
Red Bird-of-Paradise
Red Bird-of-Paradise
Wobbegong
Wobbegong
Soft Corals
Soft Corals
Nudi
Nudi
Blacktip Reef Shark
Blacktip Reef Shark
Flatworm
Flatworm
Sandbar
Sandbar
Mambefor Homestay over the coral reef
Mambefor Homestay over the coral reef
Village kids
Village kids
Walking shark
Walking shark
Sunset in Raja Ampat
Sunset in Raja Ampat
Another beach on Gam Island
Another beach on Gam Island
Houses of migrants from Sulawesi.
Houses of migrants from Sulawesi.
Another homestay in Strait of Kabui
Another homestay in Strait of Kabui
Mangrove forest and coral reef
Mangrove forest and coral reef
Abundant coral reef under the hut
Abundant coral reef under the hut
Beautiful atmosphere
Beautiful atmosphere
Gum Bay
Gum Bay
Sawinggrai Village
Sawinggrai Village
Small Masuar Island
Small Masuar Island
Orchids
Orchids
Lumba Lumba Homestay
Lumba Lumba Homestay
Wooden hut on the beach
Wooden hut on the beach
Rufous-bellied Kookaburra
Rufous-bellied Kookaburra

“ฉันคิดไปเป็นชาวเกาะ มีชีวิตกลางแดดและคลื่นลม จะจูบอำลาสังคม แสงสีในเมืองนภา…” เนื้อเพลงเก่าเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนของคุณปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ดังก้องอยู่ในใจ ยามเมื่อฉันเดินทางไกล ไปนั่งๆนอนๆชิดติดทะเลบนเกาะอันห่างไกล บนเกาะที่ไม่มีอะไรมากในทางเทคโนโลยีแต่เต็มปรี่ด้วยสรรพชีวิตอันหลากหลายใต้ทะเลและในป่าบนเกาะ เนื่องจากบนเกาะที่ฉันไปไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าจากโรงงานผลิต ไม่มีร้านอาหารหรูริมหาดให้เข้าไปนั่งชิลล์และไม่มีอินเตอร์เน็ตให้เสพย์ สิ่งที่ฉันเตรียมไปจึงง่ายมาก เพราะไม่ต้องเตรียมอะไรไปมาก นอกจากเตรียมใจ…เตรียมใจไปพักผ่อนแบบเต็มๆ
หลังจากนั่งเครื่องบินสามต่อ จากกรุงเทพฯมาที่เมืองโซ-รง (Sorong) ต่อเรือเฟอรรี่ข้ามมาที่เมืองไวไซ (Waisai) บนเกาะไวเกียว (Waigeo Island) และนั่งเรือเล็กติดเครื่องยามาฮ่าหนึ่งเครื่องยนต์ฝ่าลมทะเลและแสงแดดอีกประมาณ 2 ชั่วโมงฉันก็เดินทางมาถึงที่พักบนเกาะแห่งหนึ่งในบริเวณหมู่เกาะที่เรียกกันว่าราชาอัมปัต (Raja Ampat) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนิวกีนี ในจังหวัดเวสต์ปาปัว (West Papua) (เดิมชื่อ Irian Jaya) ในเขตประเทศอินโดนีเซีย ฉันเชื่อว่าชื่อเมืองต่างๆที่ฉันกล่าวถึงและพื้นที่บริเวณดังกล่าวคงเป็นชื่อแปลกใหม่และน่างุนงงว่ามันอยู่ส่วนไหนของโลกกันแน่สำหรับหลายๆคน เอาง่ายๆ ลองนึกถึงภาพเกาะนิวกินี ที่มีรูปร่างคล้ายนกหรือไดโนเสาร์ หันหัวไปทางประเทศฟิลิปปินส์ มีหางยืดยาวออกไปในมหาสมุทรแปซิฟิคทางด้านบนของออสเตรเลีย “ราชาอัมปัต” ตั้งอยู่ตรงบริเวณแถวๆหน้าผากของหัวนกหรือไดโนเสาร์ที่ว่านั่นเอง ฉันได้ที่พักเป็นโฮมสเตย์ชื่อน่ารักว่าลุมบาลุมบ้า (Lumba Lumba) บนเกาะมาซัวน้อย (Small Masuar) หนึ่งในเกาะเล็กๆของกว่า 400 เกาะ บริวารของเกาะใหญ่สี่เกาะในพื้นที่ อันเป็นที่มาของชื่อพื้นเมือง “ราชาอัมปัต” (=กษัตริย์สี่องค์)
กระต๊อบไม้ของฉันยกเสาสูงอยู่ติดทะเล เวลาน้ำลงกระต๊อบจะอยู่บนหาดทราย หากเวลาน้ำขึ้นครึ่งหนึ่งจะเหมือนยื่นอยู่ในน้ำ เจ้าของโฮมสเตย์และญาติพี่น้องช่วยกันสร้างขึ้นโดยทำจากต้นไม้หลากชนิดที่หาได้บนเกาะและผนังและหลังคาใบจาก บนชายหาดยาวที่มีแค่กระต๊อบ 3-4 หลัง มีห้องน้ำรวมที่สร้างอยู่บนตัวเกาะ มีน้ำรองให้ตักอาบโดยต่อท่อมาจากบ่อน้ำบาดาลบนเกาะ น้ำจึงมีรสชาติกร่อยๆ ความจริงจะว่าเป็นโฮมสเตย์ก็ไม่ถูกนัก เพราะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับเจ้าของ แต่เป็นกระต๊อบแยกต่างหากที่เจ้าของสร้างให้นักท่องเที่ยว การมาพักจะรวมอาหารสามมื้อและเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำเปล่า (เจ้าบ้านจะซื้อและขนมาจากในเมือง) เสร็จสรรพ เพราะไม่มีร้านอาหารหรือตลาดให้ซื้อหาอะไรได้ในบริเวณใกล้เคียง ไฟฟ้าได้จากเครื่องปั่นไฟที่จะทำงานเฉพาะช่วงกลางคืน ฟังดูเหมือนว่าจะทุรกันดาร แต่ความจริงแล้วฉันได้แต่นั่งๆนอนๆ เล่นน้ำดูปะการังสบายๆ ถึงเวลาก็มีอาหารให้รับประทาน ไม่ต้องมาหุงหาให้ยุ่งยาก อาหารหลักที่นี่จะเป็นผักผัก ข้าว ไข่ ถั่ว ปลาหรือเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของขับเรือเข้าเมืองในช่วงไหนหรือมีชาวบ้านจับปลามาขายให้หรือเปล่า ทะเลหน้าบ้านเป็นแนวปะการังและหญ้าทะเลเป็นทางยาวสุดลูกหูลูกตาไปถึงเกาะข้างๆ เรียกว่าเดินออกจากบ้านไม่ถึงสิบก้าว ก็เจอแนวปะการังแล้ว เดดี้ (Dedy) เจ้าบ้านบอกว่าที่ตั้งชื่อโฮมสเตย์ว่าลุมบาลุมบ้า ซึ่งแปลว่า “โลมา” นั้น ก็เพราะในอ่าวหน้าบ้าน มักมีโลมาว่ายเวียนผ่านไปมาอยู่บ่อยๆ (ช่วงที่ฉันอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ได้เจอไปสองครั้ง)
ฉันเลือกมาอยู่ที่โฮมสเตย์นี้ในช่วงแรก เพราะเดดี้ดำน้ำลึกได้และรับพานักท่องเที่ยวออกไปดำน้ำด้วย มาถึงที่นี่แล้ว จะพลาดการดำน้ำได้อย่างไร ราชาอัมปัตเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามติดอันดับโลก ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลการสำรวจที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าที่นี่มีชนิดปลามากกว่า 1,300 ชนิด ซึ่งนับเป็น 75%ของชนิดปลาที่พบทั่วโลก ยังไม่รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆอีกมากมายมหาศาล อาจเรียกได้ว่าเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศแนวปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ บางคนถึงกับตั้งฉายานามให้ว่า “The Amazon of the Ocean” บริเวณนี้ยังเป็นเขตอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศ อินโดนีเซียประกาศให้พื้นที่นี้เป็นเขตรักษาพันธุ์ฉลามและกระเบนราหูแห่งแรกของประเทศ (Sharks & Manta Rays Sanctuary) ไม่น่าแปลกว่า เวลาที่ลงดำน้ำ ฉันจะได้เจอะเจอกับฉลามเป็นว่าเล่น อยากดูกระเบนราหูก็ไปดูได้ที่ Manta Point ซึ่งมีกระเบนหลายตัวโฉบผ่านเข้ามาให้ปลาเล็กปลาน้อยทำความสะอาดให้อยู่ตลอดเวลา ดงปะการังอ่อนสีสันสดใส ฝูงปลาขนาดใหญ่ และปลาแนวปะการังหลากสีสัน มีทั้งสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดอย่างฉลามขี้เซาหนวดเครารุงรังที่ชื่อ Wobbegong ไปจนถึงปลาตัวจิ๋วเท่าขี้เล็บอย่างม้าน้ำแคระ ราชาอัมปัตมีแหล่งดำน้ำมากกว่า 200 จุด เอาแค่สะพานท่าเรือที่หน้าหมู่บ้านเล็กๆตามเกาะต่างๆ ก็มีแนวปะการังสมบูรณ์ ที่น้ำยังใสแจ๋ว ฝูงปลาเป็นร้อยๆพันๆให้ได้เห็นโดยไม่ต้องลงไปดำน้ำด้วยซ้ำ แถมยังมีขยะให้เห็นน้อยมาก ชาวบ้านที่อยู่ตามเกาะต่างๆที่นี่ คงรู้ดีว่าแนวปะการังเป็นแหล่งหากินที่สำคัญที่สุดของพวกเขา เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งสัตว์น้ำที่ใช้เป็นอาหารแล้ว ยังเป็นจุดเรียกแขกให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเพื่อชมความงามบริสุทธิ์เหล่านี้อย่างไม่ขาดสาย เอาง่ายๆ ตกกลางคืน ยามเมื่อน้ำขึ้นมาจนถึงตัวกระต๊อบที่ฉันอยู่ หากเอาไฟฉายส่องมองลงไปที่น้ำทะเลด้านล่าง บางครั้งจะได้เห็นทั้งลูกฉลาม ลูกปลากระเบน และปลานักล่าขนาดใหญ่อื่นๆ แวะเวียนมาหากินเลาะอยู่ตามแนวหญ้าทะเลริมหาด บางครั้งก็มีงูทะเลดำผุดดำว่ายผ่านมา เรียกได้ว่า เห็นปลาฉลามและสัตว์ทะเลอื่นๆได้จากระเบียงหน้ากระต๊อบกันเลย
หลังจากอิ่มหนำกับการดำน้ำใต้ทะเลมาหนึ่งอาทิตย์ ฉันย้ายตัวเองไปยังโฮมสเตย์อีกแห่งหนึ่งบนเกาะกัม (Gam Island) โฮมสเตย์แห่งนี้สร้างอยู่บนสะพานท่าเรือที่ยื่นลงไปในน้ำ ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ฉันผันตัวเองจากความโดดเดี่ยวของโฮมสเตย์แห่งเดียวบนชายหาด มาอยู่เหนือน้ำที่ด้านล่างเป็นแนวปะการังล้วนๆ ตรงหน้าหมู่บ้าน เหตุผลก็เพื่อชมสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นชื่อเรียกของโฮมสเตย์ที่ฉันย้ายมาอยู่นี้ แมมเบอฟอร์ (Mambefor) เป็นภาษาพื้นถิ่นของที่นี่ ไว้เรียกชื่อนกปักษาสวรรค์ (Bird-of-Paradise) ที่มีสายพันธุ์หนึ่งอาศัยอยู่บนเกาะกัมแห่งนี้ และจากหมู่บ้านที่ฉันมาอยู่คราวนี้ เป็นจุดที่จะขึ้นไปดูนกปักษาสวรรค์ได้ง่ายที่สุด กระต๊อบที่ฉันอยู่เหนือทะเลคราวนี้ ยังคงสร้างด้วยไม้ แต่แตกต่างจากที่เดิมตรงที่ ไม่ได้เป็นกระต๊อบแยกเดี่ยวๆเป็นหลังๆ แต่สร้างเป็นกระต๊อบใหญ่หลังเดียว ข้างในแบ่งเป็นห้องเล็กๆ 5 ห้อง มีพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางร่วมกัน เช่นเดิมบ้านนี้มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น ตัวเจ้าของบ้านและครอบครัว มีบ้านแยกต่างหากอยู่ใกล้ๆกัน ส่วนห้องน้ำก็ทำไว้อยู่ในหมู่บ้านบนเกาะ (ไม่มีห้องน้ำเหนือทะเล) ต้องเดินตามสะพานไม้เข้าฝั่ง เมื่อฉันนั่งเรือขนของย้ายเกาะมาที่นี่ครั้งแรก มีเด็กในหมู่บ้านวิ่งเข้ามาต้อนรับอยู่หลายคน ทุกคนพยายามที่จะมาคุยด้วย แม้ว่าจะคุยกันคนละภาษาก็ตาม ฉันชอบตรงที่เด็กที่นี่ไม่รู้สึกขี้อายจนเกินไปจนแปลกแยกจากคนต่างถิ่น ในขณะเดียวกันก็ไม่มาแบมือขอนู่นขอนี่จากนักท่องเที่ยวเช่นกัน ฉันได้ภาษาท้องถิ่นมาหลายคำก็จากเด็กๆเหล่านี้ และยังรู้สึกประทับใจไม่หายเมื่อนึกถึงเวลาแดดร่มลมตก ฉันออกมานั่งเล่นที่สะพานไม้ข้างๆบ้านรับลมเย็นๆ รอดูพระอาทิตย์ตก เด็กๆเหล่านี้ก็วิ่งมานั่งชมวิว โบกมือกับเรือชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมาเป็นเพื่อน หากฉันเปิดเพลงจากโทรศัพท์ที่พกติดตัวไป เด็กๆก็เริ่มขยับตัวตามเพลงเป็นจังหวะ สักพักก็ลุกขึ้นเต้นตามประสาอย่างไม่เขินอาย…
เยซาย่า (Yesaya) เจ้าของแมมเบอฟอร์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ใต้ทะเลและการดำน้ำ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินป่าและหานก เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นวันหนึ่ง ฉันได้มีโอกาสเดินตามเจ้าของบ้านขึ้นไปที่ป่าที่อยู่หลังหมู่บ้าน เขาเดินเท้าเปล่าเคี้ยวหมาก พานำลิ่วขึ้นเขาไปในป่าที่ยังคงมืดมิด เพื่อพาไปรอดูดูปักษาสวรรค์ตัวเอกของเกาะนี้ Red Bird-of-Paradise นกสวยตัวสีแดง หัวเหลือง หน้าเขียวปีกแมลงทับ รูปร่างแปลกตา มาร้องประกาศอาณาเขตและเรียกคู่อยู่ที่ยอดไม้ในป่า เยซาย่ารู้จักจุดดูนกชนิดนี้ในป่าแห่งนี้อยู่หลายจุด หนังสารคดีต่างประเทศที่ถ่ายพฤติกรรมของนกตัวนี้แพร่ภาพไปทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็ได้เยซาย่าคนนี้หรือไม่ก็คนในหมู่บ้านที่นี่แหละพาไปถ่ายทำ รุ่งเช้า ยามเมื่อเริ่มมีแสง นกปักษาสวรรค์แดง สัญลักษณ์ของราชาอัมปัตก็มาส่งเสียงดังบนยอดไม้เหนือหัวที่ฉันรอดูอยู่ แม้จะต้องแหงนหน้าหาตัวกันสักนิด แต่ก็ไม่ผิดหวัง ฉันได้ยลโฉมนกสีสวยงามพฤติกรรมชวนหลงใหลตัวนี้อย่างไม่ยากเย็นนัก เสียดายในช่วงเวลาที่ฉันไป ไม่ใช่ช่วงจับคู่ จึงไม่มีโอกาสได้เห็นการอวดโฉมด้วยท่าทางอันงดงามป้อตัวเมียของนกตัวผู้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างนั้น ฉันยังมีโอกาสได้เห็นการเยื้องกลายอย่างเชื่องช้าและพรางตัวได้อย่างดีเยี่ยมของตัว Cuscus สัตว์เลี้ยงลูกนมคล้ายๆตัวนางอายบ้านเรา แต่เป็นสัตว์ที่มีถุงหน้าท้อง มีหางม้วนเป็นก้นหอย ตัวเป็นลายๆ หน้าตาน่าเอ็นดูไต่ยอดไม้อยู่ ถือเป็นความโชคดีอีกอย่างหนึ่งของฉันที่ได้เห็น เพราะปกติมันจะหากินเวลากลางคืน ยามเมื่อฟ้าสว่างเต็มที่ระหว่างทางเดินกลับที่พัก ทั้งนกแก้วป่าหลากชนิด นกกระตั้ว นกเงือก และนกอื่นๆรูปร่างแปลกตาต่างก็ตื่นมาอวดโฉมกันอยู่เต็มป่าบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าบนตัวเกาะได้เป็นอย่างดี
เกาะกัมมีขนาดใหญ่พอที่จะมีป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ในขณะที่น้ำทะเลรอบเกาะก็เต็มไปด้วยแนวปะการังที่หลากหลาย ฉันได้มีโอกาสนั่งเรือลัดเลาะชมป่าโกงกาง เลี้ยวเข้าอ่าวกัมอันกว้างใหญ่ที่ว่ากันว่ามีจระเข้น้ำเค็มอาศัยอยู่ด้วย บางครั้งก็ลงจากเรือปีนขึ้นเขาหินปูนอันแหลมคม เข้าไปชมถ้ำนกนางแอ่นและถ้ำค้างคาว ก่อนลงมานั่งเรือลัดเลาะน้ำทะเลสีเขียวมรกต ที่มีเกาะแก่งเป็นหย่อมๆกระจัดกระจายอยู่ทั่ว จุดหนึ่งที่ฉันชอบที่สุด คือเมื่อแล่นเรือเข้าไปในทางเล็กๆที่สองข้างเป็นเขาหินปูนสูงชัน น้ำตื้นใสแจ๋วมองเห็นพื้นทราย มีลูกปลากระเบนและฉลามที่ใช้บริเวณนี้เป็นที่พักพิง ว่ายตัดกันไปมาใต้ท้องเรือ พอเลี้ยวลัดมุมเขาเข้าไป ฉับพลันก็เหมือนกับตัวเองตกอยู่ในวงล้อมของขุนเขา มีน้ำทะเลเขียวมรกตนิ่งสงบเหมือนสระว่ายน้ำ มองขึ้นไปที่ป่าบนเขาก็มีนกแก้วหลากสีสัน นกกระตั้วสีขาว และนกอื่นๆ ร้องเสียงเซ่งแซ่ บินตัดไปตัดมา “นี่มันสวรรค์ชัดๆ!” ฉันเขียนลงในสมุดบันทึกของฉันไว้เช่นนี้ จุดสวยงามรอบๆเกาะยังมีอีกหลายจุดที่ฉันบรรยายไม่ถูก ต้องไปเห็นกันเองด้วยตาตัวเองเท่านั้น ฉันนั่งเรือเลาะชมความงามรอบทั้งเกาะ แวะพักจุดที่มีน้ำจืดสนิทที่เป็นน้ำที่ไหลมาจากป่าที่โฮมสเตย์ปลีกวิเวกแห่งหนึ่ง ตรงช่องแคบคาบุย (Kabui) ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะกัมและเกาะไวเกียว โฮมสเตย์แห่งนี้สร้างเป็นแพอยู่ริมน้ำ ล้อมรอบด้วยเกาะเขาหินปูนใหญ่น้อยกระจัดกระจายอยู่ในทะเลตรงหน้า จุดเด่นคือน้ำจืดสนิทที่เจ้าของต่อมาจากลำธารในป่าซึ่งเป็นความพิเศษที่หาได้ยาก สำหรับชีวิตบนเกาะที่ปกติมีแต่น้ำบาดาลกร่อยๆให้ใช้ตลอดเวลา
ระหว่างทาง ฉันยังขอให้คนขับเรือ แวะตามโฮมสเตย์ต่างๆที่อยู่รอบๆเกาะเพื่อหาข้อมูลเก็บไว้ในอนาคต ที่ต่างก็มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันไป ทั้งอยู่ในป่าโกงกาง อยู่ริมหาดขาวสะอาด อยู่บนสะพานท่าเรือ อยู่ในหมู่บ้าน ฯลฯ ทั่วทั้งราชาอัมปัตที่มีเกาะใหญ่น้อยมากมายนี้ มีโฮมสเตย์ (ซึ่งจะว่าไปก็คือบังกาโลว์ที่พักแบบง่ายๆ) ที่ดำเนินการโดยชาวเกาะเอง 80 กว่าแห่ง ซึ่งถือเป็นอาชีพอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการจับสัตว์ทะเลหากินของชาวราชาอัมปัตโดยทั่วไป (ไม่มีการใช้เรือประมงขนาดใหญ่)
ฉันวนกลับมาที่แมมเบอร์ฟออีกครั้ง หอยมือเสือตัวเขื่องกับฝูงลูกปลาเป็นพันๆยังคงรอคอยอยู่ใต้สะพานไม้ของที่พัก ตกดึกคืนนั้น นอกจากเจ้า Walking Shark สัตว์ทะเลที่ได้รับการบอกเล่ามาตั้งแต่มาถึงแต่ไม่ได้เห็นตัวสักที จะออกมาส่ายหัวส่ายตัวอวดโฉมที่เหมือนกับตุ๊กแกทะเลให้ฉันได้เห็นในที่สุด ยังมีสิ่งที่พิเศษยิ่งกว่า คือการได้เห็นพรายน้ำ รูปร่างเหมือนงูเป็นร้อยๆตัวส่ายไปส่ายมาอยู่ที่ผิวน้ำเหนือแนวปะการังบริเวณที่พัก เป็นภาพแปลกตาที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่สามารถหาข้อมูลได้จากที่ไหน ได้แค่สันนิษฐานว่าเป็นสีเขียวสะท้อนแสงของฟอสฟอรัสในน้ำที่เปล่งแสงออกมายามลูกปลาแถวนั้นว่ายผ่าน อย่างไรก็ดี ความอัศจรรย์ธรรมชาตินี้เกิดขึ้นให้ฉันได้เห็นเพียงคืนเดียวเท่านั้น แต่เป็นความประทับใจที่ติดตามาแม้จนปัจจุบัน แปลกที่ทันทีที่ฉันนั่งเรือออกจากเกาะเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านและชีวิตอันทันสมัยในเมือง ยังไม่ทันที่ฉันจะถึงบ้าน ฉันกลับอยากกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายบนเกาะเหล่านั้นอีกแล้ว…นักเดินทางรุ่นใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั่วโลกที่ฉันได้เจอะเจอตามโฮมสเตย์ต่างบอกฉันในทำนองเดียวกันว่า มีอีกไม่กี่ที่บนโลกนี้หรอกที่จะได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสบายๆ กลมกลืนไปกับธรรมชาติที่ยังคงบริสุทธิ์อยู่และยังไม่ถูกทำลายจากโลกาภิวัฒน์จนมากเกินไป และราชาอัมปัตก็เป็นหนึ่งในนั้น…แล้วเพลงเดิมก็ดังก้องเข้ามาในหัวฉันอีกครั้ง “ฉันคิดไปเป็นชาวเกาะ….”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s