Challenging the Altitude in Ladakh (2)
หลังจากชิมลางกับความสูงห้าพันเมตรต้นๆมาแล้ว ฉันกลับมาตั้งต้นที่เมืองเลห์ เมืองหลวงของลาดักห์อีกครั้ง ถึงตอนนี้ความสูง 3,500 เมตรของหนึ่งในดินแดนที่สูงที่สุดและแห้งแล้งที่สุดแห่งนี้ ไม่สร้างปัญหาให้ฉันเหมือนวันแรกๆที่มาถึงอีกต่อไป การเดินช้อปปิ้งหาซื้อของพื้นเมือง และของที่ระลึกต่างๆที่นี่ จึงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์กว่าช่วงวันสองวันแรก เมืองเลห์ถือเป็นศูนย์กลางของแคว้นที่จะเดินทางต่อไปยังเส้นทางอื่น เมื่อเปิดแผนที่กางออกดูแล้ว ฉันเห็นว่ายังมีอีกสองเส้นทางหลักที่ฉันยังไม่ได้ไปเยี่ยมเยือน หนึ่งคือถนนสายตะวันตกที่ต่อเชื่อมไปยังแคว้นแคชเมียร์ และสองคือเส้นทางสู่ทิศเหนือของลาดักห์ไปสู่หุบเขานูบร้าที่เชื่อมต่อไปยังจีน ฉันเลือกเดินทางสู่เส้นทางสายทิศตะวันตกก่อน แม้ว่าทางสายนี้จะเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่เชื่อมต่อไปยังแคชเมียร์และดินแดนต่างๆของเอเชียกลางได้ แต่ฉันเลือกที่จะเดินทางไปไกลเพียงพอที่จะไปกลับได้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น เนื่องจากต้องการใช้เวลาในลาดักห์ให้เต็มที่ ถนนราดยางค่อนข้างดีสายนี้ ลัดเลาะไปตามแม่น้ำสินธุ ที่ถือกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมะ ภูมิประเทศระหว่างเส้นทางงดงามแปลกตา จนต้องขอหยุดถ่ายรูปเป็นพักๆ จนมาถึงจุดชมวิวแม่น้ำสองสายบรรจบกัน โดยแม่น้ำสินธุ (Indus) สายหลักมีสีใสกว่า ในขณะที่แม่น้ำซันสการ์ (Zanskar) มีสีโคลนขุ่นสีน้ำตาล ถือเป็นจุดของการบรรจบกันอย่างงดงามโดยมีวิวทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง ก่อนที่จะไหลรวมเป็นหนึ่งเดียวต่อไปเป็นแม่น้ำสินธุ ในบริเวณที่เรียกว่านิมู (Nimu) การเดินทางลดเลี้ยวไปตามถนนยังคงดำเนินต่อไป ไปหยุดแวะพักจริงๆอีกครั้งก็ที่เมือง Alchi ซึ่งห่างจากเลห์มาประมาณ 67 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งสร้างขึ้นโดยคุรุรินเชนซางโป และดูเหมือนจะวัดแห่งเดียวในลาดักห์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเขา การเดินเข้าชมวัดแห่งนี้ จึงไม่ยากลำบากเกินไปนัก แถมยังเดินผ่านหมู่บ้านที่มีต้นไม้และสายน้ำเล็กๆทอดตัว ดูร่มรื่นเป็นอย่างยิ่ง ตัววัดแบ่งเป็นตัวอาคารสามหลัง ประกอบกับสถูปเจดีย์เรียงราย ดูเก่าขรึมและขลังเพราะสร้างมาเกือบพันปีที่แล้ว มีภาพเขียนสีที่เก่าแก่และงดงามมากๆ (ขอย้ำอีกครั้งว่าสวยมาก) ภายใน (แต่ห้ามถ่ายรูป) รวมถึงรูปปั้นและเครื่องไม้แกะสลักเก่าแก่จากแคชเมียร์… Read More Challenging the Altitude in Ladakh (2)