Rajasthan: Rich Heritage and Colourful Culture

เมื่อพูดถึงอินเดียหลายๆคนอาจเข็ดขยาดจากการได้ยินได้ฟังมาถึงความสกปรก ไร้ระเบียบ แออัด ยัดเยียด มีแต่คนคิดจะหลอกนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งคงไม่น่าแปลกอะไรกับประเทศที่มีประชากรมากล้นเป็นอันดับสองของโลก และร่ำๆจะแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้ในไม่ช้าไม่นาน แต่ถึงกระนั้นอินเดียก็มีอะไรหลายๆอย่างเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้ชวนหลงใหลสำหรับหลายๆคนที่ได้ไปเยือนแดนภารตะแห่งนี้มาแล้ว ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบธรรมชาติ ป่าเขา หิมะ ทะเลทราย หรือชื่นชมเมืองเก่าอุดมไปด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย เนื่องเพราะอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีภูมิประเทศที่หลากหลาย และที่สำคัญเป็นหนึ่งในดินแดนที่ก่อเกิดอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ส่งอิทธิพลต่อนานาประเทศมาเป็นเวลาช้านาน ยิ่งได้ออกนอกเมืองใหญ่ๆอย่างเดลฮี ไปเที่ยวในต่างถิ่นห่างไกลบ้าง คุณจะพบว่าชาวอินเดียมีน้ำใจให้อย่างเหลือเฟือและอาจจะลบภาพเดิมๆที่เคยอยู่ในความคิดจากการที่ได้ยินได้ฟังมาก็เป็นได้ ฉันพาตัวเองมายืนอยู่ในรัฐทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีชื่อว่า Rajasthan รัฐราชสถาน-ดินแดนแห่งราชา แค่ชื่อของรัฐก็บ่งบอกได้อย่างเพียงพอแล้วว่า ดินแดนนี้จะรุ่มรวยอารยธรรมเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้อมปราการและราชวังของมหาราชาต่างๆที่ต่างคนต่างพากันมาสร้างสรรปั้นแต่งไว้ในดินแดนแถบนี้เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ บริเวณแถบนี้แต่เดิมเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของเผ่าพันธุ์นักสู้แห่งราชปุต (Rajput) มาช้านาน โดยชาวพื้นเมืองเรียกดินแดนแถบนี้ว่า Mewar (ดินแดนแห่งความตาย) แม้ว่าจะถูกชนเผ่ามุสลิมราชวงศ์โมกุลเข้ามามีบทบาทสำคัญบ้าง แต่กระแสราชวงศ์ราชปุตก็ยังคงฝั่งรากเหนียวแน่นอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ฉันขอละที่จะไม่กล่าวถึงเมือง Jaipur (ชัยปุระ) อาจออกเสียงว่าไจปูร์ อันเป็นเมืองหลวงของ ราชสถานและเป็นหนึ่งในสามของเส้นทางเมืองท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำของอินเดีย (เดลฮี-ชัยปุระ-อัครา)ในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการพาคุณไปสัมผัสเมืองอันแสนโรแมนติคจนติดอันดับโลกอย่าง Udaipur (อุทัยปุระหรืออุไดปูร์) และเมืองสีฟ้าของ Jodhpur (โยธปุระหรือจ๊อดปูร์) เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายมากๆของเมืองหลวงทั้งหลาย มาสู่เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่แต่มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปของทั้งสองเมืองนี้ ทะเลสาป Pichola แห่งอุทัยปุระกลางใจเมืองที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในสมัยก่อน และปราสาททั้งริมน้ำและกลางน้ำของที่นี่ เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองโรแมนติคที่สุดของรัฐราชสถาน หากอยู่ในมุมมองและช่วงเวลาที่เหมาะสม… Read More Rajasthan: Rich Heritage and Colourful Culture

Dharamsala ลาซาน้อยในดินแดนต่างวัฒนธรรมของอินเดีย

“เริ่มจากการนั่งรถอันยาวนานทรหด ตั้งแต่จากร่วมๆเที่ยงคืน หลังจากที่ออกจากสนามบินที่นิวเดลี โดยการขึ้นรถรับจ้างเถื่อน ขณะฝนตก รถไม่มีแอร์ แถมยังเหม็นกลิ่นน้ำมันอีกต่างหาก ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่รถมาเสีย แบตเตอรี่หมด เข็นกันอยู่หลายรอบ จนในที่สุดพวกเราจึงตัดสินใจเปลี่ยนรถ มาเป็นอีกยี่ห้อหนึ่งชื่อ Ambassador ที่ผลิตในอินเดียเอง บนถนนรถแข่งกันขับเป็นว่าเล่น บีบแตรกันสนั่นหวั่นไหว… นั่งรถกินเวลาทั้งหมด 12-14 ชั่วโมงได้ เพราะมาถึงดารัมศาลา (Dharamsala) เอาเมื่อตอนบ่ายสองบ่ายสามของอีกวันหนึ่ง…ยาวนานมาก ระหว่างทางหลับๆตื่นๆมาตลอด ผ่านชนบทที่ไม่คิดว่าจะได้มาพบเห็นอีก ตลอดระยะทางเกือบๆ 500 กิโลเมตร รถบรรทุกมีให้เห็นตลอดทาง ด้านหลังทุกคันเขียนว่า Horn Please หรือไม่ก็ Blow Horn มิน่าถึงได้ใช้แตรกันแบบไม่บันยะบันยังแบบนั้น ผ่านกลางคืนมาได้ ก็เริ่มมองเห็นสองข้างทางเป็นทุ่งนา ทุ่งทานตะวัน ทุ่งดอกมัสตาร์ด แหล่งชุมชน วัว ควาย ม้า ล่อ แพะ มีให้เห็นตลอดทาง จะว่าไปก็สวยงามดีอยู่หรอก แต่ใจก็ต้องมานั่งตุ้มๆต่อมๆกับการเริ่มหลับในเป็นพักๆของโชเฟอร์ เฮ้อ…ถนนหนทางแม้จะไม่ใช่ทางอย่างดี แต่ก็ดูร่มรื่น แปลกหูแปลกตา น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง…จนเส้นทางเริ่มไต่เข้าเข้าสู่ดารัมศาลานี่แหละ ที่เริ่มมองเห็นเทือกเขาส่วนหนึ่งของหิมาลัยที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี และเข้าสู่เมืองเล็กๆบนขุนเขา ผ่านลำธารน้ำสีเขียวเพราะเป็นน้ำที่ละลายมาจากหิมะ… Read More Dharamsala ลาซาน้อยในดินแดนต่างวัฒนธรรมของอินเดีย

Indian Hot Cities

อากาศเริ่มเย็นๆแบบนี้ เอาเรื่องร้อนๆมาฝากดีกว่า (เป็นการค่อยๆย้ายข้อความสั้นๆที่เขียนไว้ มาจาก Hi5 เพราะไม่ค่อยได้เข้าไปในนั้นแล้วอ่ะ)… จับพลัดจับผลู ได้ไปเที่ยวเมืองปราสาท ราชวัง และป้อมปราการของอินเดียมาหลายเมืองในช่วงที่ผ่านมา…ไม่ได้ตั้งใจไปเอง ตั้งแต่ต้น เพราะรู้ว่าอากาศยามนี้มันร้อนเหลือ…แต่ในเมื่อโอกาสมาถึง ชีพจรที่เท้ามันก็เร่งจังหวะให้ออกเดินทางอีกครั้ง ไปเดินไปชม ไปสัมผัสมาก็หลายที่อยู่ แต่ก่อนที่จะเดินถึงป้อมปราการหรือราชวังต่างๆนั้น แน่นอนว่าต้องเดินผ่านย่านสามัญชนก่อน…ตลาด อากาศก็ร้อนเหลือ แดดก็เผาผิวจนต้องสวมแขนยาว ถ้าจะเข้าท่ากว่า…เอาผ้าเบาบางเข้าไว้ ไม่ร้อนผิว ไม่แสบไหม้ หลบเข้าร่มหน่อยก็เย็นสบาย นึกถึงเครื่องนุ่มห่มของชาวอินเดียก็ดูคิดว่าช่างเข้าท่าดี มีผ้าให้คลุมผม คลุมหน้า คลุมตัวคลายร้อนได้ คลายหนาวก็ดี… อากาศร้อนแต่ใจคนที่นี่ไม่รุ่มร้อน แม้รถราจะควั่กไคว่ บีบแตร เบียดเฉียดฉิวกัน ทั้งรถทั้งจักรยานยนต์ ทั้งรถลาก ทั้งจักรยาน ทั้งวัว ทั้งคน ทั้งแพะ ทั้งลา และอื่นๆอีกมากมายที่ประกอบเป็นสีสันอันมีชีวิตชีวาของเมืองในอินเดีย แต่กลับไม่ค่อยเจอคนอารมณ์ร้อนเท่าไรนัก ฉันพบสาวชาวบ้านคนนี้ นั่งเล่นอยู่บนพื้นกับเด็กๆและสาวๆคนอื่นข้างทาง…อากาศร้อน ใจไม่ร้อน เธอยิ้มแย้มฟังการสนทนา พร้อมกับจิบชานม (ไช) ร้อนๆแก้วใหญ่… ฉันเหลือบหันไปกดชัตเตอร์หนึ่งครั้ง ก่อนเดินฝ่าความร้อนไปชมพระราชวังต่อด้วยใจที่ยิ้ม…เย็น  

Harkidoon Trek

ประมาณว่าโดนบังคับให้ย้ายบล็อค โดยใช้คำสวยหรูว่า Upgrade…ก็เลยมาลงเอยที่หน้าตาใหม่ ที่อยู่ใหม่อันนี้…เลยขอประเดิมบล็อคใหม่ ด้วยการเอาเรื่องเก่าเก็บมาลงซะเลย…ก็หลายปีดีดักแล้วที่เขียนเรื่องนี้ไว้ (ยาวมาก) ตอนแรกส่งให้ บก. นิตยสารฉบับหนึ่ง เขารับไว้จะลงให้ แต่จู่ๆ กอง บก. ก็ยกแก๊งค์ลาออก เรื่องก็เลยหายไปกับสายลมและแสงแดด…รูปที่เอามาลงก็ไปขุดเอามาจากคลังเก่าๆ พยายามไม่ให้ซ้ำกับรูปที่ลงไว้ในภาคภาษาอังกฤษ (เขียนที่เดียวกัน แต่ประมาณคนละอารมณ์)…ตอนนั้นตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า… การเดินทางสู่ฮากิดูน ทุ่งหญ้า สายน้ำและขุนเขาหิมะ คุณเคยไม่อาบน้ำเก้าวันไหม เก้าวันที่ต้องเดินเหนื่อยทั้งวันก่อนจะถึงที่พัก เก้าวันที่ใช่ว่าจะไม่มีน้ำให้อาบ แต่แหล่งน้ำแต่ละแห่งเย็นยะเยือกอยู่ที่ความสูงสามสี่พันเมตร เมื่อไม่มีแสงแดดสาดส่อง อากาศก็ลดลงเกือบแตะศูนย์หรือต่ำกว่านั้น ฉันมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง ฉัน(หาเรื่อง) ไปเดิน trekking มา เป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 95 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาเก้าวัน เมื่อนำมาคำนวณดูแล้ว คุณอาจคิดว่าก็แค่สิบกิโลต่อวันเท่านั้น เรื่องมันอยู่ที่ว่า มันไม่ใช่การ trekking ธรรมดาๆ หรือเดินอยู่ในที่ราบ แต่เป็นการ trekking ในที่สูง อันหมายความว่า เดินขึ้นเขาอยู่ที่ระดับความสูงเกินกว่าสามพันเมตร แม้จะไม่ทุกวัน แต่เดินแต่ละวันก็เฉียดๆระดับนั้น บางวันอาจแตะขึ้นไปถึงสามพันหกสามพันเจ็ด สิ่งแรกที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้คือ อากาศที่เบาบางกว่าพื้นราบ ออกซิเจนที่น้อยกว่า ทำให้ปอดต้องทำงานมากกว่า อันเป็นที่มาของการเหนื่อยง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ… Read More Harkidoon Trek

Sikkim 0

ประมาณว่า เรื่องที่เอามาลงตอนนี้ มันควรจะเป็นช่วงเวลาก่อนเรื่องใน Sikkim I น่ะ เลยไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออย่างไรดี ในเมื่อ 0 ควรจะมาก่อน 1 เลยใช้ชื่อนี้ซะเลย   เป็นอันว่า เดือนนี้มีเรื่องมาลงแล้วนะ บางส่วนเสี้ยวของดินแดนแห่งขุนเขา…สิกขิม ถนนสายแคบๆ ทอดตัวคดเคี้ยวซอกซอนไปตามลำธารและขุนเขาในยามเย็นย่ำก่อนตะวันลับขอบฟ้า พวกเราเพิ่งผ่านด่านตรวจใบอนุญาติเข้าแคว้นสิกขิม แคว้นเล็กๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่เมืองหน้าด่าน Rangpo ได้ไม่นาน ถนนยังคงลัดเลาะโตรกธารของแม่น้ำ Teestaหนึ่งในแม่น้ำสองสายหลักของสิกขิม ที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย บ้านเรือนที่สร้างลดหลั่นไปตามริมผา ริมแม่น้ำมีให้เห็นเป็นระยะๆ สลับกับท้องไร่ท้องนาแบบขั้นบันได ฟ้าเริ่มมืด ลำธารเขียวใสด้วยน้ำจากหิมะละลายบนเทือกเขาสูงเริ่มเลือนหายจากสายตา หมู่บ้านรายทางเห็นเพียงแค่เป็นแสงไฟดวงส้มๆ ประดับไปตามริมหน้าผาสูงชันอย่างสวยงาม ระยะทางเพียงร้อยกิโลกว่าๆ กับการนั่งรถจิ๊บลัดเลาะไปตามถนนเกือบ 4 ชั่วโมง เป็นตัวบ่งบอกอย่างดีถึงความคดเคี้ยว คับแคบและสูงชันของเส้นทาง พวกเรามาถึง Gangtok เมืองหลวงของแคว้นสิกขิมเอาเมื่อค่ำ ร้านรวงบนถนนช็อปปิ้งสายหลักของเมืองเริ่มทะยอยกันปิดแล้ว ยังดีที่ร้านอาหารยังเปิดดึกขึ้นอีกนิดทันให้พวกเราฝากกระเพาะอันหิวกิ่วตลอดเส้นทางคดโค้งที่ผ่านมาได้… แสงอาทิตย์ยามเช้าทาทาบเทือกเขาหิมะ จากยอดสีขาวให้ส่องประกายเป็นสีส้ม ทำให้เช้าวันใหม่เริ่มต้นอย่างกระปรี้กระเปร่า แทนที่จะอ้อยอิ่งอยู่ใต้ผ้าห่มผืนหนาเนื่องจากอากาศอันหนาวเหน็บในเมืองหลวงที่ตั้งอยู่ที่ความสูงกว่า 1,572 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลแห่งนี้ เพราะพวกเราต้องรีบเร่งปีนขึ้นไปดาดฟ้าที่พักเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศที่เห็น จากตึกรามบ้านช่องในบริเวณใกล้เคียง สนามกีฬาของเมือง มองผ่านหุบเขาเขียวชอุ่มเบื้องล่าง ลากยาวสูงขึ้นไปเป็นเทือกเขาทมึนในระดับที่สูงกว่าที่พวกเรายืนอยู่… Read More Sikkim 0

Sikkim I

ใกล้จะหมดเดือนมกราแล้ว เดี๋ยวโควต้าเดือนนี้จะว่างเว้นไปซะ เลยรีบเอาเรื่องมาลงดีกว่าว่างๆก็อ่านกันไป   เช่นเดิม บทความนี้เคยลงตีพิมพ์ในนิตรสารเล่มหนึ่งมาก่อนแล้วEnjoy the mountains! Cheers, Sikkim ดินแดนแห่งมนต์ขลังของธรรมชาติและขุนเขา 1. สิกขิม ดินแดนเล็กๆ ที่ทอดตัวภายใต้เงื้อมอ้อมกอดของขุนเขาที่เปรียบเสมือนหลังคาโลกอย่างเทือกเขาหิมาลัย อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทยเมื่อเทียบกับดินแดนเพื่อนบ้านติดๆกัน อย่างเนปาล ทิเบต หรือภูฏาน แต่สำหรับผู้ที่หลงใหลในความงามของขุนเขาธารหิมะสูงเสียดฟ้า ลดหลั่นลงมาเป็นป่าเขียวชอุ่ม อุดมด้วยสีสันของกุหลาบพันปี ดอกไม้ป่านานาพันธุ์ และนกและสัตว์ป่านานาชนิดแล้ว ที่นี่เป็นอีกดินแดนในฝันอีกแห่งหนึ่งที่ไม่สมควรพลาดอย่างยิ่งด้วยประการทั้งปวง แม้ว่าสิกขิมในปัจจุบันจะอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินเดีย แต่ผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนลดหลั่นไปตามแนวเทือกเขาสูงและริมโตรกธารน้ำที่ถือกำเนิดจากการละลายของหิมะบนยอดเขาสูงที่ไหลลัดเลาะไปตามซอกเขานั้น สืบเชื้อสายและมีวัฒนธรรมมาจากผู้คนแถบเดียวกับทางทิเบต เนปาลและภูฏาน การเยือนสิกขิมของฉันจึงไม่รู้สึกนักถึงความเป็นอินเดียอย่างที่ได้เคยสัมผัสมาในแคว้นอื่นๆ น้ำใสใจคอและความมีน้ำใจของผู้คนที่นี่ยิ่งทำให้สิกขิมมีสิ่งที่น่าเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยคิด 2. ยอดเขาคันเชนซ็องก้า (Kanchendzonga) เป็นยอดเขาสูงอันดับ 3 ของโลกที่ตั้งตระหง่านเงื้อมเหนือดินแดนแห่งนี้ ยอดความสูง 8,598 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของขุนเขานี้ และเทือกเขาบริวารอื่นๆที่ทอดตัวต่อกันมา ถือเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าอันยิ่งใหญ่ผู้พิทักษ์รักษาผู้คนที่นี่ แม้ว่าในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศเป็นใจ ยอดเขานี้จะสามารถมองเห็นได้จากบริเวณต่างๆแทนทั่วแคว้นแดนสิกขิม แต่สำหรับฉันแล้ว การได้เข้าไปใกล้ชิดขุนเขาแห่งนี้ขึ้นอีกสักนิด มากกว่าการมองเห็นจากหน้าต่างโรงแรมในเมืองต่างๆ ย่อมเปิดโอกาสให้ฉันได้สัมผัสถึงมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือของชนเผ่าพื้นเมืองแถบนี้มาตลอดหลายร้อยปีขึ้นมาบ้าง นอกเหนือไปจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสถึงอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ก่อตัวขึ้นอย่างสลับซับซ้อนในบริเวณดังกล่าว แน่นอนว่าการพิชิตยอดไม่ใช่เป้าหมายของฉัน และถ้าใช่ ก็คงยากเกินความสามารถที่จะไปถึง การเดินทางบนเส้นทางที่คิดดีแล้วว่าคงจะพอเหมาะกับคนเกิดพื้นราบและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างฉันจึงเริ่มต้นขึ้น 3. ยุกสม (Yuksom) เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเขาเทรคกิ้งของฉัน… Read More Sikkim I