ใครก็ตามที่ได้เคยเดินทางไปเยือนพม่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่น้ำอิระวดี เป็นมหานทีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญที่สุดของประเทศนี้ แม่น้ำอิระวดีหรือที่ชาวพม่าเรียกกันว่าเอยาวดี (Ayeyarwady River) เป็นเสมือนเส้นเลือดที่สำคัญของดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ด้วยความยาวกว่าสองพันกิโลเมตรจากเหนือจรดใต้ โดยเป็นแม่น้ำของประเทศที่ไม่ได้ไหลเข้าไปในประเทศอื่นเช่นเดียวกับเจ้าพระยาของไทย แต่จะมีสักกี่คนที่ได้เดินทางไปถึงดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญสายนี้…
ฉันเริ่มต้นการเดินทางไปชมจุดเริ่มต้นของแม่น้ำอิระวดีที่เมืองมิตจีนา (Myitkyina) เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น (Kachin) ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ดินแดนแห่งนี้มักเป็นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆจากปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในบางพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบระหว่างชาวคะฉิ่นกับรัฐบาลพม่า การท่องเที่ยวที่นี่จึงยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในหมู่ชาวต่างประเทศ เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่และความยากลำบากในการเดินทาง ถึงกระนั้นก็ตามภายในเมืองหลวงของรัฐแห่งนี้ก็สุขสงบปลอดการสู้รบมานานหลายปี นักท่องเที่ยวมีให้เห็นประปรายตามโรงแรมที่มีอยู่ไม่มากนักในเมืองแต่ที่เห็นมากกว่าคือนักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในรัฐที่ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสูงของอินเดียและจีนแห่งนี้ พื้นที่อันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ของรัฐคะฉิ่นเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรแร่ธาตุอยู่อย่างมากมายมหาศาลโดยเฉพาอย่างยิ่งหยกและทองคำ
ตัวเมืองมิตจีน่าเองเป็นทางผ่านของกองทหารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุให้สถานที่ต่างๆของเมืองถูกทำลายลงจากผลของสงคราม การมาเยือนที่นี่จึงไม่ใช่การเยี่ยมชมโบราณสถานเก่าแก่แบบหลายๆเมืองของพม่า แต่เป็นการเที่ยวชมวัฒนธรรมพื้นเมืองของคนพื้นถิ่นที่นี่กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่มากกว่า ในเมื่อมาพักในเมืองทั้งที สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการเดินชมตลาดของเมือง ตลาดมิตจีน่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิระวดีอันขึ้นชื่อ มีส่วนที่เป็นตลาดสดที่ขายปลาที่จับได้จากแม่น้ำแห่งนี้รวมไปถึงอาหารแปรรูปตากแห้ง ผักและผลไม้นานาชนิดทั้งที่ปลูกในพื้นที่และนำเข้ามาจากจีน ผู้คนที่นี่ไม่ว่าจะเป็นชาวคะฉิ่นหรือพม่าดูหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรกับชาวต่างชาติค่อนข้างมาก ถัดออกไปมีร้านอาหารริมน้ำให้บริการนั่งชิลล์ๆชิมอาหารพื้นเมืองพร้อมชมวิวแม่น้ำกว้างใหญ่สุดสายตาที่ไหลเอื่อยๆอย่างนิ่งสงบ มองไปเห็นอีกด้านหนึ่งของฝั่งน้ำเป็นเขตห้วงห้ามสำหรับนักท่องเที่ยวปกติ ถ้าจะข้ามไปต้องขออนุญาตพิเศษ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยามหน้าแล้งนี้จะเป็นเขตสัมปทานร่อนทอง ที่มีคนงานชาวพม่าจากที่ต่างๆมาตั้งแคมป์ทำงานร่อนทองกันริมฝั่งน้ำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การร่อนทองริมน้ำแบบนี้ทำเฉพาะหน้าแล้งพอถึงหน้าน้ำ แม่น้ำอิระวดีจะเอ่อท่วมลานหินริมน้ำพาเอาตะกอนต่างๆมาให้แสวงโชคกันต่อในหน้าแล้งถัดไป
การจะไปให้ถึงจุดเริ่มต้นของแม่น้ำอิระวดี จำเป็นที่จะต้องใช้รถกระบะหรือขับเคลื่อนสี่ล้อเลาะไปตามถนนเลียบลำน้ำอิระวดี ผ่านหมู่บ้านรวมถึงลัดเลาะเข้าป่าขึ้นเขาเป็นระยะๆจนไปถึงจุดเริ่มต้นของแม่น้ำอิระวดีที่ Myit-sone (มิตซอน) ซึ่งห่างออกไปประมาณ40กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือของมิตจีน่า ชาวคะฉิ่นเรียกจุดนี้ว่าMyit-sone ซึ่งแปลว่าจุดบรรจบกันของแม่น้ำสองสายอันได้แก่ลำน้ำเมข่า(N’Mai Kha) และลำน้ำมะลิข่า(Mali Kha) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากขุนเขาสูงทางเหนือสุดของพม่าแถบชายแดนที่ต่อเนื่องมาจากภูเขาหิมาลัย ต้นกำเนิดคือธารน้ำแข็งละลายผ่านดินแดนป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์จากระดับ 4,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลลงมาจนถึงประมาณ800เมตร มาบรรจบกัน ณ จุดนี้ รวมตัวกันเป็นแม่น้ำอิระวดีอันยิ่งใหญ่ไหลผ่านประเทศพม่าทั้งประเทศจนไปออกมหาสมุทรอินเดียทางด้านใต้
ฉันมาถึงในช่วงน้ำแล้งลานหินริมน้ำจึงกลายเป็นแหล่งปิกนิกที่สำคัญของชาวคะฉิ่น ชาวบ้านเอาโต๊ะเล็กๆมาตั้งกางผ้าใบกันแดด ขายอาหารง่ายๆไม่ว่าจะเป็นปลาจากแม่น้ำย่าง และข้าวหมักที่ทำจากข้าวเหนียวและน้ำจากแม่น้ำที่เรียกกว่าซาปิ (Sapi) ที่นี่ฉันมีโอกาสได้เหมาเรือเที่ยววนชมเกาะแก่งต่างๆในลำน้ำทั้งสองสายรวมไปถึงแม่น้ำอิระวดีในคราวเดียว ได้แวะชมโบสถ์คริสต์บนเกาะกลางน้ำ ชมความโค้งเว้าของหินที่ถูกกัดเซาะจากความแรงของน้ำในช่วงหน้าน้ำ สีของแม่น้ำทั้งสองสายต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรวมกันแล้วก็ไหลแรงขึ้นอีกหลายเท่า หลังจากขึ้นจากเรือฉันแวะขึ้นไปที่เจดีย์ทองริ่มตลิ่งด้านบนเพื่อชมวิวจุดบรรจบของสายน้ำจากที่สูงอีกครั้งหนึ่ง ศาสนาหลักของชาวพม่าคือพุทธก็จริง แต่ตามดินแดนห่างไกลแบบนี้มิชชันนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนากันตั้งแต่เมื่อครั้ง100กว่าปีก่อน ชาวคะฉิ่นหลายๆหมู่บ้านจึงนับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก อย่างไรก็ดีการฝั่งรากลึกของศาสนาพุทธก็ยังคงมีให้เห็น จึงเป็นเรื่องปกติของที่นี่ที่จะเห็นทั้งโบสถ์คริสต์และเจดีย์ของวัดพุทธอยู่ใกล้ๆกัน อย่างไรก็ดี จากโครงการการสร้างเขื่อนของรัฐบาลพม่าและจีนที่มีกำหนดการสร้างเขื่อนขวางหน้าบริเวณจุดบรรจบของสายน้ำแห่งนี้ อาจทำให้ความงามที่ฉันได้เห็นและสัมผัสมาทั้งหมดนี้จมอยู่ใต้น้ำภายในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากโครงการยังดำเนินอยู่ต่อไป (ในปัจจุบันหยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง)
ฉันโชคดีที่พอกลับเข้ามาในเมืองมิตจีน่าอีกครั้งก็ตรงกับช่วงงานเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวคะฉิ่นอันได้แก่งานเทศกาลมะเนา (Manau Festival) ซึ่งจัดติดต่อกันเกือบหนึ่งอาทิตย์ในช่วงวันชาติของชาวคะฉิ่นอันได้แก่วันที่10มกราคมของทุกปี เทศกาลมะเนาและการเต้นมะเนาแดนซ์ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่ลานคะฉิ่นมะเนา (Kachin Manau Park) ริมฝั่งแม่น้ำ ที่ตรงกลางลานมีเสามะเนาสีสันสดใสตั้งตระหง่านอยู่กลางลาน อันเป็นสถานที่จัดการเต้นรำที่เชื่อกันว่าเป็นการเต้นรำที่เก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยบรรพบุรุษของชาวคะฉิ่น ที่เชื่อว่ามีต้นกำเนิดอยู่แถบต้นน้ำอิระวดีจดจำมาจากการเต้นรำของเหล่าปักษีที่ได้บินขึ้นสวรรค์และจดจำท่ารำของเทพเทวดามาอีกทอดหนึ่ง
ฉันได้รู้จักชาวคะฉิ่นมากขึ้นก็เมื่อได้มาร่วมงานเทศกาลนี้นี่เอง ชาวบ้านที่มาร่วมงานเต้นรำจะใส่ชุดพื้นเมืองที่ดูแตกต่างกันไป ฉันจึงได้รู้มากขึ้นว่าที่เรียกว่าชาวคะฉิ่นนั้น ประกอบด้วยชาวเผ่าหลักๆ 6 เผ่าอันได้แก่ชาวจิงฝอ (Jinghpaw) ระวาง (Rawang) ไซวา (Zaiwa) ลองวอ (Lawngwaw) ละเชค (Lachik) และลีซอ (Lisu) ซึ่งต่างก็มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง โดยมีภาษาหลักที่ใช้ร่วมกันคือภาษาจิงฝอซึ่งก็คือภาษาคะฉิ่นตามที่คนทั่วไปเข้าใจนั่นเอง ชุดแต่งกายประจำชาติก็แตกต่างกันไปและมีสีสันและเอกลักษณ์ที่น่าสนใจทั้งสิ้น งานเทศกาลนี้เป็นโอกาสพิเศษอันดีที่จะได้เห็นคนจากทุกเผ่ามาอยู่ร่วมกันในงานเดียว
งานเต้นรำมะเนา (Manau Dance) เป็นไฮไลท์ที่สุดของงาน เต้นกันวันละ 4 รอบๆละ2ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยหลักๆคือการที่มีผู้นำ (ผู้ชาย) ที่ใส่ชุดคลุมยาวถึงส้นเท้าสีสันสดใส มีลวดลายปักที่งดงามมีเครื่องประดับศีรษะเป็นหมวกประดับขนนกเงือกและเขี้ยวหมูป่า มือถือมีดเดินนำหัวขบวน มีชาวเผ่าหรือผู้ร่วมงานคนอื่นๆเดินตามกันเป็นแถวยาวไม่จำกัด ขบวนจะเต้นเป็นวงรอบและแยกเป็นสองแถวแปรขบวนเดินวนเป็นรูปต่างๆเช่นก้นหอย ซิกแซก เดินขึ้นลงวนเป็นวงกลมในลานกว้างรอบๆเสามะเนาที่ตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลาง รูปแบบการเดินนำมาจากลวดลายอันเป็นสัญลักษณ์ที่เขียนอยู่บนเสามะเนานั่นเอง จริงๆแล้วท่าเต้นไม่ได้พิสดารอะไรเพียงแค่การเดินโยกเอวเล็กน้อยตามจังหวะ แต่จุดสำคัญคือการเดินแปรขบวน คนอาจต่อแถวได้เป็นร้อยๆพันๆคนแต่ถ้าผู้นำเจ๋งจริง ก็จะพาเดินแปรรูปต่างๆได้โดยไม่มีปัญหาว่าจะเจอทางตัน การเต้นรำแบบนี้จะดูให้เห็นการแปรขบวนที่เป็นรูปทรงที่ชัดเจนต้องดูจากบนที่สูง การเดินเท้าเต้นรำร่วม 2-3 ชั่วโมงไม่หยุดพร้อมๆกับเสียงปี่พาทย์ ฆ้องและกลองเครื่องดนตรีประจำเผ่า พร้อมทั้งนักร้องที่พลัดกันร้องตลอดงาน ทำให้ทุกคนได้รู้สึกถึงพลังแห่งความเป็นชาติเดียวกัน ทำอะไรร่วมกันเหมือนร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธ์ ซึ่งฉันก็รู้สึกได้เองเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมเต้นรำด้วยตลอดรอบตั้งแต่ต้นจนจบ ระหว่างที่เต้นรำกันเป็นแถวนั้นฉันรู้สึกได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่เหมือนสะกดให้ฉันรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับชาวคะฉิ่นทั้งๆที่ฟังภาษาเขาไม่ออก ในช่วงเวลาอันยาวนานของการร่ายรำโดยการเดินตามขบวนนั้น ฉันเหมือนได้เห็นหน้าทุกคนโดยการเดินสวนกันแม้จะมีเป็นพันๆคนที่ร่วมงานก็ตาม ฉันคิดเอาเองว่านี่อาจเป็นกุศโลบายในการสร้างความคุ้นเคยและความสามัคคีของคนในชาติอย่างหนึ่งก็เป็นได้
นอกจากการเต้นรำมะเนาที่ว่าแล้วรอบๆบริเวณงานยังมีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆมีงานออกร้านขายของสินค้าหลากหลาย รวมไปถึงร้านหยกร้านทองเต็ม ดูผ่านๆก็เหมือนงานวัดบ้านเรา ที่มุมหนึ่งจะมีการจัดแสดงการทอผ้าพื้นเมืองร่วมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้และวิถีชีวิตของชาวเผ่าต่างๆอีกด้วย ชาวคะฉิ่นที่มาร่วมงานมาจากถิ่นต่างๆทั่วรัฐรวมไปถึงชาวคะฉิ่นที่อยู่ในจีน (เพราะมีพรมแดนกั้นทำให้พวกเขากลายเป็นชาวคะฉิ่นจีนแต่วัฒนธรรมคล้ายๆกัน) และชาวคะฉิ่นที่อพยพไปอยู่ในประเทศต่างๆ ถือเป็นการกลับมารวมตัวของชาวคะฉิ่นที่ริมแม่น้ำอิระวดี สายน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของชาวคะฉิ่นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลอีกครั้งหนึ่ง
ช่วยแปลหน่อยครับ คะฉิ่นเป็นไทย
Tsawra dik ai yaw….Nu hpe
ไม่ทราบค่ะ