Kyoto, my Favorite Town

เมืองเกียวโต เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงก้องโลก นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกรวมทั้งคนญี่ปุ่นเองต่างก็แวะเวียนมาที่เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นแห่งนี้ เมืองมรดกโลก เมืองที่คุณจะมีโอกาสได้สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่แตกต่างจากความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีอันทันสมัยที่คุณได้สัมผัสในกรุงโตเกียว ชื่อของวัดเงิน (กินคะคุจิ) วัดทอง (คินคะคุจิ) หรือวัดคิโยะมิซึเตระ หรือคนไทยเรียกวัดน้ำใสคงเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดี เพราะมักจะปรากฏอยู่ในโปรแกรมทัวร์ประเทศญี่ปุ่นเสมอ หากมีรายการที่ต้องผ่านมาที่เมืองเกียวโตแห่งนี้ แต่สถานที่เหล่านั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนน้อยของเกียวโตเท่านั้น เอาเฉพาะในแง่ของสิ่งปลูกสร้าง เกียวโตมีวัด (ศาสนาพุทธ) และศาลเจ้า (ศาสนาชินโต) มากกว่า 2,000 แห่ง สวนญี่ปุ่นสวยๆอีกนับร้อย ย่านวัฒนธรรมเก่าแก่อย่าง “กิออน” (Gion) ที่หากคุณโชคดีอาจมีโอกาสได้ชายตามองสาวไมโกะ สาวน้อยหน้าขาวใส่ชุดกิโมโน ลากเกี๊ยะ เดินผ่านมาให้เห็น ก่อนที่พวกเธอจะขึ้นแท่นเป็นเกอิชาผู้มากความสามารถในเรื่องศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และเกียวโตยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังและพระตำหนักของจักรพรรดิถึง 3 แห่ง ที่หลายๆคนอาจเคยได้ยิน แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ไปสัมผัส

เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเฮอัน คือประมาณ ค.ศ. 794 จนกระทั่งถึงประมาณ ค.ศ.1868 ซึ่งญี่ปุ่นได้ย้ายเมืองหลวงมาที่เอโดะ หรือโตเกียวปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงพันกว่าปีที่เกียวโตเป็นเมืองหลวงนั้น ในบางช่วงเวลาก็เป็นแต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะศูนย์กลางการปกครองที่แท้จริงจะย้ายไปตามโชกุนที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงสมัยนั้นๆ แต่ที่ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงอยู่เพราะจักรพรรดิยังคงพำนักอยู่ที่เกียวโตตลอดหนึ่งพันกว่าปี แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศก็ตาม อย่างไรก็ดีศิลปะวิทยาการต่างๆที่เป็นแบบญี่ปุ่น ก็บ่มเพาะและเจริญรุ่งเรืองขึ้น ในพื้นราบที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาแห่งนี้ การเยี่ยมชมพระราชวังในเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด หากคุณต้องการชมรากเหง้าของสถาปัตยกรรมที่แสดงความเป็นญี่ปุ่นที่แท้จริง นอกเหนือไปจากวัดและศาลเจ้าต่างๆที่คุณได้เคยเข้าชม

ตัวพระราชวังเกียวโต ซึ่งเรียกกันว่า Kyoto Gosho (Kyoto Imperial Palace) นั้น ตั้งอยู่บนถนนคะระซึมะ (Karasuma Dori) ระหว่างสถานีรถไฟใต้ดิน อิมะเดะกะวะ (Imadekawa) และสถานีมะรุตะมะฉิ (Marutamachi) หากดูในแผนที่จะเห็นว่าตั้งอยู่ค่อนข้างจะใจกลางเมืองเกียวโตปัจจุบันเลยทีเดียว (เยื้องไปทางเหนือเล็กน้อย) กำแพงหินด้านนอก (ยาวประมาณ 1,200 เมตรแนวเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 800 เมตร แนวตะวันออก-ตะวันตก) ล้อมรอบส่วนที่เป็นคล้ายสวนสาธารณะที่สามารถเข้าไปเดินเล่น พักผ่อนชมดอกซากุระ ดอกบ๊วยและดอกไม้อื่นๆในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือใบโมมิจิ (เมเปิลญี่ปุ่น) เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงได้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มักมีผู้คนมานั่งเล่น ปิคนิคกัน พร้อมๆกับดูผู้คนวิ่งออกกำลัง ขี่จักรยาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในกำแพงหินนี้ยังเป็นที่ตั้งของที่ทำการของสำนักพระราชวังในเกียวโตด้วย สำนักพระราชวังนี้ เป็นผู้ดูแลพระราชวังและตำหนักทั้งสามที่ฉันกล่าวถึง รวมถึงพระราชวังในโตเกียวที่จักรพรรดิองค์ปัจจุบันประทับอยู่ด้วย การเยี่ยมชมพระราชวังต่างๆในเกียวโต จึงต้องมาทำเรื่องขออนุญาตที่นี่ ซึ่งถ้าเป็นคนญี่ปุ่นเอง คงต้องทำเรื่องกันเป็นเดือนกว่าจะได้เข้าชม แต่สำหรับคนต่างชาติเขาจะลัดคิวพิเศษให้ได้ภายในไม่กี่วัน โดยไม่ต้องรอนานเป็นเดือนๆ สิ่งที่ต้องใช้คือพาสปอร์ตแสดงตัวเท่านั้น ไม่มีค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมใดๆทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้าชมจะมีมัคคุเทศก์ของทางวังต่างๆ พาเข้าชม โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง (สำหรับแต่ละที่) ไม่สามารถเดินชมโดยอิสระเองได้ วันหนึ่งๆ จะเปิดเป็นรอบๆประมาณ 2 รอบต่อวัน และไม่เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการต่างๆ ยกเว้นบางเสาร์เท่านั้น มัคคุเทศก์ที่เข้าชมจะพูดบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก จะมีเฉพาะบางรอบและบางวังเท่านั้นที่จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ หรือบางที่อาจจะมีออดิโอเฮดเซ็ทเป็นภาษาอังกฤษให้

ภายในกำแพงหินด้านนอกของพระราชวังกลางเมืองนี้ มีส่วนที่ต้องขออนุญาตเข้าชมสองที่คือตัว Kyoto Gosho เองและอีกส่วนหนึ่งที่ชื่อว่า Sento Gosho

พระราชวังที่เป็นที่อยู่ของจักรพรรดินั้น ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ย้ายเมืองหลวงมาที่เกียวโต แต่เนื่องจากสมัยโบราณสิ่งก่อสร้างมักสร้างด้วยไม้เป็นหลัก พระราชวังจึงถูกเพลิงไหม้หลายครั้ง ว่ากันว่าในยุคแรกเริ่ม พระราชวังจะตั้งอยู่ห่างจากตัวพระราชวังปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากถูกไฟไหม้และย้ายไปมาหลายหน พื้นที่ตรงบริเวณที่เป็นพระราชวังปัจจุบันถูกใช้เป็นที่สร้างวังในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 โดยจักรพรรดิโคะเกน อย่างไรก็ตามตัวที่ประทับด้านใน Kyoto Gosho ที่เห็นในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1855 มีอาคารหลายหลังแยกสัดส่วนกันและมีส่วนของสวนที่เป็นบ่อน้ำเล็กๆอยู่ทางหนึ่ง ท้องพระโรงที่นี่ถูกใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆของญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ จนกระทั่งพระราชวังใหม่ในโตเกียวถูกสร้างขึ้น

ในส่วนที่เรียกว่า Sento Gosho นั้น เดิมตัวอาคารพระราชฐานสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1630 เพื่อเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ Gomizuno-o (ค.ศ. 1596-1680) แต่ตัวอาคารได้ถูกไฟไหม้สูญหายไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่และมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันคือสวนแบบญี่ปุ่น สร้างตามความเชื่อแบบลัทธิเซน ที่ออกแบบโดยคุณ Kobori Enshu ที่เป็นทั้งข้าราชการ และปรมาจารย์ด้านการชงชาและการจัดสวน ตัวสวนมีสระน้ำขนาดปานกลางสองสระคือสระเหนือและสระใต้เชื่อมต่อกันด้วยทางน้ำเล็กๆ ภายในสระใต้มีเกาะกลางน้ำสองเกาะเชื่อมต่อกันด้วยสะพาน รวมทั้งมีทางเดินทอดข้ามมายังริมฝั่งสระใต้ซึ่งทำเป็นหาดหิน ว่ากันว่าหินที่นำมาทำเป็นหาดถูกคัดเลือกขนาดและรูปทรงมาอย่างพิถีพิถัน นำมาจากแหล่งหินบริเวณใกล้ๆภูเขาไฟฟูจิ นอกจากนี้ยังกล่าวกันอีกว่าหินแต่ละก้อนถูกห่อมาอย่างดีด้วยผ้าไหมขณะลำเลียงมาจัดสวนที่นี่ ทางด้านใต้มีเรือนชงชาชื่อ Seika-tei ไว้สำหรับจัดพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น ตัวสวนถูกออกแบบมาสำหรับให้พักผ่อนอิริยาบถ เดินชมได้โดยรอบ เพราะมีทางเดินเชื่อมต่อกันไปมาได้

พระตำหนักคะทสึระ หรือ Katsura Rikyu (Katsura Imperial Villa) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1624 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเกียวโต ใกล้ๆริมแม่น้ำคะทสึระ ถวายให้กับเจ้าชายโตะชิฮิโตะ อนุชาในจักรพรรดิ Gomizuno-o ตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจงมากทั้งในส่วนของตัวที่ประทับ เรือนชงชาและสวนญี่ปุ่น กล่าวกันว่าที่นี่เป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งทีเดียว มีหนังสือต่างๆที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของที่นี่ออกมาโดยเฉพาะ และถือเป็นตัวอย่างสถานที่ที่สถาปนิกที่ต้องการเรียนรู้สถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นต้องศึกษา เนื่องจากเป็นต้นแบบของรูปแบบบ้านญี่ปุ่นในปัจจุบัน ที่เรียกกันว่าการสร้างบ้านแบบโชะอินซึคุริ คือมีลักษณะเด่นตรงที่มีมุมประดับในห้องรับแขกแบบญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า โทะโคะโนะมะ โดยมีการยกพื้นเล็กน้อยตกแต่งด้วยภาพเขียนญี่ปุ่นหรือดอกไม้ประดับที่จัดขึ้นแบบญี่ปุ่น (อิเคะบะนะ) ตัวที่ประทับจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือหันหน้าไปทางสวนขนาดใหญ่ที่จัดไว้ เพื่อสำหรับนั่งชมวิวเมื่อพระจันทร์ขึ้นผ่านวิวของสวนอย่างสวยงาม

สวนญี่ปุ่นที่นี่ ออกแบบโดยคุณ Kobori Enshu คนเดิมร่วมกับตัวเจ้าชายเองด้วย เป็นการจัดสวนโดยเน้นธรรมชาติเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าแบบไคยู โดยการจำลองทัศนียภาพงดงามต่างๆทางธรรมชาติมาไว้ในสวน โดยใช้หินและต้นไม้มีชื่อต่างๆ ทั้งจำลองภูเขา แม่น้ำ ทุ่งหญ้า เกาะ ชายหาด และอื่นๆ โดยมีทางเดินชมได้โดยรอบ ส่วนจำลองที่มีชื่อเสียงมากคือสะพานขนาดย่อม จำลองมาจากหนึ่งในสามทัศนียภาพที่สวยงามที่สุดของญี่ปุ่นที่อ่าวมิยะสึ ที่เรียกว่า Amanohashidate (สถานที่จริงเป็นแนวสันทรายแคบๆ ทอดตัวยาวออกไป บนสันทรายมีต้นสนขึ้นยาวไปตลอดทาง) และเกาะกลางน้ำที่จำลองเกาะแห่งความเป็นอมตะที่เชื่อกันว่าตั้งอยู่ในทะเลของเอเชียตะวันออก มุมมองของสวนจากตัวอาคารที่ประทับ ตัวเรือนชงชา หรือการเดินชมโดยรอบจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ทางเดินก็มีหลายลักษณะทั้งที่เป็นดิน เป็นหินกรวดก้อนเล็กๆ หรือแผ่นหินใหญ่ๆเป็นต้น ทั้งนี้ ว่ากันว่าเพื่อให้ความรู้สึกสัมผัสที่เท้าแตกต่างกันออกไปขณะเดินผ่านอีกด้วย

การไปที่ตำหนักแห่งนี้ สามารถเลือกนั่งรถเมล์สาย 33 จากสถานีรถไฟเกียวโต ไปลงที่ป้าย Katsura Rikyu Mae หรือนั่งรถไฟสายฮันคิวเกียวโต (Hankyu Kyoto Line) จากใจกลางเมืองไปลงที่สถานี Hankyu Katsura แล้วเดินต่ออีกประมาณ 15 นาทีก็จะไปถึงทางเข้า

ตำหนักแห่งสุดท้ายที่ฉันขอแนะนำคือ พระตำหนักชุงะคุอิน หรือ Shugakuin Rikyu (Shugakuin Imperial Villa) ตั้งอยู่ตรงตีนเขาเฮอิ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเกียวโต สามารถเดินทางไปถึงได้โดยนั่งรถไฟสายเอซังเด็นเตทสึ (Eizan Dentetsu) ไปลงที่สถานี Shukakuin แล้วเดินต่อไปอีกประมาณ 20 นาที หรือนั่งรถเมล์สาย 5 จากสถานีรถไฟเกียวโตแล้วลงที่ป้าย Shugakuin Rikyu Michi แล้วเดินต่ออีกประมาณ 15 นาที วังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1655 ให้จักรพรรดิ Gomizuno-o แปรพระราชฐานมาประทับเป็นครั้งคราว ว่ากันว่าโชกุนโตะคุกะวะ เป็นผู้สร้างให้ เพื่อจะได้ย้ายองค์จักรพรรดิให้อยู่ห่างจากอำนาจทางการเมือง

ตัวพระตำหนักแบ่งเป็นสามส่วนคือตำหนักด้านล่าง ตำหนักกลางและตำหนักบน ซึ่งแต่ละส่วนมีที่ประทับ เรือนชงชาและสวนเป็นสัดส่วนของตัวเอง ทางเชื่อมระหว่างสามส่วนจะเป็นทางเดินมีต้นสนเรียงรายเนื่องจากพระตำหนักสร้างในบริเวณที่เป็นป่าสนเดิม ตัวตำหนักกลางนั้นสร้างขึ้นมาที่หลังเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงอาเกะ พระขนิษฐาขององค์จักรพรรดิ ซึ่งต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดชื่อ Rinkyu-ji เมื่อตัวเจ้าหญิงบวชเป็นแม่ชีถวายแด่พระบิดา และบางส่วนของวัดนี้ได้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักพระราชวังในปี ค.ศ. 1885 ส่วนที่ประทับทั้งสามส่วนเป็นสถาปัตยกรรมโดยใช้การสร้างแบบโชอินซึคุริเช่นเดียวกับที่พระตำหนักคะทสึระ อย่างไรก็ตามส่วนที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือสวนที่อยู่ที่ตำหนักบน

สวนญี่ปุ่นที่ตำหนักบนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ของการจัดสวนแบบที่หยิบยืมทัศนียภาพทางธรรมชาติของจริงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองในสวน หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า Shakkei คือนอกจากบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้น รวมไปถึงทางน้ำ น้ำตก เกาะกลางน้ำและอื่นๆ ที่ได้รับการสร้าง ตกแต่ง ดัดแปลงขึ้นแล้ว ยังใช้ทัศนียภาพของภูเขาจริงๆมาร่วมเป็นฉากด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองจากเรือนชงชา Rinun-tei ทางด้านบน

ในยุคที่คนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศด้วยตนเอง (ไม่พึงพาบริษัททัวร์) แบบนี้ หากใครได้มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนถึงเกียวโต ฉันขอแนะนำให้คุณเผื่อเวลาสักสองสามวัน ติดต่อขออนุญาตเข้าชมพระราชวังเหล่านี้ (อาจต้องใช้เวลาหลายวันถ้าจะเข้าชมทั้งหมด) นอกเหนือไปจากการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอื่นๆในเมืองที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และความชุลมุนของเหล่านักเรียนที่มาทัศนศึกษา (การทัศนศึกษาที่เกียวโตของนักเรียนญี่ปุ่น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสถานที่บังคับเลยก็ว่าได้ ไม่ชั้นปีใดชั้นปีหนึ่ง โรงเรียนจะต้องพามาที่เมืองโบราณแห่งนี้) การเดินทางก็สะดวกสบายไปมาง่าย อาจลำบากเล็กน้อยเรื่องการสื่อสารในกรณีที่มัคคุเทศก์ประจำสถานที่พูดภาษาญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่แผ่นพับภาษาอังกฤษเขาก็มีให้ เดินตามกลุ่ม หามุมถ่ายรูปได้อย่างสบายๆ ไม่รีบเร่ง ฉันกระซิบให้อีกนิดหนึ่งว่า หากคุณมีโอกาสได้มาที่เมืองนี้ในช่วงต่างฤดูกาล ขออนุญาตเข้ามาชมซ้ำได้เลยค่ะ (ไม่เสียค่าเข้าชมอยู่แล้ว) เพราะสวนญี่ปุ่นกว้างใหญ่ในพระราชวังเหล่านี้ ต่างฤดูกาล ต่างสีสัน แปลกตา รับรองได้ว่าให้ความรู้สึกต่างกันโดยสิ้นเชิงค่ะ อ้อ! คุณควรไปถึงสถานที่นัดหมายแต่ละที่ล่วงหน้า 20 นาทีก่อนเวลาเข้าชมนะคะ อย่าลืมว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนตรงเวลามาก

P.S. Sorry for now having any palace pix, all are in slides. Will try to deliver them soon online.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s