อืม…หายไประยะหนึ่ง เพราะไม่ค่อยอยู่กับที่…เอาเรื่องนี้ไปละกัน…ออกตัวไว้ก่อนว่า บทความนี้เขียนขึ้นก่อนกษัตริย์ภูฏานทรงอภิเษกสมรสนะจ๊ะ…
หลังจากมัวแต่นั่งเล่นเกมในเฟสบุ๊คและจมปลักอยู่ในโลกไซเบอร์มาสักระยะ ความรู้สึกตะหงิดๆอยากออกไปชมโลกภายนอกอีกครั้งก็บังเกิดขึ้น ทริปปัจจุบันทันด่วนในการไปเยือนประเทศไม่ใกล้ไม่ไกล แค่สามชั่วโมงบิน จึงถือกำเนิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงสองอาทิตย์ก่อนการเดินทาง ฉันเลือกที่จะไปภูฏาน ดินแดนบนที่ราบสูงทางทิศตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยหลังจากที่ได้ยินชื่อและเกิดอาการอยากมานานหลายปี หลายคนคิดว่าประเทศนี้ไปยาก แต่พอได้มาลองติดต่อดูจริง กลับกลายเป็นว่าง่ายกว่าการไปเที่ยวในหลายๆประเทศเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจากทางการภูฏานมีกฎระเบียบให้ใช้บริษัททัวร์ท้องถิ่นในการเดินทางนั่นเอง ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นง่ายๆเพียงแค่คลิ๊กออนไลน์บนคอมพิวเตอร์ หลังจากชักชวนเพื่อนได้ (เพื่อเฉลี่ยค่าเที่ยวให้ถูกลง) ฉันจองตั๋วเครื่องบิน ติดต่อบริษัททัวร์ออนไลน์ ส่งรูปและหน้าพาสปอร์ตออนไลน์ไปขอวีซ่าและใบผ่านทางที่ภูฏาน โอนเงิน เท่านี้ภายในไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์เอกสารทุกอย่างก็เสร็จสรรพเป็นที่เรียบร้อยรอวันที่จะออกเดินทาง (จะว่าไป…ทุกอย่างพร้อมโดยที่ฉันไม่ต้องออกจากบ้านเลยสักก้าวเดียว)
แล้วเช้าวันหนึ่งในฤดูเก็บเกี่ยวฉันก็มาถึงสนามบินปาโร (Paro) สนามบินนานาชาติแห่งเดียวของประเทศเล็กๆที่ถูกโอบล้อมอยู่กลางขุนเขาแห่งนี้ โชคดีที่เลือกที่นั่งริมหน้าต่างได้เพราะวิวทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองปาโร ชุมชนเล็กๆ สิ่งก่อสร้างรวมถึงท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ระหว่างหุบเขาได้ปรากฎต่อสายตา ในขณะที่เครื่องบินเตรียมร่อนลง โดยมีเทือกเขาขนาบทั้งสองข้าง (พวกเราบินอยู่ต่ำกว่าภูเขาในแถบนี้) ไกลออกไปอีกนิดยังมองเห็นเทือกเขาที่ยังคงมีหิมะปกคลุมตรงส่วนยอดอยู่สวยงามเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อลงจากเครื่องบินก็ได้รับอากาศสะอาดสดชื่นของดินแดนแห่งขุนเขา ทางเข้าอาคารสนามบินที่สร้างได้อย่างสวยสง่าตามแบบสถาปัตยกรรมของภูฏาน มีรูปกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันทั้ง 5 พระองค์ให้การต้อนรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยหลายๆคนเมื่อครั้งเสด็จมาในฐานะมกุฏราชกุมารในคราวเฉลิมฉลองงานครองราชย์ครบรอบหกสิบปีของในหลวงของพวกเราเมื่อ 4-5 ปีก่อน เท่าที่ฉันเห็น นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มาลงที่สนามบินแห่งนี้ ต่างก็ควักกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายบรรยากาศรอบตัวและชื่นชมความงามอย่างอ้อยอิ่ง ไม่เหมือนกับสนามบินหลายๆแห่งที่ต่างคนต่างรีบแย่งกันเข้าตัวอาคารเพื่อไปผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ก่อนเดินเข้าตัวอาคาร ฉันเหลือบไปเห็นพรมแดงวางพาดเป็นทางยาวเตรียมไว้จากประตูเข้าสนามบินอีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีตำรวจทหารหลายนายเดินไปเดินมาอยู่ ฤาจะมีบุคคลสำคัญกำลังจะผ่านเข้าออกที่สนามบินนี้?
สำเนาใบอนุญาติผ่านเข้าเมืองที่เขียนกำหนดไว้หมดว่าวันไหนเราจะเข้าพักที่เมืองไหน (ตามระเบียบของประเทศนี้) ที่ได้ทำเรื่องไว้ก่อนมา ทำให้พวกเราผ่านฉลุยเข้าประเทศอย่างง่ายดาย มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มารับยืนรออยู่ด้านนอก หลังจากทักทายกันเป็นที่เรียบร้อยและบทสนทนาอีกชั่วครู่ พวกเราจึงได้รับรู้ว่าพรมแดงที่เห็นอยู่นั้นกำลังเตรียมรอต้อนรับกษัตริย์องค์ปัจจุบันของราชวงศ์วังชุค (Wangchuck) แห่งดินแดน Druk Yul (ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า) นี้นี่เอง พระองค์มีพระนามเต็มว่า Druk Gyalpo Jigme Khesar Namgyel Wangchuck หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในนามกษัตริย์จิ๊กมี่ เคซาร์ และกำลังจะเสด็จกลับมาจากอินเดียในไฟล์ทต่อจากเครื่องที่พวกเราลง ต่อมกรี๊ดของเพื่อนร่วมทางที่ไปด้วยกันกับฉันเริ่มกำเริบ ทำทีว่าจะไม่ยอมไปเที่ยวต่อ ขอรอรับเสด็จก่อนได้ไหม!?…มัคคุเทศก์ของพวกเราเห็นท่าไม่ดี รีบต้อนขึ้นรถ บึ่งออกจากสนามบินในทันที พร้อมบอกเป็นเชิงปลอบใจว่า รอไปก็ไม่น่าจะเจอ เพราะท่านคงออกไปอีกประตูหนึ่งที่มีพรมแดงพาดรออยู่ทางอีกด้านหนึ่งของสนามบิน
ด้วยความตื่นเต้นเล็กๆน้อยๆเมื่อมาถึงประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวของเราเพิ่มความสนุกสนานเร้าใจขึ้นในทันที เราเข้าเมืองปาโรที่เป็นที่ตั้งของสนามบินบนความสูงเกินกว่า 2,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยลัดเลาะไปตามถนนสายแคบๆไปตามหุบเขา เลาะไปตามสายน้ำเล็กๆ เพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบนเชิงเขาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเก่าแห่งนี้ พิพิธภัณฑ์เริ่มจัดแสดงมาตั้งแต่ปี 1967 โดยอยู่ในหอคอยโบราณ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1657 เพื่อระวังภัยให้กับตัวป้อมปราการแห่งปาโร (Paro Dzong) ที่อยู่ต่ำลงไป ทางเดินภายในเลยค่อนข้างสับสนสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนครั้งแรกอย่างฉัน พื้นไม้และกำแพงดิน รวมถึงหน้าต่างไม้ทาสีสันตามแบบวัฒนธรรมที่นี่โดดเด่นแปลกตา ก่อนเข้าชมพวกเราต้องฝากกล้องและโทรศัพท์มือถือไว้ในตู้ล็อคเกอร์ด้านนอก ภายในจัดแสดงแสตมป์ เหรียญเงิน รูปปักและรูปวาดเทพเจ้าต่างๆบนผืนผ้าปักโบราณ (Thangka) เครื่องใช้เครื่องมือ อาวุธ รวมถึงชุดแต่งกายพื้นเมืองต่างๆ ฯลฯ ตบท้ายด้วยนกและสัตว์พื้นเมืองของประเทศที่สตั๊ฟเอาไว้ รวมถึงเขตบูชาพระพุทธรูป ตามหลักความเชื่อของศาสนาพุทธมหายาน นิกายวชิรยาน (ตันตระ) ที่มาจากทิเบต ศาสนาประจำชาติของดินแดนแห่งนี้ เมื่อออกมานอกตัวอาคาร จะมองเห็นหุบเขาปาโรภายใต้การโอบล้อมของขุนเขา สะท้อนแสงเป็นสีทองอร่ามตามริ้วรวงของทุ่งข้าวที่กำลังโตเต็มที่รอการเก็บเกี่ยว หุบเขาที่มีลำธารเล็กๆไหลผ่านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหุบเขาที่สวยงามที่สุดของประเทศเลยทีเดียว
จากนั้นเราแวะชมสถาปัตยกรรมภูฏานอันงดงามที่ Paro Dzong ซึ่งมีชื่อเต็มๆว่า Paro Rinchen Pong Dzong (ป้อมปราการที่เต็มไปด้วยเพชรนิลจินดา) ก่อนเข้าชมมัคคุเทศก์ของเราซึ่งอยู่ในชุดประจำชาติของผู้ชายที่เรียกว่า Gho (ชุดประจำชาติสตรีเรียกว่า Kira) ต้องเอาผ้าขาวมาพาดบ่าเพื่อแสดงความสุภาพในการเที่ยวชมสถานที่ราชการ เพราะแม้ว่าที่นี่จะสร้างมากว่า 500 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงเป็นสถานที่ทำงานของข้าราชการและเหล่าคณะสงฆ์ (แบ่งเป็นสองส่วน) อีกด้วย ตัวป้อมผ่านร้อนผ่านหนาวจากการรุกรานของชาวทิเบตเมื่อหลายร้อยปีก่อน และยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างาม ทั้งกำแพงสูงที่เทลาดเข้าด้านใน ภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันงดงาม การใช้สีที่บานประตูและหน้าต่างไม้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นเมืองที่นี่ บอกได้คำเดียวว่า “สวยจริง” สมกับนโยบายของประเทศที่ต้องการอนุรักษ์ทุกอย่างเอาไว้ ไม่ให้วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามามากเกินไป ที่นี่ยังเป็นสถานที่หนึ่งในการถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง Little Buddha เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นำแสดงโดยเคียนู รีฟ และกำกับโดยผู้กำกับชาวอิตาลีเบอร์นาโด แบร์โตลุคซี สมัยที่ราชอาณาจักรบนขุนเขาแห่งนี้เพิ่งเป็นรับนักท่องเที่ยวและยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสายตาของชาวโลกเท่าไรนัก
เมื่อถึงเวลาอาหารมื้อแรกของดินแดนแถบนี้ ฉันร้องขอรับประทานอาหารหลักประจำชาติของที่นี่มาแกล้มในทันที Ema Datsi เป็นพริกชี้ฟ้าที่ปรุงรสกับชีส รวมถึงน้ำพริก (Casay) ที่ให้รสชาติจัดจ้านเพิ่มความอร่อยให้อาหารจานอื่นๆได้อย่างดี ที่นี่รับประทานพริกกันเป็นหลักจริงๆ เพราะหลังจากนี้ในขณะที่ผ่านไปตามบ้านเรือนต่างๆแทบทุกที่ ตามหลังคาบ้านจะมีพริกเม็ดใหญ่สีแดงตากกันอยู่เต็มไปหมด สร้างสีสันให้กับหลังคาไม้สีน้ำตาลเข้มๆได้เป็นอย่างดี และในร้านอาหาร โรงแรมและสถานที่ทุกแห่งที่พวกเราผ่านไป ฉันพบว่าจะต้องมีรูปภาพของกษัตริย์จิ๊กมี่ เคซาร์ประดับสถานที่อยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่บ้านเรามีรูปในหลวง สอบถามได้ความว่า องค์กษัตริย์เป็นที่รักและเทิดทูนของผู้คนที่นี่และมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เจอตัวจริงของท่าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรแห่งนี้ (แม้แต่มัคคุเทศก์กับสาวเสริฟในร้านอาหารยังเคยเห็นตัวจริงของท่านมาแล้ว) เมื่อได้ยินเช่นนั้นบวกกับความเฉียดฉิวตอนขามา ทำให้เพื่อนร่วมทางของฉันกรี๊ดหนักเข้าไปอีก และเริ่มมิชชั่นใหม่ของเธอด้วยการถ่ายรูปคู่กับรูปภาพท่านจิ๊กมี่ เคซาร์ตามสถานที่ทุกแห่งที่ได้ผ่านไปเยี่ยมเยือน…
ห่างจากปาโรไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 65 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งเมืองหลวงของภูฏานที่มีชื่อว่า ทิมพู (Thimphu) ซึ่งต้องใช้เวลานั่งรถจากสนามบินปาโรไปประมาณ 1.5 ชั่วโมง ถนนเข้าสู่เมืองหลวงเส้นนี้ถือเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดของประเทศ โดยจะลัดเลาะไปตามลำน้ำสีเขียวใส (น้ำจากหิมะละลาย) โค้งไปโค้งมาตามแนวเขา มองไปเห็นหุบเขาแคบๆและสายน้ำตื้นๆ ทอดตัวไปตามทาง หากผ่านเข้าแหล่งชุมชนก็จะเห็นแปลงนาข้าวแบบขั้นบันได ซึ่งมีข้าวออกรวงเหลืองทอง (แล้วแต่ฤดูกาล) อย่างงดงาม…
เมืองทิมพู อาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงที่เล็กที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีประชากรแค่ประมาณหนึ่งแสนคน (1 ใน 6 ของประเทศ) เมืองนี้เริ่มเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่ปี 1961 ถือเป็นจุดเชื่อมต่อเมืองสำคัญๆของประเทศ รวมถึงเมืองหลวงเก่าอย่างปูนาคา (Punakha) ทางทิศตะวันตก แม้ว่าพอเข้าเขตเมืองหลวงแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าพลุกพล่านกว่าที่อื่น มีตึกรามบ้านช่องเรียงกันเป็นแถว แต่อาคารต่างๆเหล่านี้ก็ยังคงมีเอกลักษณ์ความเป็นภูฏานอยู่ในตัว กลางใจเมืองไม่มีไฟสัญญาณจราจรให้เห็น ฉันเห็นเพียงป้อมเล็กๆ มีตำรวจยืนโบกรถอยู่กลางสี่แยกกลางเมืองเท่านั้น ฉันมีเวลาได้เดินเที่ยวในเมือง และแวะเข้าร้านขายของชำต่างๆ กลับพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่มาจากเมืองไทยทั้งนั้น มัคคุเทศก์บอกว่า ส่วนใหญ่สินค้ามาจากเมืองไทยและอินเดีย (กัลกัตต้า) เนื่องจากเป็นสองที่ที่มีเที่ยวบินตรงสู่ภูฏาน แต่คนที่นี่จะชอบของไทยมากกว่า เพราะคุณภาพดีกว่านั่นเอง
ในระหว่างวัน ฉันมีโอกาสได้เข้าไปชมโรงเรียนสอนศิลปกรรมพื้นเมือง (School of Fine Arts) ซึ่งเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและสอบถามพูดคุยกับนักเรียนและครูบาอาจารย์ที่นี่ได้อย่างใกล้ชิด มีทั้งการทอผ้า ปักลายผ้า วาดภาพ ประติมากรรม แกะสลักไม้ ฯลฯ นักเรียนที่นี่ได้รับการเรียนฟรี จากการสนับสนุนของรัฐบาล ได้เข้าชมบ้านพื้นเมืองเก่าแก่กว่าร้อยปีของภูฏาน ที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ (Folk Heritage Museum) มีไกด์ประจำสถานที่อธิบายฟังก์ชั่นต่างๆของการสร้างบ้านแบบนี้ ทั้งส่วนเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูกด้านล่าง ส่วนที่อยู่อาศัยด้านบน รวมถึงยุ้งฉางและลานตากที่อยู่บนยอดสุดอีกด้วย บ้านภูฏานสร้างจากดินและไม้สนต้นใหญ่ๆเป็นหลัก และที่ฉันชอบมากคือสปาในบ้าน ที่ทำเป็นหลุมหินใส่น้ำอยู่ในสนามข้างบ้าน ฉันได้รับการอธิบายว่าความร้อนของน้ำได้มาจากการนำหินเผาไฟ (หินร้อน) ไปวางไว้ช่องที่ทำไว้ติดๆกันนั่นเอง นอกจากนี้ ยังได้ไปแวะชมวัดของแม่ชี “Zilukha Nunnery” บนเขา ทำให้ได้มีโอกาสพบปะกับแม่ชีตัวน้อยน่ารัก ดูไม่ออกว่าเป็นหญิงหรือชาย จนถึงชีผู้เฒ่าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งประสบการณ์ พร้อมๆ กับแวะชมสัตว์หน้าตาประหลาด Takin ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏานในเขตสงวนฯ เรียกว่ามาเมืองหลวงแล้ว สามารถเก็บตกสิ่งที่แสดงความเป็นภูฏานเล็กๆน้อยๆได้หมด รวมทั้งวัดเก่าแก่อย่าง Changangkha Lhakhang ซึ่งถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของที่นี่ ภายในตัวอาคารของวัดนี้ก็เช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ อย่างไรก็ดี ที่นี่เป็นที่ที่ฉันแนะนำเป็นการส่วนตัวว่าพลาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปแกะสลัก Chenresig (พระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวร) 11 เศียร 1,000 มือ ที่สวยงามขั้นเทพจริงๆ
ตกเย็นหลังจากข้าราชการเลิกงานแล้วนั่นล่ะ พวกเราจึงมีโอกาสได้เข้าชมป้อมปราการแห่งทิมพู (Thimphu Dzong) ด้วยความหวังเล็กๆที่อาจจะได้ยลโฉมกษัตริย์ ที่นี่เป็นทั้งสถานที่ราชการและที่ทำงานของกษัตริย์ รวมถึงที่ทำงานของคณะสงฆ์ ที่อนุญาติให้เข้าชมเฉพาะตอนเย็น สถาปัตยกรรมแบบภูฏาน รวมถึงภาพวาดบนผนัง กรอบประตู หน้าต่าง ยิ่งใหญ่อลังการในขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารกว่า Dzong ที่ปาโร สมกับเป็นเมืองหลวงจริงๆ เสียดายตรงที่เขาให้ชมเฉพาะตอนเย็นเท่านั้น และวันนั้นฝนยังตกเสียอีก การถ่ายรูปจึงทำได้ไม่เต็มที่ ตอนขากลับขณะที่เดินออกมาตามทางเดินที่อีกฟากหนึ่งของถนนเป็นที่ตั้งของอาคารรัฐสภาและที่ประทับของกษัตริย์ (ห้ามถ่ายรูป) ด้วยความสำรวม เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่วางเวรยามคุมเชิงอยู่ตามทาง และผิดหวังเล็กๆที่ไม่มีเงาของท่านจิ๊กมี่ เคซาร์ให้เห็นนั้น พลันก็ได้ยินเสียงสุนัขเห่าแว่วออกมาจากทางในวัง และเมื่อมัคคุเทศก์บอกว่าน่าจะเป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ที่ท่านเลี้ยงไว้เท่านั้น…พวกเราก็พลันเก็บอาการสำรวมกันไม่อยู่ในทันที เอาน่า…ถึงจะไม่ได้เห็น Bhutan King แต่ได้ยินเสียงของ Bhutan King’s Dog ก็ยังดี…
(ติดตามต่อตอนหน้านะจ๊ะ ว่าฉันได้เจอกันท่านจิ๊กมี่หรือไม่!?)