หลังจากเที่ยวชมเมืองหลวงและเมืองสำคัญทางตะวันออกไปแล้ว (ในตอนที่แล้ว) พวกเราเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเก่าทางด้านทิศตะวันตก ที่มีชื่อว่าปูนาคา (Punakha) เส้นทางจากเมืองหลวงทิมพูสู่ปูนาคานั้น ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายสำคัญสำหรับผู้มาเยือน เพราะเมื่อออกจากทิมพูแล้วถนนจะตัดผ่านป่าขึ้นเขาไปที่ความสูงสามพันกว่าเมตร ก่อนจะตัดลงสู่หุบเขาอันอุดมสมบูรณ์อันมีทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามทางตะวันตกและเข้าสู่เมืองปูนาคาที่ตั้งอยู่ที่ความสูง 1,220 เมตร แม้ระยะทางจริงจะเพียงแค่ไม่ถึง 80 กิโลเมตรดี แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางถึงสองชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว
พวกเราออกเดินทางกันแต่เช้ากว่าปกติ เนื่องจากคนขับรถแจ้งให้ทราบว่ามีการซ่อมแซมถนนทางขึ้นเขา และจะเปิดปิดให้รถสลับกันผ่านเป็นเวลา อาจต้องเสียเวลามากกว่าปกติเข้าไปอีก แล้วก็เป็นจริงดังว่า จะเป็นเพราะฝนตกเมื่อคืนวานด้วยหรืออย่างไรไม่ทราบ พอเริ่มขึ้นเขา ถนนที่แคบอยู่แล้ว ยังเหมือนถูกดินถล่มเป็นช่วงๆ บางจุดรถแทบจะสวนกันไม่ได้ ทำให้การจราจรติดขัด ได้แต่ค่อยๆกระเถิบกันไปเรื่อยๆ จนคนที่ยังไม่ได้รับประทานข้าวเช้าอย่างฉันเริ่มหงุดหงิด และเมื่อมาถึงจุดที่ถนนเริ่มดีขึ้น ก็มีตำรวจมากั้นทาง ให้รถผ่านไปทีละไม่กี่คัน หลังจากที่คนขับเปิดหน้าต่างสอบถามกับตำรวจสักพัก ก่อนที่จะให้รถของพวกเราผ่านขึ้นเขาต่อไป มัคคุเทศก์ของเราที่นั่งฟังอยู่ด้วย ก็หันหน้ามาทำหน้าตาท่าทางจริงจัง แล้วพูดกับพวกเราว่า “ที่จริงตำรวจเขาบอกว่าไม่ให้บอกหรอกนะ แต่เห็นพวกเราคลั่งไคล้เหลือเกินตั้งแต่มาถึง… กรุณานั่งเฉยๆ อย่าหยิบกล้องขึ้นมา แล้วก็ห้ามส่งเสียงดัง…กษัตริย์ของเรา (ท่านจิ๊กมี่ เคซาร์) กำลังปั่นจักรยานขึ้นเขาอยู่ข้างหน้า เดี๋ยวรถเราจะต้องขับผ่าน!”… เท่านั้นแหละ ฉันและเพื่อนร่วมทางเกือบจะทำให้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภูฏานแตก (ถ้ามัคคุเทศก์ ไม่ย้ำแล้วย้ำอีกว่าให้เบาเสียงตั้งแต่ต้น) พวกเราถามย้ำหลายครั้งจนเป็นที่แน่ใจว่าฟังไม่ผิดและไม่ใช่การล้อเล่น เส้นทางขึ้นเขาก็มีเส้นทางเดียวแค่สองเลนแคบๆแบบนี้ ไม่มีทางพลาดแน่ๆ…ใจเต้นตุ๊มๆต่อมๆได้ไม่นาน ก็เห็นรถสีดำทะเบียนแปลกๆ วิ่งช้าๆอยู่ด้านหน้า คนขับรถและมัคคุเทศก์หันมาย้ำชัดๆอีกว่า “ห้ามถ่ายรูป ห้ามกรี๊ด” เมื่อรถดำโบกให้รถของเราผ่านไป ไม่กี่อึดใจ เราก็ได้เห็น นักปั่นจักรยานสามคนกำลังถีบจักรยานแบบสบายๆขึ้นเขา บนถนนแคบๆข้างหน้า แล้วรถของเราก็ขับผ่านจักรยานทั้งสามไปช้าๆ ในเลนข้างๆ พวกเรานั่งเงียบ หันหน้ามองตาม หันกลับมามองหน้ากันเองและยิ้มกันแก้มปริ.. ใช่ ท่านจิ๊กมี่ เคซาร์จริงๆด้วย! (แม้จะสวมหมวกจักรยานก็เถอะ) เมื่อรถวิ่งผ่านไปสักระยะ เพื่อนร่วมทางของฉันก็อดรนทนไม่ไหวกรี๊ดสนั่นรถ จนมัคคุเทศก์ต้องหันมาปราม แล้วบอกว่า คนภูฏานไม่มีใครเขากรี๊ดกันแบบนี้หรอกนะ…หลังจากนั้น บทสนทนาเกี่ยวกับท่านก็เริ่มพรั่งพรูออกมา ปกติท่านจะไปไหนมาไหนแบบสบายๆ โดยไม่มีพิธีรีตองอะไร ตามที่พวกเราได้เจอมา และชอบขี่จักรยานกับพระสหายแบบนี้ ตอนนี้กำลังจะไป ปูนาคาเหมือนกับพวกเรา…ฯลฯ
ไม่นาน พวกเราก็มาถึงจุดชมวิว Dochu-la Pass จุดพักสำคัญของเส้นทางนี้ บริเวณนี้เป็นจุดสูงสุดของเส้นทางที่ประมาณ 3,150 เมตร รถจอดให้พวกเราออกไปเดินเล่น บริเวณนี้มีวัดที่ชื่อว่า Druk Wangyal Lhakhang และ 108 สถูป (108 Druk Wangyal Chortens) ตั้งเรียงรายโดดเด่นอยู่อีกด้าน ชื่อมีความหมายว่า สถูปแห่งชัยชนะของราชามังกร มองข้ามเขาออกไปยังขอบฟ้าอีกด้านยังสามารถเห็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยที่มียอดเขาปกคลุมด้วยหิมะเรียงรายอย่างงดงาม แต่ยังไม่ทันที่พวกเราจะได้ชื่นชมอะไร ก็มีเสียงฮือฮาอีกครั้ง ผู้คนในบริเวณนั้นต่างมายืนเรียงรายกันริมถนน เสียงมัคคุเทศก์หลายต่อหลายคนที่อยู่บริเวณนั้น ต่างส่งเสียงเตือนว่า ห้ามถ่ายรูป ห้ามโบกมือ ยืนรับเสด็จเฉยๆ…แล้วท่านจิ๊กมี่ เคซาร์กับพระสหาย ก็ปั่นจักรยานผ่านหน้าพวกเราอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง แถมท่านยังโบกมือให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มาเที่ยวบริเวณนี้และยืนรับเสด็จอยู่ด้วย (ไม่มีใครกรี๊ดจริงๆนั่นแหละ)… สำหรับฉันแล้ว ประสบการณ์ครั้งนี้ ยิ่งเสริมความงามของธรรมชาติและสถาปัตยกรรมบริเวณนั้นให้ยิ่งใหญ่อลังการขึ้นไปอีก ธงภาวนาหลากสีสันที่ผู้ศรัทธามาผูกเอาไว้โบกสบัดไปกับลมอันบริสุทธิ์อยู่รอบๆสถูปสีขาวที่ตัดกับฟ้าสีครามบนขุนเขาสูงราวกับร่วมเฉลิมฉลองความยินดีด้วยอย่างเป็นใจ
หลังจากแวะรับประทานอาหารเช้าบนร้านอาหารบนยอดเขาพร้อมกับทดลองดื่มชาเนย (Suja) ของภูฏานเป็น ครั้งแรก เพื่อเรียกไออุ่นจากอากาศอันหนาวเหน็บภายนอก พวกเราก็ออกเดินทางต่อ คราวนี้เป็นเส้นทางลงเขาที่ผ่านป่าเขียวครึ้ม อากาศสดชื่น สมกับที่ประเทศนี้ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ป่าตามธรรมชาติอยู่ได้ถึง 72% จนลงมาถึงหุบด้านล่าง เส้นทางต่อจากนี้เป็นการลัดเลาะไปตามเขา เลียบไปกับแม่น้ำที่มองเห็นอยู่ด้านล่าง พร้อมกับมองเห็นเขาที่สูงกว่าอยู่ด้านบน บางบริเวณที่มีที่ราบพอก็จะปลูกข้าวกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่ฉันไปนั้น ข้าวในนากำลังออกรวงกันสลอนอย่างสวยงาม
เมื่อมาถึงทางบริเวณหุบเขาโลเบซา (Lobesa Valley) ซึ่งเป็นตั้งของวัดแห่งหนึ่งบนเนินเขากลมลูกย่อมๆกลางทุ่งนาขั้นบันไดอันกว้างใหญ่ รถจอดให้ริมถนนและถึงเวลาที่พวกเราต้องออกแรงกันสักนิด เดินผ่านบ้านชาวนาและไต่ไปตามคันนา ฝ่านทุ่งนาข้าวเหลืองอร่ามก่อนจะไปถึงวัด ฉันสังเกตเห็นว่าที่ผนังบ้านชาวนาหลายๆหลังแถบบริเวณนี้นั้นจะมีรูปวาดอวัยวะเพศชายลงสีสันงดงามขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป สิ่งนี้คือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของที่นี่นั่นเอง ไม่เพียงแต่รูปวาดเท่านั้น ตามประตูทางเข้าบ้าน หรือร้านรวง ก็จะมีไม้แกะสลักเป็นรูปเดียวกันติดอยู่เหนือประตูทางเข้าอีกด้วย หลังจากเดินกันมาได้ครึ่งชั่วโมง พวกเราก็มาถึง Chimi Lhakhang วัดที่เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวภูฏานที่ต้องการมีลูก เนื่องจากเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์และขอลูกได้ วัดแห่งนี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 15 โดยเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่พระลามะคินลีย์ (Lama Kinley) ได้สยบมารแห่ง Dochu-la และนำมาขังไว้ที่ใต้หินบริเวณนี้ (ที่ตั้งสถูปในปัจจุบัน) และว่ากันว่าตัววัดเป็นที่ประดิษฐานองคชาติไม้แกะสลักของดั้งเดิมที่พระรูปเดียวกันนี้นำมาจากทิเบต และเป็นต้นกำเนิดของความเชื่อในเรื่องไม้แกะสลักและรูปภาพบนผนังบ้านที่เป็นรูปองคชาติที่ฉันพูดถึงข้างต้น…
เมื่อเข้าสู่เขตเมืองหลวงเก่าปูนาคา (Punakha) เมืองที่ตั้งอยู่กลางลุ่มน้ำสองสายที่มีชื่อว่า Pho Chu (พ่อ) และ Mo Chu (แม่) อันอุดมสมบูรณ์ ป้อมปราการอันสวยงามของ Punakha Dzong ที่สร้างอยู่ที่ระหว่างจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองสายโดดเด่นเป็นสง่าให้เห็นจากระยะไกล Dzong แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1637 แม้ว่าจะถูกทำลายไปตามกาลเวลาทั้งจากเพลิงไหม้และน้ำจากเขาไหลบ่าลงมา แต่ก็ได้รับการบูรณะมาหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเพิ่งดำเนินการไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สีสันของภาพวาด ลวดลายและสิ่งก่อสร้างจึงยังคงจัดจ้านและเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะข้ามไปยังป้อมปราการ จะต้องเดินข้ามลำน้ำไปบนสะพานโค้งทำจากไม้ซึ่งมีคานสลับซ้อนรับซึ่งกันและกัน หนึ่งในสถาปัตยกรรมอันงดงามสัญลักษณ์แห่งความเป็นภูฏาน ที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่สำหรับงานเฉลิมฉลองหนึ่งร้อยปีของราชวงศ์วังชุค (ราชวงศ์กษัตริย์ปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 2008 และเมื่อเดินเข้าไปด้านในก็จะพบความอลังการของป้อมปราการแห่งนี้ เช่นเดียวกับป้อมปราการในเมืองอื่นๆ ที่มีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยเป็นเขตของสงฆ์และส่วนทำงานของข้าราชการ แต่ที่นี่พิเศษตรงที่ความเป็นเมืองหลวงเก่ามานานก่อนที่จะย้ายไปทิมพูเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ป้อมปราการนี้จึงเป็นศูนย์กลางการว่าราชการและพิธีการต่างๆ มาแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะพิธีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ทั้ง 5 พระองค์ของราชวงศ์ปัจจุบัน ป้อมนี้มีทั้งอาคารที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระที่ลี้ภัยจากทิเบตนำติดตัวมาด้วยซึ่งเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะกษัตริย์และหัวหน้าคณะสงฆ์เท่านั้น รวมทั้งอาคารซึ่งมีท้องพระโรง 100 เสา ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สามองค์ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายวชิรยาน (ตันตระ) มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และมีกล่องไม้ยาวใหญ่หลายสิบเมตรวางอยู่ที่มุมหนึ่ง มัคคุเทศก์ของเราอธิบายว่าข้างในบรรจุม้วนผ้าปักด้ายสีทางศาสนาแบบทิเบต (Thangka) ผืนมหึมาที่สามารถห้อยลงมาคลุมตึกสูงห้าชั้นได้ สำหรับใช้ในงานเทศกาลและพิธีเฉลิมฉลองที่สำคัญๆ
พวกเราใช้เวลาอยู่ใน Dzong แห่งนี้ค่อนข้างนาน เพราะสวยงามเป็นพิเศษและมีอะไรหลายๆอย่างให้ชื่นชม เนื่องจากเปิดทั้งวัน ไม่เหมือนกับ Thimphu Dzong (ตอนที่แล้ว) ที่เข้าได้เฉพาะช่วงเย็นจะทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะยังเป็นศูนย์กลางการปกครองของส่วนข้าราชการในปัจจุบัน… ในระหว่างที่กำลังเดินผ่านสะพานโค้งไม้ออกมาจากบริเวณป้อมปราการนั่นเอง ก็มองไปเห็นกลุ่มคนกำลังออกันอยู่ที่ถนนใกล้ๆที่จอดรถด้านนอก ท่านจิ๊กมี่ เคซาร์อีกแล้ว…ท่านเพิ่งเสด็จผ่านออกไปจากบริเวณนั้น เพราะที่ประทับของท่านอยู่ใกล้ๆกับ Punakha Dzong แห่งนี้นี่เอง มีหรือที่เพื่อนร่วมทางของฉันจะไม่เกิดอาการกรี๊ด (รอบที่เท่าไรแล้วไม่รู้) ขึ้นมาอีกครั้ง และถึงกับเพ้อพกไปว่า ท่านเองกระมังที่เป็นคนตามพวกเรามาตลอดทาง (ไม่ใช่พวกเราที่ตามหาท่าน!?)
เมื่อตีรถยาวกลับมาถึงปาโร ฉันขอใช้ช่วงเวลาสุดท้ายในการแวะไปชม Taktsang Monastery ที่อยู่นอกเมืองออกไปหน่อย เพราะเดี๋ยวใครๆจะหาว่ามาไม่ถึง เนื่องจากภาพอารามที่ปลูกสร้างอยู่บนริมหน้าผาสูงแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศนี้เลยทีเดียว เนื่องจากตัววัดซึ่งแปลว่า “รังของเสือ” (อันมาจากตำนานที่ว่าคุรุท่านหนึ่งได้เดินทางจากทิเบตมาที่ถ้ำบนหน้าผานี้ ด้วยการขี่หลังเสือมา) แห่งนี้ตั้งอยู่บนผาสูง การจะไปเยือนจึงต้องใช้กำลังกายกันพอสมควร เรียกว่าเป็นการเทรคกิ้งกันเลยทีเดียวโดยเฉพาะถ้าต้องการไปให้ถึงตัววัด อย่างไรก็ดี การจะชื่นชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ริมผาแห่งนี้ สามารถกระทำได้ง่ายๆสำหรับผู้ที่ร่างกายไม่พร้อม คือการชื่นชมจากที่ไกล จากจุดที่มีสถูปตั้งอยู่ทางด้านล่างริมป่าที่รถเข้าถึง หรือเข้าไปถึงจุดจอดรถแล้วขี่ล่อหรือม้าขึ้นเขาไปตามป่าสน ประมาณ 40 นาที (หรือเลือกที่จะเดินก็ได้) จนถึงประมาณกลางทางซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ใกล้เข้าไปอีกหน่อย มีร้านอาหารให้จิบชานมชมวิวได้อย่างสบายอารมณ์ จากจุดนี้ ถ้าอยากจะขึ้นไปชมภายในตัววัดเลย ก็ต้องเดินต่อขึ้นไปอีก 2-3 ชม. ซึ่งถ้าเป็นคนภูฏานเองก็มักจะเดินรวดเดียวจากจุดที่รถเข้าถึงด้านล่าง ซึ่งถือเป็นการทำภาวนาไปในตัวก่อนขึ้นไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนฉัน เนื่องจากมีเวลาไม่มากพอและมาถึงที่นี่ในช่วงบ่ายจึงเลือกที่จะขี่ม้าขึ้นไปนั่งพักตรงจุดชมวิวของตัววัด อันถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งสำหรับชาวภูฏาน ด้วยไม่ใช่เพียงเพราะมาจากตำนานเท่านั้น แต่เพราะเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว คุรุรินโปเช (Guru Rinpoche) หรือคุรุปัทมสมภพ (Padmasambhava) ซึ่งถือเป็นศาสดาคนแรกที่นำเอาศาสนาพุทธวชิรยานแบบทิเบตเข้ามาในดินแดนแถบนี้ครั้งแรกได้เคยมาทำสมาธิที่นี่ด้วย มัคคุเทศก์เล่าว่าปกติแล้วนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาด้านบนจะมาที่นี่กันในช่วงเช้าเพื่อเริ่มออกเดิน (หรือขี่ม้า) มาที่จุดนี้ เนื่องจากแดดไม่ร้อนมาก และมีเวลาสำหรับผู้ที่จะขึ้นต่อไปที่ตัววัด แต่สำหรับฉันแล้ว การมาถึงช่วงบ่ายกลับให้ความรู้สึกที่ดีกว่าเนื่องจากไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวให้เห็นมากเมื่อไปถึง (สวนทางกับพวกที่ขึ้นมาช่วงเช้า) และแสงอาทิตย์สวยๆช่วงบ่าย ก็ตกต้องลงมาที่บริเวณหน้าวัดจากจุดที่ชมความงามพอดิบพอดี หลังจากรอให้คุณมัคคุเทศก์ที่เดินขึ้นเขาตามม้าที่ฉันขี่ขึ้นมาตอนเที่ยงๆ ได้นอนพักสักระยะ พวกเราก็เริ่มเดินตามทางเดิมกลับลงมาด้านล่าง (ไม่มีบริการขี่ม้าลงเขา เนื่องจากทางบางช่วงค่อนข้างชันและอันตราย) ซึ่งใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ ถือเป็นการชมนกชมไม้ในป่าบริสุทธิ์และออกกำลังกายเล็กๆ ไปในตัว
อ้อ!…ลืมบอกไปว่า ในระหว่างทางขากลับจากปูนาคาสู่เมืองปาโรที่เป็นที่ตั้งของสนามบิน พวกเรารวมถึงคนขับรถและมัคคุเทศก์ต่างพร้อมใจกันนำผ้าภาวนาหลากสีสันที่ผูกเป็นแนวยาว (ซื้อมาจากวัด) ไปผูกไว้ที่บริเวณป่าใกล้ๆกับสถูป 108 องค์ บนยอดเขาที่ Dochu-la Pass ตามธรรมเนียมและความเชื่อของที่นี่ เพื่อเป็นการนมัสการธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่คุ้มครองให้พวกเราเดินทางในประเทศแห่งขุนเขาแห่งนี้ได้อย่างปลอดภัย และโชคดีอย่างเหลือล้นที่ได้มีโอกาสได้เห็นตัวจริงของกษัตริย์ ผู้ปกครองดินแดนแห่งมังกรสายฟ้านี้ ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่พวกเรามาเยือนที่นี่…สมความหวัง (ของใครบางคน) ที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเล (ข้ามขุนเขา) มาถึงราชอาณาจักรภูฏาน อันงดงามพิสุทธิ์ดุจดั่งตำนานแห่งนี้