Challenging the Altitude in Ladakh (2)

หลังจากชิมลางกับความสูงห้าพันเมตรต้นๆมาแล้ว ฉันกลับมาตั้งต้นที่เมืองเลห์ เมืองหลวงของลาดักห์อีกครั้ง ถึงตอนนี้ความสูง 3,500 เมตรของหนึ่งในดินแดนที่สูงที่สุดและแห้งแล้งที่สุดแห่งนี้ ไม่สร้างปัญหาให้ฉันเหมือนวันแรกๆที่มาถึงอีกต่อไป การเดินช้อปปิ้งหาซื้อของพื้นเมือง และของที่ระลึกต่างๆที่นี่ จึงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์กว่าช่วงวันสองวันแรก เมืองเลห์ถือเป็นศูนย์กลางของแคว้นที่จะเดินทางต่อไปยังเส้นทางอื่น เมื่อเปิดแผนที่กางออกดูแล้ว ฉันเห็นว่ายังมีอีกสองเส้นทางหลักที่ฉันยังไม่ได้ไปเยี่ยมเยือน หนึ่งคือถนนสายตะวันตกที่ต่อเชื่อมไปยังแคว้นแคชเมียร์ และสองคือเส้นทางสู่ทิศเหนือของลาดักห์ไปสู่หุบเขานูบร้าที่เชื่อมต่อไปยังจีน

ฉันเลือกเดินทางสู่เส้นทางสายทิศตะวันตกก่อน แม้ว่าทางสายนี้จะเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่เชื่อมต่อไปยังแคชเมียร์และดินแดนต่างๆของเอเชียกลางได้ แต่ฉันเลือกที่จะเดินทางไปไกลเพียงพอที่จะไปกลับได้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น เนื่องจากต้องการใช้เวลาในลาดักห์ให้เต็มที่ ถนนราดยางค่อนข้างดีสายนี้ ลัดเลาะไปตามแม่น้ำสินธุ ที่ถือกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมะ ภูมิประเทศระหว่างเส้นทางงดงามแปลกตา จนต้องขอหยุดถ่ายรูปเป็นพักๆ จนมาถึงจุดชมวิวแม่น้ำสองสายบรรจบกัน โดยแม่น้ำสินธุ (Indus) สายหลักมีสีใสกว่า ในขณะที่แม่น้ำซันสการ์ (Zanskar) มีสีโคลนขุ่นสีน้ำตาล ถือเป็นจุดของการบรรจบกันอย่างงดงามโดยมีวิวทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง ก่อนที่จะไหลรวมเป็นหนึ่งเดียวต่อไปเป็นแม่น้ำสินธุ ในบริเวณที่เรียกว่านิมู (Nimu)

การเดินทางลดเลี้ยวไปตามถนนยังคงดำเนินต่อไป ไปหยุดแวะพักจริงๆอีกครั้งก็ที่เมือง Alchi ซึ่งห่างจากเลห์มาประมาณ 67 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งสร้างขึ้นโดยคุรุรินเชนซางโป และดูเหมือนจะวัดแห่งเดียวในลาดักห์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเขา การเดินเข้าชมวัดแห่งนี้ จึงไม่ยากลำบากเกินไปนัก แถมยังเดินผ่านหมู่บ้านที่มีต้นไม้และสายน้ำเล็กๆทอดตัว ดูร่มรื่นเป็นอย่างยิ่ง ตัววัดแบ่งเป็นตัวอาคารสามหลัง ประกอบกับสถูปเจดีย์เรียงราย ดูเก่าขรึมและขลังเพราะสร้างมาเกือบพันปีที่แล้ว มีภาพเขียนสีที่เก่าแก่และงดงามมากๆ (ขอย้ำอีกครั้งว่าสวยมาก) ภายใน (แต่ห้ามถ่ายรูป) รวมถึงรูปปั้นและเครื่องไม้แกะสลักเก่าแก่จากแคชเมียร์ ซึ่งรวมถึงไม้แกะสลักเป็นกรอบประตูที่เป็นศิลปะลูกผสมของอินเดียและทิเบตที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ซึ่งรู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆของอินเดีย หากลองได้เที่ยวชมวัดวาอารามหลายๆแห่งในลาดักห์มาแล้ว

จุดหมายปลายทางบนเส้นทางสายนี้ของฉัน อยู่ที่เมืองลามายูรู (Lamayuru) โดยก่อนที่จะถึงเมืองเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาดักห์นี้ จะต้องผ่านเส้นทางที่มีภูมิประเทศแปลกตาของภูผาสีครีมตะปุ่มตะป่ำรูปร่างแปลกตา ว่ากันว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเลสาปขนาดใหญ่มาก่อน น้ำในทะเลสาปมาจากสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำจากธารน้ำแข็ง (กราเซียร์) พื้นทะเลสาปดั้งเดิมนี้จึงสะสมตะกอนของดินสีอ่อนๆ และถูกกัดเซาะด้วยพลังธรรมชาติตามกาลเวลา เกิดเป็นภูมิทัศน์แปลกตาที่หาคำบรรยายได้ยาก นอกจากฉายาที่คนตั้งให้ไว้ว่าเป็น “Moonland” ลามายูรู เป็นที่ตั้งของวัดที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดของลาดักห์ สร้างขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 10 เป็นอารามขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนเขาสูงที่ถูกกัดเซาะทำลาย บริเวณที่มีการถ่ายน้ำออกจากเขื่อน ตัววัดมีทั้งส่วนที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่จากการถูกทำลายในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีภาพเขียนสีที่ผนัง รวมถึงผ้าพระบฏโบราณแขวนไว้ให้ได้ชื่นชม จากตัววัดมองลงมาจะเห็นทิวทัศน์ของหมู่บ้านลามายูรูและมหัศจรรย์ธรรมชาติอันแปลกตาของหุบเขาในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

ระหว่างทางตีรถกลับเลห์ ฉันขอให้คนขับแวะออกนอกเส้นทางไปเที่ยวชมวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในเมืองลิคีร์ (Likir) ที่มีชื่อแปลกๆที่ฉันไม่สามารถอ่านออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า Klu-kkhyii Gompa เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาเกือบพันปีเช่นกัน แต่มีส่วนที่บูรณะขึ้นใหม่เมื่อสองสามร้อยปีก่อน และมีพระพุทธรูปศรีอายระเมตรัยขนาดสูงใหญ่ 25 เมตร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งแตกต่างจากวัดแบบทิเบตโดยทั่วๆไป ฉันชอบพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่นี่มาก เนื่องจากมีผ้าดาบฏ Thangka โบราณ หน้ากาก (ที่ใช้ในงานเทศกาล) โบราณ รวมทั้งโบราณวัตถุของทิเบตเก่าแก่กว่า 300-400 ปีให้ได้ชม และชาวบ้านที่ดูเป็นมิตรมากกว่าที่อื่นๆ อาจเป็นเพราะที่นี่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมน้อยกว่าวัดที่มีชื่อเสียงอื่นๆก็เป็นได้

เส้นทางขึ้นเหนือสู่หุบเขานูบร้า (Nubra Valley) เป็นเส้นทางสุดท้ายที่ฉันแวะไปเยี่ยมเยือนในลาดักห์ ก่อนจะไปในเส้นทางที่ห่างไกลแบบนี้ จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากรัฐในเมืองเลห์ก่อน ซึ่งแน่นอน Permit ต่างๆเหล่านี้ สามารถขอให้บริษัททัวร์หรือเกสต์เฮ้าส์ส่วนใหญ่ที่เราเข้าพัก จัดการให้ได้ โดยบอกล่วงหน้าเพียง 1-2 วัน ซึ่งเอกสารที่ได้มาจะถูกตรวจเช็คเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง นอกจากจุดตรวจเช็คปกติแล้ว หากมีทหารประจำการเป็นพิเศษตามจุดต่างๆ ก็อาจถูกตรวจได้ จากเลห์ ถนนจะไต่ขึ้นเขาทางเหนือไปเรื่อยๆ เห็นได้ถึงภูมิประเทศของเมืองที่เป็นหย่อมเขียวๆอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยภูเขาแห้งแล้งสีน้ำตาลในหน้าร้อน (หิมะปกคลุมในหน้าหนาว) โดยด้านหลังไกลลิบๆออกไปก็เป็นภูเขาที่ยอดยังเป็นหิมะหลงเหลืออยู่ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ชื่อว่าเป็นถนนที่สูงที่สุดในโลก เนื่องจากถนนได้ไต่ระดับจากหุบ สู่เขาแห้งแล้ง และสู่บริเวณที่หิมะยังปกคลุมอยู่ ผ่านไปยัง Khardung-la ช่องเขาที่ถนนตัดผ่านที่สูงที่สุดในโลกที่ 5,606 เมตร ซึ่งถือเป็นการท้าทายความสูงที่สูงที่สุดในทริปนี้ของฉัน บริเวณจุดสูงสุด มีร้านขายอาหารเล็กๆ มีสถูปเจดีย์ และธงภาวนาโบกปลิวไสวเต็มไปหมด มีป้ายให้ถ่ายรูปเขียนว่าถนนที่สูงที่สุดในโลก และมีร้านขายของที่ระลึกของทหารที่ประจำการอยู่บริเวณนี้ จากนั้น ถนนก็จะค่อยๆฃดระดับลงสู่หุบเขาอันแสนงดงามใกล้เขตชายแดนจีน เป็นหุบเขากว้างใหญ่ ที่มีทัศนียภาพแปลกตามากๆ…มองจากเขาลงมาคล้ายกับว่าเป็นทะเล ว่ากันว่า ที่ราบหุบเขาอันมีแม่น้ำสองสายได้แก่ แม่น้ำนูบร้า (Nubra River) และชย็อก (Shyok River) ไหลมารวมกันแห่งนี้ น้ำจะท่วมถึงในช่วงหน้าน้ำที่หิมะละลาย แต่ในหน้าร้อนแบบนี้ ลำน้ำเหลือเป็นเส้นลำธารเล็กๆ ไหลเป็นสีขุ่นเทา โอบล้อมด้วยที่ราบน้ำท่วมถึงที่ในช่วงนี้มองดูคล้ายกับทะเลทราย (กรวด) สองข้างทางอันกว้างใหญ่ มีพุ่มไม้เตี้ยๆ ออกดอกสีสันสดใส เป็นหย่อมๆ สมกับฉายาที่ได้รับว่า เป็นหุบเขาแห่งดอกไม้และความเขียวชอุ่ม…

เส้นทางเล็กๆ ลัดเลาะไปตามเขา หรือบางครั้งก็ตัดข้ามที่ราบตรงกลางไปอีกฝากหนึ่งของเขา ระหว่างเมืองดิสคิต (Diskit) และฮุนเดอร์ (Hunder) หมู่บ้านเล็กๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแหล่งโอเอซิสกลางหุบเขา มีพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายละเอียดๆที่มีลักษณะเป็นเวิ้งที่เรียกว่า Sand Dune ขนาดใหญ่ มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวขี่อูฐ 2 หนอก เดินไปตาม Sand Dune เหมือนขี่ไปในทะเลทรายซาฮาร่าอะไรแบบนั้น แต่ที่พิเศษคือทะเลทรายที่นี่ มีภูเขาหิมะล้อมรอบอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะเป็นการขี่อูฐเรียงเป็นแถวแบบคาราวานที่ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่ไหน เป็นแค่การเดินวนชมวิวเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับคนบ้านเรา อีกทั้งอูฐยังเป็นอูฐสองหนอกที่มีที่นั่งค่อมอยู่ตรงกลาง เลยรู้สึกค่อนข้างมั่นคงปลอดภัย กว่าการขี่อูฐหนอกเดียวในแถบทะเลทรายซาฮาร่า…

จากทัศนียภาพที่เห็น เส้นทางยาวไกลกว่าจะมาถึง และที่พักสะดวกสบายภายในหมู่บ้านเล็กๆ ที่สงบสุขเปรียบเสมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆในนิทานแห่งนี้ ทำให้ฉันตัดสินใจพักค้างสองคืน (จากกำหนดเดิมแค่หนึ่งคืน) โดยตัดกังวลเรื่องใบอนุญาต (ที่ขอไว้แค่หนึ่งคืน) ไปในที่สุด หลังจากที่เจ้าของที่พักและคนขับรถต่างยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “ไม่เป็นไร” ทำให้ฉันมีโอกาสเดินเล่น แวะเยี่ยมชมหมู่บ้านในบริเวณนี้ได้อย่างสบายทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น…ในระหว่างวัน การได้เดินทางข้ามฝั่งเลาะเลียบขึ้นไปตามต้นน้ำนูบร้าสู่เมืองข้างเคียงอย่างพานามิก (Panamik) เป็นความรื่นรมย์ที่ฉันชอบเป็นการส่วนตัว เนื่องจากถนนเส้นเล็กๆจะตัดผ่านพุ่มไม้เตี้ยๆ เสียงนกร้องระงม มีดอกลาเวนเดอร์ส่งกลิ่นฟุ้งออกมาเป็นหย่อมๆ รวมถึงดอกมัสตาร์ดสีเหลืองสดชูช่อไสว และพรรณไม้พุ่มแคระอื่นๆที่มีสีสัน ดอกใบแปลกตางดงาม เมืองพานามิกเป็นเมืองสุดท้ายที่ทางการอินเดียอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปถึงได้ (ถัดจากนี้ไปจะติดชายแดนจีน) ที่นี่มีน้ำพุร้อนธรรมชาติเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้มีห้องอาบน้ำที่เป็นสัดส่วนและทันสมัย แม้ว่าจะไม่ได้อาบน้ำพุร้อน แต่การขึ้นไปตรงจุดต้นน้ำพุ ก็จะมองเห็นทิวทัศน์ของหุบเขานูบร้าได้อย่างกว้างไกล..ก่อนกลับฉันแอบบอกคนขับให้ขับพาไปจนสุดเมืองจริงๆที่มีด่านกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวไปไกลมากกว่านั้นได้ เพื่อขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก…

บนเส้นทางออกจากเมืองย้อนกลับมา คนขับรถพาวกเข้าไปในหุบเขากลางทะเลทราย (กรวด) จนถึงจุดที่ดินแข็งพอที่จะเข้าไปได้ใกล้ที่สุดและชี้เป้าไปที่ภูเขาโขดหินที่อยู่เบื้องหน้า บอกว่าหลังหินนั่นมีที่ทะเลสาปศักดิ์สิทธิ์อยู่ มาถึงตอนนี้ ฉันยอมออกแรงเดินตัดทะเลทราย ไต่โขดหินที่ว่านั่นไปให้เห็นของจริง หลังจากปีนขึ้นไปถึงยอดให้ได้เหงื่อซึมพอควร ก็มองเห็นทะเลสาปสีเขียวใสที่ซ่อนตัวอยู่หลังโขดหินขนาดใหญ่ สมกับที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทะเลสาปศักดิ์สิทธิ์ มีป้ายไม่อนุญาตให้ลงเล่นน้ำหรือทำสิ่งใดอันเป็นการไม่สมควร ในทะเลสาปมีเป็ดน้ำและนกป่าอาศัยอยู่ สวยงามทำเอาหายเหนื่อยจากการไต่เขาในที่สูงได้เลย

ย้อนกลับมาที่เมืองดิสกิต (Diskit) ริมฝั่งแม่น้ำชย็อคอีกครั้ง เพื่อมานมัสการวัดดิสกิต (Diskit Gompa) ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดในหุบเขาแห่งนี้ ตัวกลุ่มอาคารของวัดยังคงธรรมเนียมการสร้างแบบดั้งเดิมคือสร้างอยู่บนเขาสูง ซึ่งหมายถึงการไต่บันไดเพื่อเข้าชมอีกเช่นเคย ไม่ไกลจากกันนั้น มีพระพุทธรูประศรีอารยะเมตตรัยขนาดสูงใหญ่ ศรีอารยะเมตตรัยขนาดสูงใหญ่ 32 เมตรที่คงเพิ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ หันหน้าออกสู่หุบเขาเบื้องล่าง องค์พระทาสีสันสดใส มีธงภาวนาปลิวไสวอยู่โดยรอบ ถือเป็นจุดชมวิวหุบเขาอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

มาจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าความสูงจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับฉันอีกต่อไป…หากเป็นความสูงของดินแดนแห่งพุทธสถานและความงดงามแห่งนี้ ผืนดินที่เรียกกันว่า “ลาดักห์”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s