กล่าวกันว่าลาดักห์ ดินแดนที่ตั้งอยู่ในแคว้นทางเหนือของอินเดีย โอบล้อมด้วยขุนเขาที่มียอดสูงกว่า 7,000 เมตร ระหว่างที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัยทางทิศตะวันตกแห่งนี้ เป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ที่ “สูงที่สุดและแห้งแล้งที่สุด” แห่งหนึ่งของโลก แต่ดินแดนเดียวกันนี้ก็เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญระหว่างอินเดีย จีนและเอเชียกลางมาแต่โบราณ จนได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งเส้นผ่านทางในที่สูง” อันเป็นความหมายและที่มาของคำว่า “ลาดักห์” จนเมื่อมีปัญหาทางการเมืองทางชายแดนระหว่างจีนกับทิเบต และเส้นทางถูกปิดกั้น เส้นทางการค้าแห่งนี้ก็ซบเซาลง ทิ้งไว้แต่วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาแบบทิเบตที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแห่งนี้ ที่ได้หล่อหลอมผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีอันมีความโดดเด่นเฉพาะตัว ไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเข้ามาในบริเวณนี้เมื่อ 30-40 ปีก่อน จะตั้งฉายาลาดักห์แห่งนี้ว่า “ทิเบตน้อย (Little Tibet)”
ฉันเดินทางมาถึงเลห์ (Leh) เมืองที่ตั้งอยู่ที่ความสูง 3,505 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในหุบเขาสินธุ อันเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของลาดักห์ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในหน้าร้อน ที่อากาศไม่หนาวเหน็บจนเกินไป โดยสายการบินภายในประเทศที่บินตรงจากเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงนิวเดลฮี ที่ช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางไม่ใช่น้อย จากการเดินทางแบบเดิมที่ต้องรอนแรมตีรถขึ้นเหนือมาเรื่อยๆจากเมืองทางด้านใต้อย่างมานาลี ที่ต้องใช้เวลาเป็นวันๆกว่าจะมาถึง หรือเดินทางลัดเลาะมาตามถนนจากทางด้านเมืองศรีนาคาในแคชเมียร์ทางทิศตะวันตก หากแต่การมาถึงที่ระดับความสูงเกินกว่า 3,500 เมตร จากพื้นราบในทันทีทันใดแบบนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องระมัดระวังกับอาการที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นประจำสำหรับคนที่ไม่คุ้นชิน อันได้แก่ ปวดหัว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ฯลฯ ที่เรียกกันว่า โรคความสูง (altitude sickness) ซึ่งจะไม่เกิดอาการในทันที และจะแสดงอาการอย่างเด่นชันเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ดังนั้น หนังสือไกด์บุ๊คหลายๆเล่มต่างก็แนะนำว่า เมื่อมาถึงควรไม่ต้องทำอะไรมาก นอนเยอะๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อปรับร่างกายให้คุ้นชินกับที่ที่ออกซิเจนต่ำ (ยิ่งสูง ปริมาณออกซิเจนในอากาศยิ่งน้อยลง) ก่อนอย่างน้อย 1-2 วัน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ยังไม่เกิดอาการที่ว่า ฉันก็ได้ชื่นชมกับขุนเขาสูงตระหง่านที่มียอดปกคลุมด้วยหิมะ รวมถึงได้ประสบการณ์ของความแห้งแล้งของภูเขาสูงในช่วงฤดูร้อนที่หิมะได้ละลายไปแล้ว เห็นเป็นสีน้ำตาลไปถ้วนทั่วตั้งแต่อยู่บนเครื่อง และเมื่อมาถึง
กลางใจเมืองเลห์เป็นแหล่งช็อปปิ้ง ซื้อของและหาของกินที่สำคัญของแคว้น บริเวณที่เรียกว่า Main Bazaar นั่น มีร้านค้าเรียงราย ทั้งแบบเป็นร้านในตัวตึก และแผงลอยริมถนน มองขึ้นไปด้านบนตึกสองสามชั้นบนดาดฟ้า ก็เป็นที่ตั้งของร้านอาหารต่างๆที่สามารถนั่งชมวิวภูเขาและวิวคนเดินถนน ที่สร้างสีสันได้ไม่น้อย ฉันใช้เวลาในวันแรก ด้วยการเดินช้าๆไปตามถนนในเมืองแห่งนี้ (หลังจากนอนพักผ่อนสักระยะ) และได้ยลโฉมกับวัดแบบทิเบตแห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในตลาดแห่งนี้ อันมีชื่อว่าวัดโซมา (Soma Gompa) วัดที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาสมัยใหม่ของลาดักห์ ให้เริ่มคุ้นตากับรูปร่างของสถาปัตยกรรมและรูปสัญลักษณ์ต่างๆที่เขียนอยู่ตามพื้นและผนังก่อนที่จะไปเที่ยวชมโบราณสถานที่เป็นวัดและปราสาทต่างๆที่กระจัดกระจายอยู่โดยรอบตัวเมือง หากมองสูงขึ้นไปจากกลางใจเมืองจะเห็นปราสาทเลห์ (Leh Palace) อันเป็นที่ประทับเดิมของเหล่าราชวงศ์ลาดักห์ก่อนที่จะย้ายไปที่ปราสาทอื่นในเวลาต่อมา ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 แต่การจะเข้าชมนั้น จะต้องเดินไต่ขึ้นไปตามถนนและบันไดสูงชัน ซึ่งคงไม่เหมาะที่จะเสี่ยงกับร่างกายตัวเองกำลังอยู่ในระหว่างการปรับตัวเป็นแน่แท้…ฉันหันมาจับรถแท็กซี่ในตลาด เรียกให้พาไปส่งที่พุทธสถานอีกแห่งหนึ่งบนยอดเขาที่รถขึ้นถึงแทน เพื่อชมวิวเมืองและเทือกเขาจากบนที่สูง (กว่า) ของเมือง
วัดสันติ (Shanti Gompa) เป็นวัดใหม่สร้างขึ้นได้ไม่นาน โดยผู้มีจิตศรัทธาชาวญี่ปุ่นที่ต้องการเผยแพร่สันติในหมู่มวลมนุษย์ วัดตั้งอยู่บนยอดเขาทางด้านเหนือของตัวเมืองเลห์ ว่ากันว่าองค์ดาไลลามะ ได้มาทำพิธีเปิดวัดแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1985 ด้านบนมีสถูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสมัยใหม่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนลานเรียบโล่งแจ้ง ซึ่งเมื่อมองไปโดยรอบ จะมองเป็นวิวเมืองเลห์ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตัวปราสาทเมืองเลห์ ตัวเมือง บ้านเรือน และขุนเขาสีน้ำตาลที่ดูแห้งแล้ง แต่ยอดเทือกเขาสลับซับซ้อนสูงขึ้นไปที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ถือเป็นโอกาสดีที่จะขึ้นไปถ่ายรูปแสงสีสวยๆกับฟ้าใสๆ ยามเมื่อดวงอาทิตย์คล้อยต่ำได้อย่างดี ฉันตั้งสินใจเดินทางกลับจากวัดเข้าสู่เมืองและที่พักโดยไต่ลงมาตามบันไดคดเคี้ยวที่เป็นเส้นทางปกติที่สามารถใช้เดินขึ้นไปชมศาสนสถานแห่งนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียเงินจ้างรถ แต่จะด้วยการออกกำลังกายเดินลงหรือจากการหักโหมกับการเดินช็อปปิ้งหรือเปล่าไม่ทราบ ที่ทำให้ตกดึกคืนนั้น สมองฉันเริ่มเริงระบำปวดตุบๆทั้งคืนจนเหมือนจะระเบิดออกมา อันเป็นอาการขั้นเบาบางของโรคความสูงที่กล่าวถึงนั่นเอง จนในที่สุดฉันก็ต้องยอมแพ้ ยอมกินยาแก้ปวดเข้าไประงับอาการเบื้องต้น เพื่อให้สามารถนอนหลับสนิทได้ในเวลาต่อมา
การเที่ยวชมวัดวาอารามและปราสาทเก่าแก่แบบพุทธศาสนานิกายวชิรยานในลาดักห์ ถือเป็นไฮท์ไลท์ที่สำคัญของการท่องเที่ยวที่นี่ นอกเหนือไปจากการเทรคกิ้งและชื่นชมมหัศจรรย์ธรรมชาติในที่สูง ในเส้นทางลงไปทางใต้จากเมืองเลห์ จึงเป็นเส้นทางแรกที่ฉันเลือกแวะเยี่ยมเยียน ในวันแรกๆ เนื่องจากยังไม่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของความสูงมากนักจากระดับตัวเมือง นอกจากการต้องปีนป่ายขึ้นไปชมวัดบนเขา (ส่วนใหญ่วัดและปราสาทที่ลาดักห์ ตั้งอยู่บนยอดเขา ต้องเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นไปเพื่อเข้าชม) ปราสาทเชย์ (Shey Palace) ตั้งอยู่ห่างจากเลห์ไปประมาณ 15 กม. ถือเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาดักห์ ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 9 เมื่อมีการก่อตั้งราชวงศ์แรกของลาดักห์ใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อน ตัวปราสาทค่อนข้างเก่าและมีบางส่วนอยู่ในระหว่างการบูรณะที่ดูท่าว่าจะไม่มีวันเสร็จ อย่างไรก็ดี ในส่วนของตัววัดที่เรียกว่า monastery มีสถูปสีขาวที่มีป้ายเขียนไว้ว่าสูงที่สุดในเลห์-ลาดักห์ ยอดทองคำแท้ กับพระพุทธรูปปูนปั้นขององค์พระศรีศากยมุนีสูง 12 เมตร ทำจากทองแดงปิดทอง ทาสีสันสวยงาม รวมถึงห้องหับต่างๆกับความเก่าแก่ของตัวอาคาร ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วกับการเดินขึ้นเขาเข้าไปชม
วัดทิกเซ่ (Thiksey Gompa) ซึ่งห่างออกไปไม่ไกล บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยเจดีย์ (Chorten) เรียงรายอยู่สองข้างทางถนน เป็นตัวอย่างของวัดลามะนิกายหมวกเหลือง (Gelukpa) ที่ไม่ควรพลาดในการเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีอาระยะเมตตรัยขนาดมหึมาที่ว่ากันว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย ตัวอาคารวัดเป็นตึกใหญ่โตตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา มีสีขาวกับแดงเข้มของบานหน้าต่างและหลังคาเป็นจุดดึงดูดสายตา ฝาผนังมีภาพเขียนสีองค์ศาสดาและเทพที่สำคัญๆของชาวลาดักห์อย่างงดงาม มีลานโล่งใช้ประกอบพิธีกรรม ธงภาวนาปลิวไสว หากมาแต่เช้า อาจได้มีโอกาสได้ยินเสียงของพระลามะเป่าแตรทิเบต เครื่องดนตรีเป่าโบราณขนาดยาวใหญ่ อยู่บนระเบียงบนยอดหลังคาที่สามารถมองเห็นวิวอันสวยงามโดยรอบได้อีกด้วย ฉันเดินทางต่อเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของราชวงศ์หรือที่ใช้ประกอบราชพิธีต่างๆ ที่พระราชวังสต็อก (Stok Palace) ที่นี่มีห้องต่างๆมากมาย แต่เปิดให้ชมเพียงไม่กี่ห้อง จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีทั้งเครื่องเงิน เครื่องประดับทำจากหินสีต่างๆ เครื่องแต่งกาย รวมถึงรูปภาพของเชื้อพระวงศ์ต่างๆติดประดับตกแต่งอยู่
โชคดีที่การเดินทางมาถึงของฉันในช่วงเวลานี้ ตรงกับช่วงที่มีงานเทศกาลหน้ากากที่สำคัญของวัดเฮมิส (Hemis Gompa) อันลือชื่อพอดี ในงานเทศกาลที่ชื่อว่า Tse-Chu Festival จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันประสูติของคุรุรินโปเช หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระปัทมสมภวะ (Padmasambahya) พระลามะองค์แรกที่เผยแพร่ศาสนาพุทธเข้าสู่ทิเบตและดินแดนใกล้เคียงอื่นๆ ตัววัดเป็นวัดลามะในนิกายหมวกแดง (Nyingmapa) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นคริสตศตวรรษที่ 17 และเป็นที่เก็บผ้าพระบฎ Thangka ผ้าที่ปักไหมเป็นลวดลายทางพุทธศาสนาแบบทิเบตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลาดักห์ ว่ากันว่าจะนำออกมาแสดงในช่วงงานเทศกาลนี้ทุกๆ 12 ปี (กำหนดครั้งต่อไปปี ค.ศ. 2016) งานเทศกาลจะจัดขึ้นตามปฏิทินจันทรคติของทิเบต โดยจะมีขึ้น 3 วัน ถือเป็นหนึ่งในงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ประจำปีงานหนึ่ง ฉันเลือกเข้าชมงานในวันที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงผู้ศรัทธาจำนวนมหาศาลที่มักจะมาถึงกันในวันแรก อย่างไรก็ดี จากทางเดินขึ้นที่มีการออกร้านรวงต่างๆมากมาย สู่ลานประกอบพิธีในวัด ยังคงเบียดเสียดด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ ทั้งผู้ศรัทธาชาวพื้นเมืองและนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆทั่วทุกมุมโลก ฉันพาตัวเองหาที่เหมาะๆ ปักหลักรอชมการแสดงระบำหน้ากากอันลือชื่อของดินแดนแห่งนี้ (หากเสียเงินหรือมีบริษัทจองที่นั่งล่วงหน้า อาจได้ที่นั่งสบายๆใกล้ๆ) เมื่อเสียงสวดเริ่มดังขึ้น ตามด้วยเสียงแห่แหนของเครื่องดนตรีพื้นเมืองต่างๆ ขบวนแถวของพระลามะที่แต่งตัวใส่หน้ากากหลากสีสันก็ทะยอยออกมาแสดงระบำกลางลานอย่างดงาม การแสดงมีอยู่หลายรอบ ซึ่งแสดงเรื่องๆราวต่างๆแตกต่างกันไป โดยมีธีมหลักคือธรรมมะชนะอธรรม หรือความดีย่อมชนะความชั่วนั่นเอง หากมีโอกาสได้เดินสำรวจไปในส่วนอื่นๆของวัดในช่วงงานเทศกาลนี้ จะเห็นผู้คนหลั่งไหลมาทำบุญ และมีการทำอาหารแจกทานขนานใหญ่อยู่ที่บริเวณใกล้ๆโรงครัวด้วย กลิ่นควันจากกำยาน ผสมผสานเสียงสวดมนต์ และผู้คนที่มาร่วมทำบุญ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาที่ลงหลักปักฐานอยู่ในดินแดนแห่งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและจากนี้ไป
หลังจากท่องเที่ยวตามโบราณสถานในระดับความสูงสามพันกว่าเมตรได้สองสามวัน ฉันเริ่มปรับตัวได้ และพร้อมที่จะท้าทายความสูงที่มากยิ่งไปกว่านี้ คราวนี้ฉันเลือกนั่งรถไปยังทะเลสาปแห่งหนึ่งห่างออกไปประมาณ 130 กิโลเมตรทางด้านตะวันออกติดชายแดนทิเบต ซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงกว่าจะไปถึง เนื่องจากเส้นทางตัดลัดเลาะขึ้นไปตามภูเขาสูงชัน โดยจะต้องผ่านด่านตรวจให้ลงชื่อ (การเดินทางไปตามเส้นทางนี้จะต้องขอใบอนุญาตผ่านทางเนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองและการทหาร ซึ่งใบอนุญาตนี้สามารถติดต่อให้บริษัททัวร์หรือเจ้าของที่พักจัดการให้ได้) และช่องเขาที่เรียกว่า Chang-la อันเป็นช่องเขาที่มีถนนตัดผ่านที่สูงสุดเป็นอันดับสามของโลก (อันดับหนึ่งและสองก็อยู่ในลาดักห์นี่แหละ) ส่วนความสูงนั้นเนื่องจากมีกล่าวเอาไว้แตกต่างกันหลากหลายมาก ฉันถือตามป้ายบนถนนที่เขียนเอาไว้ว่า 5,360 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลก็แล้วกัน! มากหรือน้อยกว่านี้คงไม่เกิน 100 เมตร ร่างกายเริ่มท้าทายกับความสูงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าห้าพันเมตร ยิ่งไปกว่านั้น แม้ฉันจะมาที่นี่เอากลางฤดูร้อน แต่ความสูงระดับนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ พายุหิมะเริ่มกระหน่ำเมื่อฉันไต่ความสูงขึ้นมาเรื่อยๆ เรียกได้ว่าได้เผชิญกับความสูงและความหนาวของแท้ ก่อนจะลดระดับลงสู่จุดหมายปลายทางที่เป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางสายนี้ที่ทะเลสาบปันกอง (Pangong Lake) ทะเลสาปน้ำกร่อยขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย มีความยาวกว่า 130 กม. แต่ส่วนที่กว้างที่สุดกว้างแค่ 5 กิโลเมตร ทะเลสาปจึงมีรูปร่างเรียวยาวจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก โดยสามในสี่ของทะเลสาปต่อเนื่องเข้าไปอยู่ในเขตทิเบตที่จีนปกครองอยู่ น้ำทะเลสีฟ้าอมเขียวตัดกับท้องฟ้าสีคราม อันถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในระดับโลกแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ความสูงถึง 4,250 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สีของน้ำเปลี่ยนแปรไปตามสภาพอากาศและเมฆบนท้องฟ้า ตัดกับสีของเทือกเขายอดหิมะที่สง่างดงาม…ผู้คนเริงรื่นกับชายหาดริมน้ำ นกน้ำบินผ่านไปมาอย่างสุขสงบ บรรยากาศสวยงามรอบตัวสร้างความตื้นตันใจให้กับตัวเองขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัวที่พาตัวเองมาถึงที่นี่ได้…
หลังจากลุ้นอยู่ว่า ร่างกายตัวเองจะเกิดปัญหากับความสูงระดับนี้หรือไม่ และผลตอบรับของร่างกายออกมาในทางที่ดี ใจฉันเริ่มฮึกเหิม เตรียมพร้อมที่จะท้าทายความสูงใหม่ๆ ที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกในดินแดนแห่งนี้… (โปรดติดตามตอนต่อไป)