Inle Lake, Life on the Water

ฉันเดินทางมาถึงทะเลสาปอินเล (Inle Lake) ในช่วงวันออกพรรษาที่มีงานเทศกาลแห่พระทางเรืออันลือชื่อพอดี แม้ว่าพม่าเพิ่งจะเปิดประเทศได้ไม่นานและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่มีกฎระเบียบเข้มงวดแบบแต่ก่อน การแลกเงินไว้ใช้จ่ายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ธนบัตรอเมริกันดอลลาร์ใหม่เอี่ยมอ่องไร้ตำหนิอีกต่อไป ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในยามนี้ ดูเหมือนว่าผู้คนที่มารวมตัวกันอยู่ในเมืองนองชเว (Nyaung Shwe) เมืองเล็กๆที่เป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทะเลสาปอินเล (Inle Lake) ทะเลสาปน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศพม่า ในเขตอำเภอตองยี รัฐฉาน แห่งนี้ ดูจะมีแต่คนพื้นเมืองอยู่อย่างมากมายหนาตา มากกว่านักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างพวกเรามากนัก
ชาวบ้านชาวเมืองพม่า ต่างมารวมตัวกันมากมายที่เมืองนี้ก็เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานบุญสำคัญของท้องถิ่น อันได้แก่งานแห่พระทางน้ำที่กินเวลาทั้งสิ้นเนินน่านเกือบสามอาทิตย์ ในวันที่ฉันไปถึง เริ่มมีการตั้งร้านรวงมากมายตามถนนสายหลักบริเวณรอบเจดีย์ยาดามาร์มะนอง (Yadamar Manaung)กลางเมือง บรรยากาศคล้ายงานวัดบ้านเรา เนื่องจากขบวนแห่เรือกำลังจะเดินทางมาถึงเมืองนี้ และมีการแห่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่วัดนี้ให้ผู้คนได้นมัสการเป็นเวลาสามคืน ฉันได้ข่าวเมื่อตอนมาถึงว่าขบวนเรือได้เดินทางออกจากวัดพองเดาอู (Phaung Daw Oo Temple) ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในช่วงเวลาปกติมาได้สี่ห้าวันแล้ว (งานเทศกาลนี้จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Phaung Daw Oo Pagoda Festival ตามชื่อวัด) ขบวนเรือจะหยุดตามหมู่บ้านต่างๆให้ผู้คนได้นมัสการพระพุทธรูป ครึ่งวันบ้าง ค้างคืนบ้างแล้วแต่สถานที่ แต่ที่เมืองนี้จะหยุดอยู่นานที่สุดคือเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
หลังจากเข้าที่พักเรียบร้อย ฉันสอบถามถึงเส้นทางแห่เรือที่จะมาที่นี่ และเดินไปที่ริมลำน้ำสายเล็กๆในเมืองที่ไหลต่อเนื่องเชื่อมกับทะเลสาป เพื่อติดต่อเรือยนต์ไปเที่ยวชมทะเลสาปและงานบุญในครั้งนี้สำหรับวันรุ่งขึ้น แล้วจึงออกเดินเที่ยวในตลาดวัดชั่วคราวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่องานบุญนี้ มีขายของทุกอย่างตั้งแต่ขนม ของกิน ไม้ทานาค่า (นำเปลือกไม้มาฝนเป็นแป้งทาหน้า) ของเล่น ซีดี หม้อ ไฟ กะทะ เสื้อผ้า ของใช้ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์งานไม้ต่างๆอย่างเพลิดเพลิน ก่อนทดลองชิมอาหารพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ของรัฐฉานอย่างเอร็ดอร่อยถูกปากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าตาและรสชาติคล้ายอาหารเหนือบางอย่างของบ้านเรานั่นเอง
เช้าวันต่อมา ฉันไปลงเรือตามที่นัดหมายไว้แต่เช้า คนขับเรือพาเรือบึ่งไปตามลำน้ำ และเบาเครื่องเป็นระยะๆเมื่อผ่านชาวบ้านที่พายเรือลำเล็กๆใส่พานดอกไม้พร้อมเครื่องสักการะออกมาดักคอยนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่จะแห่ผ่านมา ฉันมองผ่านคุณตา คุณยาย ผู้เฒ่าผู้แก่พร้อมลูกหลานตัวเล็กตัวน้อยบนเรืออย่างอิ่มเอิ่บใจ ทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มและยิ้มทักทายให้กับนักท่องเที่ยวอย่างพวกเราอย่างคนอารมณ์ดี งานบุญใหญ่แบบนี้ คงไม่มีใครอยากอยู่ในอารมณ์ครุ่นมัวเป็นแน่แท้ เมื่อเรือออกสู่ทะเลสาปอินเลอันกว้างใหญ่ คนขับเรือก็เร่งเครื่องพาบึ่งออกไปยังจุดหมายที่วัดอีกแห่งหนึ่งกลางทะเลสาปอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเมื่อคืนวาน เมื่อใกล้ถึงที่หมาย ฉันเห็นเรือหลายสิบลำตั้งขบวนเรียงเป็นแถวไปตามลำน้ำ โดยมีเรือประธานลำใหญ่ตกแต่งเป็นรูปหงส์สีทองจอดเทียบท่าอยู่หน้าวัด แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจคือขบวนเรือไม้ลำยาวเรียวที่ตั้งขบวนกันมากกว่า ทุกลำมีเชือกผูกต่อกัน แต่ละลำอัดแน่นไปด้วยชาวบ้าน (เฉพาะผู้ชาย) จากแต่ละหมู่บ้านที่นำเรือมาช่วยในงานแห่ โดยแต่ละลำต่างตกแต่งตามสไตล์ของแต่ละหมู่บ้านโดยมีชาวฝีพายใส่เสื้อผ้ากางเกงเลที่มีสีสันแบบเดียวกันทั้งลำ นอกจากนี้บางลำยังมีนักดนตรีและเครื่องดนตรีพวกฆ้อง แตร อยู่กลางลำเรือ ทุกคนต่างยืนและใช้หน้าแข้งและเท้าจับพาย โดยที่เรือจะมีไม้ต่อเป็นราวจับสองราวเล็กๆตลอดลำเรือ เพื่อให้ชายเหล่านี้ใช้มือจับ ใช่แล้ว ขบวนแห่เรือนี้เป็นขบวนแห่เรือที่ใช้ขาและเท้าในการพายเรืออันเป็นที่เลื่องลือ เพื่อดึงลากเรือประธานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไปยังหมู่บ้านต่างๆรอบทะเลสาป โดยไม่มีการใช้แรงเครื่องยนต์แต่อย่างใด
เมื่อเรือเริ่มเคลื่อนขบวน ความสนุกสนานของเสียงดนตรีและเสียงให้สัญญานของเรือต่างๆก็เริ่มขึ้น ทุกคนต่างขยับขาในจังหวะเดียวกัน เพื่อให้ไม้พายแหวกน้ำพาเรือเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกัน เป็นขบวนแถวเรียงหนึ่งเพื่อลากเรือพิธีลำใหญ่ เรือต่างพุ่งแหวกน้ำไปอย่างรวดเร็วไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ โดยมีตำรวจน้ำคอยกัน ไม่ให้เรือของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน เข้ามาขวางเส้นทางของขบวนเรือ และมีเรือของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นสาวๆคอยวนเวียนโยนขนมและน้ำให้กับเหล่าฝีพายชายบนเรือ ความเร็วของขบวนเรือและความพร้อมเพรียงในการใช้เท้าพายเรือ ดูเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจของคนต่างถิ่นอย่างฉันเป็นอย่างมาก ริ้วขบวนหลากสีสันของการตกแต่งลำเรือและการแต่งกาย ตัดกับท้องฟ้าสีคราม ทิวเขาสีเขียวและท้องทะเลสาปอันกว้างใหญ่อย่างงดงาม เมื่อขบวนเรือเริ่มเข้าสู่เขตแนวลำน้ำสายเล็กๆและหมู่บ้าน ผู้คนทั้งที่พายเรือออกมารอและมีบ้านปลูกอยู่บนน้ำ ต่างมานั่งรอส่งรอยยิ้มให้กับเหล่าฝีพาย และกราบนมัสการองค์พระพุทธรูปเมื่อเรือพิธีผ่านมาถึง
เมื่อขบวนเข้าจอดเทียบท่า ฉันจึงมีโอกาสได้เห็นพระพุทธรูปที่มีทั้งหมดสี่องค์อย่างชัดเจน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ก็อยู่ในลักษณะที่ฉันคิดไม่ถึง เพราะฉันเห็นเหมือนเป็นแค่ก้อนทองกลมๆเท่านั้น ไม่เห็นหน้าตาหรือทรวดทรงของพระพุทธรูปอย่างที่เห็นอย่างชินตาในประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากพุทธศาสนิกชนชาวพม่าได้นำทองมาปิดองค์พระพุทธรูปอย่างล้นหลามต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีจนกลายเป็นก้อนทอง มองไม่เห็นองค์พระพุทธรูปด้านในเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดนี้มีอยู่ 5 องค์ ขนาด 9-18 นิ้วแตกต่างกัน มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนมีการแห่แหนพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ไปทางน้ำตามปกติ อยู่มาปีหนึ่ง พระพุทธรูปองค์หนึ่งตกน้ำในทะเลสาปจมหายไป ชาวบ้านต่างงมอย่างไรก็งมไม่เจอจนต่างท้อไปตามๆกัน แต่เมื่อขบวนเรือพร้อมพระพุทธรูปทั้งสี่เดินทางกลับมาถึงวัดพองเดาอู วัดหลักที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยามปกติ กลับพบว่า พระพุทธรูปองค์ที่ตกน้ำจมหายไปนั้นกลับตั้งประดิษฐานอยู่บนแท่นตามปกติโดยไม่มีใครรู้ว่าใครนำกลับมาหรือกลับมาตั้งอยู่ที่เดิมได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในพิธีแห่เรือ จึงมีการนำพระพุทธรูปแค่ 4 องค์ออกเรือแห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆรอบทะเลสาปอินเลเท่านั้น โดยปล่อยองค์ที่เชื่อว่าตกน้ำจมหายไปประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ตลอดไปโดยไม่นำออกมา
พระพุทธรูปทั้งสี่ เมื่อมาถึงเมืองนองชเว ได้มีพิธีแห่ขึ้นบก ไปตามถนนให้ชาวบ้านได้นมัสการ โดยมีการโปรยกลีบดอกไม้กลีบกุหลาบเป็นทาง โดยเฉพาะผู้หญิงนั้น การแห่แหนนอกเรือไปตามถนน ก่อนที่จะเข้าไปตั้งที่แท่นในวัดนั้น ถือเป็นโอกาสเดียวที่จะได้ใกล้ชิดองค์พระพุทธรูปที่สุด (เข้าแปะทอง หรือกราบไหว้ใกล้ชิดได้โดยตรง) เนื่องจาก เมื่อพระพุทธรูปถูกนำไปวางไว้ในแท่นกลางวัดแล้ว ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนแท่นเพื่อไปปิดทองโดยตรง ได้แต่กราบไหว้อยู่โดยรอบ และวานให้ผู้ชายขึ้นไปปิดทองให้เท่านั้น… แล้วฉันก็ได้เห็นถึงความศรัทธาของชาวพม่า เมื่อพบว่า สามวันสามคืนที่พระพุทธรูปถูกนำมาประดิษฐานไว้ในวัดที่เมืองนี้ ผู้คนต่างหลั่งไหลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปปิดทองที่องค์พระ ตลอดทั้งกลางวันกลางคืนโดยไม่ว่างเว้น และไม่น่าแปลกใจที่ทำไมองค์พระถึงดูเหมือนเป็นก้อนทองกลมๆจะไม่เหลือทรวดทรงขององค์พระพุทธรูปไว้ให้เห็น
ระหว่างที่มีการเฉลิมฉลองออกงานวัดกันในเมืองนี้ ฉันได้มีโอกาสเข้าชมการแข่งขันพายเรือด้วยฝีเท้าที่จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงประเพณีแห่เรือนี้ด้วย โดยมีทีมของแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมจะพายเรือแข่งกันทีละสองทีม จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ในลำน้ำที่ไหลผ่านเมือง มีชาวบ้านคอยเชียร์และชมกันอย่างล้นหลามอยู่สองข้างฝั่งน้ำ ที่พิเศษคือในงานนี้จะได้เห็นการแข่งเรือที่พายด้วยเท้าโดยผู้หญิงด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะใช้มือพายเรือและไม่สามารถเข้าร่วมในขบวนเรือที่ใช้แห่พระทางเรือได้ การแข่งขันเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เรือแล่นไปเร็วกว่าการแห่ปกติแสดงถึงความพร้อมเพรียงและสามัคคีของเหล่าฝีพายเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี มีเรือที่ต้องจมลงสู่ท้องน้ำ โดยเหล่านักพายยังคอยจับราวเรือค่อยๆจมลงไปพร้อมกันกับเรือ เนื่องจากน้ำเข้าเรือมากเกินและไม่สามารถวิดออกได้ทันเป็นที่น่าเฮฮาของผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง
วันต่อมา ฉันจ้างเรือเพื่อออกเที่ยวชมทะเลสาปอินเลแต่เช้าตรู่ ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งมีบรรยากาศเงียบสงบเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งแดดก็ไม่ร้อน เห็นชาวอินทา (Intha) ชาวพื้นเมืองอีกเชื้อชาติหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณรอบๆทะเลสาปแห่งนี้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้เท้าพายเรือ มือเหวี่ยงแหจับปลาในทะเลสาปออกเรือหาปลากันแต่เช้า แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ใส่ชุดพื้นเมืองผ้าฝ้ายกางเกงชาวเลอย่างในพิธีแล้ว แต่ก็ยังเห็นทักษะการใช้เท้าบังคับพายเพื่อบังคับเรืออีกต่อหนึ่ง ในขณะที่มือก็สาวแหจับปลาไปด้วยได้เป็นอย่างดี ว่ากันว่า ชื่อ”อินทา” แปลว่าบุตรของทะเลสาป สมกับที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการใช้ชีวิตบนทะเลสาป และการใช้ขาพายเรือนั้นว่ากันว่า ก็เพื่อที่จะได้เห็นวิวเหนือท้องทะเลสาปและพืชน้ำต่างๆในทะเลสาปได้อย่างชัดเจนนั่นเอง นอกจากการจับปลาแล้วชาวอินทายังมีการเก็บสาหร่ายในน้ำไปทำเป็นพื้นของแปลงผักลอยน้ำอีกด้วย โดยนำสาหร่ายผูกติดกับเสาไม้ไผ่ต่อกันเป็นแพ พืชที่ปลูกจะมีทั้งพืชผักสวนครัวต่างๆและผลไม้ เช่น มะเชือเทศ เป็นต้น
คนขับเรือพาฉันผ่านเข้าไปในหมู่บ้านที่ปลูกอยู่กลางทะเลสาป ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตอยู่เหนือทะเลสาปเป็นปกติ บ้านส่วนใหญ่สร้างจากไม้ บนเสาสูง รองรับการขึ้นลงของน้ำในทะเลสาประหว่างฤดูกาลที่จะต่างกันประมาณ 1.5 เมตรระหว่างฤดูแล้งและฤดูฝน ในหมู่บ้านกลางน้ำ มีการปลูกเรือนเป็นแถวๆ ในช่วงน้ำนิ่งๆ จะเห็นเงาของบ้านที่สะท้อนผิวน้ำที่เรียบกริบเป็นสีสันต่างๆอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวันที่แสงอาทิตย์กำลังอ่อนโยนสวยงาม ไม่ใช่แดดจ้าร้อนแรงอย่างตอนกลางวัน นอกจากนี้ การไปเที่ยวแต่เช้า ยังมีโอกาสได้พบเห็นเรือพายรับเด็กนักเรียนตามบ้านไปโรงเรียน หรือเด็กๆอาจเดินกันเป็นกลุ่มๆไปตามสะพานไม้ที่ทอดกันไปมาระหว่างบ้านใกล้ๆ อันเป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลาสายของวันแล้ว ฉันถึงได้ไปแวะดูงานช่างฝีมือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนทะเลสาป ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักไม้ ทอผ้า ทำเครื่องมือต่างๆ หรือทำยาสูบพม่า แต่ที่ฉันชอบใจเป็นอย่างยิ่งคือการทอผ้าจากใยสายบัวที่ขึ้นอยู่ในทะเลสาป โดยชาวบ้านจะหักก้านบัวดึงสายขาวๆออกมารวมตัวกันเป็นเส้นด้ายเพื่อใช้ถักทอชิ้นผ้าต่อไป ผ้าที่ทอจากสายบัวล้วนๆจะมีราคาแพงมาก และมักใช้ในงานพิธีสำคัญๆเท่านั้น ส่วนที่ขายให้นักท่องเที่ยวจะเป็นงานทอจากด้ายสายบัวและไหม หรือเส้นใยอื่นๆผสมกัน เป็นต้น
อีกหนึ่งสีสันของทะเลสาปอินเล คือตลาดเช้าของชาวเขาเผ่าพะโอ (Pa-o) เนื่องจากชาวพะโอ ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ริมน้ำ แต่เป็นชาวเขาที่อาศัยอยู่ในป่าในเขารอบๆทะเลสาป ทุกๆวัน จะมีตลาดนัดยามเช้า ที่หมุนเวียนไปตามพื้นที่ต่างๆรอบๆทะเลสาป (หากอยากไปเที่ยว ควรตรวจสอบกับชาวพื้นเมืองหรือเจ้าของที่พัก ว่าตลาดเช้าจะเกิดขึ้นที่ไหนของทะเลสาปกันแน่) ให้ชาวเขาและชาวน้ำได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ชาวพะโอจะแต่งกายด้วยชุดสีดำและใช้ผ้าโพกหัวสีแสบสัน เมื่ออยู่รวมกันมากๆจะให้ภาพที่งดงามสดใสแปลกตา พวกเขาจะแบกของเดินเท้าหรือนั่งเกวียนลงมาจากเขามาขายให้ชาวเมือง และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแบกเดินขึ้นเขากลับไปที่หมู่บ้านของตน
ทะเลสาปกว้างใหญ่กว่า 116 ตารางกิโลเมตร ที่ความสูง 880 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลแห่งรัฐฉาน ที่มีความลึกเฉลี่ยไม่เกิน 2.1 เมตร และความลึกสูงสุดไม่เกิน 4 เมตรในหน้าแล้งแห่งนี้ เป็นที่อาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยพัฒนาการให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ฉันบอกกับตัวเองว่าจะต้องกลับไปเยือนอีกครั้ง และหวังไว้ในใจว่าวิถีชีวิตอันทรงคุณค่าในตัวของมันเองอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะไม่ตกหล่นสูญหายไปกับกาลเวลาและการหลั่งไหลเข้ามาของอารยธรรมใหม่ๆจากภายนอก ในยุคที่พม่ากำลังเป็นจุดสนใจแห่งใหม่ของผู้คนจากทั่วโลกจนเกินไปนัก…

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s