Last chapter of my Peru trip….Enjoy the Amazon!
ข่าวเรื่องป่าอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้โดยเฉพาะในประเทศบราซิลถูกทำลายเป็นแสนๆไร่ ในช่วงเวลาไม่นานที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกและหดหู่ใจให้กับฉันไม่น้อย ฉันหวนนึกถึงความสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ เมื่อครั้งมีโอกาสได้ไปเยือนส่วนเสี้ยวน้อยๆของความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแห่งป่าอเมซอนในประเทศเปรู แล้วอยากหยิบยกประสบการณ์ขึ้นมาเล่าให้ฟังในที่นี้ เผื่อว่าบทความนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจน้อยๆให้ใครบางคนได้หยุด คิด และตระหนักถึงความสำคัญของป่ามากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่อยู่ในบทความนี้ จะไม่ใช่ประสบการณ์ในอดีตที่ไม่มีใครสามารถประสพพบเจอได้อีก อันเนื่องจากการทำลายล้างธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบัน
ฉันเริ่มต้นการเดินทางจากเมืองคุซโค เมืองดังบนที่ราบสูงทางด้านตะวันตกของเทือกเขาแอนดีส ไปตามเส้นทางถนนสายคุซโค- เปาการ์ตัมโบ (Cusco-Paucartambo Hwy) ไต่ระดับขึ้นที่สูงแห้งแล้งเนื่องจากอยู่ในเขตเงาฝนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อข้ามไปอีกฝากหนึ่งของเทือกเขาที่เขียวชอุ่มชุ่มชื้น อุดมไปด้วยต้นไม้เขียวขจีราวกับอยู่กันละโลก แต่ก่อนที่จะข้ามเขาสู่เขตป่าเขียว ไกด์บอกให้คนขับหยุดกลางทางในเขตภูเขาคดเคี้ยวแห้งแล้ง เพื่อให้ฉันได้แวะชมหลุมศพเก่าแก่ขอบมนุษย์โบราณก่อนสมัยอินคา ซึ่งมีลักษณะคล้ายปล่องก่อจากหินและดินขึ้นเป็นกลุ่มตามแนวเชิงเขา บริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า นีนามาร์กา (Ninamarca) แน่นอนว่าการเดินชมบนพื้นที่สูงกว่า 3,000 เมตรแบบนี้ เดินช้าๆ ค่อยๆไต่ค่อยๆชมเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับคนพื้นราบอย่างฉัน (ผิดกับเด็กพื้นเมืองแถวนี้ที่วิ่งขึ้นวิ่งลงตัวปลิว เพื่อมาขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว) ตัวหลุมศพในปัจจุบันถูกขุดค้นทำลายเพื่อหาสมบัติไปเป็นส่วนมาก แต่เนื่องจากรูปร่างลักษณะแปลกตาและที่ตั้งที่มองผ่านเทือกเขาแห้งแล้งลงไปเห็นเมืองด้านล่าง ก็สมควรที่จะต้องหยุดพักและสำรวจให้เห็นกับตาเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นรถของพวกเราก็วิ่งมาถึงเมืองเปาการ์ตัมโบ (Paucartambo) เมืองเล็กๆที่มีแม่น้ำสีเขียวใสไหลผ่าน ที่นี่พ่อครัวประจำทริปของเราแวะซื้อเสบียงสำหรับทำอาหารในป่าตลอดอาทิตย์ที่พวกเราจะเข้าไปพัก ฉันและเพื่อนร่วมทางจึงมีเวลาเดินชมเมืองที่ให้บรรยากาศอาณานิคมสเปน ทางเดินถนนหินแคบๆระหว่างตัวอาคาร โบสถ์ จัตุรัสเล็กๆกลางเมือง รวมถึงสะพานโบราณข้ามแม่น้ำที่ชาวบ้านเดินกันขวักไขว่ก่อนเดินทางต่อเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติมานู (Parque Nacional del Manu)
รถวิ่งคดเคี้ยวไปตามทางบนเทือกเขาแอนดีสจากฝั่งที่แห้งแล้ง ข้ามมาทางอีกฝั่งหนึ่งของเขา เมฆหมอกเริ่มหนาตา สะสมอยู่ที่ยอดเขาแสดงถึงความชุ่มชื้นที่เทือกเขาทั้งเทือกดักเอาไว้ พื้นที่เริ่มเขียวชอุ่มด้วยป่าหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยๆเนื่องจากยังอยู่บนพื้นที่สูง ฉันรู้ตัวว่าเข้าเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อเราเดินทางมาถึงปากทางเข้าอุทยานฯที่มีป้ายตัวโตบอกความสูงที่ 3,500 กว่าเมตร ไกด์พาฉันหยุดดูนกในเขตอุทยานฯครั้งแรกที่นี่ (ต้องบอกก่อนว่าทริปมาเที่ยวป่าอเมซอนในเปรูของฉันในครั้งนี้ เน้นที่การดูนกและดูสัตว์ป่าเป็นหลัก ไกด์ที่ใช้ก็เป็นไกด์ที่ชำนาญด้านการเดินป่าและดูนก เราจึงมีการหยุดดูนกหรือสัตว์ที่เห็นระหว่างทางเป็นระยะๆตั้งแต่ออกจากเมืองคุซโค และทุกๆที่ที่เราไปถึง) อุทยานแห่งชาติมานูแห่งนี้ถือเป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของเปรู ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 28,800 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่พื้นที่บนเขาสูงกว่า 4,200 เมตรทางด้านตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส ลงไปจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำมาเดร เด ดิออส (Madre De Dios) ด้านล่างที่ความสูงประมาณ 150 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่ต่อเนื่องเป็นป่าอเมซอนผืนใหญ่เข้าไปในเขตประเทศบราซิล สภาพพื้นที่ที่แตกต่างนี้ จึงเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความหลากหลายมากถึงมากที่สุด ตั้งแต่ป่าหญ้า ป่าเมฆ ป่าไม้พุ่มขนาดเล็ก บนที่สูง เรื่อยไปจนถึงป่าดิบชื้นในบริเวณที่ต่ำลงไปอันเป็นต้นกำเนิดของลำธารสายเล็กๆมากมายหล่อหลอมรวมเป็นแม่น้ำขนาดกลางและไหลลงสู่แม่น้ำอเมซอนอันเลื่องชื่อต่อไป ที่นี่ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชจำนวนมหาศาล ในอุทยานฯ มีนกไม่ต่ำกว่า 800 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 200 ชนิด และพรรณพืชกว่า 15,000 ชนิด ซึ่งรวมไปถึงชาวพื้นเมืองอเมซอนที่กินอยู่ในป่าไม่ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์อันหลากหลายเช่นนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นเขตสงวนที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ลึกๆของอุทยานฯ นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถขออนุญาต (ผ่านบริษัททัวร์) เข้าไปได้ในบริเวณรอบๆขอบนอกด้านติดแม่น้ำของอุทยานฯ ที่ทางการเปิดให้เป็นเขตสันทนาการได้เท่านั้น ฉันไม่แปลกใจเลยว่าที่นี่จะได้รับการประกาศให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑลของโลก รวมถึงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987
การเที่ยวป่าอเมซอนประมาณหนึ่งอาทิตย์ของฉันได้เริ่มขึ้นแล้วที่นี่ ระหว่างทางถนนที่ตัดผ่านลงเขาไปสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำช่วงสุดท้ายนี้ ไฮไลท์คงหนีไม่พ้น การไปเฝ้าตามหานกสีสดใสรูปร่างประหลาด (ชื่อก็ประหลาด) ที่ถือเป็นนกประจำชาติของเปรู ในบริเวณป่าดิบข้างทาง Gallito de las rocas หรือ Andean “Cock-of-the Rock” สัญลักษณ์แห่งป่าดิบชื้นบนเขา นกตัวขนาดย่อมสีส้มแปร๋น ปีกดำ มีหงอนสีส้มตัวนี้ ถือเป็นนกที่คนที่มาถึงที่นี่แล้วต้องหาดูให้จงได้ ชื่อของมันน่าจะมาจากขนาดที่ตัวเกือบเท่าไก่ตัวย่อมๆและการทำรังวางไข่ของมันตามหน้าผาหินในป่าไม่ไกลจากแม่น้ำแม้ว่าคนในพื้นที่จะกันพื้นที่บางส่วนให้เป็นซุ้มออกไปจากหน้าผาข้างถนน ในบริเวณที่พบเห็นนกชนิดนี้ได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่มาจะได้เห็น เนื่องจากป่าค่อนข้างจะครึ้มทึบและมีใบไม้หนาตา โชคดีที่ช่วงเวลาที่ฉันไปถึงไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นเลย และได้ไกด์ท้องถิ่นที่มีความสามารถหูไวตาไวมาก ฉันจึงมีโอกาสได้เห็นนกงามๆตัวนี้ัทั้งร้องทั้งบินร่อนไปมาถึง 4 ตัวในครั้งเดียว (ตอนขากลับแวะอีกครั้ง กลับไม่เจอสักตัว) สร้างความปิติให้ตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นสุดยอดนกที่ได้พบชนิดหนึ่งนอกเหนือจากนกใหม่หลากหลายชนิดที่ได้พบเห็นมาตลอดทาง
เส้นทางบนถนนช่วงสุดท้ายก่อนที่จะไปไปถึงแม่น้ำ รถวิ่งผ่านหมู่บ้านเล็กๆที่เราใช้เป็นที่พักแรมในคืนแรก แล้วพ่อครัวที่พกมาตั้งแต่คุซโคก็ได้แสดงฝีมือให้เราเห็น (ฉันมีความสุขกับอาหารในป่าในเขาครั้งนี้เป็นอย่างมาก เหมือนได้รับประทานในภัตตาคารชั้นดีมากกว่าอาหารป่าเป็นอย่างยิ่ง พ่อครัวช่างแปลงวัตถุดิบพื้นบ้านที่ได้ระหว่างทางกลายเป็นอาหารเลิศหรู รสชาติเยี่ยมได้ทุกมื้อ) ของคาว ของหวาน พร้อมชากาแฟ ถูกจัดขึ้นอย่างเพียบพร้อม โดยที่ฉันไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง เพียงแค่ดูแลตัวเอง จิบเบียร์ ดูนกรอบๆรอเท่านั้น ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ฉันยังมีโอกาสได้เห็นต้นโคคาแท้ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดยาเสพติดร้ายแรง แต่คนที่นี่จะนำใบโคคามาเคี้ยวหรือทำเป็นชาโคคากันเป็นปกติ เมืองนี้มีอุตสาหกรรมทำใบโคคาตากแห้งเพื่อส่งขายตามที่ต่างๆด้วย
เมื่อเดินทางมาถึงอะตาลิยา (Ataliya) เมืองเล็กๆริมแม่น้ำมาเดร เด ดิออส การเดินทางต่อจากนี้ไปก็ต้องพึ่งเรือเพียงอย่างเดียว พวกเรานั่งเรือลำยาวติดเครื่องล่องไปตามแม่น้ำสายกว้างที่คดโค้งไปตามแนวป่ากว่า 8 ชั่วโมง (มีอาหารอย่างดีเสริฟบนเรือ) เพื่อชมทิวทัศน์ตามป่าสองข้างทาง มีนกนานาชนิดให้เห็น มีแก่งให้ตื่นเต้นเป็นระยะๆ ในขณะที่มีไกด์บอกเล่าเรื่องราวต่างๆอยู่ตลอดเวลา จนไปถึงทางแยกที่ไปทางซ้ายคือแม่น้ำสายเล็กกว่าชื่อว่าแม่น้ำมานู (Manu River) ในขณะที่ไปทางขวาคือแม่น้ำมาเดร เด ดิออส ชีวิตของฉันในป่า 5-6 วันนี้ จึงอยู่ที่การล่องเรือ ขึ้นฝั่ง เดินป่า ดูนก ชมสัตว์ นอนแค้มป์ (แค้มป์คืออาคารไม้ค่อนข้างถาวร มีห้อง มีเตียง มีน้ำจากแม่น้ำ ไม่มีไฟฟ้า มีเครื่องปั่นไฟเป็นบางที่ มีพ่อครัวชั้นดี (ที่หนีบมาด้วย) ทำอาหารให้ มีเด็กเรือคอยทำความสะอาดเก็บกวาด ขนของให้) ถ้าจะเล่าเป็นวันๆ คงซ้ำไปซ้ำมา ฉันขอเล่าจุดแวะเด็ดๆระหว่างทริปการเดินทางในป่ามานูครั้งนี้ดีกว่า (นอกเหนือจากการล่องเรือแต่เช้าตรู่และเย็นย่ำไปนู่นมานี่ทุกวัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเห็นเสือจากัวร์ และสัตว์ป่าอื่นๆที่ออกมาหากินริมแม่น้ำ)
จุดแรกคือทางด้านฝั่งแม่น้ำมาเดร เด ดิออส แม่น้ำที่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานเป็นระยะๆ คือ Blanquillo Macaw Clay Lick ซึ่งก็คือโป่งดินสำหรับนกแก้ว นกมาคอ (macaw) หลากสีสันมารวมฝูงกินโป่งกันนั่นเอง จากฝั่งที่เรือจอดจะต้องเดินเข้าไปในป่าประมาณกิโลกว่าๆ (ระหว่างทางเจอทั้งกวาง ทั้งลิงหน้าตาแปลกๆ) เพื่อไปถึงหอชมนกแก้วที่สร้างเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สูงจากพื้น 4.5 เมตร (เผื่อเวลาน้ำขึ้นมากๆ) สร้างขึ้นอยู่ริมน้ำ มีที่นั่งหันหน้าสู่ผาดิน (โป่ง) ที่เป็นทางยาวไปตลอดแนวทางอีกด้านหนึ่งของสายน้ำเล็กๆ เมื่อถึงเวลาเหมาะ จะมีนกแก้วขนาดเล็ก ขนาดใหญ่หลากสีสัน หลากหลายสายพันธุ์มาลงกินโป่ง ร้องเสียงดังลั่นเป็นชั่วโมงๆ สีสันของนกแก้วป่าอเมซอนก็ช่างแสบสันเหลือเกิน ทั้งแดง ม่วง เขียว ฟ้า เหลือง ฯลฯ แล้วยิ่งมารวมกันเป็นร้อยๆพันๆตัวด้วยแล้ว ฉันว่าไม่ทึ่งก็ต้องทึ่งนั่นล่ะ ที่นี่มีประวัติเล็กๆที่น่าสนใจก็คือ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนสายน้ำเล็กๆที่อยู่หน้าหอ คือส่วนหนึ่งของแม่น้ำมาเดร เด ดิออสสายหลักซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่กว่าที่เห็นมาก ไม่สามารถมองเห็นโป่งได้จากอีกด้านหนึ่งของแม่น้ำ วิธีการมาดูนกที่นี่ คือการใช้บังไพรขนาดใหญ่ลอยกลางแม่น้ำในระยะที่ไม่รบกวนนก นักท่องเที่ยวต้องนั่งเรือเล็กมาลงที่บังไพรลอยน้ำแห่งนี้เพื่อชมในระยะใกล้ แต่ในปี 2003 เกิดฝนตกใหญ่ แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลร่นไปทางอื่น ปล่อยให้สายน้ำตรงนี้เป็นเหมือนคลองเล็กๆที่มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี ระยะห่างสองฝั่งน้ำก็ใกล้เข้ามา ทำให้สร้างเป็นหอดูนกถาวรขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบันได้ แต่นักท่องเที่ยวต้องเดินจากแม่น้ำสายใหญ่เข้ามาอีกเป็นกิโล โดยบังไพรลอยน้ำในสมัยก่อน ยังคงมีให้เห็นเป็นซากโบราณวัตถุอยู่ระหว่างทางเดินมาที่หอแห่งนี้
สถานที่สุดโปรดของฉันคือทะเลสาปซัลวาดอร์ (Salvador Lake) ทะเลสาปที่ใหญ่ที่สุดของอุทยานฯ ในส่วนของแม่น้ำมานู (แม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก) แน่นอนว่าต้องเดินป่าเข้าไปตามเทรล (ที่มีร่องรอยสัตว์ป่าอยู่เต็มไปหมด) เพื่อไปถึงทะเลสาป ที่นี่ไม่อนุญาตให้ใช้เรือติดเครื่องยนต์ มีเพียงแพไม้ขนาดประมาณ 2X2 เมตร และไม้พายให้ใช้อยู่สองลำ (หากมาในช่วงไฮซีซั่นจะต้องลงชื่อจองแพกันเลยทีเดียว) งานนี้ทั้งไกด์ คนขับเรือ พ่อครัว เด็กเรือ ต้องมาช่วยกันออกแรงพายเรือให้พวกเรา เพื่อชมความงามของทะเลสาปอันเงียบสงบ เป้าหมายแน่นอนคือนกนานาชนิดที่ดูแปลกใหม่สำหรับฉัน และที่สำคัญคือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่าง จระเข้ดำ (Black Cayman) และนากยักษ์ (Giant River Otter) โชคเข้าข้างฉันอีกครั้ง เมื่อวันที่เราไปถึงสัตว์ทั้งสองชนิดออกมาโชว์ตัวให้เห็นภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นากยักษ์นั้น ไม่เพียงแต่ว่ายน้ำให้เราเห็นเท่านั้น นากทั้งครอบครัว (ฉันนับได้ 7 ตัว) ยังวิ่งวนเวียนเข้าๆออกๆจากรังริมฝั่งให้เราเห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย ช่วงที่เราไปมีทีมงานจาก BBC กำลังมาตามเก็บภาพเจ้านากครอบครัวนี้ เห็นว่าตามตั้งแต่ลูกนากเพิ่งเกิดใหม่กันเลยทีเดียว
ไฮไลท์สุดๆ คงหนีไม่พ้นการเดินป่ายามวิกาลเพื่อชมสัตว์ยามเย็นย่ำไปจนถึงกลางคืน ฉันได้เห็นตัวสล็อธอันเชื่องช้าเป็นครั้งแรก ไม่นับรวมลิงป่าอีกนานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น Red Howler Monkey สีตัวใหญ่ขนสีน้ำตาลแดง มีลูกคอโป่งส่งเสียงกึกก้อง, Brown Capuchin Monkey ที่สีเหมือนคาปูชิโน, Black Spider Monkey ที่มีแขนขาหางยาวเป็นแมงมุม, Saddleback Tamarin ลิงตัวเล็กๆที่ไวเหมือนกระรอก, Emperor Tamarin มีหงอนงามสมเป็นจักรพรรดิ์ และสัตว์ต่างๆอีกหลายชนิด มีอยู่คืนหนึ่งที่ฉันเดินป่าเข้าไปนอนค้างคืนที่ห้างดูสัตว์เหนือโป่งโคลนกลางป่าลึก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อรอชมเจ้าสมเสร็จอเมริกาใต้(South American Tapir) นั่นเอง แล้วก็สมใจอยาก สมเสร็จโผล่มาให้เห็นกลางดึกแทบทั้งคืน (พอส่องไฟดูสักพักจะตื่นเดินหลบไป แล้วก็กลับมาใหม่) เที่ยวป่าครั้งนี้ฉันได้นกใหม่มากกว่า 200 ชนิด เนื่องจากนกอเมริกาใต้ย่อมไม่เหมือนนกที่เอเชียบ้านเรา ได้เห็นสัตว์ป่าอีกเป็นสิบๆชนิด จะพลาดก็แต่เจ้าเสือจากัวร์ที่ไม่ยักออกมานั่งเล่นริมน้ำในวันที่ฉันล่องเรือผ่านไป (แม้ว่าคนขับเรือ เด็กเรือและพ่อครัว จะได้เห็นมันแว่บๆ หลังจากที่ส่งอาหารเช้าให้ฉันที่โป่งนกแก้ว แล้วขับเรือกลับไปรอที่แคมป์ก็ตาม) ได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งฉันจะได้กลับไปสอยเจ้าสัตว์หน้าขนหายากตัวนี้ลงไว้ใน”รายชื่อสัตว์ป่าที่ฉันเคยเห็นในธรรมชาติ” ให้ได้อีกสักครั้ง…
อ่านโพสต์ของคุณหส้าสนุกได้ความรู้ดีค่ะ กำลังวางแผนจะไปดูนกที่อุททยานมานู อยากจะขอเรียนถามความเห็น
นั่งรถจากCusco to Atalıya โหดมากไหมคะ เมารถเก่งเสียด้วย ใช้เวลานานแค่ไหน
บริษ้ททัวร์ที่พาไปสำหรับกี่คน และราคาค่ะ กะว่าจะใช้เาลาสักห้าวันไม่รู้ว่าจะไหวหรือเปล่า
ขอบคุณค่ะ
ทางรถต้องขึ้นเขาข้ามไปอีกฝั่งเขาและลงไปที่แม่น้ำค่ะ ทางซิกแซกไปมาตลอดทาง แต่ก็สวยและแวะดูนกได้บางจุดค่ะ เรื่องราคาลองสอบถามเองนะคะ เพราะไปมาเกือบสิบปีแล้ว ตอนที่ไป ไปกันแค่สองคนค่ะ ถ้าไป 5 วันก็คือมีเวลานั่งเรือไปตามจุดต่างๆ จริงๆ 3 วันค่ะ ลองติดต่อถามทัวร์เขาได้ค่ะ ถ้าอยู่หลายวันก็เข้าได้ลึกขึ้น อยู่ได้นานขึ้น…
ถ้าจะให้แนะนำ ไกด์ชื่อ Luis Hebert ค่ะ ที่เคยให้เขาพาเที่ยว ตอนนี้เขาตั้งบริษัทเองแล้ว
https://www.facebook.com/Wild-Watch-Peru-119684948110339/ ลองสอบถามไปดูได้ค่ะ