“Poor Niagara!” เป็นคำอุทานของนางเอเลอนอร์ รูสเวลท์ สตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของประธานาธิบดีรูสเวลท์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเธอได้มาเห็นความยิ่งใหญ่ของน้ำตกอีกวาซู (Iguazu Falls) ในอเมริกาใต้ด้วยตัวของเธอเองแล้วเปรียบเทียบกับน้ำตกไนแองการ่าที่ชายแดนสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ไม่ได้เกินเลยความจริงแต่ประการใด หากใครที่เคยเยือนน้ำตกไนแองการ่ามาแล้วและได้มาเห็นน้ำตกอีกวาซูด้วยตัวเอง เนื่องจากน้ำตกรูปครึ่งวงกลมแบบเกือกม้าที่ปลายข้างหนึ่งลากยาวออกไปนี้ มีความสูงถึง 62-80 เมตรและมีความยาวของหน้าผาน้ำตกรวมแล้วกว่า 2,700 เมตร ซึ่งสูงกว่าและกว้างกว่าน้ำตกไนแองการ่าถึงสองเท่า ประกอบด้วยเกาะแก่งมากมายระหว่างน้ำตกย่อยๆถึง 275 แห่ง
น้ำตกอีกวาซู เป็นน้ำตกขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ที่ชายแดนระหว่างจังหวัด Misiones ของอาเจนติน่าและรัฐ Parana ของบราซิล เนื่องจากสองประเทศนี้ใช้ภาษาสเปนและโปรตุเกสเป็นภาษาหลัก การเขียนสะกดคำ จึงแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเขียนว่า Iguaçu หรือ Iguazu ที่ภาษาไทยก็ออกเสียงเหมือนกันว่า “อีกวาซู” ต่างก็มาจากภาษาพื้นเมือง แปลตามคำเรียกชื่อว่า “สายน้ำอันยิ่งใหญ่” และเนื่องจาก 2 ใน 3 ของน้ำตกตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติในฝั่งอาเจนติน่า ในขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติในฝั่งบราซิล (ซึ่งทั้งสองฝั่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ) การเที่ยวชมทั้งสองฝั่งข้ามไประหว่างสองประเทศจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และนับเป็นความโชคดีของคนไทย ที่สามารถเยือนทั้งสองประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า การเดินทางข้ามแดนจึงค่อนข้างสะดวกและไม่ต้องเตรียมเอกสารอะไรให้เสียเวลานัก แม้ว่าจะต้องนั่งรถอ้อมมาข้ามสะพานข้ามชายแดนแม่น้ำปารานา (Parana) ที่ปลายน้ำตกก็ตาม ที่กลางสะพานนี้หากหันหน้าไปตามสายน้ำ จะเห็นดินแดนของอาเจนติน่าทางฝั่งซ้าย บราซิลทางฝั่งขวา รวมไปถึงดินแดนของปารากวัยหากมองตรงไปข้างหน้าได้อีกด้วย
แม้ว่าการแบ่งเขตแดนในปัจจุบันจะทำให้น้ำตกอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ แต่ในทางกายภาพแล้วก็คือสายน้ำเดียวกันที่ให้กำเนิดและก่อเกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากไอน้ำและละอองน้ำจากน้ำตกที่มีอยู่ตลอดปี ได้ทำให้ดินแดนแถบนี้มีพืชพรรณที่โดดเด่น โดยเรียกรวมว่าป่าฝนกึ่งเขตร้อน หรือป่าแอตแลนติค ที่มีชนิดพันธุ์นกกว่า 400 ชนิดและพืชพรรณต่างๆมากกว่า 2,000 ชนิด รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลานต่างๆอีกหลากหลายชนิด แม้ว่าน้ำตกแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวพื้นเมืองมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว โดยมีตำนานพื้นเมืองเล่าถึงที่มาของน้ำตกสายนี้ว่า เกิดจากการที่สาวสวยที่เทพเจ้าต้องการจะแต่งงานด้วย ได้พายเรือแคนูหนีตามแม่น้ำไปกับหนุ่มปุถุชนธรรมดา เทพเจ้าผู้ถูกหักอกกันเห็นๆโมโหโกรธาเป็นอันมากถึงกับเสกให้แม่น้ำสายนี้แยกออกเป็นเสี่ยงๆและสาปแช่งให้หญิงสาวและชายหนุ่มดังกล่าวต้องตกแก่งน้ำตกแห่งนี้ไปตลอดกาล จึงเป็นต้นกำเนิดของมวลน้ำมหาศาลที่ไหลลงจากหน้าผาอย่างไม่มีวันเหือดหายจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี น้ำตกแห่งนี้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเมื่อถูกค้นพบและกล่าวถึงโดยนักสำรวจชาวสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1541 และหลังจากนั้นก็มีการสำรวจ แก่งแย่ง และยึดครอง รวมถึงการพยายามทำให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญในปัจจุบัน
เนื่องจากพื้นที่น้ำตกส่วนใหญ่อยู่ในอาเจนติน่า การเที่ยวชมทางฝั่งนี้จึงค่อนข้างเป็นที่นิยมมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง การจะเที่ยวชมน้ำตกให้ทั่ว ต้องใช้เวลากันทั้งวัน เริ่มจากการซื้อตั๋วเข้าอุทยานแห่งชาติ (แนะนำให้แลกเงินเปโซอาเจนติน่าไว้ หากมาจากทางบราซิล เนื่องจากเรทแลกเปลี่ยนที่ร้านขายของแพงมาก) แล้วเดินเที่ยวไปตามเทรล เช่น เส้นทาง Upper Trail เป็นเส้นทางยอดนิยมที่จะพาเดินไปตามทางเดินผ่านป่าที่ค่อนข้างสวยงามมาก สามารถเจอนกได้หลากหลายชนิด เส้นทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตรไปกลับ โดยจะเป็นทางเดินเลาะไปตามด้านบนของน้ำตกที่มองเห็นเป็นกำแพงยาว มีจุดที่ทำเป็นลานคล้ายระเบียงให้ถ่ายรูปได้เป็นจุดๆ พร้อมชื่อของน้ำตกย่อยแต่ละแห่งที่เดินผ่าน โดยมีป้ายอธิบายเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นระยะๆ เส้นทางทำเป็นสะพานโลหะกว้างพอสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นได้อย่างสะดวกสบาย ป้ายที่น่าสนใจอันหนึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่น้ำตกแห่งนี้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1982 และ 1992 ถึงกับทำลายเส้นทางเดินเทรลและทางการต้องปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันเกือบเดือน จากน้ำตกที่ปกติมีน้ำไหลลงจากหน้าผา 1.5-1.75 ล้านลิตรต่อวินาที กลายสภาพเป็นน้ำโคลนข้นคลั่กที่ไหลลงมาถึง 39 ล้านลิตรต่อวินาที แต่สถิติอันนี้ได้ถูกทำลายไปสดๆร้อนๆเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ที่มีน้ำป่าไหลหลากลงมาถึง 43-46 ล้านลิตรต่อวินาที! มากกว่าเวลาปกติกว่า 30 เท่า เหตุผลหลักๆคงหนีไม่พ้นการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง ทำให้ขาดป่าที่ช่วยดูดซับน้ำเอาไว้บริเวณต้นน้ำนั่นเอง นอกจากนี้ บนป้ายแสดงยังมีรูปยามเมื่อน้ำตกอันยิ่งใหญ่แห่งนี้มีแต่โขดหินผาที่แทบจะแห้งเหือดไร้น้ำตก ยามเมื่อเกิดภัยแล้งเมื่อปี ค.ศ. 1978 อีกด้วย
นอกจากเส้นทางเทรลต่างๆแล้ว ยังสามารถนั่งรถไฟฟ้าไปยังจุดเริ่มต้นเส้นทางไปชมบริเวณที่มีน้ำไหลมากที่สุดอันเป็นไฮไลท์ของน้ำตกแห่งนี้ที่เรียกว่า Devil’s Throat การนั่งรถไฟฟ้าจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที หรืออาจเลือกเดินไปตามเทรลที่ขนานไปกับทางรถไฟก็ได้ ตรงบริเวณสถานีรถไฟต้นทางจะมีร้านขายของและห้องน้ำให้ใช้บริการ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่รอรถไฟยังมีโอกาสได้เจอกับสัตว์ป่านิสัยเสียอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหน้าตาคล้ายชะมดบ้านเราที่เรียกว่า Quati ที่พยายามจะมาขอเศษอาหารจากคนกิน แม้ว่าจะมีป้ายห้ามเลี้ยงสัตว์ป่าตลอดเส้นทางแล้วก็ตาม เมื่อลงจากรถไฟแล้ว จะต้องเดินไปตามทางอีกประมาณ 20 นาทีจึงจะถึงหัวน้ำตกที่งดงามสุดๆที่เรียกว่า Devil’s Throat อันได้แก่บริเวณที่มีน้ำตกโค้งเป็นรูปเกือกม้าขนาดใหญ่ที่มีความสูง 82 เมตร กว้าง 150 เมตรและยาวถึง 700 เมตร น้ำไหลแรงกระหน่ำ หมอกไอครุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ที่เมื่อมองจากที่ไกลๆจะเห็นเป็นไอขึ้นมาเหมือนปล่องภูเขาไฟระเบิด บริเวณน้ำตกมีนกแอ่น Great Dusky Swift ที่อาศัยอยู่หลังม่านน้ำตกบินกันให้ว่อน ทางฝั่งอาเจนติน่านี้ นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชม “ลำคอปีศาจ” นี้จากทางด้านบน แต่หากต้องการชื่นชมบริเวณนี้จากทางด้านล่างคงต้องไปเดินทางฝั่งบราซิลแทน
อุทยานแห่งชาติทางฝั่งบราซิล มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ตรงบริเวณเชิงเขาเหนือน้ำตกจะเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรูห้าดาว ติดอันดับหนึ่งในโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก ที่เรียกว่า Das Cataratas อาคารสองชั้นทรงโคโลเนียลแบบโปรตุเกสนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1958 ด้วยความที่โรงแรมตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและอยู่ติดกับเส้นทางเดินชมน้ำตกทางฝั่งบราซิล การเข้าพักที่นี่จึงได้เปรียบในการที่จะชมน้ำตกในเวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะชมพระจันทร์ขึ้นเหนือน้ำตกในยามค่ำคืน (ซึ่งอุทยานฯปิดทำการไปแล้ว) หรือการชมน้ำตกแต่เช้ามืด (ก่อนที่อุทยานฯจะเปิด) หรือจะขึ้นหอคอยชมน้ำตกจากที่สูง รวมถึงการจิบค็อกเทลหรือดินเนอร์ฟังเสียงน้ำตกจากหน้าโรงแรม อย่างไรก็ดี จากฝั่งบราซิลนี้จะได้เห็นแผงน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีน้ำตกหลั่งไหลไม่ขาดสายของฝั่งอาเจนติน่าอย่างชัดเจน วิวจึงแตกต่างไปจากการชมน้ำตกจากด้านบนทางฝั่งอาเจนติน่า เส้นทางเดินเริ่มจากหน้าโรงแรมเลาะไปตามป่า แต่เนื่องจากลมพัดน้ำตกมาทางฝั่งนี้ ทางจึงค่อนข้างชื้น ละอองน้ำเยอะมาก ต้องคอยเก็บกล้องกันดีๆ ยิ่งเข้าใกล้ Devil’s Throat มากเท่าไร ก็ยิ่งเปียกแฉะขึ้นมากเท่านั้น หากอากาศเป็นใจ การได้เห็นโค้งรุ้งงามๆแทบจะครบวงคาดผ่านน้ำตกก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ช่วงสุดท้ายที่มีทางเดินไปสู่กลางทางน้ำเพื่อชม Devil’s Throat จากทางด้านล่างนั้น เรียกได้ว่าต้องเปียกกันเต็มๆ (ทางอุทยานฯมีเสื้อกันฝนขาย หากไม่ได้นำไปเอง) หากไม่ต้องการอาบละอองน้ำตกที่เหมือนฝักบัวดังกล่าว ก็สามารถหลบๆอยู่ทางจุดชมวิวด้านข้างๆที่ทางอุทยานฯเตรียมไว้ได้ โดยบริเวณนี้จะมีร้านขายของ ลิฟต์ และร้านอาหารให้บริการ ต่อเนื่องไปถึงบริเวณที่เป็นลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปบริเวณเหนือน้ำตก
เมื่อครั้งที่มีการรณรงค์ให้อาณาบริเวณรอบๆน้ำตกอีกวาซูแห่งนี้เป็นเขตสงวน นายทหารวิศวกรชาวบราซิล André Rebouças ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “สถานที่แห่งนี้ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้า” “การดำรงรักษาไว้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ จากความสวยงามสู่ความเป็นเลิศ จากความงดงามสู่ความเป็นสุดยอด” และ “พืชพรรณที่ไม่มีที่ใดเทียบเทียม” ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ถูกกล่าวถึงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนี้สามารถสัมผัสได้ที่น้ำตกอีกวาซูอันสง่างามแห่งนี้ตราบจนปัจจุบัน