Brazil’s BONITO!

Beautiful Bonito, the Sustainable Tourism Model of Brazil

28
อาทิตย์อัสดงในป่าทุ่งหญ้าสะวันน่าเขตร้อน Cerrado แห่งบราซิล

ข่าวคราวเรื่องเสือจากัวร์หลุดจากโซ่ล่ามถูกยิงตายระหว่างพิธีวิ่งคบเพลิงโอลิมปิคในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศบราซิล เจ้าภาพโอลิมปิคที่กำลังจะมาถึงเสียชื่อไปไม่น้อย ฉันเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ใช่แต่ชาวโลกเท่านั้นที่ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ชาวบราซิลด้วยกันเองที่เอาใจใส่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์คงจะหัวเสียไปตามๆกัน โดยเฉพาะชาวเมือง Bonito (โบนิโต้) เมืองเล็กๆในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ Mato Grosso Do Sul (มาโตกรอสโซ่โดซัล) มลรัฐหนึ่งของบราซิลที่ติดชายแดนปารากวัยและโบลิเวีย เหตุเพราะ Bonito เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึงสองหมื่นคนแห่งนี้ เติบโตและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ในระดับโลกได้ ก็ด้วยเรื่องของการบริหารการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของคนในพื้นที่ ที่เป็นแบบอย่างให้กับสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆแห่งของบราซิลและของโลกเลยทีเดียว

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า Bonito เป็นเมืองเล็กๆที่แทบเรียกได้ว่า มีถนนหลักๆที่เป็นที่ตั้งของแทบทุกสิ่งทุกอย่างตรงกลางอยู่เส้นเดียวเท่านั้น แต่ที่นี่เป็นเมืองศูนย์กลางที่มีที่พักรองรับสำหรับตอบสนองการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยรอบรัศมีประมาณ 60 กิโลเมตรถึง 40 กว่าแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับลำน้ำที่ใสสะอาด น้ำตก ทะเลสาบ ถ้ำ เพิงผา และป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ราบสูง Bodoquena (โบโดเกอน่า) ที่อุดมไปด้วยเขาหินปูนและป่าทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อนของบราซิลที่เรียกว่า Cerrado (เซอร์ราโด้)

ทันทีที่ฉันมาถึงรีสอร์ทที่พักท่ามกลางธรรมชาติที่ตั้งอยู่ชานเมือง ก็ได้ยินเสียงเจี๊ยวจ๊าวของนกแก้วต่างๆแถวหน้าห้อง พอออกมาดูจึงเห็นว่าเป็นนกแก้ว Macaw และนกแก้วขนาดเล็กอื่นๆ เต็มไปหมด ทางโรงแรมเอาเมล็ดพืช มาวางแล้วนกในธรรมชาติเหล่านี้ก็บินมากินเอง ไม่ได้เอานกตัวไหนมาตัดขนปีกไม่ให้บินหนีไปไหนเพื่อโชว์แขกแบบรีสอร์ทหลายๆแห่งของเมืองไทย นอกจากนกแก้วชนิดต่างๆแล้ว ก็มีนกต่างๆบินแวะเวียนเข้ามาตลอด เนื่องจากทางโรงแรมปลูกต้นไม้ที่ให้เมล็ดที่เป็นอาหารของนก นกจึงเข้ามาหาเองตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องมาจับใส่กรง นี่แค่อยู่ในที่พักเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว การท่องเที่ยวของที่นี่คือการออกไปทำกิจกรรมทางธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆที่อยู่ภายใต้การดูแลจัดการของเอกชน โดยเฉลี่ยกิจกรรมละประมาณครึ่งวันโดยประมาณ ในที่นี้ฉันขอแนะนำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 4 อย่างที่ฉันได้ไปสัมผัสมาโดยตรงดังต่อไปนี้

สถานที่แห่งแรกที่ฉันไปคือการนั่งรถไปทางใต้ของเมืองประมาณชั่วโมงครึ่ง ๆไปยังบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า Rio de Prata (แม่น้ำปราต้า) เป็นแม่น้ำที่มีน้ำผุดมาจากเขาหินปูน น้ำใสแจ๋วแบบสุดๆ โดยในตอนแรกจะต้องเข้าไปที่ส่วนจัดการของจุดท่องเที่ยวนั้นก่อน มีการเซ็นชื่อทำประกันและไกด์ผู้ชำนาญการแนะนำสถานที่และการทำกิจกรรม ฉันจัดแจงใส่เว็ทสูทสั้นหนา 5 มม. พร้อมรองเท้าบู้ท กับเตรียมอุปกรณ์สน็อคเกิ้ล จากนั้นก็เดินเข้าป่าดิบแล้งผสมทุ่งหญ้า ไปประมาณครึ่งชั่วโมง เจอะเจอต้นไม้ที่เก่าแก่กว่า 300 ปี รวมถึงต้นที่เอาเปลือกไม้ไปทำน้ำหอมชาแนล และสัตว์ป่าอย่างลิงคาปูชิน และนกอีกหลายชนิด เมื่อถึงริมน้ำที่เป็นจุดเริ่มต้น จะมีการสวมเสื้อชูชีพและไกด์แนะนำวิธีใช้หน้ากากดำน้ำ รวมทั้งฝึกดำน้ำกันก่อนที่บริเวณแอ่งกว้างๆ ก่อนที่จะลุยดำน้ำตื้นไปตามลำน้ำ Prata (แปลว่าลำน้ำสีเงิน) ที่ใสสุดๆ มีจุดที่น้ำผุดออกมาจากพื้นทรายใต้น้ำที่เป็นน้ำเย็นกว่าน้ำในลำน้ำ มีปลาน้ำจืดหน้าตาแปลกๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปลา Pacu สีดำหน้าตาคล้ายปลาปิรันยา หรือปลา Dourado สีเหลืองตัวโต ปลานักล่าของลำน้ำแห่งนี้ นอกเหนือจากงูอนาคอนด้าและนาก หลังจากว่ายวนดูในแอ่งแล้ว ก็ถึงคราวไหลไปตามลำน้ำผ่านป่าไปเรื่อยๆ ซึ่งบางจุดน้ำตื้นแค่เข่า แต่ไกด์แนะนำไม่ให้ยืนเพราะจะทำให้น้ำขุ่น ดูพืชพรรณใต้น้ำและปลามากมาย ในลำห้วยจริงๆที่มีน้ำใสแจ๋วยิ่งกว่าอควาเรี่ยม หากเงยหน้าขึ้นมาก็ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ได้ยินเสียงนกและแมลงโดยรอบ และบางครั้งได้เห็นลิงลงมากินน้ำด้วย จุดที่น้ำไหลแรงมากๆเป็นแก่งใหญ่ ก็จะขึ้นบกเดินอ้อมขึ้นมาไปลงอีกจุด แต่หากเป็นแก่งเล็กๆก็ลอยละล่องตามแก่งไปเลย เป็นที่สนุกสนาน จนกระทั่งออกไปสู่ลำน้ำสายใหญ่ที่มีน้ำเย็นกว่า น้ำลึกและขุ่นกว่า ลอยไปตามลำน้ำไม่นานก็จะถึงจุดขึ้นเรือเพื่อเดินทางกลับ รวมระยะทาง 2.1 กิโลเมตร รวมกับนั่งเรืออีกประมาณ 300 เมตร โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ชั่วโมง ถือเป็นกิจกรรมที่อเมซิ่งเอามากๆ ทั้งสวย ทั้งดีงาม เย็นสบาย เสียดายอย่างเดียวที่ครั้งนี้ไม่ได้เจออนาคอนด้าใต้น้ำ…

จุดต่อไปคือการไปดูหลุมยุบ (sinkhole) ที่บริเวณที่เรียกว่า Buracos das Araras หลุมยุบแห่งนี้เป็นหลุมยุบตามธรรมชาติที่มีความลึกถึง 100 เมตร มีเส้นรอบวงประมาณ 500 เมตรและเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร ถือเป็นหลุมยุบที่เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ แต่ที่พิเศษกว่าคือที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของนกแก้วมาคอว์แดงเขียว (Red-and-green Macaw) กว่า 50 คู่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนกที่เกือบสูญหายไปจากพื้นที่บริเวณนี้แล้ว เส้นทางเดินเป็นเทรลเดินเข้าไปในป่าที่มีโอกาสได้เจอสัตว์ป่าหลากหลายชนิด จนไปถึงบริเวณหลุมยุบที่เห็นเป็นหน้าผาดินทรายสีแดงๆลึกลงไปด้านล่าง มีแอ่งน้ำและป่าไม้ขึ้นอยู่ มีเทรลโดยรอบหลุมยุบ และจุดชมวิวอยู่สองจุดอยู่ตรงข้ามกัน ประวัติของที่นี่น่าสนใจ นอกจากการเกิดหลุมยุบตามธรรมชาติเมื่อ 2-3 แสนปีก่อน (ดินทรายด้านบนถล่มลงไป เนื่องจากพื้นล่างที่เป็นหินปูนถูกน้ำกัดเซาะจนเป็นช่องโหว่ขนาดยักษ์) เพราะแต่เดิมที่นี่เป็นเพียงที่ทิ้งขยะของคนที่เดินเข้ามาเที่ยวแถวนี้ในสมัยที่ยังไม่มีการจัดการ (มีการพบซากศพคนตายเมื่อปี  ค.ศ. 1974) แต่เมื่อเจ้าของในปัจจุบันเข้ามาครอบครองเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เขาได้จ้างคนไต่หน้าผาลงไปเก็บขยะ ทำความสะอาดทะเลสาบด้านล่าง และเอานกแก้วมาคอว์ที่เคยเลี้ยงไว้คู่หนึ่งมาปล่อย กลายเป็นว่านกแก้วคู่แรกนี้ได้เรียกเอานกแก้วในธรรมชาติคู่อื่นๆมาอาศัยรวมกันอยู่ที่นี่ เจ้าของได้จัดการทำเทรลที่มีป้ายให้ความรู้และมีการจัดการอย่างดีจนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทะเลสาบน้ำสีเขียวด้านล่างยังเป็นที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืดที่เรียกว่า Caiman อีกด้วย

Gruta do Lago Azul (Blue Lake Grotto) ถูกค้นพบโดยชาวพื้นเมืองอินเดียนเมื่อปี ค.ศ. 1924 ลักษณะทางกายภาพเป็นทะเลสาบใต้ดินในถ้ำที่เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 100 เมตร ตัวทะเลสาบน้ำจืดมีน้ำที่สะท้อนแสงออกเป็นสีเขียวฟ้าเทอร์ควอยซ์มีขนาดกว้างยาวประมาณ 120×50 เมตร และลึก 87 เมตร  (เท่าที่มีการสำรวจได้โดยใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก) การเดินลงไปชมที่นี่จะต้องมีการสวมหมวกกันน็อคและเดินลงบันไดไปประมาณ 300 ขั้น ทะเลสาบที่เห็นในตอนแรกจะเห็นเป็นดำๆ แต่เมื่อเดินลึกลงไปๆ น้ำที่มีแร่ธาตุสะท้อนแสงสีฟ้าที่ตาเรารับแสงได้ก่อนกลายเป็นทะเลสาบใต้ดินอันแสนงดงาม หลังจากที่มีการค้นพบได้ประมาณ 50 ปีก็มีการทำการอนุรักษ์อย่างจริงจังในช่วงปี 1977-1978 และเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี ค.ศ. 1982 จนในปี ค.ศ. 1992 มีการสำรวจถ้ำอย่างจริงจังนำไปสู่การค้นพบกุ้งน้ำจืดเฉพาะถิ่นชนิดใหม่ (ตัวขนาด 3-5 มม.) และซากฟอสซิลของตัวสลอธยักษ์ (Giant Sloth) และเสือเขี้ยวดาบ (Saber-toothed Tiger) จากยุคน้ำแข็ง Pleistocene (ไพลสโตซีน) เมื่อ 1.8 ล้านปีถึง 11,000 ปีก่อน กล่าวกันว่าการท่องเที่ยวของเมือง Bonito เริ่มต้นที่การค้นพบทะเลสาบใต้ดินแห่งนี้นี่เอง

การล่องแก่งเรือยางไปตามลำน้ำต่างๆรอบๆบริเวณเมือง Bonito ถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่มีการจัดการจากหลายๆแห่ง แม่น้ำที่ฉันมีโอกาสลงไปล่องแก่งครั้งนี้คือ Rio Formosa (แม่น้ำฟอร์มอส) เป็นการล่องเรือยางไปตามแม่น้ำที่มีแก่งเล็กๆประมาณ 3-4 แห่ง โดยทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพ ห้ามเอากล้องถ่ายรูปลง และมีถังน้ำประจำเรือยางเพื่อการทำสงครามสาดน้ำกับเรือลำอื่นเป็นที่สนุกสนาน โดยมีเจ้าหน้าที่พายเรือคายัคคอยตามถ่ายรูปให้ แต่ที่ไฮไลท์สุดๆคือการพบตัวงูยักษ์อนาคอนด้า นอนขดตัวอยู่ใต้ขอนไม้ริมตลิ่ง (คนพายเรือคายัคไปพายซอกแซกหางูให้) นอกเหนือไปจากนกทูแคน และลิงต่างๆที่กระโดดไปมาตามกิ่งไม้ริมน้ำ ฉันจบการล่องแก่งประมาณชั่วโมงกว่าๆด้วยตัวเปียกโชกและความตื่นเต้นจากการได้เจองูยักษ์

23_Andre
งูยักษ์อนาคอนด้าในลำห้วยใสๆ (Photo: Andre Pedro Annes Turatti)

นอกเหนือจากกิจกรรมสี่อย่างที่ฉันได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการเดินป่าดูนกชมไม้ ชมน้ำตกที่มีมากกว่า 100 แห่ง การดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกลงไปในทะเลสาบที่มีกว่า 80 แห่ง รวมถึงการไต่เชือกลงไปในถ้ำใต้ดินและดำน้ำชมทะเลสาบภายใน แม้ว่าจะมีที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ทุกแห่งมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน จึงต้องมีการจองล่วงหน้าโดยการจัดการผ่านบริษัททัวร์ เนื่องจากต้องมีการดูแลโดยไกด์ที่ชำนาญการเท่านั้น ทั้งๆที่การท่องเที่ยวของเมือง Bonito แห่งนี้เริ่มกันจริงๆจังๆในต้นทศวรรษ 1990 เท่านั้น แต่ในปี 2013 ที่นี่ก็ได้รับรางวัล World Responsible Tourism Awards ว่าเป็น Best Destination for Responsible Tourism อันเป็นที่น่าฉงนสำหรับหลายๆคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน แต่หากใครได้มาเยือนสถานที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันงดงามสมคำว่า Bonito แห่งนี้แล้ว จะไม่มีทางแปลกใจเลยว่า ทำไมที่นี่ถึงได้รางวัลดีเด่นทางด้าน Ecotourism อันเป็นตัวอย่างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพเยี่ยงนี้

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s