Kinabalu ขุนเขาสูงเสียดฟ้าที่สัมผัสได้
“เดี๋ยวดึกๆ คุณมาเช็คอีกทีนะคะ เผื่อมีคนยกเลิก ดิฉันจะจองไว้ให้ค่ะ”
สาวหน้าหวาน อัธยาศัยดีที่เคาว์เตอร์ที่จัดการเรื่องที่พักในอุทยานแห่งชาติคินะบะลู บนเกาะบอร์เนียวบอกกับฉัน เมื่อฉันไปติดต่อเรื่องขอขึ้นยอดที่จำเป็นต้องพักค้างหนึ่งคืนบนที่พักระหว่างทาง ซึ่งมีที่พักจำกัด อันเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินขึ้นยอดในแต่ละวันด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วจำเป็นที่จะต้องติดต่อจองที่พักไว้ล่วงหน้าหลายๆวัน หรือบางครั้งเป็นเดือน… อันที่จริง ฉันพยายามจะติดต่อล่วงหน้าแล้ว แต่คำตอบที่ได้รับคือเต็มตลอด ฉันจึงต้องใช้วิธีเสียบเอาวันต่อวันแบบนี้แหละ เพราะเรามีกันน้อยคน (ไปกันแค่สองคน) และรู้ข่าวจากนักเดินทางบางคนว่าอาจเป็นไปได้ ฉันเข้าใจว่าส่วนใหญ่ที่พักจะเต็มเพราะบริษัทนำเที่ยวจะจองไว้ล่วงหน้าเผื่อไว้สำหรับรับนักท่องเที่ยวที่ติดต่อเข้าไป ซึ่งบางครั้งก็จองเกินเอาไว้แล้วมายกเลิกเอาใกล้ๆวัน ให้ขาจรอย่างฉันเสียบได้ ถ้ารู้ลู่ทาง…
ฉันมาอยู่ที่อุทยานฯ ในส่วนที่เป็นที่ทำการอุทยานฯ นี้ได้ 3 คืนแล้ว แม้ว่าจุดประสงค์หลักคือการมาชื่นชมธรรมชาติ ดูนกและพรรณไม้ ซึ่งอุทยานฯ แห่งนี้ถือเป็นสุดยอดแห่งความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะทางด้านพรรณไม้ และพื้นที่ที่ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ของอุทยานฯ แห่งนี้ (754 ตร. กม.) ก็ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2543 หลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติมาได้ 36 ปี ฉันสนุกกับการเดินตาม Trail ที่มีอยู่มากมายในส่วนที่ทำการฯ มาพอสมควร ได้เห็นนกหลายชนิดที่ตั้งใจมาดูโดยเฉพาะ ความตั้งใจที่จะเดินขึ้นจุดสูงสุดของอุทยานฯ คือยอดเขาคินะบะลูนั้นเป็นเพียงความคิดรอง เพราะไม่สามารถจองที่พักด้านบนได้ตั้งแต่ต้น แต่จากการแวะเวียนเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่จัดการด้านที่พักที่แสนน่ารักในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ฉันพอมีความหวัง และในที่สุดความหวังที่ว่าก็กลายเป็นความจริงจนได้ ฉันได้ที่พักด้านบนแล้ว! เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันรีบมาติดต่อขออนุญาติจากส่วนอุทยานฯ และติดต่อจ้างไกด์ท้องถิ่นนำทาง (ที่จริงแล้วทางช่วงแรกไม่จำเป็นต้องมีไกด์ก็ได้ แต่ถ้าจะขึ้นยอด เขาบังคับให้จ้างไกด์ท้องถิ่น เพื่อความปลอดภัย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ฉันว่ามันเป็นการหารายได้ให้คนท้องถิ่นที่เป็นชาวพื้นเมืองของเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกแห่งนี้ด้วย)
หลังจากขออนุญาติและติดต่อทุกอย่างเรียบร้อยในเช้าตรู่วันนั้น (รวมถึงการฝากสัมภาระให้เขานำไปส่งให้ที่ Mesilau Resort ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของอุทยานฯ ที่ฉันตั้งใจจะเดินลงไปทางนั้นในวันถัดมาด้วย) ฉันนั่งรถจากที่ทำการฯ ไปยัง Tempohon Gate ที่ความสูง 1,866 ม. จากจุดนั้นฉันต้องเดินขึ้นเขาตลอดทางไปยังที่พักคืนแรกที่ความสูงประมาณ 3,300 ม. เหนือระดับน้ำทะเล ระยะทางโดยเฉลี่ยประมาณ 6 กม. ฉันค่อยๆ เดินตามทางไปเรื่อยๆ ช้าๆ ด้วยความตื่นเต้น พร้อมๆกับดูนกในที่สูงไปด้วย ถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ระหว่างทางไปด้วย จากพื้นที่ป่าดิบด้านล่าง ที่เต็มไปด้วยกล้วยไม้ต่างๆ รวมถึงเฟินและมอส ห่มลำต้นไม้ใหญ่ให้เป็นสีเขียว เมื่อไต่ระดับสูงขึ้น ป่าก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ฉันเริ่มเห็นต้นโอ้ค และไม้พุ่มต้นเล็กๆมากขึ้น รวมไปถึงต้นกุหลาบพันปีมากมาย ระหว่างซอกมุมหินต่างๆ ถ้ามองให้ดีก็จะเห็นต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงบ้าง กล้วยไม้บ้าง และดอกไม้อื่นๆ แซมอยู่เป็นระยะๆ แม้ว่าบางส่วนจะถูกทำลายไปบ้างจากปริมาณคนที่เดินขึ้นเขาในแต่ละวัน แทบทุกครึ่งกิโลหรือหนึ่งกิโล จะมีศาลาที่พักให้ ที่ที่สามารถเติมน้ำดื่มจากแท็งค์ (น้ำฝน) และเข้าห้องน้ำได้ ประมาณ กม. ที่ 4 จะเห็นทางแยกทางด้านขวา ซึ่งเป็นเส้นทางอีกเส้นหนึ่งมาจากที่พักด้าน Mesilau ที่ฉันตั้งใจจะเดินไปตอนขาลงวันต่อมา ความเหนื่อยและความล้าทำให้ฉันเดินช้าลงเรื่อยๆ หรือไม่ก็หาเรื่องอู้พักด้วยการถ่ายรูปต้นไม้ ดอกไม้ระหว่างทางตลอด คนอื่นๆที่ขึ้นมาที่หลังเริ่มเดินแซงไปเรื่อยๆ รวมถึงลูกหาบที่เป็นชาวพื้นเมือง หาบข้าวของขึ้นไปส่งที่ที่พักด้านบน โดยคาดสายรัดไว้ที่หน้าผาก กว่าฉันจะโผล่ไปถึงที่พัก Laban Rata ด้านบนได้ ก็ปาเข้าไปบ่ายสอง (ใช้เวลาเดินถึง 6 ชั่วโมงทีเดียว)
Laban Rata ตั้งอยู่ที่ความสูงเกินกว่าสามพันเมตร ซึ่งหมายความถึงอากาศที่หนาวเย็นกว่าด้านล่าง จนฉันแทบไม่เชื่อว่าคุณอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรยิ่งกว่าในเมืองไทย (ต่ำกว่า 10°C ในเวลากลางคืน) อากาศชื้น หมอกหนา และยังรวมถึงบรรยากาศที่เบาบางกว่า มีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่า ทำให้คนเราเหนื่อยได้มากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อฉันเข้าเช็คอินได้ที่พักเรียบร้อย (เป็นเตียงสองชั้น ห้องน้ำรวม) ก็ลงมาหาอะไรกินที่ร้านอาหารที่มีเพียงแห่งเดียวอย่างหิวกระหาย ด้วยความที่ไม่ต้องการแบกอะไรขึ้นมามากมาย ฉันเลยกะว่ามากินบนนี้นี่แหละง่ายดี แต่รสอาหารตรงหน้าก็ทำเอาฝันสลายเนื่องจาก ไม่มีความอร่อยเอาเสียเลย แถมยังแพงเกินเหตุด้วย แต่ทำอย่างไรได้ ฉันต้องจำใจกินให้หมด เพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย และเตรียมพร้อมสำหรับวันรุ่งขึ้น Laban Rata เป็นที่พักที่ดีที่สุดบนนี้ (แน่นอนว่าต้องแพงที่สุด) ที่มีร้านอาหาร เครื่องทำความร้อน เครื่องนอน และน้ำร้อนให้อาบ ถ้าเป็นที่พักอื่นๆใกล้ (แต่บริหารงานโดยบริษัทเดียวกัน) ก็จะมีเพียงที่นอนให้ ไม่มีเครื่องทำความร้อน ต้องเอาถุงนอนมาเอง หรือไม่ก็เช่าเอา คืนนั้น หลังจากกล้ำกลืนฝืนทนกินอาหารมื้อเย็นเสร็จ ไกด์ก็มาคุยกับพวกเราว่า พรุ่งนี้ออกเดินตีสาม! เพื่อให้ถึงยอดตอนพระอาทิตย์ขึ้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาที่นี่ แต่ฉันกับเพื่อนยืนยันว่าขอออกเดินตอนหลังตีสี่ (ซึ่งเป็นเวลาที่สุดท้ายที่มีอาหารรอบเช้าตรู่ขาย ซึ่งจะไปเปิดขายอีกทีตอนแปดโมง) โดยบอกว่าไม่ได้ต้องการเห็นพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดสูงสุดนัก (ความจริงขี้เกียจตื่น) คืนนั้นฝนตกเป็นพักๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเรา เพราะถ้าฝนตกกลางคืน โอกาสที่จะได้เห็นฟ้าเปิดยามเช้าบนยอดย่อมเป็นไปได้สูง (ฉันเฝ้าดูยอดตั้งแต่อยู่ที่ทำการฯ มาตลอดสองสามวันที่ผ่านมา) แน่นอนว่าเราจะขึ้นสายกว่านั้นก็ได้ แต่โดยสถิติแล้ว ยิ่งสายอากาศด้านบนก็จะยิ่งปิด คือมีหมอกปกคลุมทั้งยอด ซึ่งทำให้มองไม่เห็นอะไรเลยนั่นเอง และที่สำคัญคือ ฉันคงไม่มีอะไรกิน ถ้าไม่ตื่นก่อนตีสี่!
ฟ้ามืดครึ้ม อากาศหนาวเย็น ดีที่ฉันเอาถุงมือมาด้วย เพราะช่วยได้เยอะมากในการ ปีนขึ้นยอดเขา เส้นทางมีบันไดพาดให้เป็นระยะๆ เนื่องจากทางชันในช่วงครึ่งกิโลเมตรแรก ซึ่งยังเป็นป่าแคระ ไม้พุ่มเตี้ยๆอยู่ ฉันใช้เวลามากกว่าปกติ ยืนหอบเป็นระยะๆ เรียกว่า กว่าจะผ่านแต่ละเมตรไปได้นี่แสนทรมานใจทรมานกายดีเหลือเกิน จะเป็นเพราะอากาศบางกว่าปกติ หนาว ความมืดหรือว่าความไม่พร้อมของร่างกายก็ตาม ฉันค่อยๆ ไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โชคดีที่ตัดสินใจออกเดินช้ากว่าคนอื่น เลยไม่มีคนไล่หลังให้รู้สึกเกร็งเข้าไปอีก ขึ้นไปได้สัก 500 เมตร ตามระยะทางจริง (แต่เหมือน 5 กม. ในความคิด) ยอดเขาก็เปิดโล่งคือไม่มีต้นไม้ขึ้น เป็นหินผาล้วนๆ เหมือนที่มองเห็นจากด้านล่าง บางจุดต้องดึงเชือกถ่วงตัวเองขึ้นไป แม้ทางจะชันน้อยลงกว่าช่วงแรก เนื่องจากอากาศชื้นมาก หินบางช่วงจึงลื่น อย่างไรก็ดี เมื่อเลยกระท่อม Sayat Sayat ที่ 3,668 เมตร ด่านตรวจสุดท้ายขึ้นมาหน่อย ความเหนื่อยล้าทั้งหลายก็มลายหายไปเป็นปลิดทิ้ง เมื่อลำแสงแรกเริ่มส่องสะท้อนฟากฟ้าขึ้นมา มองเป็นพื้นราบด้านล่าง เงายอดต่างๆบนคินะบะลูทอดเงาตามลำแสง เพิ่มความอลังการให้กับภาพที่มองเห็น ฉันเริ่มหยุดถ่ายรูปได้ตลอดทาง ยอดต่างๆปรากฏกายให้เห็นไม่ว่าจะเป็น South Peak, Donkey Ears Peak, Sister Peaks และอื่นๆ ซึ่งแต่ละยอดสูงเกินกว่า 4 พันเมตรขึ้นไปทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ยอดสูงสุดที่พวกเราจะเดินขึ้นไปที่เรียกว่า Low’s Peak ที่ความสูง 4,095.2 ม. นั้นยังเหลือระยะทางเกือบ 2 กม. ให้ทดสอบความพยายาม ระหว่างทางนี้ ฉันเริ่มเดินสวนกับคนอื่นๆที่ขึ้นไปถึงยอดกันมาแล้ว ทุกคนต่างส่งเสียงให้กำลังใจ (ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบที่ตัวเองไปพิชิตยอดมาแล้ว) กันยกใหญ่ ในขณะที่มองไปทางยอด ก็เห็นคนอื่นๆอีกนับร้อย ทะยอยกันเดินขึ้นลงเป็นขบวน แน่นอนว่ากว่าฉันจะไปถึงทางขึ้นยอดที่ชันที่สุดช่วงสุดท้าย แทบทุกคนก็ลงมาหมดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่งเมื่อฉันเห็นตัวเลข 4,095.2 ม. ปักอยู่บนจุดสูงสุด เนื่องจากมีที่ยืนเพียงแคบๆเท่านั้น ถ้าฉันขึ้นมาพร้อมคนอื่นๆ คงได้ต่อแถวถ่ายรูป และอ้อยอิ่งอยู่ได้ไม่นาน ฉันมีเวลาชื่นชมยอดและวิวโดยรอบให้สมกับเวลา 3 ชม. (ระยะทาง 2 กม. กว่าๆ) ที่ใช้ไปกับการปีนขึ้น จนกระทั่งเมฆหมอกเริ่มก่อตัว… ขุนเขาที่ชาวพื้นเมืองเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณนี้ ได้รับการพิชิตครั้งแรกโดยเซอร์ ฮิวจ์ โลว์ (Sir Huge Low) ชาวอังกฤษ อันเป็นที่มาของชื่อยอดเมื่อปี พ.ศ. 2394 สมัยที่ดินแดนแถบนี้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ความมหัศจรรย์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จึงได้เผยตัวสู่ชาวโลก นักสำรวจมากมายต่างขึ้นมาเก็บข้อมูลโดยเฉพาะกล้วยไม้ที่ค้นพบแล้วมากกว่า 1,200 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วนมอีกกว่า 100 ชนิด และนกอีกกว่า 300 ชนิด ซึ่งบางชนิดเป็นพืชหรือสัตว์ถิ่นเดียวที่พบได้แต่เพียงที่ขุนเขาแห่งนี้เท่านั้นอีกด้วย
ขาลง ฉันเดินย้อนทางเดิมลงมาเรื่อยๆ ยังเห็นบางคนตกค้างไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงได้เพราะเกิดอาการโรคในที่สูงเสียก่อน (Altitude Sickness) น่าเสียดายเอามากๆ และเมื่อมาถึงกระท่อมด่านตรวจ ไกด์ถามว่าต้องการใบประกาศนียบัตรในการเดินขึ้นยอดหรือไม่ เพราะสามารถขอได้ที่นี่ (แต่จะได้อีกวันหนึ่งเมื่อลงไปถึงข้างล่างแล้ว) ฉันเลือกลายกระดาษและจ่ายเงินค่าประกาศนียบัตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะได้ขึ้นมาถึงจุดนี้อีกหรือไม่ จากยอดลงมาถึง Laban Rata เก็บข้าวของ และเดินลงทางเดิมมาจนถึงทางแยกที่จะไป Mesilau ฉันเลือกเดินลงทางนี้ แม้ว่าระยะทางจะไกลกว่า คือประมาณ 5.5 กม. และชันกว่า แต่เส้นทางสวยกว่ามาก และคนก็น้อยกว่าด้วย ฉันใช้เวลาในการค่อยๆไต่ลงพอสมควร เนื่องจากเริ่มปวดขาปวดเข่าจากการเดินลงทางชัน กว่าจะมาถึงประตูทางออกได้ก็เย็นย่ำ เช็คอินเข้าที่พักอีกครั้ง อาหารที่นี่อร่อยกว่าด้านบนมาก สาวๆที่เคาว์เตอร์ก็น่ารัก อัธยาศัยดีเหมือนทางที่ทำการฯ ที่พักก็สะดวกสบาย แม้ว่าฉันจะเลือกพักห้องรวมที่มีเตียงสองชั้นวางเรียงเป็นแถว แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทั้งบ้านมีฉันกับเพื่อนเท่านั้นที่มาพัก บ้านทั้งหลัง ห้องน้ำกว่า 10 ห้อง ห้องครัว ห้องนั่งเล่น จึงเป็นของพวกเราเท่านั้น
วันต่อมา แม้จะเกิดอาการเดี้ยงจากการขึ้นลงเขา แต่พืชกินสัตว์อย่างหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nephenthes) หลากหลายชนิด (ที่คินะบะลูมีอยู่ตามธรรมชาติถึง 9 ชนิดจากที่พบบนบอร์เนียว 26 ชนิด) ก็เรียกร้องให้ฉันต้องไปเดินในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติอีกครั้ง เพื่อสัมผัสกับพืชสกุลนี้ด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่พาพวกเราเดินไปตามทางป่าดิบ ผ่านน้ำตกเล็กๆ ก่อนจะขึ้นทางชัน ที่เป็นบริเวณที่ดินเคยถล่มมาก่อน ดินไม่สมบูรณ์ มีธาตุอาหารน้อย (ทำให้พืชวิวัฒนาการตัวเองมาจับสัตว์กินแทน) และเริ่มชี้ชวนให้ดูหม้อข้าวหม้อแกงหลากชนิดตั้งแต่ ดอกเล็กๆ กว่านิ้วก้อย ไปจนถึงดอกใหญ่ๆมหัศจรรย์อย่างหม้อข้าวราชา (Nephenthes rajah) ดอกที่ฉันเห็นมีขนาดพอๆกับหัวของฉันเลยทีเดียว ว่ากันว่าดอก (หม้อ) ใหญ่มากๆที่เคยพบมีความยาวถึง 50 ซม. มีน้ำย่อยสะสมอยู่ถึง 4.5 ลิตร จึงไม่น่าแปลกใจที่มีคนเคยพบหนูทั้งตัวโดนย่อยอยู่ในหม้อราชาใบนี้
อีกส่วนหนึ่งของอุทยานฯ ที่ฉันได้ไปเยือนคือ บริเวณ Poring Hot Spring บ่อน้ำแร่ตามธรรมชาติที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (แน่นอนว่า โดยชาวญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นที่ท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ยอดนิยมของชาวมาเลเซียด้วย น้ำแร่ร้อนๆ ช่วยบรรเทาอาการล้าและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการปีนเขาได้อย่างดี แต่จุดที่ไม่น่าพลาดในการเยี่ยมชมสำหรับฉัน กับเป็นการทรมานตัวเองอีกครั้งด้วยการไปเดินบนเส้นทางเดินบนยอดไม้ (Canopy Walkway) ที่สร้างขึ้นโดยใช้เชือกสลิงสานต่อกันมีแผ่นไม้พาดให้เดินได้ ซึ่งมีความยาวถึง 157.8 เมตร ที่ระดับไม้เรือนยอดความสูงกว่า 40 เมตร ฉันได้เห็นภาพมุมแปลกๆ เหมือนตัวเองเป็นลิง มองไปยังพื้นเบื้องล่าง นกนานาชนิด กระเล็น กระรอก ที่เคยต้องแหงนคอมอง ก็มองเห็นได้จากระดับสายตา ฉันว่าความสูงขนาดนี้กับทางเดินที่ขย่มไปมาตลอดเวลาที่เดิน สามารถวัดใจคนกันได้ไม่ยากโดยเฉพาะคนที่เชื่อว่าตัวเองไม่กลัวความสูงทั้งหลาย…
มีคนเคยบอกฉันว่า คนเราควรได้เดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยไปอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นการเปิดหูเปิดตาจากโลกแคบๆ ใกล้ตัว แต่การได้เดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จักและลำบากกว่าปกติด้วยนั้น ฉันว่ามันทำให้ตัวเองได้รู้จักตัวเองมากขึ้นกว่าที่เคยคิด แล้วคุณล่ะ? เคยคิดที่จะทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้นอีกหน่อยไหม?

เอาเรื่องไปก่อนละกัน…รูป ถ้าว่างๆ จะตามมาที่หลัง
ดีจังเรยยยยย
อยากไปมั่งจังงงงงง
เอารูปประกอบเรื่องมาลงให้แล้วจ๊า…นิดๆหน่อยๆ พอเรียกน้ำย่อย
อยากไปมานานแล้ว
ไปดูพืชพรรณ และ นก ก็น่าจะคุ้มแล้ว
ไม่อยากเดินขึ้นยอด (ไม่ไหวแล้วจ้า)
ช่วยพาพี่ไปรู้จักตัวเองหน่อยจิ 😛