แฮ่ม ได้ฤกษ์มาเขียนสักที ในที่สุดก็ว่างงานมากจนไม่รู้จะทำอะไร …เขียนบทความดีกว่า…
ทริปสุลาเวสี ที่เอารูปมาลงให้ดูสามเซ็ทนั้น มันเริ่มมาจากจุดเริ่มต้นแรกคือ เจอตั๋วโปรโมชั่นแบบถูกพอรับไหวของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ไปกลับกรุงเทพฯ-มานาโด หมื่นห้าน่ะ (รวมหมดแล้ว)…ความมุ่งหมายแรกก็เลยเน้นไปที่การดำน้ำแถวๆนั้น…แล้วไหนๆจะไปแล้วทั้งที ดูนกมันเลยด้วยดีกว่า…การเตรียมการเรื่องทริปจึงเริ่มขึ้น หลังจากเกลี้ยกล่อม MDR ผู้ร่วมเดินทางได้เป็นที่เรียบร้อย ฮ่า ฮ่า
เรื่องดำน้ำที่ มานาโด (Manado) นี่ ไม่มีปัญหา แพ็คเกจดำน้ำรวมที่พัก อาหาร รับส่งสนามบิน มีอยู่เต็มไปหมด หลังจากเพียรหาตามเน็ทสองสามวัน ก็ได้รีสอร์ทน้องใหม่เปิดมาได้ไม่กี่ปี ไม่ใกล้ไม่ไกลตัวเมืองมานาโดนักชื่อ La Rascasse (เจ้าของเป็นคนฝรั่งเศสน่ะ เขาบอกว่าคำนี้ แปลว่าปลาชนิดหนึ่ง ประมาณว่าปลาสิงโตที่สามารถพบได้ที่ฝรั่งเศส) มา ที่เลือกที่นี่เหตุผลหลักคือราคาถูกดีเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น…
เอาเป็นว่าที่นี่สะดวกสบาย ติดต่อจองที่พักและรายละเอียดอื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ท ไม่ต้องจ่ายมัดจำด้วยล่ะ คอนเฟิร์มให้เรียบร้อย ถึงเวลาก็มีคนมารอรับที่สนามบิน สบาย…ที่สำคัญอาหารอร่อยถูกปากดีทีเดียว จนฉันต้องขอดูหน้าพ่อครัวหน่อย ขอจับมือหน่อยให้กำลังใจหน่อยก็ยังดี เพราะพี่แกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้อ่ะ …ก็แหม การออกมาอยู่นอกประเทศตัวเองนานๆ หลายอาทิตย์นี่ ถ้าอาหารมันไม่เวิร์คจริงๆ มันก็ทำให้ทริปกร่อยได้เหมือนกัน…ดีนะ ที่รสชาติอาหารของชาวสุลาเวสีนี่ มันคล้ายๆรสคนไทยดี เพราะฉะนั้นเรื่องอาหาร หายห่วง…
ก็ ออกไปดำน้ำสี่วันที่อุทยานแห่งชาติ Bunaken ที่มองเห็นได้จากรีสอร์ท นั่งเรือออกไปทุกเช้า ดำน้ำกันสามไดฟ์ มีอาหารกล่องให้กินกันบนเรือ มีวันหนึ่งไปดำที่ช่องแคบเลมเบ้ ต้องนั่งรถไปอีกฝั่งของเกาะประมาณสองชั่วโมง…แล้วลงเรือหลังคาต่ำดำน้ำกัน…เอาเป็นว่า สำหรับคนที่ดำน้ำก็พอจะรู้ๆอยู่ว่า ดำน้ำแถวนี้ สัตว์เด่นคือพวกตัวเล็กๆ หน้าตาแปลกๆ ทั้งหลาย ฉันไม่อยากเขียนถึงเรื่องดำน้ำมาก เพราะข้อมูลมันมีอยู่ทั่วไปอ่ะ…
ที่อยากจะเขียนถึงอีกนิดคือ พนักงานที่รีสอร์ทนี่ ดีมากค่ะ ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้การช่วยเหลืออย่างดี แถมคุยกันรู้เรื่อง ทำให้ฉันและ MDR ตัดสินใจกลับมานอนที่นี่ในคืนวันสุดท้ายก่อนกลับเมืองไทยอีกครั้ง (ด้วยการต่อรองว่า ขอรายการส่งสนามบินที่อยู่ในแพ็คเกจที่พวกเราไม่ได้ใช้ในช่วงแรก เพราะจะไปเที่ยวป่าต่อ มาเป็นส่งในวันสุดท้ายแทนได้ไหม ซึ่งก็คืออีกสองอาทิตย์กว่าๆให้หลัง ซึ่งก็ได้รับการยินยอมโดยดี แถมยังฝากอุปกรณ์ดำน้ำที่ฉันขนมาจากเมืองไทยไว้ด้วยได้อีก เย้…)
มาเล่าเรื่องนกกันดีกว่า ที่รีสอร์ทก็มีนกให้ดูบ้างพอสมควร ก็เป็นนกง่ายๆในเมือง แต่ขอโทษ มันเป็นนกใหม่สำหรับฉันทั้งนั้น ก็มาจากเมืองไทยนี่นะ ที่นี่มันสุลาเวสี…ไม่ว่าจะเป็น Moluccan Swiftlet, Buff-banded Rail, Chestnut (Black-headed) Munia, Black-faced Munia, Black-crowned White-eye กับนกอื่นๆที่หาได้ในเมืองไทย อ้อ มีกินปลีอกเหลือง Olive-backed Sunbird ที่มันเป็นชนิดย่อยไม่เหมือนเมืองไทย มีคิ้วขาวๆด้วยอ่ะ น่ารักดี ไอ้ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ คุณ MDR ซึ่งปกติตื่นเช้ากว่าฉันอยู่แล้ว แกออกไปดูนกนอกห้อง แล้วถ่ายรูปนกเอี้ยงสีออกดำๆมาหนึ่งตัว ไอ้ฉันก็นึกว่ามันเป็น White-vented Myna ธรรมดาๆแบบบ้านเรา เลยไม่ได้กระตือรือร้นตามออกไปดูหลังจากเห็นรูป เนื่องจากคิดว่า เดี๋ยวก็คงได้เห็นอีกแบบง่ายๆน่ะ ปรากฏว่านกคุณเธอตัวนี้ ไม่โผล่มาให้เห็นเลยอีกตลอดทริป…ที่น่าเจ็บใจก็เพราะว่า ฉันเพิ่งมารู้ตอนหลังน่ะสิ ว่ามันไม่ใช่เจ้านกเอี้ยงหงอนบ้านเรา แต่เป็น Pale-bellied Myna ซึ่งปกติจะเจอทางตอนใต้ของเกาะมากกว่าน่ะ ฉันเลยว่าวไปหนึ่งชนิด โดยไม่รู้ตัว…อะไรฟะ
นี่เกริ่นมาเสียยาวขนาดนี้ ฉันยังไม่ได้บอกพิกัดเลยใช่ไหม ว่าไอ้เกาะสุลาเวสีที่ว่านี่มันอยู่ส่วนไหนของโลก แล้วทำไมฉันตั้งชื่อในอัลบั้มรูปว่า Wallacea…
เจ้าเกาะที่มีรูปร่างแปลกประหลาดเหมือนไดโนเสาร์ คือมีคอยาวๆยื่นออกไปทางด้านบนของเกาะ แล้วก็มีขาป้อมๆยื่นออกไปทางด้านล่าง มีแขนยาวๆโผล่ยื่นออกมาอีกทางด้านข้างนี้ อยู่ในเขตประเทศอินโดนีเซีย ตัวเกาะมีเส้นสมมุติ Eqautor (เส้นศูนย์สูตร) พาดผ่านทางตอนเหนือ ในขณะที่พื้นที่เกาะส่วนใหญ่อยู่ใต้เส้นที่ว่านี่แหละ…เพราะฉะนั้น อากาศแถบนี้ก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา ไม่มีหิมะแน่นอน ฝนตกชุกเป็นช่วงๆ แต่ก่อนเขาเรียกว่า Celebes น่ะ (ทะเลที่ไปดำน้ำมาก็คือ Celebes Sea) สุลาเวสีเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะทั้งหลายแหล่ที่อยู่ระหว่างเกาะบอร์เนียวกับนิวกินีน่ะ หมู่เกาะบริเวณนี้เป็นบริเวณที่คุณ Alfred Russel Wallace มาสำรวจเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แล้วก็ให้ความเห็นว่า บริเวณที่ตรงนี้เป็นเขตที่มีพืชและสัตว์มีส่วนผสมของสองภูมิภาคหลักคือเอเชียกับออสเตรเลีย เอาง่ายๆคือเป็นบริเวณที่สามารถพบเห็นนกหรือสัตว์ในสายพันธุ์ที่พบได้ในโซนเอเชียและออสเตรเลียอยู่รวมกัน แถมมีสัตว์ถิ่นเดียว (Endemic) อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สุลาเวสีนั้น มีเปอร์เซ็นความเป็นเอนเดมิคสูงมาก…(เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีหลัง) ดังนั้น สรุปสั้นๆว่า เกาะสุลาเวสี และฮาลมาเฮร่า (อีกเกาะที่ไปดูปักษาสวรรค์) นี้อยู่ในเขต Wallace’s Line ที่เรียกตามชื่อคุณวอลเลซที่กล่าวถึงข้างบนนั่นล่ะ หมู่เกาะที่อยู่ในเส้นวอลเลซที่ว่าก็ได้แก่หมู่เกาะสุลาเวสีทางซ้ายบน เลยจากนี้ไปทางซ้ายก็เป็นบอร์เนียว ข้างบนเป็นฟิลิปปินส์, หมู่เกาะโมลุคคะ (Moluccas)ทางด้านขวาบน เลยไปก็เป็นนิวกินี (Halmahera อยู่ในบริเวณนี้) และหมู่เกาะในเขตซุนดร้าน้อย (Lesser Sundra) ที่อยู่ตอนล่างตั้งแต่เกาะ Lombok ทางซ้าย เกาะฟลอเรส ติมอร์ และเกาะเล็กๆน้อยๆอื่นๆทางด้านขวา เลยจากนี้ลงไปก็เป็นออสเตรเลียล่ะ…ในจำนวนเกาะทั้งหลายในบริเวณนี้ สามารถพบนกได้กว่า 700 ชนิด ที่สำคัญ ประมาณหนึ่งในสามเป็นคุณนก “เอนเดมิค” ทั้งนั้น…แจ่มเลย
งงไหมเนี่ย…กลับมาที่สุลาเวสีหรือเซเลเบสกันดีกว่า…ความพิเศษของเกาะรูปร่างประหลาดที่ว่ากันว่า ไม่มีบริเวณใดของเกาะที่ห่างจากทะเลเกิน 100 กิโลนี่ก็คือ ความเป็น Endemic นี่แหละ…ตามที่คุณวอลเลซสำรวจไว้ แกบอกว่า เจ้าเซเลเบสนี่มีมันตั้งอยู่กลางวงหมู่เกาะทั้งหลายแหล่ที่พูดถึงข้างบน ตามหลักการแล้วมันน่าจะมีความหลากหลายของชนิดสัตว์สูง แต่ปรากฎว่าที่นี่กลับมีจำนวนชนิดน้อยที่สุดในจำนวนหมู่เกาะบริเวณนี้ แถมยังค่อนข้างมีลักษณะแปลกแยกที่สุดอีกด้วย เอาง่ายๆคือ จำนวนชนิดน้อย แต่ในจำนวนน้อยๆนั่น มากกว่าครึ่ง จนถึง 70% นี่เป็นสัตว์ถิ่นเดียวทั้งนั้น แถมสัตว์แต่ละชนิด แทนที่จะมีลักษณะใกล้เคียงกับเกาะข้างเคียง ดันมีลักษณะที่โน้มเอียงไปทางสัตว์ในแอฟริกาเสียอีก เช่น Black Macaque ซึ่งมีลักษณะคล้ายไปทางลิงบาบูนมากกว่า หรือ Anoa (Sapi-utan) ที่ตัวเล็กกว่าวัวมาก และมีลักษณะคล้ายพวกแอนเทโลปในทวีปแอฟริกามากกว่า อย่างเขาโง้งขึ้นไปบ้างบนของ หมูป่า Babirusa (ตกลงเป็นหมูหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเขาใช้ว่า Pig-deer น่ะ) นี่ก็ดันไปคล้ายพวก Wart-hog ในแอฟริกา แถมยังมีนิสัยการกินไม่เหมือนหมูป่าทั่วไปในแถบนี้ด้วย ส่วนนกนั้นสมัยที่คุณวอลเลซมาเก็บตัวอย่าง ได้มา 128 ชนิด ในจำนวนนั้น 80 ชนิดไม่เคยเจอที่อื่นน่ะ โดยมันมีลักษณะร่วมของทั้งนกในชวา บอร์เนียว ออสเตรเลีย และไกลไปถึงแอฟริกา…อันนี้แล้วแต่ชนิดนะ ไม่ใช่ชนิดเดียวมีมันทุกลักษณะ…ผีเสื้อก็เหมือนกันเอนเดมิคกันเป็นแถว…เรื่องพวกนี้อยากอ่านรายละเอียดต้องไปหาอ่านในหนังสือของคุณวอลเลซที่ชื่อ The Malay Archipelago นะ รับรอง มันส์มาก (ถ้าชอบหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา) แนะนำให้หามาอ่านก่อนที่จะมาเที่ยว จะได้อรรถรสในการเที่ยวขึ้นอีกเยอะทีเดียวเชียว…
เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว คงต้องจบตอนแรกเอาไว้เท่านี้แหละ ฉันกะว่าจะเล่าเรื่องการเดินทางภายในเกาะมากกว่าจะบอกชนิดนกและสัตว์ที่เจอ เพราะจากประสบการณ์แล้ว ไอ้การจะเจอนกอะไรนี่ หาจากรายงานการพบนกที่ไหนๆก็ได้ แต่การจะไปถึงที่นั่นยังไง นอนที่ไหน กินอะไรนี่สิ…หาข้อมูลไม่ค่อยได้เลย เพราะส่วนใหญ่เขาจะให้ทัวร์จัดให้หมด (แพงจัง ขอบอก) ฉันเลยว่าจะเน้นไปที่ Practicalities มากกว่า เพราะฉันเจอปัญหานี้มาก ก่อนออกเดินทาง เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้าเลยอ่ะ การเดินทางเข้าป่าดูนกที่จะเล่าต่อไปนั้น ฉันไปมาสี่ที่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่รวมช่วงดำน้ำในช่วงแรก ซึ่งฉันถือว่าได้เล่าไปนิดๆหน่อยๆแล้วในตอนต้น แต่ละที่ที่ไป ฉันทดลองเดินทางไปในลักษณะที่แตกต่างกัน บางที่ก็ใช้ทัวร์เต็มรูปแบบ บางที่ก็ไปหาไกด์เอาข้างหน้า บางที่ก็ลุยดุ่ยๆไปเลย ทำให้ได้อะไรมาเยอะ และน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปได้ว่า ควรจะไปในรูปแบบไหนดี
ทั้งนี้ทั้งนั้น…เอาไว้มีอารมณ์ก่อนนะ แล้วจะมาเล่าให้ฟัง
รออารมณ์ หรือ รอให้ว่างงานจนไม่รู้จะทำอะไรอีกทีนะ
ได้ความรู้หลายหลาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น……อยากไปอ่ะ