ประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่าๆจากเมืองหลวงนิวเดลฮี เครื่องบินภายในประเทศพาฉันเข้าสู่น่านฟ้าของแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu&Kashmir) แคว้นเหนือสุดของประเทศอินเดีย ซึ่งแบ่งออกเป็นสามดินแดนหลักๆตามศาสนาที่แพร่เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แถบนี้ อันได้แก่ลาดัก (ศาสนาพุทธ) แคชเมียร์ (ศาสนาอิสลาม) และชัมมู (ศาสนาฮินดู) เมื่อเครื่องบินผ่านขุนเขาสูงที่ดูค่อนข้างแห้งแล้งเนื่องจากหิมะส่วนใหญ่ละลายไปหมดแล้ว ตามหุบเขาจะเห็นสีเขียวๆเหลืองๆของต้นไม้เป็นหย่อมๆ สลับกับหลังคาสังกะสีของชาวบ้าน ดินแดนที่ฉันมาเยือนในคราวนี้มีเทือกเขาต่อเนื่องมาจากคาราโครัมในปากีสถานที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัยอีกทีหนึ่ง…ฉันลงจากเครื่องที่สนามบินเล็กๆของทหารที่เมืองศรีนาคา (Srinaga) เมืองหลวงของดินแดนที่เรียกว่าแคชเมียร์ในอินเดียทางด้านทิศตะวันตกของแคว้น ก่อนออกจากสนามบินเข้าเมืองที่นี่ ฉันต้องกรอกแบบฟอร์มเข้าเขตแคว้น J&K สำหรับคนต่างชาติ ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษจากการเข้าเมืองอื่นโดยทั่วๆไป อาจเป็นเพราะบริเวณนี้ยังเป็นเขตเปราะบางทางการเมืองและการทหาร เนื่องจากอยู่ใกล้ชายแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้สำหรับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองอย่างปากีสถานและอินเดียก็เป็นได้
ดินแดนที่เรียกว่าแคชเมียร์ในอินเดียตอนเหนือนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขาแคชเมียร์ มีเมืองศรีนาคาเป็นศูนย์กลาง โอบล้อมด้วยขุนเขาตระหง่านสูงสลับซับซ้อน แต่ทันทีที่ลงจากเครื่อง ฉันมุ่งหน้าตรงดิ่งไปตามเส้นทางสู่เมืองตากอากาศชั้นยอดทางทิศตะวันตกที่ผู้คนมาเล่นสกีกันในตอนฤดูหนาว และมาตีกอล์ฟกันในช่วงฤดูร้อน บนสนามกอล์ฟที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลกที่เมืองกุลมาร์ค (Gulmarg) รถวิ่งผ่านไปตามทุ่งนา แม้ว่าในช่วงที่ฉันไปจะเป็นช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว แต่สองข้างทางกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ได้ตลอดทาง ใบเหลืองๆของต้นป๊อปล่า ใบเขียวๆของต้นหลิว และไม้ยืนต้นเก่าแก่อย่างต้นวอลนัทมีให้เห็นตามสองข้างทาง ไม้ทั้งสามชนิดนี้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่นำมาทำลังผลไม้ (ป๊อปล่า) ไม้ตีคลิกเก็ต (หลิว) หนึ่งในกีฬายอดนิยมของคนอินเดีย และเฟอร์นิเจอร์ (วอลนัท) ก่อนที่เส้นทางจะตัดขึ้นเขา มีสวนแอปเปิ้ลให้เห็นเป็นระยะๆ ซึ่งชาวไร่นำออกมาวางขายข้างทางในราคาถูก เมื่อทางไต่ขึ้นเขา ทิวทัศน์ข้างทางจะเปลี่ยนเป็นต้นสนชนิดต่างๆจนเข้าสู่หุบเขากุลมาร์ค มองไปรอบๆจะเห็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่แบบที่ใช้ถ่ายมิวสิควีดีโอของอินเดีย โอบล้อมด้วยขุนเขายอดหิมะอันสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาอาทิตย์อัสดง
เมืองกุลมาร์ค ที่แปลว่า “ทุ่งดอกไม้” นั้นเป็นเมืองสกีรีสอร์ทที่สำคัญของดินแดนแถบนี้ จึงมีที่พักหลากหลายให้พอเลือกพักได้ ถัดเลยออกไปจากบริเวณที่พักที่ดูเหมือนเมืองเล็กๆกลางขุนเขา ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นกระเช้าไปชมวิวด้านบนที่เฟสหนึ่งซึ่งมีความสูงสามพันกว่าเมตร และสามารถต่อ Chair Lift เฟสสอง (สำหรับนักสกี) ขึ้นไปที่ยอดเขา Apharwat ที่มียอดสูง 4,144 เมตรได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาทำการของกระเช้านี้ด้วย ฉันไปถึงในช่วงที่จังหวะไม่ดี กระเช้ากำลังปิดซ่อม เลยต้องเปลี่ยนเป็นนั่งหลังม้า (มีคนจูง) ไต่เขาขึ้นไปแทน ประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงจุดที่กระเช้าเฟสแรกไปถึง เส้นทางผ่านป่าสนและหมู่บ้านของชาวเผ่าเร่ร่อนที่สร้างบ้านเรือนแบบง่ายๆอยู่ตามที่ราบเล็กๆบนเขา ฉันไม่ได้ขึ้นไปเล่นสกี และไม่ได้ไปเล่นกอล์ฟ แต่ขึ้นไปเพื่อชมความงามเท่านั้น ด้านบนมีร้านอาหารเล็กๆตั้งต้อนรับ อดไม่ได้ที่จะต้องลองจิบชานมร้อนๆ (Chai) ของอินเดีย แก้หนาวเมื่อขึ้นไปถึง ขี่ม้าขึ้นเขายังไม่เท่าไร แต่ขี่ม้าลงเขาถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าชาวบ้านที่พาจูงม้าจะยืนยันว่าไม่เป็นไรก็ตาม แต่ดูเหมือนเขาจะพยายามเร่งฝีเท้ากันเหลือเกิน จนเมื่อลงมาถึงพื้นราบแล้ว คงคิดว่าพวกนักท่องเที่ยวอย่างฉันคงเชี่ยวชาญหลังม้าเป็นอย่างดีแล้ว พากันตีหลังให้ควบม้าแข่งกันกลับมาที่จุดขึ้นม้าอย่างเมามัน…
หลังจากสู้ความหนาวกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาหนึ่งคืนที่นี่ ฉันมุ่งหน้ากลับมาทางศรีนาคา แต่ก็ต่อเลยลงไปทางใต้บนสู่เมืองตากอากาศอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อพาฮาลแกม (Pahalgam) บนเส้นทางนี้มีหมู่บ้านทำครก ต่อด้วยหมู่บ้านทำไม้คลิกเก็ตให้เห็นข้างทาง ก่อนที่จะถึงเขตทุ่งหญ้าฝรั่น (Saffron) เครื่องเทศสำคัญราคาสูงที่ได้จากเกสรของดอกไม้กลีบสีม่วงเล็กๆ ที่ดอกหนึ่งมีเกสร (ส่วนที่ใช้เป็นเครื่องเทศและสมุนไพร) เพียงสามเส้นเท่านั้น แคชเมียร์ถือเป็นแหล่งปลูกหญ้าฝรั่นที่สำคัญแห่งเดียวของอินเดีย ฉันโชคดีที่ได้มีโอกาสแวะชมและพูดคุยกับลุงเจ้าของไร่ ที่แกบอกว่าปีนี้ออกดอกน้อยมาก (แม้ว่าจะมองเห็นไร่ออกดอกเป็นสีม่วงๆตลอดแนว) และไม่วายแวะร้านเล็กๆข้างทางซื้อหญ้าฝรั่นติดไม้ติดมือมาคนละกรัมสองกรัม…เมื่อพ้นเลยทุ่งเครื่องเทศนี้ไป ก็จะได้กลิ่นหอมๆของสวนแอปเปิ้ลไปตลอดแนวถนน ถัดจากบริเวณนี้เป็นจุดที่ไม่สมควรที่จะหลับบนรถเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทิวทัศน์จะเริ่มงดงามยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหุบเขา ลำธาร แม่น้ำ เทือกเขาที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะ ไปจนถึงหมู่บ้านเล็กๆข้างทางที่สาวๆและหนุ่มๆในหมู่บ้านหน้าตาดีมากจนอดไม่ได้ที่จะเหลียวแล้วเหล่อีก ดูชาวบ้านที่เป็นแขกขาวตาโต ทำงานกันง่วนอยู่ในหมู่บ้าน…ก่อนจะเข้าสู่ “หุบเขาคนเลี้ยงแกะ” อันเป็นชื่อแปลของคำว่า Pahalgam หนึ่งในเมืองตากอากาศที่มีร้านค้าให้ช้อปปิ้งกันอย่างคึกคัก ที่พักริมลำห้วยน้ำใส อากาศเย็นสบาย น่าเดินเล่นเป็นอย่างยิ่งทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น
สิ่งที่ไม่ควรพลาดในการมาถึงเมืองแห่งนี้คือการขี่ม้าเที่ยวชมไปตามหุบเขา ซึ่งมีอยู่หลายเส้นทาง แล้วแต่เวลาจะอำนวย ฉันเลือกเส้นทางที่ขี่ม้าไต่ตามเขาเข้าสู่เขตอุทยานฯ ไปสู่ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ล้อมรอบด้วยทิวสนและมีขุนเขาโอบล้อมรอบนอกไกลๆอีกที เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เรียกว่าไบซาราน (Baisaran) โลเกชั่นถ่ายหนังหลายๆเรื่องของอินเดีย ที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถนอนกลิ้งไปตามทุ่งหญ้า หรือจะเช่าชุดพื้นเมืองของแคชเมียร์ใส่เก๊กท่า หรือเต้นโยกหัวโยกคางแบบอินเดียถ่ายรูปเล่นก็สามารถทำได้ มีชาวบ้านเดินมาขายของที่ระลึกและผ้างามๆให้เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว เส้นทางขี่ม้าชมลานหญ้านี้ใช้เวลาไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง ดีที่เริ่มเคยชินกับการขี่ม้าขึ้นลงเขามาแล้วที่เมืองกุลมาร์ค การขี่ม้าที่นี่จึงเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่นับรวมถึงบั้นท้ายที่เริ่มระบบมาตั้งแต่การถูกบังคับควบม้าระยะทางสั้นๆมาจากวันวาน) นอกจากนี้ เมืองพาฮาลแกมยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเทรคกิ้งไปยังจุดต่างๆชมความงามตามธรรมชาติ และเป็นเส้นทางแสวงบุญของผู้ศรัทธาไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาอีกด้วย หากได้นอนพักค้างคืนที่นี่ อย่าลืมตื่นเช้าๆขึ้นมาดื่มด่ำกับบรรยากาศยามพระอาทิตย์ขึ้นริมลำธาร ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะได้พบเห็นลิงป่าที่พากันลงมาจากเขามาหาอาหารกันแถวที่พักอีกด้วย
โซนามาร์ค (Sonamarg) เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนได้โดยไปตามถนนทางทิศตะวันออกของเมืองศรีนาคา บนเส้นทางที่จะไปต่อไปยังเมืองเลห์ (ลาดัก) โซนามาร์ค ซึ่งแปลความหมายว่า “ทุ่งหญ้าทองคำ” นี้ห่างจากศรีนาคาไปประมาณ 80 กม. เป็นหุบเขาที่ความสูงประมาณ 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไฮท์ไลท์เช่นเคย คือวิวทิวทัศน์ระหว่างทางที่พลาดไม่ได้ และไม่สมควรนอนหลับระหว่างเดินทางโดยเด็ดขาด หากมีโอกาส สามารถบอกให้คนขับรถช่วยจอดให้ลงไปถ่ายรูปข้างได้เป็นระยะๆ เส้นทางจะเลาะไปตามลำห้วย คดเคี้ยวอย่างงดงาม พร้อมฉากหลังเป็นขุนเขาสูง ฉันเดินทางมาถึงที่นี่ช่วงเที่ยงวันพอดี หลังจากรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญ ก็ได้เวลาขี่ม้าชมวิวอีกรอบ คราวนี้เป็นการขี่ม้าไปชมธารน้ำแข็ง (glacier) ซึ่งสำหรับผู้ที่เห็นแต่หิมะบนยอดเขา (ในช่วงฤดูร้อน) ไม่ได้สัมผัสของจริงก็จะได้สัมผัสกันที่นี่ เป็นเส้นทางยอดนิยม ซึ่งความจริงถ้าเบื่อการขี่ม้าก็สามารถเดินเที่ยวชมได้ จุดสิ้นสุดของเส้นทางระยะสั้น คือหุบเขาแคบๆระหว่างภูเขาหิมะสูงๆล้อมรอบ มีธารน้ำแข็งที่อยู่ในเขตร่มเงาของเขาที่ยังละลายไปไม่หมดให้ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี เส้นทางนี้เป็นเส้นทางยอดนิยมแบบวันเดย์ทริปจากเมืองศรีนาคา พึงทำใจกับจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนม้าและขี้ม้าที่พบเห็นได้บริเวณจุดชมวิวต่างๆได้เลย
ฉันกลับมาที่เมืองศรีนาคาอีกครั้ง เพื่อแวะพักสบายๆที่ Houseboat ที่พักลือชื่อของแคชเมียร์ อันหมายถึงการพักอยู่บนที่พักที่เป็นเรือริมทะเลสาปอันกว้างใหญ่ของเมืองคือ Dal Lake หรือตามริมแม่น้ำเชลัม (Jhelum) ในเมือง ประวัติของ Houseboat มาจากในยุคที่อังกฤษเข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ดินแดนส่วนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชา และมหาราชาไม่ยินยอมให้สิทธิเหนือที่ดินกับชาวอังกฤษ ดังนั้น ชาวอังกฤษจึงสร้างเรือลอยเป็นที่อยู่อาศัยในน้ำแทน และได้กลายมาเป็นหนึ่งในเสน่ห์สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงที่นี่ในปัจจุบัน Houseboat มีอยู่มากมายหลายขนาดและหลากราคา แล้วแต่งบประมาณของแต่ละคน ฉันโชคดีที่ได้พักบนเรือลำหรูที่มีน้ำร้อน และบริกรพร้อม ลำเรือสร้างจากไม้สนซีดาห์กลิ่นหอม แกะสลักเป็นลวดลายอย่างงดงาม เรือลำใหญ่ที่ฉันพักมีถึงสี่ห้องนอน และมีส่วนที่เป็นห้องอาหาร ห้องนั่งเล่นและระเบียงริมน้ำพร้อมสรรพ เจ้าของเรือบอกฉันว่า เรือลำนี้เป็นลำสุดท้ายที่รัฐบาลอินเดียอนุญาติให้สร้างเป็นเรือหรูลำใหญ่แบบนี้ แม้ว่าเรือที่ฉันพักจะอยู่บนทะเลสาปเล็กๆที่เรียกว่าทะเลสาปนากิน (Nagin Lake) ไม่ได้อยู่ในทะเลสาปดาล ที่ค่อนข้างคึกคักและแออัดยัดเยียด แต่ที่นี่มีบรรยากาศแห่งความสงบเงียบ และมีชาวบ้านพายเรือมาขายของบนเรืออย่างไม่ขาดสายเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าพักผ่อนกันเต็มที่กินอยู่อย่างราชาบนเรือ และยังช็อปปิ้งบนเรือได้โดยไม่ต้องเดินให้เมื่อยอีกด้วย โดยเฉพาะยามรุ่งเช้า สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการตื่นแต่เช้าออกนั่งเรือชิคารา (Shikara) ลำเล็กๆอันแสนโรแมนติคออกเที่ยวชมวิวในทะเลสาป ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัวและนกน้ำนานาชนิด รวมถึงการจับจ่ายซื้อของจากบนเรือเหมือนอยู่ในตลาดน้ำ (มีคนพายเรือมาขายของให้ถึงเรือ)
เมืองศรีนาคายังเป็นที่ตั้งของสวนต่างๆที่จัดแต่งในสไตล์ของราชวงส์โมกุล ตัวอย่างที่สำคัญอย่างเช่นสวนชาลิมาร์ (Shalimar Bagh) สวนที่ได้รับการจัดแต่งอย่างดีเต็มไปด้วยไม้ดอกนานาพรรณสร้างเป็นชั้นๆ มีทางน้ำไหลอยู่ตรงกลางตามแบบโมกุล เนื่องจากสวนนี้สร้างในสมัยราชวงศ์โมกุล โดยจักรพรรดิ์จาฮานกีร์ (Jahangir) ให้กับภรรยาชื่อนูร์เจฮาน (Nur Jehan) เมื่อเกือบสี่ร้อยปีก่อน ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาปดาลพอดี ฉันแนะนำให้เที่ยวในช่วงเย็น รอดูพระอาทิตย์ตกไปพร้อมๆกัน จะได้แสงสีที่สวยงามและบรรยากาศร่มรื่นและสงบสบาย บริเวณใกล้เคียงจะมีอีกสวนหนึ่งคือสวนนิชาท์ (Nishat Bagh) ที่มีต้น Chinar ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของแคว้นแคชเมียร์เรียงรายให้ได้ชื่นชม
ทั้งแนวเทือกเขายอดหิมะสูงตระหง่าน สับหว่างด้วยหุบเขาเขียวชอุ่มและลำธารน้ำใส กอปรกับดอกไม้นานาพรรณที่ประกอบกันขึ้นมาบนดินแดนแห่งนี้ งดงามแปลกตาสมกับที่องค์จักรพรรด์จาฮานกีร์ เคยตรัสไว้เมื่อได้เดินทางมาถึงที่นี่ในครั้งแรกว่า “หากจะมีสวรรค์บนพื้นพิภพนี้ ก็คือที่นี่ แคชเมียร์”