หากเป็นเมื่อ 50 ปีก่อน การจะเดินทางผ่านไปยังดินแดนแห่งขุนเขาสูงเสียดฟ้าที่มีชื่ออันน่าหลงใหลว่าเทือกเขาคาราโครัม (Karakorum) คงต้องทำตัวเป็นนักผจญภัยอินเดียน่าโจนส์กันสุดฤทธิ์ เพราะนอกจากเส้นทางอันแสนยากลำบากที่ลัดเลาะไปตามเทือกเขาสูงลูกแล้วลูกเล่าแล้ว ยังต้องฝ่าด่านอุปสรรคทางธรรมชาติอย่างความหนาวเย็นและความสูงของพื้นที่ รวมถึงอุปสรรคจากมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการปล้นฆ่าหรือลักพาตัว อันเนื่องมาจากความห่างไกลและกันดารของพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ถือเป็นตำนานแห่งการเดินทางติดต่อค้าขายอันลือลั่นในอดีตที่เรียกกันว่าทางสายไหม (Silk Road) อย่างไรก็ดีการถือกำเนิดของ Karakorum Highway (คาราโครัมไฮเวย์) ในทศวรรษ 1970 ก็ทำให้ดินแดนแห่งนี้เข้าถึงได้ง่ายดายมากขึ้น ความงดงามของพื้นที่ได้เผยให้ชาวโลกได้เห็นมากขึ้น จนฉันอดไม่ได้ที่ต้องขอไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต
ฉันนั่งหลับๆตื่นๆอยู่ที่นั่งริมหน้าต่างบนสายการบินในประเทศของปากีสถาน เนื่องเพราะเลือกไฟล์ทที่เช้าที่สุดที่ออกจากกรุงอิสลามาบัดสู่เมืองทางเหนือของเขตปกครองตนเองที่มีชื่อว่าแคว้น Gilgit-Baltistan (กิลกิต-บัลติสถาน) เครื่องบินใบพัดทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าที่ยังมืดสนิทอยู่ ว่ากันว่าเครื่องบินที่บินในเส้นทางนี้จะมีการยกเลิกไฟล์ทถึง 70% เนื่องจากสภาพอากาศปิดไม่สามารถบินผ่านเทือกเขาสูงเพื่อลงจอดที่เมือง Gilgit (กิลกิต) ได้ เหตุที่ฉันเลือกบินไฟล์ทแรกของวันก็เพราะมีคนบอกว่าจะเป็นไฟล์ทที่มีการยกเลิกน้อยสุด เพราะสภาพอากาศตอนเช้าตรู่จะปลอดโปร่งกว่าตอนสายๆ และฉันก็โชคดีที่เครื่องบินออกตามเวลาแถมท้องฟ้ายังปลอดโปร่งอีกต่างหาก ฉันสลึมสลือตื่นขึ้นหลังจากที่สลบไปตั้งแต่เครื่องยังไม่ทันบินขึ้น เพราะได้ยินเสียงกัปตันแสนใจดีอธิบายชื่อยอดเขาต่างๆของเทือกเขาคาราโครัมให้ผู้โดยสารฟัง แถมยังขับพาบินเอียงไปเอียงมาเพื่อให้ชมเทือกเขาต่างๆยามฟ้าสางอย่างใกล้ชิด ที่พิเศษไปกว่านั้นคือยังอนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าไปในค็อกพิทเพื่อไปถ่ายรูปเทือกเขาจากหน้าเครื่องบินได้อีก โชคดีเป็นที่สุดเมื่อถึงคิวที่ฉันเข้าไปในห้องแคบๆด้านหน้าของเครื่องบินนั้น ลำแสงแรกของวันก็สาดกระทบยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะที่เครื่องกำลังผ่านไปพอดี ถือเป็นรางวัลของชีวิตตั้งแต่ยังไม่ได้เหยียบดินแดนในฝันแห่งเทือกเขาคาราโครัมกันเลยทีเดียว
หลังจากออกจากสนามบิน ฉันก็ขึ้นรถเพื่อออกเดินทางไปยังเส้นทาง Karakorum Highway ที่เรียกย่อๆว่า KKH ในทันที เพื่อมุ่งหน้าไปยังหุบเขาหรรษา Hunza Valley (ฮุนซาวัลเลย์) โดยระหว่างทางก็แวะชมวิวเป็นพักๆ ตรงไหนสวยมากๆก็หยุดจอดลงไปถ่ายรูป เช่นสะพานข้ามแม่น้ำ วิวเทือกเขาที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะ หรือบริเวณที่มีวิวทิวทัศน์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิสีสันเหลืองๆแดงๆสวยๆของต้นป๊อปล่าและแอปริคอท บางจุดมีป้ายเขียนย้ำให้เห็นถึงความเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญจากจีนสู่เอเชียกลางว่า The Old Silk Road ซึ่งมองเห็นได้ว่าเป็นเทรลเส้นทางบนเทือกเขาสูงที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำตรงข้ามกับ KKH โดยชาวพื้นเมืองเรียกเส้นทางสายนี้ว่า “Kinu-Kutto” เส้นทางสายไหมเก่าแก่นี้เดิมเป็นเพียงเส้นทางคนและม้าเดินผ่านได้เท่านั้น ต่อมาเทรลดังกล่าวถูกขยายให้ใหญ่พอที่รถจี๊บจะผ่านไปได้ในช่วงปี ค.ศ. 1958-1960 แต่เมื่อมีโครงการสร้างถนน KKH ขึ้นตามแนวเส้นทางสายไหมเดิมซึ่งแล้วเสร็จในปี 1979 เส้นทางสายไหมเก่าแก่ที่แสนขรุขระริมหน้าผาและรถธรรมดาๆไม่สามารถผ่านไปได้จึงถูกทิ้งให้เห็นเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น รถทุกคันต่างมาใช้เส้นทาง KKH เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สามารถทะลุผ่านไปทางเหนือจนถึงชายแดนจีนในแคว้นซินเจียงได้ KKH เพิ่งได้รับการปรับปรุงและซ่อมแซมใหม่ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลจีน ถนนราดยางอย่างดี เรียบสบาย รถวิ่งได้ฉลิว ภูมิประเทศที่ถนนไฮเวย์ราดยางที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ผ่านไปตามภูเขาสูงที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุม (เนื่องจากมีหิมะปกคลุมในช่วงฤดูหนาว) บางลูกยังมียอดที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี บางตอนถนนก็ตัดดิ่งลงสู่หุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน
จุดชมวิวธารน้ำแข็ง Ghulmet Glacier ที่ความสูง 1,950 เมตรเป็นจุดแวะพักข้างทางของถนนสายนี้ ที่สามารถมองเห็นธารน้ำแข็งขนาดมหึมาที่มาจากเทือกเขา Rakaposhi (รากาโปชิ) ภูเขาที่มียอดสูงเป็นอันดับ 2 ของปากีสถาน (7,788 เมตร) แต่มีหน้าตัดด้านหนึ่งสูงชันดิ่งยาวลงมากว่า 6 กิโลเมตรซึ่งถือว่าเป็นยอดเขาโดดๆที่สูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ หลังจากนั่งจิบชานม (Chai) ชมวิวสักพัก ฉันก็ออกเดินทางต่อสู่เมืองหลวงแห่งหุบเขาฮุนซา Karimabad (การิมาบัด) มาถึงเมืองนี้แล้วสิ่งที่ต้องทำคือหาทางขึ้นเนินที่สูงเพื่อไปชมวิวหุบเขาที่ฉันเรียกว่าหุบเขาหรรษาแห่งนี้ได้ทั้งหุบ ฉันหาทางปีนขึ้นเนินใกล้ๆที่พักเพื่อไปยังจุดชมวิวหุบเขาและเทือกเขาโดยรอบในช่วงแสงเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในมุมเกือบๆ 360 องศา ความงามของหุบเขาที่เป็นเมืองด้านล่างที่ใบไม้ค่อยๆทยอยเปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง ผนวกกับยอดเขาสูง 6-7 พันเมตรที่ล้อมรอบ ไม่ว่าจะเป็น Rakaposhi, Ladyfinger Peak (6,000 เมตร), Golden Peak (7,027 เมตร) และยอดเขาอื่นๆที่มีหิมะปกคลุมโดยรอบ กระทบกับแสงอาทิตย์ยามอัสดงปรากฏภาพอันแสนงดงามที่ทำให้ลืมความเหนื่อยล้าของการเดินขึ้นเขาและการเดินทางได้โดยสิ้นเชิง
มาถึงหุบเขาแห่งนี้ การตื่นเช้าชมแสงอาทิตย์กระทบยอดหิมะเป็นสีแดงคือรางวัลแห่งความหรรษาที่ไม่ควรพลาด นอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว เมืองแห่งนี้ยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อยอันได้แก่ป้อมปราการเก่าแก่หลายร้อยปี Altit Fort (ป้อมปราการอัลติท) เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดของดินแดนแถบนี้ (คาดว่าประมาณ 8-900 ปี) โดยตัวฐานของหอคอย Shikari Tower ที่อยู่บนป้อมได้รับการทดสอบด้วยคาร์บอนที่บอกความเก่าแก่ย้อนไปได้ถึง 1,100 ปี โดยตัวป้อมเดิมใช้เป็นปราสาทที่พักของเจ้าผู้ครองแคว้น Hunza แห่งนี้มาแต่อดีต มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการก่อสร้างโดยช่างฝีมือชาวบัลติสถานที่มาพร้อมกับเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่มาแต่งงานกับเจ้าผู้ครองแคว้น Hunza แห่งนี้ ในช่วงปี 1548 ปราสาทหรือป้อมแห่งนี้สร้างอยู่ที่ริมหน้าผาสูงจากแม่น้ำฮุนซาด้านล่าง 300 กว่าเมตรบนเนินที่เป็นที่ตกตะกอนของหินและดินที่ธารน้ำแข็งพัดพามาถับทมเอาไว้ ตัวอาคารมีความสูงสามชั้น มีโครงสร้างเป็นไม้และหินที่ฉาบด้วยโคลน ป้อมแห่งนี้เคยถูกทิ้งให้ทรุดโทรมเมื่อเจ้าผู้ครองแคว้นย้ายไปอยู่ที่ป้อมปราการอีกแห่งหนึ่ง และได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 2006-2009 ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยมีไกด์ที่แต่งตัวดูดีมีสไตล์พานำชม เล่าอธิบายว่าแต่ก่อนราชวงศ์ฮุนซาเขาอยู่ที่นี่อย่างไรในห้องหับต่างๆที่มีโครงสร้างไม้ที่ได้รับการแกะสลักอย่างงดงาม รวมถึงห้องใต้ถุนที่นอกจากเป็นที่เก็บเสบียงแล้วยังเป็นคุกใต้ดินไว้คุมขังนักโทษอีกด้วย บนเพดานห้องนักโทษจะมีช่องโหว่สำหรับให้คนด้านบนถ่ายอุจจาระลงมา ถือเป็นการทรมารนักโทษรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเครื่องครัว เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทั้งที่ทำจากหินหนักๆ ไปจนถึงโลหะในยุคต่อๆมา ตรงบริเวณหน้าผาติดกับป้อมแห่งนี้ มีแท่งหินสูงที่ห่างจากตัวหน้าผาไปประมาณเกือบ 2 เมตร ว่ากันว่าหนุ่มๆชาวบ้านบริเวณนี้ชอบมาทดสอบความกล้าด้วยการโดดข้ามไปมาเป็นที่น่าหวาดเสียว
จากในเมือง Karimabad สามารถค่อยๆเดินผ่านตลาดและบ้านชาวบ้านไปยัง Baltit Fort (ป้อมปราการบัลติท) สิ่งก่อสร้างเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมือง มีอายุอานามน้อยกว่า Altit Fort เพียงไม่กี่ร้อยปี ตัวตึกเป็นอาคารก่อสร้างที่มีกำแพงสูงคล้ายของทิเบต มีมุกไม้แกะสลักยื่นออกมาจากกำแพงหิน มีปืนใหญ่อยู่ด้านนอกและนายทหารยามหนวดเคราเฟิ้มยาวที่ม้วนๆเอาไปเก็บไว้ที่ใบหูได้ พร้อมฉากหลังเป็นภูเขาหิมะงามๆ ป้อมปราการแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองแคว้น (ย้ายจาก Altit Fort มาที่นี่) ต่อมาหลายร้อยปีก่อนจะย้ายไปที่ปราสาทแห่งใหม่ในปี ค.ศ. 1945 โดยสร้างเป็นสามชั้น ชั้นแรกเป็นห้องเก็บของ ครัว และคุก ชั้นที่สองเป็นลานโล่งเปิดกว้าง และมีบัลลังค์ไม้แกะสลักอันงดงาม มีห้องนั่งเล่นที่จัดแสดงสิ่งต่างๆของราชวงศ์ มีกระจกสีและบานหน้าต่างที่มองเห็นวิวของเทือกเขาอันงดงาม ส่วนชั้นบนสุดมีมัสยิดขนาดเล็กและระเบียงชมวิว รวมถึงส่วนที่จัดไว้สำหรับเลี้ยงอาหารเย็นพร้อมเครื่องดนตรีพื้นเมืองต่างๆเพื่อแสดงให้แขกชม การเข้าชมที่นี่จะมีไกด์ประจำถิ่นพาชมเช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้บูรณะขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 1996
ในอดีตหุบเขาฮุนซาแห่งนี้มีผู้คนกว่า 14 เชื้อชาติอาศัยอยู่ และมีอิสระในการปกครองตนเองเป็นเวลากว่า 900 ปี ก่อนที่จะสูญเสียอิสรภาพให้กับกองทัพอังกฤษในช่วงปี 1889-1892 และรวมเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเอง Gilgit-Baltistan ภายใต้การดูแลของประเทศปากีสถานในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมในดินแดนแถบนี้จึงมีความเป็นเอกลักษณ์ และชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีหน้าตาที่แตกต่างจากชาวปากีสถานทางใต้ที่ออกไปทางแขกอินเดีย โดยทั่วไปจะมีผิวสีขาว ตาโตซึ่งถือเป็นแขกขาวที่หน้าตาหล่อเหลาและสวยงามเอามากๆ เด็กๆที่พบเจอยิ้มแย้มแจ่มใสและมีแววหล่อแววสวยกันแทบทุกคน นอกจากนี้ผู้คนที่นี่ยังมีอัธยาศัยดีที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับดินแดนแห่งเทือกเขาคาราโครัมแห่งนี้อย่างไม่มีใครปฏิเสธได้…
Wow