มาถึงตอนนี้ เป้าหมายของการเดินทางไปตามเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์หรือที่เรียกย่อๆ ว่า KKH ลัดเลาะผ่านเทือกเขาคาราโครัมอันลือชื่อของฉัน คือการเดินทางไปให้สุดเส้นทางที่ชายแดนปากีสถาน-จีน แต่เป้าหมายก็เป็นเพียงจุดหมายปลายทางเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างทางต่างหาก… ตามเส้นทางไฮเวย์ที่มุ่งขึ้นไปทางเหนือจากเมือง Karimabad (การิมาบัด) ฉันได้ผ่านแหล่งอารยธรรมเขียนสีบนหน้าผาและก้อนหิน “The Sacred Rocks of Hunza” ที่แสดงถึงความสำคัญของเส้นทางสายนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ในบริเวณที่เรียกว่า Haldeikish (ฮัลเดคิช) โดยกลุ่มหินบริเวณดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ที่มีภาพเขียนสีและแกะสลักที่มีอายุเก่าแก่เป็นพันๆปี ประกอบไปด้วยจารึกในภาษาต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาษาอินเดียโบราณอย่าง Kharosthi หรือภาษาอิหร่าน Bactrian และ Sogdian รวมไปถึงภาษาทิเบต จีนและพราหมี รวมถึงภาพวาดของกษัตริย์โบราณในเอเชียกลาง จารึกของพระภิกษุสงฆ์รวมถึงเหล่าพ่อค้า ชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ สูตรและสัญลักษณ์ต่างๆ รวมไปถึงภาพวาดตัวไอเบ็กซ์ (Ibex) ที่ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ทำนายโชคชะตาของมนุษย์ในอดีตของชนพื้นเมืองบางกลุ่มได้ กลุ่มหินเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติในเส้นทางสายไหมโบราณที่สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ห่างจากกลุ่มหินมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไปไม่ไกล เส้นทางจะผ่านอุโมงค์ยักษ์ที่สร้างเสร็จใหม่ๆและเพิ่งเปิดให้ใช้เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา อุโมงค์ Pak-China Friendship Tunnels ที่สร้างต่อเนื่องกัน 5 อุโมงค์โดยความร่วมมือของรัฐบาลจีนนี้ครอบคลุมระยะทางทั้งหมด 7 กิโลเมตร ได้ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เทือกเขาคาราโครัมแห่งนี้และก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มครั้งรุนแรง ทำให้ถนนคาราโครัมเส้นเดิมระยะทางยาวกว่า 24 กิโลเมตรพร้อมทั้งหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านถูกทำลายลงในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 แผ่นดินถล่มในครั้งนั้นทำให้ดินจากภูเขาถล่มลงมาขวางกั้นแม่น้ำเป็นเวลา 5 เดือน ก่อให้เกิดทะเลสาบที่มีความยาวถึง 21 กิโลเมตรและมีความลึกเกินกว่า 100 เมตร มีคนตายอย่างน้อย 4 คนและต้องอพยพย้ายถิ่นฐานกว่า 25,000 คนจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เรียกได้ว่าหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านได้ถูกกลืนหายไปพร้อมกับดินถล่มและจมอยู่ใต้น้ำในทะเลสาบพร้อมๆกับเส้นทางคาราโครัมเดิม ในช่วงที่อุโมงค์และถนนใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ ผู้คนที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้จะต้องต่อเรือข้ามทะเลสาบเพื่อไปขึ้นรถอีกฝากหนึ่งของถนน และเรือลำเล็กๆได้ถูกดัดแปลงพิเศษด้วยการพาดไม้กระดานสองอันในแนวขวางให้สามารถขนรถข้ามทะเลสาบได้ ในปัจจุบันช่องว่างระหว่างอุโมงค์และปลายสุดของอุโมงค์อันสุดท้ายจะมีจุดพักให้ผู้ผ่านทางได้ชมวิวทะเลสาบ Attabad (อัตตาบัด) ที่ตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่ได้จมหายไปในทะเลสาบที่เกิดจากแผ่นดินถล่มในครั้งนั้น น้ำทะเลสาบสีเขียวสวยใสตัดกับภูเขาสีน้ำตาลส้มของเทือกเขาคาราโครัม ก่อให้เกิดภาพวิวทิวทัศน์ใหม่ที่งดงามจนไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่ฉันได้เห็นตรงหน้านี้เกิดจากอุบัติภัยร้ายแรงทางธรรมชาติเมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อน
ฉันเดินทางไปแวะพักรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเล็กๆริมทะเลสาบน้ำเค็มเล็กๆอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Bandit Lake (ทะเลสาบบันดิต) ถนนหนทางค่อนข้างวิบากพอควร เนื่องจากเส้นทางตัดเข้าถนนดินเลนเดียวออฟโร้ดไต่เขาที่สร้างความหวาดเสียวให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับทางได้ไม่มากก็น้อย พื้นที่ปิคนิคริมทะเลสาบที่ฉันนั่งจิบชา ชมวิว รับประทานอาหารเที่ยงแห่งนี้ เต็มไปด้วยต้น Sea Buckthorn (ซีบัคธอร์น) ไม้พุ่มมีหนามที่ออกลูกสีส้มๆกันเต็มต้น ราวกับเป็นลูกไม้ป่าไร้ค่า ทั้งๆที่ลูกซีบัคธอร์นเป็นผลไม้อันมีคุณค่าอย่างยิ่งในวงการความสวยความงาม เพราะช่วยทำให้หน้าใส อ่อนเยาว์ ชะลอความเหี่ยวย่นให้ผิวพรรณที่ได้รับความนิยมอย่างสูง อย่ากระนั้นเลย ฉันและเพื่อนร่วมทางรีบเก็บเจ้าลูกเบอร์รี่เล็กๆนี้กินกันสดๆเป็นที่สนุกสนานระหว่างที่มุดฝ่าดงหนามของพวกมันไปที่ริมตลิ่ง ด้วยหวังว่าใบหน้าที่หยาบกร้านจากการเผชิญความหนาวเย็นและแดดแรงที่นี่มาหลายวันจะผุดผ่องเปล่งปลั่งขึ้นมาบ้าง…
หลังจากเพิ่มความอ่อนเยาว์ให้ผิวพรรณและเพิ่มพลังให้ร่างกายแล้ว ก็ได้เวลาออกแรงเดินขึ้นเขาเล็กๆ เพื่อไปชมความงามของ Passu Glacier (ธารน้ำแข็งพัซซุ) โดยการเดินเลาะขอบหน้าผาของแนวร่องธารน้ำแข็งไปจนถึงจุดชมวิวธารน้ำแข็งที่ยังไม่ละลายได้อย่างใกล้ชิด ยามเมื่อมองไกลๆ ฉันคิดว่าเป็นประติมากรรมหินขนาดยักษ์ออกสีขาวๆตามธรรมชาติที่ถูกกัดเซาะเป็นริ้วๆมากกว่า แต่พอยิ่งเดินเข้าไปใกล้ก็รู้ว่ามันไม่ใช่หินแต่เป็นน้ำแข็งของแท้ที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา มีลักษณะเป็นซอกหลืบ แหลม เหลี่ยม โค้งเว้า กินพื้นที่ครอบคลุมถึง 115 ตร.กม. และยาวถึง 20.5 กม. ทอดยาวไปถึงยอดเขา Passu (7,478 เมตร) ทางด้านบนที่ไกลออกไป แถมยังมีไออากาศเย็นๆจนหนาวเหน็บของน้ำแข็งมากระทบผิวเป็นระยะๆ แม้หนทางในการเทรคกิ้งเล็กๆนี้จะไม่ไกลมาก แต่ด้วยระดับความสูงของพื้นที่ก็ทำให้คนพื้นราบอย่างพวกฉันหายใจหอบกันเป็นพักๆ แต่วิวทิวทัศน์ที่ได้เห็นก็น่ารื่นรมย์สมความตั้งใจการออกนอกเส้นทางถนนลาดยางอย่างดีของ KKH มาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อมาถึงบริเวณที่เรียกว่า Passu แล้ว นอกจากธารน้ำแข็งอันโดดเด่นเป็นสง่าเห็นได้จากหลายทิศทาง คงหนีไม่พ้นสะพานแขวน Suspension Bridge ที่บ้างก็ว่าน่ากลัวและอันตรายที่สุดในโลก สะพานไม้แขวนแห่ง Passu ทำจากไม้กระดานและลวดสลิงวางเรียงต่อกันข้ามแม่น้ำ Hunza อันกว้างใหญ่ ฉันมองเห็นสะพานอันน่าหวาดเสียวนี้จากบนถนนใกล้ๆกับหมู่บ้าน Passu ใจก็อยากจะไปดูให้เห็นใกล้ๆ แต่ไกด์นำทางบอกว่าถ้าจะเดินจากถนนไปให้ถึงต้นสะพานก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่มีอีกสะพานหนึ่งคล้ายๆกันที่ชื่อว่าสะพานแขวน Hussaini (ฮุสซาอินี) ที่สามารถไปชมได้ง่ายเพียงแค่เดินจากหมู่บ้านที่อยู่ริมถนนไปประมาณ 5 นาที สะพานดูเหมือนเส้นด้ายเล็กๆเมื่อเทียบกับภูมิประเทศอันกว้างใหญ่และสายน้ำที่แผ่กว้าง แผ่นกระดานไม้วางตัวเรียงต่อกันโดยเว้นช่องว่างพอดีก้าว ที่มองทะลุเห็นสายน้ำเชี่ยวกรากด้านล่างให้ได้หวาดเสียว ลมแรงพัดสะพานให้โยกไหวเป็นระยะๆ ใครกลัวความสูงก็ขอบายได้เลย นักท่องเที่ยวอย่างฉันได้แต่ลองไต่ๆเกาะๆเดินข้ามแผ่นไม้ไปแค่ระยะทางใกล้ๆ ไม่กล้าข้ามไปอีกฝั่งน้ำ แต่ก็ได้เห็นสาวชาวบ้านเดินข้ามมาจากฝั่งตรงข้าม ในขณะที่มีลมแรงสุดๆต้องคอยจับลวดสลิงตลอดเวลา พวกเธอเดินไปหยุดไปตามแรงลม ดูสุ่มเสี่ยงกับการพลัดตกสะพานสมกับที่ได้ชื่อว่าสะพานที่น่ากลัวที่สุดในโลกจริงๆ
ถนนสาย KKH ยังคงทอดยาวต่อไปจนถึงชายแดนปากีสถานผ่านไปที่ความสูงเกินกว่า 4,700 เมตรที่เรียกกันว่า Khunjerab Pass (ช่องเขาคุนจีราบ) เส้นทางเลาะแม่น้ำ Hunza (ฮุนซา) ที่มีต้นกำเนิดจากทิเบตไปเรื่อยๆ น้ำไหลแรง เชี่ยวและมีสีเขียวใสเนื่องจากสายน้ำเกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขา ใบ้ไม้เปลี่ยนสีแทรกอยู่ตามเขาสูงสีน้ำตาลแห้งแล้งเป็นหย่อมๆ ภูเขายอดหิมะมีให้เห็นเป็นระยะๆ ถนนผ่านชุมทางรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เมือง Sost ที่สามารถทำความคุ้นเคยกับคนขับรถบรรทุกเพื่อขอถ่ายรูปรถบรรทุกที่ประดับตกแต่งด้วยสีสันจัดจ้านเร้าใจได้ ก่อนจะผ่านไปยังโตรกผาสูงๆที่มีลายหินงามๆจากการกัดเซาะของสายน้ำ ได้อารมณ์ผจญภัยแบบอินเดียน่าโจนส์ เส้นทางต้องผ่านด่านเป็นระยะๆ จนมาหยุดจริงๆตรงด่านทางเข้าอุทยานแห่งชาติ Khunjerab เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เช็คพาสปอร์ตและถ่ายรูป ระหว่างรอเดินเรื่องอยู่เจ้าหน้าที่อุทยานฯก็ชี้ชวนให้ดูตัว Ibex บนเขาสูงไกลโพ้นผ่านกล้องเทเลสโคปที่ตั้งอยู่หน้าที่ทำการฯ Himalayan Ibex เป็นเพียงหนึ่งในสัตว์ป่าสำคัญที่ทำให้มีการก่อตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1975 เพื่อปกป้องสัตว์ป่าหายากที่สามารถพบเห็นได้ที่นี่อีกหลายชนิด เช่น Snow Leopard, Marco Polo Sheep, และ Bharal หรือ Himalayan Blue Sheep ชายแดนปากีสถาน-จีนอยู่ห่างจากทางเข้าอุทยานฯนี้ไป 42 กิโลเมตร โดยเส้นทางจะไต่ระดับความสูงไปเรื่อยๆ มีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าเป็นระยะๆถ้าโชคดีและตาดีพอ รวมถึงฝูงจามรีที่และเล็มหญ้าแห้งๆริมทางน้ำที่มีอยู่น้อยนิดเหลือเกินในที่สูงแบบนี้ บริเวณที่เป็นชายแดนไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่ราบสูงโล่งโจ้งอันกว้างใหญ่ล้อมรอบด้วยเทือกเขาที่สูงขึ้นไป กับประตูชายแดนขนาดใหญ่ของฝั่งจีนที่ตั้งตระหง่านขวางถนนคาราโครัมและป้ายที่บอกให้รู้ว่านี่คือชายแดนปากีสถาน-จีนแล้วนะ โดยมีเจ้าหน้าที่จีนหน้าถูกห้ามยิ้มยืนเฝ้าชายแดนอยู่ ถัดจากชายแดนนี้คือเมืองประวัติศาสตร์ Kashgar (คาชการ์) ในแคว้นซินเจียงทางตะวันตกของประเทศจีน ฉันและเพื่อนร่วมทางไม่ได้มีความตั้งใจที่จะข้ามแดนไปฝั่งจีน จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องย้อนกลับเส้นทางคาราโครัมเดิมออกไป แต่โชคดีตรงที่ได้เจอกับกลุ่มทัวร์วัฒนธรรมชาวพื้นเมืองกิลกิต-บัลติสถาน ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากทางฝั่งจีน ที่แต่งตัวในชุดพื้นเมืองแบบเต็มที่ แถมใจดีให้พวกเราได้ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน แม้จะมีเรี่ยวแรงลุกนั่งเคลื่อนไหวตัวกันอย่างเชื่องช้าเต็มที่อันเนื่องมาจากบรรยากาศอันเบาบางด้วยออกซิเจนที่ความสูงกว่า 4,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล…