Catching a Glimpse of the Naked Mountain, Nanga Parbat

ยามเมื่อแม่น้ำกิลกิตไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสินธุทางตอนเหนือของปากีสถาน เทือกเขาใหญ่โตมโหฬารแถบนี้จึงได้ถูกแบ่งออกเป็นสามเทือกใหญ่ๆ อันได้แก่คาราโครัมทางตอนบนของแม่น้ำกิลกิต เทือกเขาหิมาลัยทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำสินธุ และเทือกเขาฮินดูกูชทางด้านตะวันตกของแม่น้ำสินธุทางด้านใต้ของแม่น้ำกิลกิต จากสบแห่งนี้ ฉันเดินทางข้ามแม่น้ำจากดินแดนแห่งเทือกเขาคาราโครัมมาสู่ดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย และเดินทางลึกเขาไปในเขาสูงเพื่อขอยลโฉมเทือกเขาหิมะอันลือชื่อในด้านความหฤโหดของเส้นทาง (พิชิตยอด) จนได้ชื่อว่าเป็นภูเขานักฆ่า (Killer Mountain) แห่งปากีสถาน Nanga Parbat (นังกาปาร์บัต)

สะพานไรกต (Raikot Bridge) บนถนนคาราโครัมไฮเวย์เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางอันค่อนข้างหฤโหดที่แฝงด้วยความหฤหรรษ์เพื่อไปสู่ดินแดนเป้าหมายกลางเทือกเขาสูง เริ่มจากการเปลี่ยนจากรถตู้วิ่งบนไฮเวย์มาเป็นรถจิ๊ปขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่นั่งได้ไม่เกิน 4-5 คนรวมคนขับ ยังไม่ทันได้ตั้งตัวรถก็เริ่มบึ่งขึ้นถนนดินฝุ่นตลบออฟโร้ดอย่างชันโดยทันที เส้นทางอันแสนขรุขระสูงชันช่วยเขย่าการนั่งรถที่ยังไม่เข้าที่ในตอนแรกให้ลงตัวได้ภายในเวลาไม่นานนัก ช่วงต้นเส้นทางลัดเลาะหักศอกไปมาเพื่อไต่ระดับสู่ความสูง ผ่านไปไม่นาน ฉันก็พบว่าตัวเองกำลังเดินทางอยู่บนเส้นเดินรถทางเดียวริมหน้าผาสูงชันที่ชวนหวาดเสียวทุกครั้งที่มีการหักเลี้ยว หรือมีรถสวนทางกลับมา หรือแม้แต่เมื่อมีรถคันหลังที่มีกำลังมากกว่าต้องการจะแซง อาจถือเป็นการโชคดีที่ฉันเดินทางมาดินแดนแถบนี้ในช่วงที่เพิ่งหมดฤดูกาลท่องเที่ยวไป รถที่สวนทางไปมาจึงมีค่อนข้างน้อยกว่าในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ก็ไม่วายใจเต้นตุ้มๆต่อมๆทุกครั้งที่รถต้องจอดที่หัวมุมริมชิดติดหน้าผาหรือพุ่งเข้าหามุมอันมีอยู่น้อยนิดติดเขาสูงอีกด้าน เมื่อต้องให้ทางรถอีกคันหนึ่ง ยังไม่รวมถึงการตะลุยผ่านฝูงวัวฝูงแพะที่ชาวบ้านต้อนให้เดินไปบนถนนเส้นเดียวกัน และร่องรอยหินที่ร่วงลงมาจากหน้าผาเป็นระยะๆ ระยะทางประมาณสิบกว่ากิโลเมตรอันน่าหวาดเสียวแห่งนี้ เป็นถนนดินออฟโร้ดที่มีหินถล่มเป็นปกติ สะพานชำรุดเป็นประจำ แล้วแต่โชคของคนเดินทางว่าจะต้องลงเดินเพื่อไปนั่งรถจิ๊ปอีกคันที่รออีกฝากฝั่งของถนน อันเนื่องมาจากการชำรุดของเส้นทางเมื่อไร เช่นเดียวกับฉันที่ต้องลงรถเดินกลางทางเพื่อเดินข้ามสะพานที่ชำรุดจนรถหนักๆไม่สามารถผ่านได้ (แต่คนยังเดินข้ามได้) เพื่อไปต่อรถจิ๊ปอีกคันอีกด้านหนึ่งของถนน ที่ความสูงสองพันกว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ท่ามกลางภูมิประเทศที่มีแต่หน้าผาและเขาหินสูงชันแห้งแล้งไร้ต้นไม้ มีเพียงไม้พุ่มแคระแกรนในบางจุด

หลังจากหนึ่งชั่วโมงกว่าๆผ่านไป ฉันเริ่มเห็นบ้านเรือนกระจายกระจายเป็นหย่อมๆ มีต้นไม้ขึ้นราวกับโอเอซิสเล็กๆ มีควันขาวๆจากแหล่งน้ำแร่พวยพุ่งขึ้นมาจากอีกฟากของเขา ในที่สุดฉันก็เดินทางมาถึง Tato Village (หมู่บ้านทาโท) จุดลงรถจิ๊ปกับเส้นทางอันหวาดเสียว พักผ่อนจิบชาที่ร้านเล็กๆ ก่อนเตรียมเดินทางต่อไปตามเทรลอีกประมาณ 5 กิโลเมตรที่ไต่ระดับความสูงขึ้นไปจาก 2,700 เมตรไปจนถึงความสูง 3,300 เมตรโดยประมาณ โดยปกติหากจะเดินกันจริงๆคงใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงสำหรับคนพื้นราบอย่างฉันในการเดินช้าๆชิลล์ๆชมนกชมไม้ที่ระดับความสูงแบบนี้ แต่เนื่องจากเวลาเย็นย่ำที่กำลังเยี่ยมเยือนเข้ามา ฉันจึงใช้บริการขึ้นม้าให้ชาวบ้านเดินจูงพาขึ้นเขาแทน เส้นทางค่อยๆไต่ระดับไปตามป่าสนที่เขียวตลอดปี อากาศหนาวเย็นเมื่อเมฆเข้าบดบังแสงอาทิตย์หรือเมื่ออยู่ในเขตเงาที่ไร้แสงส่อง มองเห็นหิมะตกค้างจากต้นปีเป็นจุดๆ บางทีก็เดินอยู่กลางป่า บางครั้งก็ต้องไต่ไปตามหน้าผา หรือบางครั้งก็ต้องลงจากม้ามาเดินเองเนื่องจากทางแคบลื่นและชันริมหน้าผา คงเป็นการดีกว่าที่จะใช้เท้าของตัวเองผ่านทางแคบๆนั่นไปไปแทนที่จะกลิ้งตกลงไปพร้อมๆกันกับม้า ถ้ามันเหยียบพลาด และในที่สุดฉันก็เดินทางมาถึงแคมป์ที่พัก Raikot Sarai (ไรกตซาไร) เอาเมื่อแสงหมดลงแล้ว เห็นเทือกเขาหิมะเพียงรำไร และดวงดาวเต็มฟากฟ้า อุณหภูมิลดฮวบฮาบลงทันทีเมื่อไร้แสงแดด ฉันตรงรี่เข้าห้องโถงส่วนกลางที่มีเตาผิงไฟอยู่ตรงกลางและมีเบาะนั่งอยู่ล้อมรอบที่ไกด์เรียกเล่นๆว่า Japanese Room โดยทันที จิบชา จิบไวน์ท้องถิ่น กินข้าว นั่งคุย ทุกอย่างทำในห้องนี้ ยามเมื่ออากาศข้างนอกเข้าขั้นติดลบจนแม้จะออกไปเข้าห้องน้ำก็ยังไม่ค่อยอยากจะออกไป ก่อนแยกย้ายเข้าที่พักที่เป็นบ้านไม้มีเตียงนอนแบบง่ายๆ และห้องน้ำ พร้อมระเบียงด้านหน้าที่เปิดโล่งเห็นวิวภูเขาได้ อย่างไรก็ดีด้วยความที่น้ำเย็นยะเยือกใกล้จุดเยือกแข็ง คงไม่มีใครอาบน้ำได้เป็นแน่แท้ ได้แต่รอให้ลุงที่ดูแลสถานที่ต้มน้ำมาให้ผสมน้ำล้างหน้าล้างตาแปรงฟันกันเท่านั้น

เช้าวันต่อมา ฉันตื่นขึ้นมาอย่างชิลล์ๆท่ามกลางความหนาวเย็น ออกมาที่ระเบียงหวังว่าจะได้เห็นโฉมหน้าของ Nanga Parbat และยอดอื่นๆใกล้เคียง ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยทางปลายสุดด้านทิศตะวันตก ยอด Nanga Parbat สูง 8, 126 เมตร ชื่อของเธอเป็นภาษาสันสกฤตที่แปลออกมาได้ว่า ภูเขาเปลือย (Naked Mountain) เนื่องจากมียอดชันแหลม จนไม่มีหิมะค้างอยู่ด้านบน ยอดเขาแห่งนี้สูงเป็นอันดับ 9 ของโลกและเป็นอันดับ 2 ของปากีสถาน อย่างไรก็ดี เธอยังคงห่มความเปลือยของเธอไว้ด้วยเมฆหน้าทึบ ฉันได้แต่จิบชาที่ลุงคนดูแลยกมาให้แต่เช้าและชมวิวโดยรอบ ก่อนออกเดินดูนกชมไม้บริเวณรอบที่พัก ได้ข่าวว่าเมื่อคืนมีเพื่อนร่วมทางทนหนาวในห้องไม่ไหว ต้องไปนอนกันผิงไฟกันอยู่ในห้อง Japanese Room กันเลยทีเดียว…

หลังรับประทานอาหารเช้า ก็ได้เวลาออกเดินไปชมภูมิประเทศและป่าสนเขาโดยรอบ โดยมีเป้าหมายในการไปรับประทานอาหารกลางวันที่ Bayal Village (หมู่บ้านบายัล) แคมป์ไซท์สำหรับนักปีนเขาอีกแห่งหนึ่งก่อนจะไปถึง Nanga Parbat เบสแคมป์ซึ่งห่างออกไปอีกประมาณ 8 กม. เส้นทางมีทั้งขึ้นๆลงๆ ลัดเลาะไปตามลำธาร มองเห็นร่องรอยอันเป็นทางน้ำอันกว้างใหญ่ของธารน้ำแข็ง Raikot (Raikhiot) Glacier (ในช่วงที่ฉันไปน้ำแข็งบริเวณนี้ได้ละลายไปหมดแล้ว) ผ่านหน้าผา และที่ราบป่าสนที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้เป็นวงกว้าง นอกจากต้นสนแล้ว ยังมีไม้พุ่มขนาดแคระแกรน รวมถึงพุ่มไม้ที่มีน้ำเริ่มผลัดใบเป็นสีแดงส้ม ดอกไม้ยังพอมีให้เห็นประปราย เส้นทางแม้จะไม่ชันมาก แต่การเดินบนระดับความสูงแบบนี้ก็พาเอาเหนื่อยหอบได้ง่ายๆอยู่ไม่น้อยโดยไม่รู้ตัว ครั้งเมื่อออกมาที่ทุ่งหญ้าที่ในเวลานี้แห้งเป็นสีน้ำตาลที่มีลำห้วยเล็กๆไหลผ่าน (โดยปกติ นักท่องเที่ยวจะมาในช่วงฤดูใบไม้ผลิช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ทุ่งหญ้าจะเป็นสีเขียวสดงดงาม มีกำแพงเทือกเขาหิมะและธารน้ำแข็งให้เห็นอีกฟาก สมกับชื่อ Fairy Meadows ที่เป็นชื่อเรียกที่นักปีนเขาชาวเยอรมันเรียกพื้นที่บริเวณนี้จากความงดงามที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้า ก่อนที่จะหลุดเข้าไปในเขตหมู่บ้านที่เริ่มเห็นบ้านไม้เป็นหย่อมๆ ราวกับหมู่บ้านร้าง เนื่องจากไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เพราะในช่วงนี้ชาวบ้านได้อพยพไปอยู่ที่อื่นก่อนเข้าสู่ฤดูกาลอันหนาวเย็นและปกคลุมด้วยหิมะ ฉันเห็นควันไฟลอยออกมาจากบ้านหลังหนึ่งที่ดูเหมือนไม่ไกล แต่เอาเข้าจริงเดินกันแทบหมดแรงกว่าจะไปถึงเป้าหมาย ณ กระต๊อบที่มีควันไฟ พ่อครัวจาก Raikot Sarai ที่เดินล่วงหน้ามาก่อน ได้มาเตรียมทำอาหารเที่ยงเอาไว้ให้ เนื่องจากร้านค้าบริเวณนี้ปิดไปหมดแล้ว (นอกฤดูกาล) ซุปต้มกระดูกแพะร้อนๆและมันเผา เรียกพลังกลับคืนมาได้ไม่น้อยที่ความสูง 3,500 กว่าเมตรแบบนี้ แม้ว่าลมจะแรง อากาศจะหนาวไปสักนิด โดยมีวิวภูเขาหิมะในม่านเมฆและธารน้ำแข็งที่ยังไม่ละลายให้เห็นอยู่ลิบๆ

หลังจากเดินกลับมาที่พัก ไกด์บอกให้เดินไปดูที่หนองน้ำเล็กๆใกล้ๆที่พัก ซึ่งน้ำในหนองน้ำใสแจ๋วจะสะท้อนภูมิทัศน์โดยรอบออกมาราวกับกระจกชั้นเยี่ยม สามารถมองดูภูเขาน้ำแข็งกลับหัวมาเชื่อมต่อกับภูเขาจริงได้เลย แต่เย็นวันนี้ Nanga Parbat ยังคงซ่อนหน้าตาของเธอไว้ภายในม่านหมอกเช่นเคย

อากาศยามเช้ายังคงหนาวยะเยือกเช่นเคย ตามพื้นหญ้ามีน้ำค้างแข็งเกาะอยู่เต็มไปหมด แต่ในแสงสีส้มยามเช้าของวันที่ฉันจะต้องเดินทางกลับนี้ ในที่สุดเธอก็ยอมให้ฉันได้ยลโฉม… Nanga Parbat และเทือกเขาบริวารที่สูงไม่ต่ำกว่า 7 พันเมตร ได้เผยตัวให้เห็นยอดอันเปล่าเปลือยปราศจากหิมะลอดผ่านช่องเมฆมาให้ฉันได้ยลความงามอันน่าตื่นตะลึงในที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าเธอได้คร่าชีวิตผู้คนที่ต้องการพิชิตตัวเธอมาหลายต่อหลายสิบคนภายในไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา เมื่อมนุษย์ได้เริ่มรู้จักตัวเธอ เนื่องจากความสูงชันและความยากลำบากในการปีน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างทางด้านใต้ ที่เรียกกันว่า Rupal Face ของเธอมีลักษณะสูงดิ่งเป็นหน้าผาตัดชันที่สูงที่สุดในโลก คือประมาณ 4,600 เมตรจากฐาน ในขณะที่หน้าตัดชันทางด้านเหนือหรือที่เรียกว่า Rakhiot Flank สูงกว่า 7,000 เมตรนั้น ตัดขึ้นจากแม่น้ำสินธุด้วยระยะทางเพียง 25 กิโลเมตร เรียกได้ว่าถ้าปีนกันด้านนี้จะไต่ระดับความสูงได้อย่างรวดเร็วภายในระยะทางสั้นๆ ถือเป็นเส้นทางที่โหดไม่น้อย อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผู้คนมากมายโดยเฉพาะชาวเยอรมันได้มาสังเวยชีวิตให้กับเธอที่นี่ ในที่สุดหนุ่มนักปีนเขาชาวออสเตรียนามว่า Hermann Buhl (เฮอร์มาน บุล) ก็พิชิตเธอได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1953 ด้วยการปีนเดี่ยวที่กว่าจะกลับลงมาได้ก็อีกเกือบสองวันให้หลัง

ความงามของเธอ Nanga Parbat ยังคงเป็นที่ล่ำลือและท้าทายผู้ตั้งใจไปพิชิตมาจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับฉัน การยอมลำบากในการเดินทางเล็กๆน้อยๆเพื่อได้ยลโฉมของเธอในระยะเวลาสั้นๆ จากเบื้องล่าง ก็ถือเป็นรางวัลของชีวิตที่ทำให้รู้ว่า เธอและโลกของเธอนั้นยิ่งใหญ่และงดงามตระการตาเพียงใด และตัวเองนั้นต่ำต้อยน้อยนิดเพียงใดและเป็นเกียรติขนาดไหนที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดความงามของเธอ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s