ใกล้จะหมดเดือนมกราแล้ว เดี๋ยวโควต้าเดือนนี้จะว่างเว้นไปซะ เลยรีบเอาเรื่องมาลงดีกว่า
ว่างๆก็อ่านกันไป
เช่นเดิม บทความนี้เคยลงตีพิมพ์ในนิตรสารเล่มหนึ่งมาก่อนแล้ว
Enjoy the mountains!
Cheers,
Sikkim ดินแดนแห่งมนต์ขลังของธรรมชาติและขุนเขา
1.
สิกขิม ดินแดนเล็กๆ ที่ทอดตัวภายใต้เงื้อมอ้อมกอดของขุนเขาที่เปรียบเสมือนหลังคาโลกอย่างเทือกเขาหิมาลัย อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทยเมื่อเทียบกับดินแดนเพื่อนบ้านติดๆกัน อย่างเนปาล ทิเบต หรือภูฏาน แต่สำหรับผู้ที่หลงใหลในความงามของขุนเขาธารหิมะสูงเสียดฟ้า ลดหลั่นลงมาเป็นป่าเขียวชอุ่ม อุดมด้วยสีสันของกุหลาบพันปี ดอกไม้ป่านานาพันธุ์ และนกและสัตว์ป่านานาชนิดแล้ว ที่นี่เป็นอีกดินแดนในฝันอีกแห่งหนึ่งที่ไม่สมควรพลาดอย่างยิ่งด้วยประการทั้งปวง แม้ว่าสิกขิมในปัจจุบันจะอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินเดีย แต่ผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนลดหลั่นไปตามแนวเทือกเขาสูงและริมโตรกธารน้ำที่ถือกำเนิดจากการละลายของหิมะบนยอดเขาสูงที่ไหลลัดเลาะไปตามซอกเขานั้น สืบเชื้อสายและมีวัฒนธรรมมาจากผู้คนแถบเดียวกับทางทิเบต เนปาลและภูฏาน การเยือนสิกขิมของฉันจึงไม่รู้สึกนักถึงความเป็นอินเดียอย่างที่ได้เคยสัมผัสมาในแคว้นอื่นๆ น้ำใสใจคอและความมีน้ำใจของผู้คนที่นี่ยิ่งทำให้สิกขิมมีสิ่งที่น่าเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยคิด
2.
ยอดเขาคันเชนซ็องก้า (Kanchendzonga) เป็นยอดเขาสูงอันดับ 3 ของโลกที่ตั้งตระหง่านเงื้อมเหนือดินแดนแห่งนี้ ยอดความสูง 8,598 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของขุนเขานี้ และเทือกเขาบริวารอื่นๆที่ทอดตัวต่อกันมา ถือเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าอันยิ่งใหญ่ผู้พิทักษ์รักษาผู้คนที่นี่ แม้ว่าในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศเป็นใจ ยอดเขานี้จะสามารถมองเห็นได้จากบริเวณต่างๆแทนทั่วแคว้นแดนสิกขิม แต่สำหรับฉันแล้ว การได้เข้าไปใกล้ชิดขุนเขาแห่งนี้ขึ้นอีกสักนิด มากกว่าการมองเห็นจากหน้าต่างโรงแรมในเมืองต่างๆ ย่อมเปิดโอกาสให้ฉันได้สัมผัสถึงมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือของชนเผ่าพื้นเมืองแถบนี้มาตลอดหลายร้อยปีขึ้นมาบ้าง นอกเหนือไปจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสถึงอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ก่อตัวขึ้นอย่างสลับซับซ้อนในบริเวณดังกล่าว แน่นอนว่าการพิชิตยอดไม่ใช่เป้าหมายของฉัน และถ้าใช่ ก็คงยากเกินความสามารถที่จะไปถึง การเดินทางบนเส้นทางที่คิดดีแล้วว่าคงจะพอเหมาะกับคนเกิดพื้นราบและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างฉันจึงเริ่มต้นขึ้น
3.
ยุกสม (Yuksom) เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเขาเทรคกิ้งของฉัน ซึ่งกว่าจะเดินทางมาถึงได้ก็ต้องนั่งรถจิ๊ปลัดเลาะมาตามทางคดเคี้ยวของขุนเขาจากกังต็อก (Gangtok) เมืองหลวงของสิกขิมกว่า 7 ชั่วโมง แม้ว่าถ้าจะเทียบเป็นระยะทางก็เพียงไม่ถึง 140 กม. ดีนัก… ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยุกสมถือเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของสิกขิม เมื่อลามะศักดิ์สิทธิ์จากทิเบตสามองค์ได้เดินทางมาถึงและสถาปนากษัตริย์องค์แรกของสิกขิมขึ้นที่นี่ในปี ค.ศ. 1641 (เมืองหลวงได้ถูกย้ายไปที่อื่นในเวลาต่อมา) ในปัจจุบัน ยุกสมเป็นต้นทางของเส้นทางเทรคกิ้งที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากที่สุดของสิกขิม อันได้แก่ Dzongri และ Goche-la Treks และการเดินเท้าจากความสูง 1,740 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลอันเป็นระดับความสูงของเมืองนี้ ไปยัง Dzongri ที่ความสูงประมาณ 4,000 เมตร ไปกลับเป็นเวลาห้าวันสี่คืนภายในเขตอุทยานแห่งชาติ Kanchendzonga นี่เอง คือเป้าหมายของฉันในครั้งนี้
4.
การเดินทางช่วงแรกจะต้องเดินเลาะผ่านหมู่บ้านยุกสมขึ้นไปยังป่าด้านบน ระหว่างทางสามารถมองเห็นวัด เจดีย์และธงภาวนาของศาสนาพุทธนิกายวชิรญาณ ศาสนาหลักของผู้คนในแคว้นนี้ปลิวไสวเป็นระยะ เพิงร้านค้าเล็กๆสองข้างทาง และเด็กๆชาวบ้านออกมาทำกิจวัตรประจำวัน ยิ้มแย้มทักทายตลอดทาง ตามข้อมูลที่ได้จากบริษัททัวร์เดินป่าที่จัดการการเดินทางในครั้งนี้ให้นั้น (ทางราชการของอินเดียกำหนดให้การเดินเทรคกิ้งที่นี่ ต้องขออนุญาติและจัดการโดยบริษัททัวร์ที่ได้รับอนุญาติเท่านั้น) ระยะทางในวันแรกจะประมาณ 12 กม. ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ไปถึงจุดพักแรมแห่งแรก แต่ป่าเขียวชอุ่ม ดอกไม้ป่า กล้วยไม้ป่า และที่สำคัญนกในป่าสูงสีสันสวยงาม รวมไปถึงทิวทัศน์อันสวยงามตามเส้นทางที่ลัดเลาะขึ้นๆลงๆ เลียบเขาไปตามลำธารน้ำ ผ่านน้ำตก ข้ามสะพานเป็นระยะๆ ก็ทำให้ฉันใช้เวลาไปเกือบ 6 ชม. โดยมีลูกหาบ ฝูงล่อ และฝูงจามรีที่เดินแบกข้าวของ เตาแก๊ส อุปกรณ์ทำครัว โต๊ะ เก้าอี้กินข้าว และข้าวของต่างๆ เดินแซงผ่านไปคนแล้วคนเล่า ตัวแล้วตัวเล่า กว่าจะไปถึงจุดพักรับประทานข้าวเที่ยงที่แรก ฝนเริ่มตกโปรยปรายซึ่งเป็นเรื่องปกติของป่าที่ชุ่มชื้นแบบนี้ อากาศหนาวเย็นขึ้น หมอกลงจัดแต่มันก็ทำให้ฉันเดินได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถหยุดส่องนก ชมไม้ ถ่ายรูปได้บ่อยๆเหมือนตอนอากาศดีๆ ฉันเดินมาถึง Tsokha (สูง 3,050 เมตร) หมู่บ้านเล็กๆที่พักแห่งแรกท่ามกลางหมอกจัด เอาตอนบ่ายแก่ๆ ไกด์ ลูกหาบ พ่อครัวเดินขึ้นมาเตรียมถุงนอน จัดของว่างอาหารให้เรียบร้อยแล้ว คืนนี้โชคดีหน่อยที่ได้พักใน Trekker’s Hut จึงไม่ต้องกังวลกับฝนที่ตกโปรยปรายลงมาตลอดทั้งคืน…วันที่สองเริ่มต้นด้วยความทมึนทึบของสายหมอก จึงไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลนัก ยกเว้นบางช่วงที่หมอกเริ่มจางลง กุหลาบพันปีสีแดงสดมีผ่านตามาให้เห็น ความเขียวชอุ่มของมอสและเฟิน เริ่มเห็นเป็นสีซีดจางเมื่อเดินสูงขึ้น เนื่องจากมีหิมะที่ตกค้างอยู่สองข้างทางเข้ามาแทนที่ ทางเดินดูสูงชันเป็นบางช่วง แถมยังชื้นแฉะจากการละลายของน้ำแข็งหิมะที่ตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเส้นทางสูงชันหลังจากพักรับประทานข้าวเที่ยงแล้ว ตามข้อมูลบอกว่าระยะทางประมาณ 10 กม. เช่นเดียวกับวันแรก ฉันออกเดินแต่เช้าตรู่ กว่าจะไปถึงที่หมายก็บ่ายแก่ๆ ของวันอีกเช่นเคย แต่ด้วยความเหนื่อยล้ากว่าเดิม
5.
Dzongri ที่ความสูง 3,950 เมตร เป็นที่ตั้งแคมป์ของฉันและเพื่อนร่วมเดินทางเป็นเวลาสองคืน รวมถึงนักเดินทางอื่นๆ ที่ต้องเดินต่อไปยังบริเวณอื่นที่สูงกว่า เพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่เบาบางในที่สูงกว่าสามพันเมตร แต่ที่นี่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของฉัน เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น คือการเดินขึ้นเขาแต่เช้าตรู่ไปจุดชมวิวที่ระดับความสูงขึ้นไปอีกมากกว่านี้อีก เพื่อไปชมแสงอาทิตย์กระทบยอดเขาหิมะอันศักดิ์สิทธิ์แห่ง Kanchendzonga…น่าเสียดายที่อาการโรคบนที่สูง (Altitude Sickness) เริ่มเข้าเล่นงานเพื่อนร่วมทางบางคนจนไม่สามารถเดินขึ้นไปสูงกว่านี้ได้อีก…การฝ่าความหนาวเย็นแต่เช้ามืด ไต่ไปตามทางชันๆลื่นๆ และการเดินบนหิมะริมหน้าผา ทำเอาฉันเริ่มถอดใจหลายหน แม้ว่าหนทางจะไม่ยาวไกลอย่างที่เดินผ่านมา แต่แสงยามเช้าที่ค่อยๆเผยให้เห็นภูมิทัศน์โดยรอบก็เป็นยาย้อมใจ เพิ่มกำลังใจให้ฉันได้เป็นอย่างดี ธงภาวนาปลิวไสวบนจุดชมวิวเป้าหมายและนักเดินทางอื่นที่ล่วงหน้าไปถึงแล้ว พร้อมๆยอดเขาหิมะที่ค่อยๆเผยตัวให้เห็น เมื่อแสงรุ่งอรุณส่องทะลุค่อยๆไล่ก้อนเมฆให้พัดผ่านไป เร่งให้ฉันรีบเดินให้ถึง และทุกวินาทีหลังจากนั้นก็ทำให้ฉันลืมความยากลำบากที่ได้ฝ่าฟันขึ้นมาถึงที่นี่ ฉันรู้สึกได้ถึงรอยยิ้มของทุกคนรวมทั้งตัวฉันเองกับภาพอันยิ่งใหญ่ตระการตาที่เห็นตรงหน้า นี่ใช่ไหมที่เคยว่ากันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “แชงกรีลาแห่งเทือกเขาหิมาลัย…” ยิ่งไปกว่านั้น ลูกหาบยังต้มชาร้อนๆตามขึ้นมาให้บริการถึงบริเวณจุดชมวิวให้อีกด้วย คืนนั้นฉันยังได้ประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับตัวเองอีกครั้ง เมื่อต้องนอนในเต๊นท์ฟังเสียงลูกเห็บตกหนักทั้งคืน ก่อนตื่นขึ้นมาเห็นความขาวโพลนทั่วหุบเขาเล็กๆของ Dzongri สร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคืนวันแรก สองวันต่อมาฉันเดินลงกลับทางเดิม แต่ในบรรยากาศที่ผิดแปลกจากขาขึ้น เนื่องจากอากาศเปิด ดอกไม้ใบหญ้าต่างๆ รวมถึงกุหลาบพันปีและแมกโนเลียต่างยิ้มรับทักทาย ผสมผสานไปกับเสียงขับกล่อมอันสดใสของนกนานาชนิด หมู่บ้าน Tsokha ที่นิ่งสงบท่ามกลางขุนเขาปรากฎโฉมราวกับหมู่บ้านในนิทาน และอะไรอื่นๆที่คลาดสายตาไปตอนเดินขึ้น เผยให้เห็นอย่างชัดเจนตอนขาลง รวมถึงเส้นทางเดินอันสูงชันจนน่าตกใจที่ตัวเองเดินผ่านขึ้นมาเมื่อวันก่อนด้วย หรือจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าแห่งขุนเขาที่ดลบันดาลให้หมอกมาบดบังเส้นทางส่วนใหญ่เอาไว้เมื่อตอนขาขึ้น ทำให้ฉันไม่เลิกล้มความตั้งใจไปเสียก่อน…ก่อนที่จะได้สัมผัสมนต์ขลังของธรรมชาติและขุนเขาอย่างที่ฉันได้ไปประสบมา…
6.
เพลลิ่ง (Pelling) เมืองท่องเที่ยวเล็กๆอีกทางเขาอีกฝากหนึ่งทางตอนใต้ของ Yuksom ถือเป็นเมืองที่เหมาะอย่างยิ่งกับการพักผ่อนสบายๆหลังการเดินเขาทางไกล เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างพร้อมบริบูรณ์ ยังไม่นับรวมถึงสถานที่ที่น่าเข้าเยี่ยมชมอีกหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงเช่น ซากปรักหักพังของวังกษัตริย์เดิมที่ Rabdentse (เมืองหลวงแห่งที่สองของสิกขิม) หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ในอดีต หรือหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่สุดและสำคัญที่สุดของสิกขิม อย่าง Pemayangtse Gompa ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1705 อารามด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปและศาสนวัตถุที่สำคัญๆ ของแคว้น รวมไปถึงทังกะและภาพเขียนสีบนผนังเก่าแก่ ชั้นบนสุด ยังเป็นที่ประดิษฐานของ Santopulri ปราสาทไม้แกะสลักทาสี 7 ชั้น เต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ เต็มพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นปราสาทบนสวรรค์ของคุรุริมโปเช ที่สำคัญคือปราสาทไม้องค์นี้ใช้เวลาแกะสลักถึง 5 ปี โดยฝีมือของช่างฝีมือเพียงคนเดียวเท่านั้น ของทุกอย่างภายในอาราม จำเป็นที่จำต้องเข้าไปสำรวจและสัมผัสด้วยตาของตัวเอง เพราะภายในอาคารของอารามแทบทุกแห่ง ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพได้ บริเวณรอบนอกยังมีเรือนกุฏิของลามะที่จำวัดอยู่ที่นี่ ในขณะที่สนามหญ้าด้านหน้าที่เป็นที่ใช้จัดแสดงระบำหน้ากากในงานเทศกาล กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเหล่าเณรน้อยลามะเป็นที่สนุกสนาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับฉันแล้ว Pelling เป็นบทสรุปอย่างดีสำหรับการเดินทางที่ผ่านมา เพราะจากมุมดีๆมุมหนึ่งของเมือง ด้วยกล้องส่องทางไกลที่มีอยู่ในมือ ฉันสามารถมองเห็นเมือง Yuksom ทางอีกฝากหนึ่งของขุนเขา เหนือขึ้นไปเป็นป่าบนที่สูงอันอุดมสมบูรณ์แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ เส้นทางเดินเทรคกิ้งที่ได้ผ่านมา Tsokha ที่พักค้างแรมระหว่างทาง และขุนเขาบริเวณ Dzongri ที่ตนเองได้ขึ้นไปเยือน รวมไปถึงยอดหิมะของเทือกเขา Kanchendzonga และบริวารทอดตัวอ้อยอิ่งอย่างสงบอยู่เบื้องหน้า พร้อมๆไปกับการนั่งจิบชานมพื้นเมืองร้อนๆ สักแก้ว เป็นของขวัญให้กับตัวเอง
ไม่อยากอ่านต่อแระ…อิจฉาตาร้อน
ไปกับใครหรอ…