Yekaterinburg: the Threshold Between Asian and European Russia

Yekaterinburg (เยคาเตรินเบิร์ก) หรือ Ekaterinburg (เอกาเตรินเบิร์ก) เมืองที่เป็นเหมือนประตูระหว่างรัสเซียในทวีปเอเชีย (ไซบีเรีย) กับรัสเซียในทวีปยุโรป ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1723 โดยพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช โดยใช้ชื่อตามมเหสีองค์ที่สองของพระองค์ ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินีองค์แรกของรัสเซีย คือจักรพรรดินีแคทเทอรีนที่ 1 (Catherine—>Yekaterina) โดยหวังจะให้เป็นหน้าต่างสู่เอเชีย เช่นเดียวกับที่หวังว่าเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะเป็นหน้าต่างสู่ยุโรปในสมัยนั้น ตัวเมืองเติบโตขึ้นจากการทำเหมืองตามเทือกเขา Ural (อูราล) และอุตสาหกรรมเหล็กและทองแดง ปัจจุบันเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของ Sverdlovsk Oblast (แคว้นสเวียร์ดลอฟส์ค) และได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน

 ถึงแม้ว่าโดยรวม Yekaterinburg จะเหมือนเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ก็ถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากเป็นเมืองที่สามารถพบเห็นได้ทั้งตึกที่ตกแต่งอย่างเอิกเกริกสไตล์บาร็อคตั้งแต่สมัยก่อนปฏิวัติ ตึกทื่อแข็งเป็นบล็อคๆ ในสมัยคอมมิวนิสต์ และตึกใหม่เอี่ยมเก๋ไก๋ทันสมัยแบบยุคปัจจุบันได้ในบริเวณใกล้ๆกัน เมืองนี้เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าถึงได้หลังโซเวียตล่มสลาย เนื่องจากเป็นที่ตั้งสำคัญทางการทหาร เช่นโรงงานเหล็กและอาวุธ และโรงผลิตขีปนาวุธต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นแพนทากอนรัสเซียที่สภาพตึกใหญ่โตบางตึกยังคงปิดตายให้เป็นที่น่ากังขาสำหรับคนทั่วไปว่าอาจมีการเก็บความลับอะไรไว้อยู่ก็เป็นได้ แถมเมืองนี้ยังเป็นจุดที่เกิดเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่นการปลงพระชนม์ Tsar Nicolas II (พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของรัสเซียและสมาชิกครอบครัวในราชวงศ์โดยกลุ่ม Bolsheviks (บอลเชวิคส์) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 บ้าน Ipatiev (อิปาเตียฟ) ที่เคยเป็นที่อาศัยชั่วคราวและที่ถูกปลงพระชนม์หมู่ได้ถูกรื้อถอนออกและสร้างเป็น Church-on-Blood ขึ้นมาแทนเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 ส่วนประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซียอย่าง Boris Yeltsin (บอริส เยลต์ซิน) เองก็เคยเป็นผู้ว่าการฯ ที่นี่ถึงเกือบๆสิบปี จึงมีการก่อตั้ง Yeltsin Center ที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับตัวเขา อนุสาวรีย์ และอื่นๆ ที่กลายเป็นจุดท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม และพบปะพูดคุยทางการเมืองอย่างเสรีแห่งใหม่ของตัวเมือง

ปัจจุบัน ภายในเมืองยังมีอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญและงานศิลป์กระจายอยู่หลายจุด มีการสร้างและบูรณะโบสถ์ใหม่ๆขึ้นมาอย่างงดงาม มีลานคนเมืองริมน้ำที่มีการจัดงานรื่นเริงต่างๆ เช่นในช่วงพฤษภานี้มีงาน May Extreme มีการแข่งขันในกีฬาที่ใช้แรงกล้ามเนื้อเยอะๆเช่นปีนหน้าผา คายัค (สู้น้ำที่ไหลออกมาจากเขื่อนกลางเมือง) ห้อยโหนบนเชือก ฯลฯ ในช่วงหน้าหนาวก็มีการจัด Snow Festival แบบในฮอกไกโดและฮาร์บินเป็นต้น รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่โตมโหฬาร หากไปเที่ยวที่เมืองนี้ด้วยตัวเอง ขอแนะนำให้เดินตามเส้นสีแดงที่ขีดลากไปมาอยู่กลางเมือง ซึ่งมีกลุ่มอาสาสมัครได้จัดทำเอาไว้ เพื่อเป็นเส้นทางในการเดินชมเมืองตามแผนที่ (หยิบได้จากโรงแรมต่างๆที่เข้าร่วม) ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมจุดสำคัญๆต่างๆของเมืองเองได้อย่างอิสระภายในเวลา 3 ชั่วโมง (ระยะทางรวมประมาณ 6 กม.)

            นอกจากที่เที่ยวต่างๆในเมืองที่สรุปให้เห็นคร่าวๆในย่อหน้าเดียวข้างต้นแล้ว หากดั้นด้นมาถึงที่นี่ได้ คงหนีไม่พ้นต้องไปถ่ายรูปกันที่จุดแบ่งทวีปเอเชียและยุโรป ที่ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงสาย E22 ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กิโลเมตร ที่นี่มีหลักแบ่งเขต เส้นแบ่งเขต และตัวหนังสือบ่งบอกสองทวีปให้ได้ถ่ายรูปกันริมทางหลวงได้เลย ถ้าให้บริษัททัวร์นำมาเขาก็อาจมีการเปิดแชมเปญฉลองให้และมีการให้ใบรับรองให้กับการเดินข้ามทวีป ณ จุดนี้ด้วย แม้หลักแบ่งเขตจะดูเหมือนทำขึ้นมาลอยๆประมาณป้ายสุดเขตชายแดนประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงบริเวณนั้นและยาวขึ้นเหนือลงใต้ไปตลอดแนวคือแนวสันปันน้ำแห่งเทือกเขา Ural ที่ใช้แบ่งทวีปทั้งสองออกจากกันจริงๆ ในทางภูมิศาสตร์ ที่ไม่ใช่เส้นสมมติ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่จะถึงหลักแบ่งเขตทวีปนี้ จะต้องผ่านจุดที่น่าเศร้าสลดอย่างถึงที่สุดก่อน สถานที่แห่งนี้มีชื่อเรียกยาวๆว่า Memorial to Victim of Political Repression and the Masks of Sorrow เป็นอนุสรณ์สถานที่อุทิศให้เหล่าประชาชนที่เป็นเหยื่อทางการเมืองสมัยคอมมิวนิสต์ (Gulag) ที่ถูกสังหารหมู่ (เชื่อว่าทั้งประเทศน่าจะมีถึง 800,000 คนจากจำนวนนักโทษเป็นล้านๆคนในยุคนั้น!) เฉพาะที่นี่มีรายนามของผู้เสียชีวิตที่ขุดเจอจากหลุมศพขนาดยักษ์ที่ถูกฝ่ายผู้สังหารเอาศพมาฝังกองรวมกันไว้แถวๆนี้กว่า 18,000 ชื่อ จากซากศพที่มีถึง 21,000 ศพ (ที่ไม่มีชื่อคือยังไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้) ทั้งหมดถูกสังหารในช่วงปี ค.ศ. 1937-1938 จริงๆแล้วมีการพบซากกระดูกศพมาตั้งแต่สมัยปี 1970s โดยคนงานที่สร้างทางหลวงเส้นนี้ แต่ทุกอย่างถูก KGB บังคับให้ปิดเป็นความลับ จนกระทั่งโซเวียตล่มสลายจึงมีการขุดค้นและพิสูจน์ซากศพว่าเป็นใครบ้าง โดยยังคงทำการพยายามพิสูจน์ตัวตนอยู่จนถึงปัจจุบัน กลางลานของแผ่นหินสลักรายชื่อเหล่านั้นมีแท่นสี่เหลี่ยมยอดแหลม แต่ละด้านมีสัญญลักษณ์ของสี่ศาสนาคืออิสลาม ยิว ออโธด็อกส์ และคริสเตียน อุทิศให้ผู้เสียชีวิตนิรนามที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ด้านหน้าทางเข้ามีงานประติมากรรมชื่อ Masks of Sorrow (หน้ากากแห่งความโศกเศร้า) ออกแบบโดยศิลปินชาวรัสเซีย-อเมริกัน Ernst Neizvestny (เอิร์นสต์ เนซเวสต์นี) เป็นรูปหน้าคนหันหน้าไปคนละทิศคือทิศตะวันออกสู่เอเชียและทิศตะวันตกสู่ยุโรป โดยบนหน้ามีน้ำตาหยดออกมาเป็นรูปหน้าคนที่ดูเศร้ารันทดเป็นอย่างยิ่ง (น่าเสียดายที่ศิลปินที่มีบ้านเกิดอยู่ที่เมือง Yekaterinburg นี้ เสียชีวิตก่อนที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้จะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2017 เพียงหนึ่งปี) บอกตามตรงว่าระหว่างที่เดินอยู่ท่ามกลางรายชื่อผู้เสียชีวิตเหล่านั้น รู้สึกขนลุกและเศร้าซึมจนอยากจะร้องไห้ออกมาเลยทีเดียว

ห่างจาก Yekaterinburg บนเส้นทางสวยแปลกตาไปทางเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ Leaning Tower of Nevyansk (หอเอนแห่งเมืองเนฟยันส์ค) ที่เข้าใจว่าคงเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้างของช่างที่ชำนาญงานเหล็กแต่ต้องมาสร้างอาคารด้วยอิฐถือปูน เมือง Nevyansk เป็นเมืองที่เจริญขึ้นจากคนของตระกูล Dimidov (ดิมิดอฟ) ที่เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อโรงถลุงเหล็กแห่งรัสเซียในยุคนั้น (ขนาดพื้นโบสถ์ยังทำเป็นพื้นเหล็ก จนชาวบ้านเรียกโบสถ์ที่ตระกูลนี้สร้างว่า Iron Church) ส่วนหอเอนที่เป็นหอระฆังนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วง 1730s ด้วยความสูงทั้งหมดประมาณ 60 เมตร ตรงแกนสี่เหลี่ยมตรงกลางจะเอียงๆ น่าจะตั้งแต่เริ่มสร้าง แต่ช่างก็แก้ให้ยอดหอระฆังตั้งตรงขึ้นไปได้… ที่นี่เลยกลายเป็น Landmark ของเมืองและเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในบริเวณไซบีเรียตะวันตกนี้เป็นเวลาหลายปี ตัวหอตั้งอยู่ข้างๆโบสถ์เก่าของชาว Old-believers ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้… ห่างจากหอเอนไม่ไกล เป็นที่สาธิตงานของช่างปั้นหม้อท้องถิ่นที่สืบทอดงานฝีมือกันมาอย่างยาวนาน ช่างปั้นหม้อที่สาธิตการทำงานให้ฉันได้ดูในครั้งนี้คือพ่อหนุ่ม Alexander (อเล็กซานเดอร์) ซึ่งเป็นช่างปั้นหม้อหนุ่มรุ่นที่ 7 ของตระกูล เขาอธิบายที่มาของดินสีแดงจากแม่น้ำในบริเวณใกล้เคียงที่เป็นวัตถุดิบ รวมถึงการเหยียบและขย้ำไล่อากาศแบบในอดีต (ปัจจุบันใช้เครื่องจักรแทนแล้ว) และสาธิตวิธีการปั้นหม้อและทำลวดลายให้ชม ก่อนให้ผู้เข้าชมอย่างฉันลงมือปั้นเองด้วยอย่างเละเทะ พ่อหนุ่ม Alexander จบการสาธิตด้วยการปิดตาปั้นหม้อให้ได้เฮ จนอดไม่ได้ที่จะต้องซื้อของฝากติดไม้ติดมือมาจาก Pottery Workshop ดังกล่าว

Kirillov’s house

บนเส้นทางเดียวกันนี้ ยังเป็นที่ตั้งของบ้านของคุณคิริลลอฟ (Kirillov’s house) ซึ่งเป็นบ้านที่ค่อยๆ ถูกตกแต่งออกแบบลวดลาย เสริมนั่นเสริมนี่จนคล้ายบ้านในนิทานที่บันทึกประวัติศาสตร์ของรัสเซียในช่วงสมัยของศิลปินเองได้อย่างแยบยล ตัวศิลปินเป็นช่างเหล็กธรรมดาๆในหมู่บ้าน Kunara (คุนารา) (แต่งานตกแต่งบ้านเป็นงานไม้เสียส่วนใหญ่!?) เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ปัจจุบันคุณ Kirillov เจ้าของผลงานเสียชีวิตไปแล้ว แต่มีคุณป้าลูกสาวคอยมาช่วยดูแล และเปิดรับอาสาสมัครมาบูรณะบ้านเป็นระยะๆ บ้านหลังนี้ดูแปลกตากว่าบ้านทุกหลังในแคว้น และได้รางวัลป๊อปปูล่าโหวตในเว็บไซด์แห่งหนึ่งที่รณรงค์การท่องเที่ยวในประเทศของชาวรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ จนทำให้ใครๆก็ต้องแวะมาชม

หากใครนั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียมาจากทางทิศตะวันออก เมื่อมาถึงเมือง Yekaterinburg นี้ก็คงจะกำลังร่ำลาจากดินแดนไซบีเรียตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรปอย่างเต็มตัวแล้ว ถ้ามีเวลาเหลือ ฉันขอแนะนำให้แวะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านชนบทดั้งเดิมอายุกว่า 300-400 ปี ที่โยกย้ายกันเข้ามาอยู่ในดินแดนไซบีเรียแห่งเชิงเขา Ural เป็นการส่งท้ายกันสักนิด หมู่บ้าน Koptelovo (คอปเทโลโว) ห่างจากเมือง Yekaterinburg ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 ชั่วโมงโดยทางรถยนต์ ชื่อของหมู่บ้านมาจากการเริ่มตั้งถิ่นฐานของคุณ Koptel (หรืออะไรทำนองนี้) ที่เผอิญผ่านมาที่นี่และได้เจอน้ำผุดธรรมชาติ ที่ไหลออกมาตลอดเวลาโดยไม่กลายเป็นน้ำแข็งแม้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว น้ำผุดธรรมชาติที่ว่ายังคงไหลผ่านท่อไม้ซุงให้คนในหมู่บ้านได้ใช้อยู่จนปัจจุบัน โดยมีชื่อว่า “Spring of Love” หากมาถึงที่นี่ก็จะได้เดินชมหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา มีบ้านไม้ซุงของคุณยาย Katya ที่เก่าแก่ที่สุดกว่า 400 ปี ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่เกือบ 100% เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้จริง คุณยาย Katya ขายบ้านหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน ตอนแกอายุ 90 ปี เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว บ้านไม้ท่อนซุงนี้ไม่ใช้ตะปูเลยสักตัว แต่ใช้การสับท่อนไม้เข้าร่องไปมาทั้งหลังด้วยฝีมือชั้นเลิศที่ยังคงความแข็งแรงให้เห็นจนถึงปัจจุบัน Yekaterinburg และอาณาเขตรอบๆเมือง ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายที่กล่าวถึงในที่นี้ไม่หมด แต่สำหรับผู้ที่เดินทางมาด้วยรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียจากทางตะวันออกแล้ว ที่นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักเดินทางได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากความเป็นไซบีเรีย สู่ความเป็นอยู่ของชาวเทือกเขาอูราล ก่อนจะเข้าสู่ความเป็นยุโรปในอีกฝากฝั่งของเทือกเขา (หรือเป็นไปในทางกลับกัน หากเดินทางมาจากทางตะวันตก) ในขณะเดียวกันก็ยังมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันของความเป็นโซเวียตในอดีต สมกับที่เป็นเมืองที่เชื่อมต่อความเป็นเอเชียและยุโรปของรัสเซียอย่างแท้จริง

Sitting between Asian and European continents with champagne and certificate!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s