Mt. Fuji

เรื่องนี้ เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว เมื่อถูกร้องขอกระทันหัน เอาไปอ่านกันสำหรับเดือนนี้จ้า

ฟูจิซัง…เธอผู้เป็นนิรันดร์

มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง บอกให้ฉันฟังว่า คนญี่ปุ่นเปรียบภูเขาไฟฟูจิดั่งเช่นหญิงสาว ผู้ซึ่งมีอารมณ์ปรวนแปรตลอดเวลาเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยามเมื่อเธออารมณ์ดี เธอก็จะอวดโฉมโชว์ความงามอย่างเต็มที่ แต่ภายในไม่กี่นาที เธอก็อาจอารมณ์ขุ่นหมอง ซ่อนความงามของเธอเอาไว้เบื้องหลังเมฆหมอกได้ในทันใด และถึงแม้เธอจะไม่ได้โมโหโกรธาใครๆ มาเป็นเวลาเกือบๆ สามร้อยปีแล้ว แต่ก็ใช่ว่า เธอคนนี้จะนิ่งสงบอยู่ตลอดไป ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เธอผู้งามสง่า สัญลักษณ์ของดินแดนอาทิตย์อุทัยตนนี้ จะตื่นจากความสงบขึ้นมาแผลงฤทธิ์อีกเมื่อไร…

นับย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายแสนปีก่อน เธอผู้นี้ยังไม่ได้มีรูปโฉมปรากฎอย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน แต่มีภูเขาไฟสองลูกที่ฉันอุปมาว่าเป็นพ่อและแม่ของเธอต่างหาก ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในดินแดนแถบนี้ ภูเขาไฟทั้งสองลูกต่างก็ปะทุระเบิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งตามวันเวลาที่ผันผ่าน จนกลายร่างถือกำเนิดขึ้นมาเป็นนางสาวฟูจิคนเก่า ที่มีความสูงเพียง 2,700 เมตร เมื่อหลายหมื่นปีก่อน เธอคนเก่ายังคงมีฤทธิ์พิโรธโกรธาเป็นครั้งคราว จนเมื่อประมาณหมื่นกว่าปีก่อนนี่เองที่เธอได้เปลี่ยนโฉมกลายร่างมาเป็นนางสาวฟูจิคนใหม่ ที่มีความสูงสง่าถึง 3,776 เมตร เส้นรอบวงที่ฐานยาว 125 กิโลเมตร ที่ได้รูปทรงงดงามเป็นกรวยคว่ำยอดตัดสมส่วน มองเห็นได้ตั้งแต่ฐานยันยอดโดยไม่มีผู้ใด (ภูเขาใดๆ) มาบดบังรัศมีความสง่างาม ดั่งรูปโฉมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า เธอ “ภูเขาฟูจิ” (富士山)ได้รับชื่อของเธอมาอย่างไร โดยตัวชื่อของเธอเองแปลว่า “ผู้มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์” แต่จากคำกล่าวของนักวิชาการหลายๆท่าน บ้างก็ว่าชื่อเธอมาจากคำพ้องเสียงว่า不二ที่หมายความว่า เป็นที่หนึ่งไม่เป็นสองรองใคร บ้างก็เชื่อว่าอาจมาจากคำว่า  不尽 ที่หมายความถึงการไม่มีที่สิ้นสุด บ้างก็บอกว่ามาจาก 不死อันได้แก่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ไม่มีวันตาย และบ้างก็ว่ามาจากภาษาพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีความหมายว่า “ไฟ” แต่ไม่ว่าเธอจะได้ชื่อของเธอมาอย่างไร สำหรับคนญี่ปุ่นโบราณแล้ว ภูเขาไฟแห่งนี้ เป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าแห่งไฟอันเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาติให้ปีนขึ้นภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ (ความเชื่อนี้ได้รับการปฏิบัติมาจนถึงประมาณเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เมื่อญี่ปุ่นปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ ในยุคเมจิ) จะมีก็แต่นักบวชเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าไปดั้นด้นปีนเขาแห่งนี้ได้ เพื่อบำเพ็ญตน แสวงบุญและบูชานมัสการเทพเจ้าในธรรมชาติ (ตามความเชื่อของศาสนาชินโตของญี่ปุ่น) และสำหรับชายชาวญี่ปุ่นเอง สถานที่แห่งนี้เป็นที่พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายอย่างเต็มตัว ถ้าเขาคนนั้นสามารถพิชิตยอดเขาแห่งนี้ได้สักครั้งในชีวิต…

ครั้งสุดท้ายที่เธอผู้นี้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟระเบิดออกมานั้น อยู่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1707 อำนาจทำลายล้างของเธอ อันได้แก่ลาวาและเถ้าถ่านจากภูเขาไฟนั้น ว่ากันว่าปลิวไปปกคลุมถนนหนทางในเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) ที่ห่างออกไปถึง 100 กิโลเมตร…หลังจากนั้น ผืนแผ่นดินรอบๆ ตัวเธอก็ ได้รับการสั่งสมและอุดมไปด้วยดินจากภูเขาไฟ ถือกำเนิดเป็นป่าเฉพาะที่มีลักษณะพิเศษเป็นของตัวเอง เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด รวมทั้งนกกว่า 150 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉพาะถิ่น รวมไปถึงพรรณไม้ต่างๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีถ้ำรูปร่างแปลกตาที่ถือกำเนิดจากลาวา ลำธาร น้ำตก และสระน้ำตามธรรมชาติอีกหลายแห่ง ความร้อนระอุใต้พื้นพิภพยังก่อให้เกิดน้ำแร่อันทรงคุณค่า อันเป็นที่มาของ 80% ของน้ำแร่ที่วางขายในญี่ปุ่น และบ่อและโรงอาบน้ำแร่มากมายรอบๆ บริเวณภูเขาไฟ ในเขตสองจังหวัดที่ภูเขาไฟแห่งนี้ตั้งอยู่ อันได้แก่จังหวัดชิสึโอกะ และยะมะนะชิ ทางตอนกลางของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อกาลเวลาผันผ่าน จากความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ที่น้อยคนนักจะได้กล้ำกรายเข้าไปแสวงบุญ เธอได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกใฝ่ฝันที่จะได้ไปเยี่ยมเยือน นับจากปี ค.ศ. 663 ที่นักบวชไม่ทราบชื่อได้ปีนขึ้นเขาแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเดินไต่เขากว่า 250,000 คนต่อปีที่ตั้งใจพิชิตยอดเขาแห่งนี้ เพียงในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่อากาศอำนวยพอจะให้นักท่องเที่ยวไต่ระดับเดินเขาขึ้นไปชื่นชมความงามของพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าบนยอดเขาแห่งนี้ได้…

สถานที่พักกลางทางของคนในสมัยโบราณที่ต้องพักค้างแรมหรือพักพิงยามต้องเดินขึ้นเขา กลับกลายเป็นสถานีที่พัก แวะหาของกินเป็นจุดๆ ตามระดับความสูง ตั้งแต่สถานีที่หนึ่ง จนถึงสถานีที่สิบก่อนถึงยอด และเมื่อมีถนนฟูจิซูบารุฟรีเวย์ตัดผ่านขึ้นไปจนถึงสถานีที่ 5 ทางทิศเหนือ (ถนนสายนี้สร้างขึ้นใน ปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งแรกในทวีปเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภูเขาฟูจิเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวนานาชาติให้ขึ้นมาเยี่ยมเยือน) รถโดยสารต่างๆ ก็สามารถไต่ระดับขึ้นไปถึงสถานีที่ 5 คะวะกุจิโกะ ที่ความสูง 2,305 เมตรได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทั่วไป (ที่ไม่ต้องการเดินถึงยอดให้เหนื่อย) สามารถขึ้นไปชมความงามของทิวทัศน์เบื้องล่าง สัมผัสอากาศที่ใกล้ยอดเขาที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นแห่งนี้และหาซื้อของฝากต่างๆกลับไปเป็นที่ระลึกได้ ที่สถานีที่ 5 นี้ยังมีที่ทำการไปรษณีย์ที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นให้นักท่องเที่ยวสามารถส่งความระลึกถึงไปยังผู้อื่นที่มิได้ร่วมทางมาด้วยได้ ผู้ต้องการพิชิตยอดเขาส่วนใหญ่ก็มักมาเริ่มเดินเอาจากบริเวณนี้แทน ซึ่งสะดวกทั้งในแง่ของที่ทางจอดรถและการเตรียมตัว เตรียมเสบียงให้พร้อมก่อนการเดินเขา จากที่คนโบราณเคยใช้เวลาเป็นวันๆ เดินทางจากตีนเขา ในปัจจุบัน การพิชิตยอดสามารถใช้เวลาเพียงประมาณ 4-7 ชั่วโมง เดินจากสถานีที่ 5 ในขณะที่ขาลงจะใช้เวลาน้อยลงเพียง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ถึง 5 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่ายิ่งเดินขึ้นที่สูงนอกจากจะหนาวเย็นแล้ว อากาศก็จะยิ่งบางลง ออกซิเจนจะยิ่งน้อยลง ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการลำบากขึ้นอีกนิดและพิสูจน์ตัวเองขึ้นอีกหน่อย การพิชิตยอดเขาแห่งนี้อาจกระทำได้โดยเลือกเดินขึ้นจากสถานีที่ 5 ที่อยู่ด้านอื่นๆ ของภูเขา ที่อยู่ในระดับความสูงที่แตกต่างกันไป เช่นที่ ซึบาชิริ (1,980 เมตร) โกเต็มบะ (1,440 เมตร) หรือ ฟูจิโนะมิยะ (2,380 เมตร) ก็ได้ (แน่นอนว่ามีถนนตัดถึงสถานีที่กล่าวถึงนี้ทุกแห่ง) หรือจะเลือกพิสูจน์ตัวเองเดินจากตีนเขาที่สถานีที่หนึ่งเลยก็คงไม่มีใครว่า โดยปกติคนญี่ปุ่นมักนิยมที่จะเดินไปให้ถึงยอดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อชมความงามยามแสงแรกสัมผัสภูผา โดยเลือกเดินแต่มืด หรือไม่ก็ออกเดินทางล่วงหน้า เพื่อไปพักค้างแรมตรงจุดที่พักที่ใกล้ยอดที่สุดเพื่อเอาแรง ก่อนออกเดินขึ้นยอดแต่เช้ามืด เป็นธรรมดาที่ยอดเขาสูงขนาดนี้ และมีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปีแบบนี้ ฟ้าจะใส มองเห็นไปได้ไกลก็เฉพาะช่วงเช้าๆเท่านั้น หลังจากนั้น ยอดเขาก็มักอึมทึมไปด้วยเมฆหมอกปกคลุมเสียส่วนใหญ่

แต่สำหรับฉัน การที่จะเห็นเธอผู้นี้ให้สวยอย่างที่เธอเป็น คงไม่ใช่การมองจากบนยอด แต่เป็นการชื่นชมจากบริเวณที่ห่างจากตัวเธอออกมาสักนิด เพื่อได้ชมความงามอย่างที่เธอควรจะเป็นต่างหาก บริเวณทางเหนือของภูเขาไฟฟูจิ เป็นที่ตั้งของทะเลสาปทั้งห้าแห่งฟูเขาไฟฟูจิ อันได้แก่ยะมะนะคะโกะ (ใหญ่ที่สุด) คะวะกุจิโกะ, ซาอิโกะ, โชจิโกะ (กล่าวกันว่าสวยที่สุด), และโมะโตะซึโกะ (ลึกที่สุด) อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่สำคัญของชาวญี่ปุ่น โดยทะเลสาปทั้งห้านี้เป็นเช่นกระจกสะท้อนเงาสาวสวยผู้นี้ได้อย่างดี รวมทั้งยังสร้างสีสันที่แตกต่างตามฤดูกาลที่แปรเปลี่ยนไปอีกด้วย ณ มุมใดมุมหนึ่งของทะเลสาปหนึ่งในห้านี้ ในวันที่เธออารมณ์ดี (อากาศแจ่มใส) เงาของเธอจะสะท้อนกับเงาน้ำให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาต้องหยุดตะลึงหันกลับมามองความงามทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นมาชั่วชีวิต

ความเป็นเอกลักษณ์และความงามของภูเขาไฟฟูจิ ปรากฏอยู่ในศิลปะของญี่ปุ่นทุกแขนงมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมหรือศาตร์ด้านอื่นๆ รวมไปถึงตำนานเก่าแก่โบราณ ผีสางนางไม้ในป่าของภูเขาฟูจิก็เป็นที่เล่าขานกันมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาไฟแห่งนี้จะลดน้อยลงตามกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนไป และแม้ว่าความงามของเธอ จะดึงดูดให้ผู้คนนับแสนนับล้านมาชื่นชมความงามในแต่ละปี อันเป็นสาเหตุให้ตัวเธอต้องมัวหมองจากขยะและความสกปรกที่ผู้ผ่านทางทิ้งเอาไว้ จนทำให้เกิดกลุ่มรักษ์ภูเขาฟูจิที่รณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดกิจกรรมเก็บขยะทุกๆ ปี ฉันก็ได้แต่ภาวนาว่าทุกอย่างจะคงดำเนินไปด้วยดี และไม่มีอะไรทำให้เธอผู้นี้ขุ่นเคืองจนทนไม่ไหว จนสักวันหนึ่งต้องตื่นขึ้นมาจากความสงบเพื่อล้างแค้นผู้คนที่ทำให้เธอมัวหมอง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ความงามพิสุทธิ์ของเธอยังคงเป็นที่ประจักษ์ให้กับผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดไป สมกับความเป็นมาของชื่อของเธอ…เธอ…ผู้ไม่เป็นสองรองใคร เธอ…ผู้ไม่มีวันตาย และเธอ…ผู้เป็นนิรันดร์…

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s