อุตส่าห์ดั้นด้นมาไกลถึงเปรูทั้งที ถ้าไปไม่ถึงมาชูปิกชู (Machu Picchu) โบราณสถานในอ้อมกอดของขุนเขาอันมีชื่อเสียงที่สุดของชาวอินคา กลับไปบ้านคงมีคนแซวว่ามาไม่ถึงเปรูแน่นอน การเดินทางของฉันที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ดินแดนลับแลดังกล่าวจึงเริ่มต้นขึ้น แต่ก่อนที่จะไปจุดนั้น นักเดินทางส่วนใหญ่คงต้องผ่านเส้นทางหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Valley) อันเป็นต้นทางของเส้นทางอินคา (Inca Trail) ก่อน
หุบเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ เป็นหุบเขาที่ยาวกว่า 100 กิโลเมตร ขนานไปตามเส้นทางอันคดเคี้ยวของแม่น้ำวิลคาโนต้า (Vilcanota)หรือวิลคามายู (Wilcamayu) อันหมายถึงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกส่วนหนึ่งของแม่น้ำตอนบนของแม่น้ำอุรูบัมบา (Urubamba) ที่มีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาแอนดีสและไหลยาวไปสู่แม่น้ำอเมซอนต่อไป บริเวณหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้นี่เอง ที่ชาวอินคาเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของบุตรแห่งดวงอาทิตย์ บรรพบุรุษในตำนานของชาวอินคา นอกจากนี้ชาวอินคาที่เชื่อในวงโคจรและศาสตร์แห่งดวงดาวที่เชื่อมโยงมนุษย์กับฟากฟ้ายังถือว่าบริเวณหุบเขาและแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ได้สะท้อนเส้นทางช้างเผือกบนท้องฟ้าลงมาสู่ภาคพื้นพิภพ จึงไม่น่าแปลกที่จะพบโบราณสถานของชาวอินคามากมายในบริเวณหุบเขาแห่งนี้
ฉันเดินทางสู่ปิซัค (Pisac) จุดเริ่มต้นของหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งห่างจากคุสโก เมืองมรดกโลกของเปรูไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 23 กิโลเมตร

จากลานจอดรถ ฉันเดินไปตามทางที่ค่อยๆลาดชันขึ้นเรื่อยๆไปตามแนวโค้งของภูเขา และเมื่อพ้นโค้งเขาเท่านั้น โบราณสถานอันใหญ่โตสร้างเป็นแนวยาวจากยอดเขาเลียบไปตามสันเขา ล้อมรอบด้วยที่ราบที่ลดหลั่นเป็นเป็นชั้นๆ (หรือที่เรียกกันว่าเทอเรส)
ยาวโค้งไปตามแนวเขาแห่งนี้ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นักโบราณคดีเชื่อว่าที่นี่เคยถูกใช้เป็นป้อมปราการมาก่อน แล้วจึงแปรเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและที่อยู่อาศัยของชาวอินคาในยุคต่อๆมา ในขณะที่เมื่อดูจากทางด้านตำนานและความศักดิ์สิทธิ์แล้ว โครงสร้างต่างๆบริเวณนี้รวมถึงการวางตัวของเทอเรสเหล่านั้น ก็คือเค้าโครงของอีแร้งขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า Condor อันเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ผู้คุ้มครองความตายในความเชื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแทบเทือกเขาแอนดีสแห่งนี้ แร้งคอนดอร์ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์สำหรับชาวอินคาอีกด้วย ตัวสิ่งก่อสร้างสร้างจากการเรียงหินขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน ซึ่งมีทั้งหินแกรนิตขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในจุดสำคัญๆเช่นวิหารสุริยันหรือวิหารจันทรา ในขณะที่หินก้อนเล็กลงมากับการวางเรียงที่ดูชั้นเชิงงานไม่เหมือนกันนั้น จะเป็นส่วนของอาคารอื่นๆหรือที่ต่อเติมเพิ่มขึ้นไปด้านบน (ซึ่งฉันเชื่อว่าต้องสร้างจากคนที่ต่างยุคต่างสมัยและมีวิทยาการที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน ที่น่าแปลกคือวิทยาการที่ดูสุดยอดและเนียบกว่ากลับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นก่อนหน้าวิทยาการที่ดูล้าสมัยกว่า)
จากเอกสารทางวิชาการ ยังว่ากันอีกว่าเทอเรสทั้งหลายที่ทำขึ้นให้โค้งเว้าไปตามแนวเขาโดยมีการทดน้ำอย่างเป็นระบบนั้น ได้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางด้านเกษตรกรรมของชาวอินคาเป็นอย่างดี เนื่องจากเทอเรสเหล่านั้นได้ถูกทำขึ้นตามจุดต่างๆที่ดูเหมือนจะกำหนดไว้แล้วว่าได้รับอิทธิพลของลูกเห็บและลมพายุน้อยที่สุด ในขณะที่รับแสงแดดได้มากที่สุด ซึ่งทำให้ได้ผลผลิตสูงสุดนั่นเอง เทคโนโลยีของคนสมัยก่อนนี้ทำให้พัฒนาสายพันธุ์ของพืชไร่ต่างๆมากมายที่ทนทานสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่ว โกโก้ หรือฝ้าย อันเป็นพืชเศรษฐกิจของคนแถบนี้ ซึ่งความอัศจรรย์ทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรนี้ ยังมีให้เห็นได้ตลอดเส้นทางในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
ชินเชโร (Chinchero)เป็นเมืองเก่าแก่ในหุบเขาอีกแห่งหนึ่งที่ฉันแวะไปเยี่ยมเยือน แน่นอนว่าโบราณสถานที่สร้างจากหินและที่ราบที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ยังมีให้เห็น รวมไปถึงหินขนาดใหญ่ที่ถูกตัดให้ราบด้านบนเหมือนจะใช้เป็นที่นั่ง หรือแท่นอะไรสักอย่าง ผู้ปกครองชาวอินคาสมัยหนึ่งเคยสร้างวังขึ้นที่นี่ และเมื่อชาวสเปนเข้ายึดครองในสมัยล่าอาณานิคมก็มีการสร้างโบสถ์ทับซ้อนลงบริเวณที่เป็นวังเดิมแห่งนี้ ซึ่งโบสถ์ที่ว่านี้ก็ยังคงใช้การอยู่ในปัจจุบันและสามารถเข้าไปชมศิลปะยุคอาณานิคมได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ถูกใจฉันที่นี่กลับเป็นงานศิลปหัตถกรรมของชาวพื้นเมืองมากกว่า เนื่องจากที่นี่มีการอนุรักษ์การทอผ้าและทำเครื่องประดับแบบพื้นเมืองเอาไว้ สังเกตได้จากมีของที่ระลึกวางขายมากมาย รวมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆของชาวพื้นเมืองต่างๆให้เข้าชม งานฝีมือที่นี่จึงดูโดดเด่นกว่าสินค้าที่ระลึกที่วางขายทั่วๆไป ตัวเมืองเล็กๆที่ต้องเดินผ่านจากลานจอดรถเพื่อไปเข้าชมโบราณสถานก็ดูน่ารักน่าหลงใหลไปหมด เมืองเล็กๆแห่งนี้ถือเป็นเมืองโปรดเมืองหนึ่งของฉันเลยทีเดียว
ไม่ไกลกันนักมีสถานที่ที่มีทัศนียภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า ซาลินัสเดอมารัส (Salinas de Maras) หรือบ่อนาเกลือบนเขาสูง ที่มีนาเกลือลดหลั่นไปตามแนวสันเขากว่า 3,000 บ่อ การทำนาเกลือที่นี่เกิดจากการผันน้ำแร่ธรรมชาติ อันมีความเข้มข้นของเกลือสูงที่ไหลออกมาจากซอกเขา เข้าสู่บ่อและรอน้ำระเหย เห็นเป็นผลึกและคราบเกลือสีขาวๆ น้ำตาลอ่อนอยู่เต็มหน้าผา เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของหุบเขาแห่งนี้เป็นอย่างดี
หากที่น่าอัศจรรย์ใจมากกว่า คงหนีไปพ้นมอไรย์ (Moray) เมื่อแรกที่ไปถึง ฉันนึกถึงอัฒจรรย์ในสนามกีฬาขนาดใหญ่โตมโหฬาร มีโค้งที่นั่งเป็นขั้นๆวงๆซ้อนกันขึ้นไปคล้ายก้นหอย หากแต่ขั้นแต่ละขั้นของที่นี่สูงกว่า 2เมตร
ใครก็ตามที่สร้างที่นี่ได้ใช้ประโยชน์จากการยุบตัวของพื้นโลกที่เป็นปล่องลงไปเป็นแอ่งๆ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าคนโบราณสร้างสิ่งก่อสร้างที่ว่านี่ขึ้นมาเพื่ออะไร แถมยังไม่ได้มีเพียงวงเดียว แต่มีหลายๆวง กระจายอยู่ตามจุดต่างๆทั่วบริเวณ จากการศึกษาพบว่าบริเวณขั้นขนาดใหญ่ต่างๆนั้น มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่างกันถึง 5 องศาเซลเซียส ประกอบกับหลักฐานโดยรอบ ทำให้พอจะเชื่อได้ว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นห้องแลปทางการเกษตรขนาดมหึมาของชาวอินคา ที่ใช้สำหรับพัฒนาสายพันธุ์พืชต่างๆให้มีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง แน่นอนว่าภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้อยากที่จะเดินลงไปเพื่ออยู่ตรงจุดกึ่งกลางของวงเป็นอย่างยิ่ง ฉันพยายามไต่ตามขั้นหินเหล่านั้นลงไป แต่ละการปีนต้องก้าวขาลงตามขั้นบันไดหินที่เขาทำไว้ประมาณกว่าครึ่งเมตร และใช้เวลานานพอควรกว่าจะลงไปถึงด้านล่างสุดได้ และเมื่อฉันได้ลองเปล่งเสียงออกมาขณะที่ยืนอยู่ตรงจุดกึ่งกลางด้านล่างสุดก็ดูเหมือนว่าเสียงของฉันจะสะท้อนก้องกระจายไปโดยรอบ จนทำให้นึกไปได้ว่า หรือนี่จะเป็นเวทีจัดการแสดงของคนในสมัยโบราณกันแน่? อย่างไรก็ดี ฉันขอเตือนผู้ที่ต้องการจะเดินลงไปทดลองว่า การเดินขึ้นตอนขากลับนั้นหนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะมนุษย์ขาสั้นๆอย่างชาวเรา…
โบราณสถานขนาดใหญ่สุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่อินคาเทรล มีชื่อแปลกๆว่า โอลันไทย์แทมโบ (Ollantaytambo)


ถือเป็นโบราณสถานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเปรูเลยทีเดียว ขนาดก็ใหญ่โตมโหฬารต้องปีนป่ายกันแบบได้เหงื่อกว่าจะถึงจุดสำคัญๆด้านบน แน่นอนว่าหลักๆก็คือสิ่งก่อสร้างที่สร้างจากการซ้อนหินและแนวเทอเรสขนาดยักษ์ ที่กินบริเวณไปทั่วหุบและเขาโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ (เชื่อว่า) ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ใช้ประโยชน์ในทางดาราศาสตร์ ป้อมปราการ หรือที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการทำการเกษตรกรรมและปศุสัตว์อีกด้วย ภูเขาโดยรอบมีชื่อพื้นเมืองต่างๆที่แปลออกมาแล้วเกี่ยวข้องกับทองคำทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนักเพราะชาวอินคามีชื่อเรื่องความมั่งคั่งในทองคำจนทำให้ถูกชาวสเปนรุกรานปล้นเอาไปเสียจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเลย จุดที่ฉันว่าพลาดไม่ได้คือบริเวณที่เรียกว่าวิหารสุริยัน อันมีหินแกรนิตสีชมพูขนาดใหญ่มหึมาที่ตัดจนเรียบเรียงต่อกันเข้ามุมอย่างแนบสนิทเรียงเป็นกำแพงบนยอดเขา จนไม่น่าเชื่อว่าคนธรรมดาจะทำขึ้นได้อย่างไร แล้วยิ่งมารู้อีกว่าแหล่งหินแกรนิตที่ใกล้ที่สุดนั้นอยู่ที่เขาอีกลูกหนึ่งที่ต้องข้ามหุบข้ามแม่น้ำออกไปอีก ก็ยิ่งทำให้สงสัยมากขึ้นไปอีกว่าแล้วเขาขนข้ามแม่น้ำข้ามเขากันมาได้อย่างไร? จากจุดนี้ถ้ามองไปทางด้านที่เป็นที่ตั้งของเมืองด้านล่าง จะเห็นหน้าผาแกะสลักเป็นหน้าคนขนาดยักษ์ที่ชาวอินคาเชื่อว่าเป็นร่างของเทพในตำนานโบราณตนหนึ่งที่คอยชี้ทางสว่างให้กับมนุษย์
หลังจากเดินทางผ่านหุบเขาศักดิ์สิทธิ์เลียบแม่น้ำมาเรื่อยๆ ในที่สุดฉันก็มาถึงปากทางสู่อินคาเทรล แต่จากจุดนี้หากจะเดินไปยังมาชูปิกชู (Machu Picchu) จะต้องใช้เวลาถึง 4 วัน ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่เคยเป็นเส้นทางดั้งเดิมของชาวอินคา ขึ้นลงเขาผ่านไปยังโบราณสถานต่างๆระหว่างทาง อย่ากระนั้นเลย ฉันเลือกนั่งรถไฟต่อไปยังสถานีปลายทางแล้วซื้อตั๋วรถบัสไต่ซิกแซกขึ้นเขาไปที่ปากทางเข้ามาชูปิกชูเลยดีกว่า เนื่องจากเป็นสถานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมอันดับต้นๆของเปรู จึงมีคนมาเยือนที่นี่มากมาย แม้ว่าทางการจะจำกัดคนเข้าชมเพียงวันละไม่เกิน 2,500 คนก็ตาม (หากมาช่วงพีคๆจำเป็นอย่างยิ่งจองและซื้อตั๋วเข้าชมล่วงหน้า) ฉันเชื่อว่ารูปถ่ายของมาชูปิกชูมีอยู่ให้เห็นโดยทั่วไปจนเป็นที่คุ้นตาของหลายๆคนแม้จะอยู่คนละฝั่งโลก ตัวฉันเองก็เห็นรูปถ่ายและของสารพันที่ทำเป็นรูปมาชูปิกชูในเปรูมากมายก่อนจะมาถึงสถานที่จริง แต่ถึงกระนั้น เมื่อฉันเลือกที่จะเดินเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาไปที่จุดชมวิวหลังจากที่ผ่านทางเข้ามาแล้ว ภาพที่เห็นตรงหน้า (แม้ว่าจะคุ้นตามาก่อนก็ตาม) ก็ทำเอาฉันใจสั่น ตกตะลึงพรึงเพริดขนลุกซู่กับความงามตรงหน้าของโบราณสถานลึกลับกลางขุนเขาแห่งนี้อย่างบรรยายไม่ถูก (ต้องไปเห็นด้วยตาเท่านั้นจริงๆ) จะด้วยความลงตัวของพื้นที่ บรรยากาศหรือการจงใจสร้างเมืองให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อหรืออะไรก็ตามแต่
มาชูปิกชู เพิ่งถูกค้นพบและเป็นที่รู้จักในโลกภายนอกเมื่อร้อยปีที่แล้ว โดยคุณฮิแรม บิงแฮม (Hiram Bingham)นักสำรวจชาวอเมริกันในปี ค.ศ. 1911 ได้ดั้นด้นเข้าไปค้นหาตามคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองในเทือกเขาแอนดีส เนื่องจากที่ตั้งอยู่ในป่าลึกและมีพืชพรรณปกคลุม จึงถือเป็นปราการทางธรรมชาติที่ช่วยปกป้องสถานที่จากพวกล่าสมบัติทั้งหลาย อารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่จึงได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จากจุดชมวิวนี้ ฉันพยายามจินตนาการตามความเชื่อของชาวอินคา โดยมองข้ามโบราณสถานไปสู่ขุนเขาฮัวนาปิกชู (Huana Picchu)ทะมึนดำฝั่งตรงข้ามที่ให้รูปลักษณ์เป็นเสือพูม่า โดยมีแร้งคอนดอร์ขนาดเล็กยืนอยู่เคียงข้าง ในขณะที่แม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวไปตามแนวเขาด้านล่างเปรียบเสมือนเป็นงู (เสือพูม่า งูและแร้งคอนดอร์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานของอินคา) ตัวกลุ่มอาคารของมาชูปิกชูที่เรียงรายอยู่บนเขามีรูปร่างดั่งเช่นกิ้งก่าบินขนาดยักษ์ที่เพิ่งขึ้นมาจากแม่น้ำด้านล่าง โดยมีเทอเรสที่ลดหลั่นกันตามสันเขาโดยรอบเป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการด้วย
ฉันเดินลงไปชมจุดสำคัญๆต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่มีหินขนาดใหญ่หน้าตาแปลกๆที่น่าจะใช้ประโยชน์ในทางดาราศาตร์ที่เรียกว่าอินติอัวตาน่า (Intihuatana) หรือการเรียงหินแกรนิตแบบต่อกันเรียบกริ๊บบริเวณวิหารสามหน้าต่าง (Temple of Three Windows) และบริเวณวิหารสุริยัน และเมื่อเทียบกับหินก้อนเล็กกว่าในการก่อสร้างที่หยาบกว่าตามจุดอื่นๆแล้ว ก็ยิ่งสนับสนุนความเชื่อที่ได้จากการชมสถานที่อื่นๆมาก่อนว่า มันต้องถูกสร้างด้วยคนที่อยู่คนละยุคสมัยและมีวิทยาการต่างกันอย่างสิ้นเชิงแน่นอน อย่างไรก็ดี แค่การได้เดินขึ้นๆลงๆ ไปตามโบราณสถานและทุ่งหญ้าสีเขียว ผนวกกับทิวทัศน์ของแนวขุนเขาที่ล้อมรอบสถานที่แห่งนี้ โดยไม่ต้องคิดมากถึงความเป็นมา แต่อยู่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในปัจจุบัน ก็งดงามพอที่จะสร้างความเพลิดเพลินและอิ่มเอมใจได้ไม่น้อยตลอดเส้นทาง

ฉันเชื่อแน่ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะผ่านเวลามากี่อยู่กี่สมัยก็ตาม เพราะไม่ว่าอย่างไรดินแดนแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาชื่นชมและแสวงหากันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด