Destination Peru: Cusco and Its Vicinity

ในที่สุดฉันก็มาถึงเปรู ประเทศในทวีปอเมริกากลางที่อยู่คนละฟากฝั่งโลกกับเมืองไทย ประเทศในฝันของหลายๆคน ประเทศที่ร่ำรวยอารยธรรมและมหัศจรรย์ธรรมชาติที่หลากหลายอารมณ์ แน่นอนว่าการขึ้นเครื่องบินบินข้ามโลกมาไกลขนาดนี้ ฉันต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวกับเรื่องของเวลา และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อจุดหมายปลายทางแรกของฉัน อันได้แก่ เมืองคุสโก (Cusco) อดีต เมืองหลวงศูนย์กลางอาณาจักรอินคา ที่อยู่ทางแถบเทือกเขาแอนดีสทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 3,400 เมตรการปรับตัวของฉันจึงต้องรวมไปถึงการปรับตัวให้เขากับความสูงของพื้นที่ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดอาการของโรคความสูง หรือ Altitude Sickness

ฉันเลือกมาเมืองคุสโกเหมือนที่ใครต่อใครที่มาเยือนประเทศเปรูแห่งนี้เลือกที่จะ มา เพราะคุสโกถือเป็นเมืองที่สวยและมีเสน่ห์ในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นจุดตั้งต้นไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคาอย่างมาชูปิกชู อันลือชื่อ แน่นอนว่าเมื่อมาถึง ฉันเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าของเกสต์เฮ้าส์อย่างไม่ลังเล คือการเคี้ยวใบโคคาแห้ง และดื่มชาโคคา ที่คนที่นี่เชื่อว่าช่วยบรรเทาอาการของโรคความสูงได้ ซึ่งทั้งน้ำชาโคคาและใบโคคา ก็มีวางไว้ให้ดื่มกินได้ไม่จำกัดอยู่ที่ล็อบบี้ของโรงแรมเล็กๆที่ฉันเข้าพัก นอกจากนี้ก็ปฏิบัติตัวตามคำบอกกล่าวต่อๆกันมาว่าให้ ดื่มน้อยๆ กินน้อยๆ นอนเยอะๆ (ในที่นี้หมายถึงงดดื่มแอลกอฮอล์และงดรับประทานอาหารหนักๆ)…วันแรกของการ มาเยือนของฉันจึงอยู่แค่บริเวณที่พักเท่านั้น หลังจากที่ร่างกายเริ่มคุ้นชินกับบรรยากาศที่มีออกซิเจนเบาบางกว่าระดับน้ำ ทะเลที่ฉันคุ้นเคย อาการปวดหัวตุ๊บๆเบาบางลง การสำรวจเมืองมรดกโลกแห่งนี้ก็เริ่มต้นขึ้น

เมืองคุสโก มีเสน่ห์ตรงที่ความเป็นเมืองเก่าที่มีการผสมผสานอารยธรรมที่แตกต่างเข้าด้วย กัน ด้วยเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ โดยเมืองนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นพันปีมาแล้ว แต่มาเจริญรุ่งเรืองเอามากๆก็เมื่อชาวเผ่าอินคาเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดน แห่งนี้ และได้ใช้เมืองคุสโก (ตามภาษาเกอชัว (Quechua) ภาษาของชาวอินคาโบราณแปลว่า “สะดือของโลก”) เป็นศูนย์กลางอำนาจ ขยายอิทธิพลไปทั่วเทือกเขาแอนดีส ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 จนถึงประมาณต้นศตวรรษที่ 16เมื่อมีการขยายอำนาจของประเทศจากยุโรป ดินแดนของชาวอินคาที่มั่งคั่งด้วยทองคำก็ถูกรุกรานชาวสเปนในช่วงล่าอาณานิคม หลังปี ค.ศ. 1533 ดิน แดนแถบนี้ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนเป็นเวลาเกือบสามร้อยปี ก่อนที่จะประกาศเอกราชออกมาเป็นประเทศเปรูในปัจจุบันในช่วงศตวรรษที่ 19

ฉันเดินชมเมืองคุสโกด้วยความเข้าใจในประวัติศาสตร์แบบง่ายๆข้างต้น เพราะสถาปัตยกรรมหลักๆของเมืองนี้ ประกอบไปด้วยอารยธรรมต่างๆ อันได้แก่ ยุคก่อนอินคา อินคา สเปน และรวมไปถึงอารยธรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน ภายในเมืองคุสโกสามารถใช้สองเท้าเดินเที่ยวชมได้สบายๆ (หลังจากที่เคยชินกับความสูงระดับนี้แล้ว) ฉันเริ่มต้นออกเดินจากที่พักพร้อมแผนที่ในมือ เดินไปที่จตุรัสกลางเมืองที่มีชื่อว่าพลาซ่าเดออาร์มัส (Plaza de Armas) ลานกว้าง แห่งนี้มีหน้าตาคล้ายจตุรัสกลางเมืองต่างๆในยุโรป แต่ตามประวัติศาสตร์แล้วที่นี่คือแหล่งพบปะชุมนุมกันของชาวอินคา มีชื่อว่า ฮัวเกปาตา (Haucaypata) แล้ว ชาวสเปนก็จับมาแปลงโฉมเสียใหม่ กลางเป็นลานกว้างที่ตรงกลางเป็นสวนสาธารณะ มีน้ำพุ รูปปั้น ล้อมรอบด้วยอาคารเก่าๆ ที่ปัจจุบันใช้เป็นร้านค้าและร้านอาหารเสียส่วนมาก รวมไปถึงโบสถ์ขนาดใหญ่ Cathedral of Cusco ซึ่ง ก่อสร้างขึ้นในยุคอาณานิคม จึงดูหน้าตาเหมือนโบสถ์โกธิคเก่าๆในยุโรป หากแต่โบสถ์แห่งนี้ก็สร้างขึ้นบนฐานของราชวังเดิมของชาวอินคาและยุคก่อนอิน คานั่นเอง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของฉัน ต้องการมาดูวัฒนธรรมของชาวอินคา และชาวอะไรก็ตามที่เจริญรุ่งเรืองก่อนหน้านั้น ฉันจึงไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งที่ดูเป็นยุโรปๆ มากนัก แต่ชอบที่จะเดินตามกำแพงหินขนาดใหญ่ที่เป็นรากฐานเดิมของวัฒนธรรมก่อนหน้า มากกว่า…

จาก ลานจตุรัส หากสังเกตุดีๆ จะมีแนวกำแพงที่ทำจากหินแกรนิตขนาดใหญ่เรียงต่อกัน เป็นรากฐานของตึกใหม่ๆที่สร้างต่อยอดขึ้นด้านบน กำแพงหินเหล่านี้เองที่ฉันให้ความสนใจ เพราะจากหลักฐานทางวิทยาการหลายๆด้าน ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าบริเวณนี้เจริญรุ่งเรืองมาจากวัฒนธรรมอินคา นั้น ถูกทฤษฎีใหม่ๆโต้ว่า จริงๆแล้ววิทยาการการตัดต่อเรียงหินเข้ามุมกันได้อย่างเนี๊ยบแนบสนิทกันจน ไม่มีร่องระหว่างรอยต่อนั้น เป็นผลงานสร้างสรรของอารยธรรมที่เก่าแก่แต่ก้าวหน้ามากกว่าอินคาต่างหาก แล้วเมื่ออินคาเข้ามา จึงมาสร้างสิ่งก่อสร้างทับซากอารยธรรมดั้งเดิมนั้น  (เหมือน กับที่สเปนสร้างทับอินคา) ฉันเดินสังเกตกำแพงแล้วก็เริ่มเห็นด้วยกับทฤษฎีดังกล่าวเนื่องจากมองเห็น ความแตกต่างของฝีมือของคนสองสามยุคบนกำแพงหินที่ดูคล้ายๆกันนั้นได้อย่าง ชัดเจน ฉันเดินเลาะกำแพงต่างๆไปเรื่อยๆโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ก้อนหิน 12 มุม (Twelve-angled Stone) อันลือชื่อของเมือง ซึ่งก็คือก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งบนกำแพงที่ถูกตัดแต่ง ต่อกับหินก้อนอื่น ที่ถูกตัดให้มีถึง 12 มุม ในก้อนเดียว ตรงบริเวณที่เคยส่วนหนึ่งของราชวังของอินคาเมื่อได้ดูใกล้ๆก็ให้เกิดความงุน งงสงสัยขึ้นมาทันทีว่า คนโบราณเขาตัดก้อนหินแบบนี้ได้อย่างไร และไม่ใช่เป็นการตัดต่อแค่ผิวภายนอกของหินเท่านั้น แต่เป็นการตัดแต่งก้อนหินทั้งก้อนทั้งแท่งในแนวลึกอีกต่างหาก ซึ่งการจัดเรียงกันอย่างแนบสนิทของหินทั้งก้อนแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในปี ค.ศ. 1650 ใน ขณะที่โครงสร้างสิ่งก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร อาคารของชาวสเปนพังระเนระนาด รากฐานกำแพงที่เป็นหินก้อนใหญ่ๆเหล่านี้กับยังคงสภาพเดิมได้อย่างน่า อัศจรรย์

ฉันได้เห็นตัวอย่างชัดๆของการเรียงตัวของหินที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจนอีกในโบสถ์ซานโตโดมิงโก้ (Church of Santo Domingo) เช่นเดียวกับหลายๆที่ในเมือง โบสถ์แห่งนี้สร้างทับลงบนศาสนสถานดั้งเดิมที่เรียกว่า โคริกันชา (Qoricancha) วิหารแห่งสุริยา หรือ Temple of the Sun ของชาวอินคา ซึ่งเดิมเรียกว่า อินติคันชา (Inti Kancha) หรือวิหารทองคำ ที่ชาวอินคาใช้บวงสรวงสุริยะเทพ ว่ากันว่าในยุคอินคานั้น โครงสร้างหินขนาดใหญ่ (ภายในโบสถ์ที่เห็นในปัจจุบัน) ที่ทำเป็นห้องๆเหล่านี้ฉาบทาไปด้วยทองคำล้วนๆ รวมถึงในสวนหย่อมรอบๆก็เต็มไปด้วยรูปปั้นทองคำ และด้วยความรุ่มรวยในทองคำนี่เองที่ทำให้ถูกชาวสเปนเข้ามารุกราน หรืออาจเรียกได้ว่าชาวอินคาถูกปล้นทองไปหมด จนปัจจุบันไม่เหลือทองอะไรให้เห็น ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ชาวสเปนจับตัวกษัตริย์ของอินคาเป็นประกัน เพื่อเรียกร้องเอาทองจำนวนมหาศาลมาไถ่ตัว ซึ่งชาวอินคาก็เอาทองจากที่วิหารแห่งนี้นี่เองไปให้ แต่สุดท้ายแม่ทัพสเปนก็สังหารตัวประกันทิ้งเสียอย่างไม่ใยดี อย่างไรก็ตาม ยังมีตำนานกล่าวไว้อีกว่า ชาวอินคาส่วนหนึ่งได้หอบเอาทองคำทั้งหมดเท่าที่มีหลบหนีไปเก็บซ่อนไว้ที่ อื่น สร้างเป็นเมืองทองคำที่ยังไม่มีใครค้นพบแม้ในปัจจุบัน ดินแดนแห่งนั้นมีชื่อว่า ไพติติ (Paititi)ซึ่ง ยังคงเป็นเหมือนเมืองลึกลับในตำนานที่กำลังถูกค้นหาและยังไม่ถูกค้นพบ (แนะนำสำหรับผู้ที่มีเลือดนักล่าสมบัติอยู่ในตัว ที่จตุรัสพลาซ่าเดออาร์มัสมีร้านอาหารชื่อไพติติ ข้างในตกแต่งด้วยแผนที่และลายแทงต่างๆที่เชื่อว่าอาจนำไปสู่ดินแดนลึกลับ แห่งนี้ได้)

ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ยังมีแห่งโบราณสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ให้ออกไปชื่นชมได้โดยง่าย แน่นอนว่า ฉันรอจนไม่มีอาการปวดหัวของโรคความสูงแล้วนั่นแหละ จึงเริ่มออกลุยไปตามสถานที่่ต่างๆเหล่านั้น เนื่องจากต้องใช้กำลังในการเดิน และปีนป่ายบ้างพอสมควร (ไม่ควรที่จะหักโหมลุยไปดูตั้งแต่วันแรกๆที่ยังไม่ชินกับอากาศบนที่สูง) เริ่มที่โบราณสถานใกล้ๆแต่ใหญ่โตมโหฬารอย่าง แซคไซวามาน (Sacsayhuaman) ซึ่งแรกๆ กว่าฉันจะจำและออกเสียงได้ก็ใช้เวลาพอสมควร จนมีชาวต่างชาติพูดติดตลกแนะนำให้จำง่ายๆว่า ออกเสียงคล้าย Sexy Woman นั่น แหละ ฉันจึงจำชื่อสถานที่นี้ได้ขึ้นใจ แต่ที่นี่ไม่ใช่สาวเซ็กซี่อย่างที่ออกเสียง เนื่องจากเป็นซากป้องปราการขนาดมหึมา สร้างจากหินแกรนิตก้อนใหญ่ๆ เรียงเข้ามุมกันเหมือนต่อรูปต่อ ว่ากันว่าหินบางก้อนหนักถึง 90-120 ตัน และตั้งสูงกว่าตัวคนหลายเท่าจนน่าฉงนว่ามนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราๆนี่เหรอที่ สร้างขึ้นและสร้างขึ้นได้อย่างไร แท่งหินถูกเรียงเป็นทางยาวแบบถ่ายรูปอย่างไรก็เก็บไม่หมด (ฉันต้องถ่ายต่อกันประมาณ 5 รูป แล้วมาต่อเป็นพาโนรามาถึงจะเก็บแนวหินทั้งแนวได้) สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเหนือเมืองคุสโก ประดุจเหยี่ยวที่กำลังจ้องมองเมืองทั้งเมืองอยู่ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้สร้าง (ก่อนยุคอินคา) และสร้างไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่พอจะบอกได้ว่า ใช้ประกอบพิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา รวมถึงเป็นฐานทัพทางทหารอีกด้วย ปัจจุบัน ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี สถานที่แห่งนี้จะถูกจัดให้มีงานเทศกาลเฉลิมฉลอง โดยมีผู้คนแต่งกายชุดพื้นเมืองออกมาเต้นรำกันอย่างงดงาม

ห่างออกไปอีกนิด เป็นที่ตั้งของโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งชื่อ เคนโค (Qenko) ซึ่ง แปลว่าคดเคี้ยวหรือเขาวงกต ซึ่งก็สมชื่อจริงๆ เพราะมีการทำทางจากหินที่คดเคียววกวน มีรอยหินที่ถูกตัดเป็นเส้นตรงอย่างน่าอัศจรรย์ เพื่อใช้ทำอะไรบางอย่าง ภายในซอกหลืบยังมีหินที่ถูกตัดเรียบเหมือนทำเป็นที่นั่ง เชื่อกันว่า อาจเป็นไปได้ว่าที่นี่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อบูชาเทพเจ้า หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หลังจากที่ฉันเดินตามคนอื่นชมสถานที่แบบมึนๆ เพราะทางมันปีนป่ายวกวนไปมาจนหาทางออกเจอแล้ว ฉันก็นั่งรถไกลออกไปจากเมืองอีกนิด เพื่อชมอีกสองโบราณสถานคือ ปูคาปูคาร่า (Puca Pucara) ซึ่ง แปลว่าป้อมแดง เนื่องจากหินที่ใช้ก่อสร้างที่นี่จะสะท้อนแสงเป็นสีแดง ว่ากันว่าที่นี่เป็นเหมือนที่เก็บส่วย ที่พัก และป้อมตรวจการณ์ สำหรับผู้เดินทางผ่านมาในบริเวณแถบนี้ในสมัยก่อน และสถานที่สุดท้ายบริเวณใกล้ๆเมืองคุสโกที่ฉันไปชมก็คือ ทัมบูมาไชย์ (Tambomachay) โบราณ สถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ เนื่องจากชาวอินคาเชื่อว่าน้ำเป็นองค์ประกอบที่ศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต และเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ เมื่อลงจากรถแล้ว จะต้องเดินไปตามทางสักระยะหนึ่งกว่าจะเห็น ก้อนหินที่ถูกนำมาเรียงตัวกันเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่พิเศษกว่าที่อื่นคือมีการทำทางน้ำที่ดึงจากน้ำพุธรรมชาติให้ไหลผ่านไปตาม ร่องหินต่างๆได้อย่างน่าสนใจ และการเซาะร่องหินทำทางให้น้ำผ่านนั้น ทำได้เนียบจนน่าแปลกใจ นอกจากนี้ สภาพการเรียงหิน และการตัดแต่งหินนั้น เห็นได้ชัดว่าทำขึ้นโดยผู้คนจากคนละยุคสมัย มีทั้งแบบที่ทำขึ้นหยาบๆ แบบที่ตัดต่อกันอย่างเนี๊ยบมากๆ ไปจนถึงการเรียงหินที่เหมือนพยายามเลียนแบบให้เหมือนของเก่า แต่ทำได้ไม่เนี๊ยบเท่าอันเนื่องจากวิทยาการยังไม่ถึงขั้น

หลัง จาก “อิน” กับตำนานและอารยธรรมอันมหัศจรรย์ในเมืองคุสโกและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ฉันหันกลับมาทำตัวสบายๆเดินเล่นในเมืองแบบชิลล์ๆบ้าง เริ่มจากเลือกอาหารพื้นเมืองเด็ดๆ จากร้านอาหารหลากหลายชาติ หลากหลายราคาที่มีอยู่เต็มเมือง เดินชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆที่มีอยู่มากมาย จิบกาแฟร้อนๆในร้านฮิปๆตามซอกมุมถนนสายเล็กๆ และเดินช็อปปิ้งไปตามถนน ที่มีสินค้าให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของสมัยใหม่ หรือของที่ระลึกต่างๆ หรือของใช้ เครื่องประดับของชาวอินคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัตถกรรมพื้นเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งทอจากขนอัลพาข่า (Alpaca) ซึ่งเป็นผ้าทอขนสัตว์ที่ขึ้นชื่อของดินแดนแถบนี้  ยิ่ง เดินก็ยิ่งพบว่าเมืองคุสโกเป็นเมืองที่น่ารักและน่าเดินเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ไม่นับรวมร้านค้าที่มีหลากหลายจนอาจทำเอากระเป๋าฉีกได้ง่ายๆ แต่ทุกตรอกซอกซอย ยังมีมุมเก๋ๆ น่ารักๆ ให้ได้ค้นหาอย่างไม่รู้เบื่อ ดูเหมือนว่า ฉันคงต้องหาข้ออ้างเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับความสูงของที่นี่ ด้วยการอยู่เพิ่มอีกสองสามวันเสียแล้ว…

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s