Wondrous Peru’s Southern Coast: From Nazca to Paracas

มาชั่งน้ำหนักเลยครับ” ฉันและคนอื่นๆที่หน้าเคาเตอร์เครื่องบินเล็กมองหน้ากันเลิ่กลั่ก พรางคิดในใจว่า ใครจะไปชั่งก่อนล่ะ? ด้วยความที่กลัวว่าเขาจะขานน้ำหนักเสียงดังได้ยินไปทั่วทั้งโถง โชคดีที่พนักงานได้เพียงแค่ทวนน้ำหนักกับคนขึ้นชั่งเบาๆและจดลงไปในสมุกบันทึกเท่านั้น… ฉันและคนอื่นๆกำลังติดต่อขึ้นเครื่องบินใบพัดเล็ก 6 ที่นั่งเพื่อบินขึ้นชม ลายเส้นปริศนาของชาวนาสก้า (Nazca Lines) ที่มีขนาดใหญ่จนไม่สามารถเห็นเป็นรูปร่างได้จากระดับพื้นดิน การชั่งน้ำหนักที่ว่าจึงจำเป็นสำหรับการจัดที่นั่งบนเครื่องบินลำเล็กๆนั่นเอง จากประสบการณ์ครั้งนี้ ฉันบอกได้เลยว่า ถ้าใครอยากนั่งหน้าคู่คนขับ ต้องทำตัวให้มีน้ำหนักมากที่สุดมากกว่าสมาชิกคนอื่นๆที่ขึ้นเครื่องลำเดียวกัน

เครื่องบินใบพัด 6 ที่นั่งที่พานักท่องเที่ยวขึ้นชมความมหัศจรรย์ของนาสก้าไลน์
เครื่องบินใบพัด 6 ที่นั่งที่พานักท่องเที่ยวขึ้นชมความมหัศจรรย์ของนาสก้าไลน์

                นาสก้าไลน์ (Nazca Lines) เป็นปริศนาลึกลับที่คนโบราณทำเอาไว้ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ เชื่อกันว่าเส้นเรขาคณิตต่างๆที่กระจัดกระจายอยู่บนพื้นที่แห้งแล้งไม่ไกลจากฝั่งทะเลทางด้านใต้ของเปรู ที่เรียกว่า Pampa Colorada (Red Plain) แห่งนี้ มีมากถึง 10,000 เส้น ทั้งเป็นเส้นตรงและประกอบเป็นรูปร่างต่างๆกว่า 300 ภาพ ในจำนวนนั้นมีทำเป็นรูปสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชอยู่ 70 รูป เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้งที่เป็นดินแดงๆนี้เป็นเขตที่มีฝนตกน้อยมาก ทำให้ลายเส้นที่เชื่อกันว่าถูกทำขึ้นว่า 2,000 ปีมาแล้วแห่งนี้ยังคงอยู่…เครื่องบินเล็กพาฉันขึ้นไปบินเหนือฟากฟ้า เพื่อชมเส้นสายลายเส้นเหล่านี้ แม้ว่าจะได้รับแผนที่เล็กๆและภาพลายเส้นที่สำคัญๆที่จะได้เห็นในระหว่าง 30 นาทีที่เหินฟ้าอยู่กลางอากาศ แต่จากความตื่นเต้นหรืออย่างไรไม่ทราบ ฉันก็พลาดเห็นรูปแรกที่กัปตันชี้บอกไปอย่างงงๆ แม้ว่ากัปตันและเพื่อนร่วมทางจะทั้งพูดทั้งชี้อธิบายแล้วก็ตาม ฉันเริ่มตั้งสมาธิใหม่ แล้วก็นั่นเอง รูปนกฮัมมิ่งเบิร์ดที่กว้างยาวถึงเกือบๆ 100 เมตร แมงมุม (สัญลักษณ์ของฝนและความอุดมสมบูรณ์) ลิงหางยาวม้วนเป็นวง มนุษย์หัวกลมคล้ายมนุษย์อวกาศบนหน้าผา (บ้างว่าเป็นมนุษย์หัวนกเค้า) แร้งคอนดอร์ที่แผ่ปีกกว้างกว่า 130 เมตร และรูปสี่เหลี่ยมเรขาคณิตขนาดมหึมา เป็นต้น อีกรวม 10 กว่ารูป โชคดีที่ระหว่างวนกลับ กัปตันพามาวนดูแถวๆรูปแรกอีกครั้ง ฉันถึงได้เห็นเจ้าวาฬ สัตว์ตัวแรกที่ฉันพลาดไปในตอนต้น ซึ่งเจ้าวาฬตัวนี้นี่เองที่เป็นนาสก้าไลน์รูปแรกที่ถูกค้นพบโดยนักบินที่ขับเครื่องบินผ่านบริเวณนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1912

มนุษย์หัวนกเค้าหรือมนุษย์อวกาศ ที่บนหน้าผาแห้งแล้ง หนึ่งใน Nazca Lines อันลือชื่อ
มนุษย์หัวนกเค้าหรือมนุษย์อวกาศ ที่บนหน้าผาแห้งแล้ง หนึ่งใน Nazca Lines อันลือชื่อ
เส้นสายเป็นลวดลายนกฮัมมิ่งเบิร์ด นกที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นผู้สื่อสารระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า
เส้นสายเป็นลวดลายนกฮัมมิ่งเบิร์ด นกที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นผู้สื่อสารระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า
แร้งคอนดอร์แผ่ปีกกว้างกว่า 130 เมตร หนึ่งในนาสก้าไลน์ที่ลากเป็นรูปสัตว์
แร้งคอนดอร์แผ่ปีกกว้างกว่า 130 เมตร หนึ่งในนาสก้าไลน์ที่ลากเป็นรูปสัตว์
ต้นไม้และมือ (หรือกบ?) ลายเส้นที่มองเห็นได้ทั้งจากเครื่องบินเล็กและหอคอยริมถนน
ต้นไม้และมือ (หรือกบ?) ลายเส้นที่มองเห็นได้ทั้งจากเครื่องบินเล็กและหอคอยริมถนน
ลิงหางยาวม้วนเป็นวงกลม มีลักษณะคล้าย Spider Monkey ในป่าอเมซอน
ลิงหางยาวม้วนเป็นวงกลม มีลักษณะคล้าย Spider Monkey ในป่าอเมซอน

                ไม่มีใครให้คำตอบแน่ชัดได้ว่าเส้นสายเหล่านี้ (ที่ถูกทำขึ้นโดยการย้ายก้อนหินสีเข้มที่อยู่ผิวหน้าของพื้นมาวางเรียงเป็นขอบเส้นสองข้าง ทำให้พื้นสีอ่อนกว่าที่อยู่ด้านล่างโดดเด่นขึ้นมาเป็นเส้น) ถูกทำขึ้นมาทำไม เพื่อประโยชน์อะไร และทำขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อคนสมัยก่อนไม่มีเครื่องบินหรืออะไรก็ตามที่จะพาตัวไปอยู่บนที่สูงๆเพื่อเห็นภาพมหึมาเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี มีนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อนางมาเรีย ไรเชอร์ (Maria Reiche) ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี ค.ศ. 1998 ยอมอุทิศชีวิตของนางกว่า 40 ปี นอนกลางดินกินกลางทรายเพื่อศึกษาเส้นลึกลับเหล่านี้ นางเชื่อว่าเส้นสายเหล่านี้เป็นปฏิทินทางดาราศาสตร์ที่ทำขึ้นเพื่อสื่อสารกับเทพเจ้า เพื่อจุดประสงค์ในด้านการเกษตรและน้ำ และทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ลากเส้นออกไปโดยใช้เชือกขึงจากแนวแกนกลางของภาพ ชีวิตและผลงานของเธอคนนี้สามารถเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์มาเรีย ไรเชอร์ (Museo Maria Reiche) ในเมืองนาสก้า อย่างไรก็ดี หลังจากที่ฉันและเพื่อนร่วมทางจากหลายชาติลงจากเครื่องบินแล้ว ทฤษฎีต่างๆทั้งจากที่ได้ยินได้ฟังมาและคิดกันไปเองก็ผุดขึ้นมาเป็นข้อสันนิษฐานและสนทนากันอย่างออกรส เช่นว่า ใช้ในการทำพิธีกรรม เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ มนุษย์อวกาศหรือไม่ก็ยักษ์ในอดีตกาลมาทำไว้ หรือแม้แต่ความเห็นที่ว่าคนโบราณต้องรู้จักวิธีขึ้นไปบนฟากฟ้ามานานแล้ว ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เครื่องบิน เขาถึงทำเรื่องแบบนี้ได้ เป็นต้น

เครื่องบินใบพัด 6 ที่นั่งที่พานักท่องเที่ยวขึ้นชมความมหัศจรรย์ของนาสก้าไลน์
เครื่องบินใบพัด 6 ที่นั่งที่พานักท่องเที่ยวขึ้นชมความมหัศจรรย์ของนาสก้าไลน์
รถตู้เก่า พาหนะใช้งานของนางมาเรีย ไรเชอร์ ผู้ทุ่มเทศึกษาเส้นสายของนาสก้าไลน์กว่า 40 ปี จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาเรีย ไรเชอร์ในเมืองนาสก้า
รถตู้เก่า พาหนะใช้งานของนางมาเรีย ไรเชอร์ ผู้ทุ่มเทศึกษาเส้นสายของนาสก้าไลน์กว่า 40 ปี จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาเรีย ไรเชอร์ในเมืองนาสก้า

                จากเครื่องบินยังไม่พอ ฉันแวะไปที่หอชมวิวนาสก้าไลน์ริมทางหลวงอีกรอบ เพื่อเดินขึ้นหอชมวิวไปในระดับสูงพอสมควรให้ได้เห็นเส้นนาสก้าที่ทำเป็นรูปต้นไม้และมือ (บ้างว่าเป็นกบ) ที่อยู่ติดกับหอดังกล่าว เพื่อถ่ายรูปตัวเองกับเส้นลึกลับไว้เป็นที่ระลึก (อยู่บนเครื่องบินไม่มีทางถ่ายคู่ได้) หอชมวิวแห่งนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความหวาดเสียวในการบินบนเครื่องบินลำเล็กๆ แต่ก็อาจระทึกขวัญพอควรสำหรับคนที่กลัวความสูงเป็นทุนเดิม จากนั้นฉันแวะไปดูศูนย์กลางอารยธรรมนาสก้าที่กาฮัวชี (Cahuachi) สิ่งก่อสร้างรูปทรงปิรามิดสร้างจากอิฐโคลนสูงประมาณ 30 เมตร กลางทะเลทรายอันร้อนแรง เชื่อว่ายังมีปิรามิดเล็กๆอยู่ในอาณาเขตโดยรอบหลายร้อยอัน และรวมถึงหลุมฝังศพอีกหลายพันหลุม เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้งกว้างใหญ่เป็นทะเลทรายและงบประมาณจำกัดของประเทศ ทำให้สถานที่แห่งนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการขุดค้น ซึ่งก็ไม่ทันกับเหล่าหัวขโมยขุดหาสมบัติที่ตลุยขุดศพมัมมี่ของชาวนาสก้าเพื่อหาของมีค่า (แม้แต่ในปัจจุบัน) ระหว่างทางฉันถึงได้เห็นเศษซากกระดูกของมนุษย์และผ้าห่อมัมมี่กระจัดกระจายอยู่เป็นระยะๆ ฉันและเพื่อนร่วมทางจึงจอดรถกลางทะเลทรายร้อนระอุเพื่อไปดูซากโครงกระดูกเหล่านี้ให้ชัดๆ ไม่ใช่ว่าฉันบ้าหรือไม่กลัวอะไรหรอก เพียงแต่ว่า อารยธรรมโบราณที่นี่ มีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ฉันอยากเห็นกับตา…นั่นก็คือมนุษย์หัวกระโหลกยาว

กาฮัวชี (Cahuachi) สิ่งก่อสร้างรูปทรงปิรามิดกลางทะเลทราย ศูนย์กลางแหล่งอารยธรรมนาสก้า
กาฮัวชี (Cahuachi) สิ่งก่อสร้างรูปทรงปิรามิดกลางทะเลทราย ศูนย์กลางแหล่งอารยธรรมนาสก้า
โครงกระดูกโบราณถูกหัวขโมยสุสานขุดค้นและทิ้งขว้างอยู่กลางทะเลทรายบริเวณกาฮัวชี
โครงกระดูกโบราณถูกหัวขโมยสุสานขุดค้นและทิ้งขว้างอยู่กลางทะเลทรายบริเวณกาฮัวชี
โครงกระโหลกมนุษย์โบราณนาสก้ามีร่องรอยการเจาะกระโหลกเพื่อร้อยเชือก(!?)
โครงกระโหลกมนุษย์โบราณนาสก้ามีร่องรอยการเจาะกระโหลกเพื่อร้อยเชือก(!?)
สภาพการฝั่งศพของมนุษย์โบราณที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เมืองอิคา (Museo Regional de Ica)
สภาพการฝั่งศพของมนุษย์โบราณที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เมืองอิคา (Museo Regional de Ica)
สิ่งทอลายแปลกตาของมนุษย์โบราณนาสก้า
สิ่งทอลายแปลกตาของมนุษย์โบราณนาสก้า
โบราณวัตถุที่มีลวดลายและสีสันงดงามของอารยธรรมนาสก้า
โบราณวัตถุที่มีลวดลายและสีสันงดงามของอารยธรรมนาสก้า

                แม้จะไม่ได้เจอสิ่งที่อยากเห็นในบริเวณดังกล่าว แต่ต่อมาฉันก็ได้ยลสมใจ เมื่อได้แวะไปที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เมืองอิคา (Museo Regional de Ica) ที่รวบรวมวัตถุโบราณของอารยธรรมเก่าแก่กว่า 2,000 ปีอย่างปารากัส นาสก้า รวมถึงอารยธรรมที่ใหม่กว่าแต่มีชื่อเสียงอย่างอินคา แม้ว่าที่นี่จะโดนปล้นและขโมยเอาวัตถุโบราณไปหลายครั้ง แต่สิ่งที่จัดแสดงอยู่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อย โดยเฉพาะหัวกระโหลกยาว (Elongated Skull) ที่ฉันอยากเห็น คำอธิบายในพิพิธภัณฑ์บอกไว้ว่าคนยุคนั้นนิยมเอาผ้าพันหัวแน่นๆตั้งแต่เด็กเพื่อค่อยๆดัดขยายกระโหลกให้ยาวขึ้น (แบบเดียวกับที่คนจีนสมัยก่อนพยายามพันผ้ารัดให้เท้าเล็กๆ) หัวกระโหลกบางหัวจึงยืดยาวออกไปมากจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นหัวมนุษย์ น่าจะเป็นหัวมนุษย์ต่างดาวเสียมากกว่า แต่เขาทำอย่างนี้เพื่ออะไร ไม่มีใครทราบแน่ชัด จึงมีบางคนให้ความเห็นไว้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์ในสมัยนั้นได้เห็นหน้าค่าตาของมนุษย์ต่างดาวที่มีหัวยาวและความเฉลียวฉลาดหรือวิทยาการที่ก้าวหน้าของพวกเขา จึงต้องการทำหัวให้เป็นแบบมนุษย์ต่างดาวเหล่านั้นเผื่อจะได้เฉลียวฉลาดแบบเดียวกันบ้าง? นอกจากนี้ กระโหลกหัวยาวเหล่านี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วๆไปหลายที่  รวมถึงที่ยังเก็บไว้ในกรุยังไม่ได้รับการบูรณะหรือพิสูจน์อะไรอีกเป็นร้อยๆพันๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีหัวกระโหลกของมนุษย์ต่างดาวปนอยู่ด้วย!? ที่น่าสนใจสำหรับฉันอีกอย่างคือการที่กระโหลกหลายๆหัวถูกเจาะรู หรือตัดกระโหลกศีรษะเป็นช่อง (แม้จะไม่ใช่กระโหลกหัวยาวก็ตาม) คำอธิบายในพิพิธภัณฑ์ได้อธิบายถึงขึ้นตอนการตัด และวัตถุประสงค์ว่าเพื่อใช้รักษาโรคทางสมองหรือทางจิตบางอย่าง (เช่นดูดเอาความชั่วร้ายออกไปจากหัว) แต่ที่โดนเจาะเป็นรูๆนั้น ว่ากันว่า หากไม่ใช่การกระทำเพื่อบวงสรวงหรือพิธีกรรมอะไรบางอย่าง ก็อาจเป็นการเจาะรูเพื่อร้อยหัวห้อยเอวในวัฒนธรรมล่าหัวมนุษย์!! ฉันว่าถ้าอยู่ในห้องมัมมี่และหัวกระโหลกนานมากไปใจอาจจะเตลิดฟุ้งซ่านไปเสียก่อน ฉันเลยย้ายตัวเองไปชมความงามของวัตถุโบราณอย่างอื่นดีกว่า อารยธรรมปารากัสขึ้นชื่อเรื่องสิ่งทอที่มีลวดลายแปลกตางดงามมาก จนเป็นที่ต้องการของนักสะสม ผ้าโบราณแท้ๆผืนใหญ่ๆที่สมบูรณ์อาจมีค่าเป็นล้านๆบาทได้ และฉันก็เห็นความงดงามจริงตามนั้น แม้ว่าผ้าผืนใหญ่ๆจะอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก แต่ก็เห็นได้ถึงความละเอียดและสไตล์ที่แตกต่างจากอารยธรรมอื่นๆ จากนั้น ฉันเดินต่อไปชมเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปทรงและลวดลายที่แปลกตาไม่เหมือนใคร อันเป็นของขึ้นชื่อของอารยธรรมนาสก้า แถมบางชิ้นงานก็มีรูปที่มีลายเส้นคล้ายนาสก้าไลน์ที่อยู่บนพื้่นแผ่นดินปรากฎอยู่ด้วย

มนุษย์หัวกระโหลกยาว ปริศนาของอารยธรรมนาสก้า
มนุษย์หัวกระโหลกยาว ปริศนาของอารยธรรมนาสก้า
ภาพแสดงวิธีการพันหัวเพื่อดัดกระโหลกให้ยืดยาวขึ้น (เพื่อ?)
ภาพแสดงวิธีการพันหัวเพื่อดัดกระโหลกให้ยืดยาวขึ้น (เพื่อ?)
การนั่งของมัมมี่ในหลุมศพที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์
การนั่งของมัมมี่ในหลุมศพที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์
อีกหนึ่งวัตถุโบราณหน้าตาแปลกประหลาดของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่แถบนี้
อีกหนึ่งวัตถุโบราณหน้าตาแปลกประหลาดของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่แถบนี้

                ถัดจากเมืองอิคา ฉันมุ่งหน้าสู่พื้นที่บริเวณริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค เพื่อชมความงามตามธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแนวชายฝั่งทางใต้ของเปรู คราวนี้ฉันนั่งเรือออกจากท่าเรือที่เมืองปารากัสมุ่งหน้าสู่เกาะอิสลัสบัลเลซตัส (Islas Ballestas) เกาะที่รัฐบาลเปรูอนุรักษ์และสงวนไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านกและสัตว์ทะเลนานาชนิด ระหว่างทางที่ผ่านคาบสมุทรปารากัส ไม่มีใครที่จะไม่เห็นลายเส้นขนาดมหึมาบนหน้าผาทะเลทรายสีน้ำตาลแดงของชายฝั่งเป็นรูปคล้ายสามง่าม นี่คือ El Candelabro รูปภาพที่ลากเส้นอยู่บนหน้าผาทรายขนาดยักษ์สูง 150 เมตร กว้าง 50 เมตร เช่นเคย ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ารูปภาพใหญ่โตขนาดนี้ที่สันนิษฐานว่าถูกทำขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วนี้ ใครเป็นคนทำ และถูกทำขึ้นเพื่ออะไร ภาพนี้เกี่ยวข้องกับนาสก้าไลน์ (ที่กล่าวถึงข้างต้น) หรือไม่ หรืออาจเป็นสัญลักษณ์บอกทิศทางการเดินเรือของนักเดินเรือยุคโบราณอย่างที่นักโบราณคดีหลายคนเชื่อก็เป็นได้

El Candelabro ลายเส้นรูปสามง่ามหรือเชิงเทียนขนาด 150 เมตรริมฝั่งทะเลปารากัส อีกหนึ่งปริศนาบนดินแดนทะเลทราย
El Candelabro ลายเส้นรูปสามง่ามหรือเชิงเทียนขนาด 150 เมตรริมฝั่งทะเลปารากัส อีกหนึ่งปริศนาบนดินแดนทะเลทราย

      

เรือประมงที่ท่าเรือปารากัส เป็นที่พักพิงของนกพิลีแกนเปรู
เรือประมงที่ท่าเรือปารากัส เป็นที่พักพิงของนกพิลีแกนเปรู
ชาวเปรูที่อาศัยอยู่ในปารากัสทำความคุ้นเคยกับนกทะเลริมชายฝั่ง
ชาวเปรูที่อาศัยอยู่ในปารากัสทำความคุ้นเคยกับนกทะเลริมชายฝั่ง

         

เมื่อฉันไปถึงเกาะบัลเลซตัส ฉันก็ตกตะลึงกับจำนวนของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนเกาะ ส่วนใหญ่เป็นนกกาน้ำกัวเน่ (Guanay Cormorant) และนกบูบบีเปรู (Peruvian Booby) ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะ บางด้านก็ดำพรืดไปด้วยนกกาน้ำจนแทบมองไม่เห็นพื้นหินของตัวเกาะ นอกจากนี้ ยังมีนกกาน้ำขาแดง (Red-legged Cormorant) นกเพนกวินฮัมโบลดต์ (Humboldt Penguin) นกพีลีแกนเปรู (Peruvian Pelican) และนกนางนวลแกลบอินคา (Inca Tern) หน้าตาน่ารักเหมือนแต่งหน้ากันมา แซมอยู่เป็นหย่อมๆ นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเขื่องอย่างเจ้าสิงโตทะเลสายพันธุ์อเมริกาใต้ ที่นอนขึ้นอืดกันอยู่ริมฝั่ง หรือไม่ก็เผยอหัวไปมาอยู่ตามโขดหินเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเกาะนี้ได้รับการสงวนไว้โดยเฉพาะไม่อนุญาติให้คนทั่วไปขึ้นเกาะ ยกเว้นผู้ได้รับสัมปทานเก็บขี้นกไปใช้ทำปุ๋ยที่เรียกว่ากัวโน (guano) ที่จะขึ้นไปเก็บได้สามปีครั้ง ไกด์บนเรืออธิบายถึงสิ่งก่อสร้างที่เห็นบนเกาะว่าสำหรับการเก็บขี้นกโดยเฉพาะ และอธิบายต่อไปว่าเจ้ากัวโนที่ว่าก็ไม่ใช่แค่เรื่องขี้ๆ ปุ๋ยขี้นกนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากและเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมของคนมาตั้งแต่สมัยโบราณ และจำนวนนกที่นี่และเกาะรอบๆคงจะมีปริมาณมหาศาลมากกว่านี้มาก ว่ากันว่า เจ้าขี้นกนี้เคยสะสมลึกลงไปในซอกหลืบบางบริเวณและหนาเป็นเมตรๆ จนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเปรูไปยังยุโรปและอเมริกาในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 19 และความมีค่าของมันยังเป็นชนวนให้เกิดสงครามที่เรียกกันว่า Guano War ในปี ค.ศ. 1865-1866 เมื่อสเปนต้องการเป็นเจ้าของพื้นที่เกาะในบริเวณนี้อีกด้วย ปุ๋ยขี้นกทะเลมีแร่ธาตุที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชอย่างเช่นที่ในเมืองไทยเก็บขี้ค้างคาวในถ้ำไปใช้นั่นเอง

Islas Ballestas เกาะสงวนสำหรับนกและสัตว์ทะเล กลางทะเล
Islas Ballestas เกาะสงวนสำหรับนกและสัตว์ทะเล กลางทะเล
เวิ้งถ้ำส่วนหนึ่งของเกาะบัลเลซตัส ด้านบนเต็มไปด้วยฝูงนกทะเล
เวิ้งถ้ำส่วนหนึ่งของเกาะบัลเลซตัส ด้านบนเต็มไปด้วยฝูงนกทะเล
นกบูบบีเปรู (Peruvian Booby) หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าล้ำค่ากัวโน (guano)
นกบูบบีเปรู (Peruvian Booby) หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าล้ำค่ากัวโน (guano)
นกนางนวลแกลบอินคา (Inca Tern) ตัวเต็มวัย แต่งหน้าแต่งตาพร้อมสำหรับการหาคู่
นกนางนวลแกลบอินคา (Inca Tern) ตัวเต็มวัย แต่งหน้าแต่งตาพร้อมสำหรับการหาคู่
ลูกสิงโตทะเลสายพันธุ์อเมริกาใต้หน้าตาจิ้มลิ้ม พักผ่อนอยู่บนโขดหินบนเกาะ
ลูกสิงโตทะเลสายพันธุ์อเมริกาใต้หน้าตาจิ้มลิ้ม พักผ่อนอยู่บนโขดหินบนเกาะ

                เมื่อกลับถึงฝั่ง ฉันนั่งรถต่อไปชมความงามของคาบสมุทรปารากัส ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติที่ชื่อว่า Reserva Nacional De Paracas แม้ว่าพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นทราย (ทะเลทราย) ขนาดใหญ่โตมโหฬาร แต่ภายใต้พื้นทรายแห่งนี้ก็เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณปารากัสอีกแห่งหนึ่ง ภายในอุทยานฯ จึงมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงให้เห็นถึงสภาพภูมิประเทศทางธรรมชาติ และอารยธรรมโบราณในพื้นที่ไปพร้อมๆกัน จากตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ฉันมองเห็นนกฟลามิงโกสีชมพูอยู่ริมฝั่งทะเลลิบๆ ก่อนที่จะเดินทางไปดูประติมากรรมทางธรรมชาติริมทะเลที่มีหินผา ที่ถูกน้ำทะเลกัดกร่อนตั้งตระหง่าน ท้าทายแดดลมอย่างงดงาม นกทะเลขนาดใหญ่บินข้ามหัว ลมทะเลเย็นยะเยือกพัดผ่านหน้าผาขึ้นมากระทบใบหน้า ท้องน้ำเบื้องล่างตัดกับสีน้ำตาลแดงของทะเลทรายริมฝั่งอย่างเห็นได้ชัด ฉันนึกทบทวนเส้นทางที่ฉันได้เดินทางผ่านในครั้งนี้ และสรุปไว้ในสมุดบันทึกของตัวเองว่าเป็นดินแดนที่มีทะเลทรายและมหาสมุทรประสานกลมกลืนเป็นทิวทัศน์ที่น่าอัศจรรย์ใจ แถมยังแฝงไว้ด้วยปริศนาของอารยธรรมโบราณให้ได้ค้นหากันต่อไป…

หน้าผาและการกัดกร่อนของคลื่นและลมก่อเกิดทัศนียภาพอันงดงามบริเวณคาบสมุทรปารากัส
หน้าผาและการกัดกร่อนของคลื่นและลมก่อเกิดทัศนียภาพอันงดงามบริเวณคาบสมุทรปารากัส
เวิ้งผาและท้องทะเล ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติปารากัส (Reserva Nacional De Paracas)
เวิ้งผาและท้องทะเล ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติปารากัส (Reserva Nacional De Paracas)
สองสาวนักท่องเที่ยวเดินชมความงามของทะเลทรายริมฝั่งมหาสมุทรของปารากัส
สองสาวนักท่องเที่ยวเดินชมความงามของทะเลทรายริมฝั่งมหาสมุทรของปารากัส

2 thoughts on “Wondrous Peru’s Southern Coast: From Nazca to Paracas

  1. น่าสนใจ ศึกษาต่อไป เคยอยากไป แต่ดูเหมือนจะไม่ง่าย

    แต่ไม่ทราบว่า เส้นนาสก้า คือการเอาหินเรียงขอบแล้ว
    ทำให้ตรงที่เราเห็นระหว่างหินเป็นสีอ่อน
    แล้วเห็นเป็นเส้นจากด้านบน Bird Eye View เกฺิดเป็นรูปภาพ

    ความสูงระดับไหนจากพื้นถึงเห็นภาพขนาดใหญ่แต่ล่ะภาพเต็มครบ

    สัณนิษฐาน อันไหนที่น่าสนใจมากๆบ้าง …
    แต่น้องว่า ยักษ์ นี่ตกไป เพราะเราไม่เคยเจอโครงกระดูกที่สูงใหญ่พอจะเขียนภาพพวกนี้หรอก และถ้าเขียน …​น่าจะมีรอยเท้าปรากฏอยู่บ้าง

    ส่วนภาพ เชิงเทียน ที่หน้าผา อันนี้การใช้ประโยชน์ อาจจะคล้ายประภาคารหรือไม่
    วิธีการสร้าง อันนี้ คงต้องหาหลักฐาน อาจจะมีกระดาษใช้
    หรือจำพวกบันทึกเหมือนฝั่งอียิปต์บ้างหรือเปล่า
    แต่ที่แน่ๆ มีวัฒนธรรมการทอ การปั้น การวาด(ใหญ่มาก) การเขียน อื่นๆวิถีชีวิต
    การหล่อ(มีให้เห็นมั้ยที่เคยอ่านนานแล้ว บอกว่ามี) ที่เคยอ่านเจอ ว่าอินคารวยมาก
    มีทองเยอะแต่ก็หมดไป ภูเขาไฟระเบิด
    กลุ่มเจอกลุ่มแรก(อาจจะเป็นคนพื้นเมือง) เอาไปหมดแล้ว ไม่ทราบข้อเท็จจริง
    แต่มันก็เป็นอย่างนี้เสมอกับ โบราณสถานไม่ว่าที่ไหน

    อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้กันไป …

  2. มีคนเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวเป็นคนทำ “ลายเส้น” พวกนี้น่ะ…น่าจะถูกทำขึ้นก่อนยุคอินคาหลายร้อยปีด้วย…อินคานี่ยังอยู่ในประวัติศาสตร์โดนสเปนยุคล่าอาณานิคมถล่มจ๊ะ ไม่กี่ร้อยปีก่อน เมืองในตำนานของอินคาที่เอาทองไปซ่อนก็ยังไม่มีใครค้นพบ…ยังคงมีนักล่าสมบัติบุกป่าอเมซอนเพื่อหาขุมทรัพย์นี้อยู่แม้ในปัจจุบัน สนใจไปเป็นอินเดียนน่าโจนส์แล้วนั้นไหมจ๊ะน้อง?

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s