Crocodile Festival in Papua New Guinea

ในที่สุดฉันก็เดินทางมาถึงเมือง Ambunti (อัมบุนติ) เมืองเล็กๆ แต่ถือว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำ Sepik (ซีปิก)ตอนกลาง ในจังหวัด East Sepik (อีสต์ซีปิก) ประเทศปาปัวนิวกินี หลังจากที่นั่งรถหลังขดหลังแข็งผ่านเส้นทางขรุขระบนถนนสายแคบๆ ขึ้นลงเขาจากเมือง Wewak (เววัก) มายังเมือง Pagwi (ปากวี) เพื่อต่อเรือขุดจากไม้ท่อนเดียวลำยาวติดเครื่องยามาฮ่า ทวนกระแสน้ำสีน้ำตาลขุ่นสายกว้างที่ไหลคดเคี้ยวไปมาขึ้นมาอีกประมาณ 3-4 ชั่วโมง เป้าหมายของฉันคือการได้สังเกตการณ์งานเทศกาลที่จะพบเห็นชาวพื้นเมืองแห่งลุ่มน้ำ Sepik จากหลายๆหมู่บ้านมารวมตัวกันในเทศกาลประจำปีที่เรียกว่าเทศกาลจระเข้แห่งสายน้ำซีปิก “ The Sepik Crocodile Festival”

               เสียงประกาศผ่านไมโครโฟนจากลานกว้างกลางหมู่บ้านแต่เช้าที่ฉันฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง เนื่องจากเป็นภาษาผสมภาษาพื้นเมืองและอังกฤษที่เรียกว่า Pidgin English ภาษากลางที่ใช้สื่อสารในพื้นที่ที่ต่างมีภาษาท้องถิ่นในเผ่าของตัวเองมากมายหลายร้อยภาษาอย่างดินแดนแถบนี้ ฉันเดินตามเสียงไปยังลานที่คาดว่าจะได้เห็นคนพื้นเมืองหลากหลายเผ่ารวมตัวกัน แต่ที่ไหนได้ ฉันกลับเห็นคนเพียงกะปริดปะปรอย ดูไม่เหมือนจะเป็นงานเทศกาลสักเท่าไรนัก ถ้าไม่ใช่เพราะซุ้มใบไม้แห้งรอบๆลาน และเพิงขายของที่เริ่มมีคนเอาของมาขาย และเวทีที่มีโฆษกประกาศเรียกคนอยู่ คงไม่มีใครเชื่อว่าจะมีงานเทศกาลที่เป็นสีสันมากที่สุดของดินแดนแถบนี้ มีคนบอกฉันว่าเวลาของชาวปาปัวฯ ไม่ใช่เวลาตามเข็มนาฬิกา อย่ายึดถืออะไรมาก ผนวกกับข่าวแว่วมาว่าปีนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้จัดงานกับหัวหน้าเผ่าหลายๆเผ่า จึงอาจมีหลายเผ่าที่ไม่มาร่วมงาน แม้ว่าจะมีซุ้มจัดรอไว้ให้อยู่แล้ว ฉันใช้เวลาระหว่างรอเดินดูตลาดเช้าใกล้ๆสถานที่จัดงาน สิ่งที่ดูเหมือนพอจะเป็นของกินได้สำหรับฉันคงจะมีแต่ปลาจากแม่น้ำ และพวกแป้งทอด ไม่มีเนื้อสัตว์อย่างอื่นให้เห็นเท่าไรนัก เหตุนี้นี่เองที่การเดินทางล่องแม่น้ำในครั้งนี้ของฉัน ไกด์ท้องถิ่นจึงต้องตุนเสบียงกันมาเต็มที่จากในเมือง เพราะไม่มีอะไรให้ซื้อหาได้ตามเส้นทางแม้แต่น้ำเปล่าและผักสด

               แม้ว่าจะล่วงเลยจากเวลาที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มรายการอะไรอย่างไรมาเป็นชั่วโมงแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรให้เห็นมากนัก ฉันจึงลองเดินสุ่มดูตามบ้านเรือนรอบๆลานจัดงาน โชคดีที่ได้เจอกับกลุ่มเด็กสาวกลุ่มหนึ่งกำลังแต่งตัวและเขียนหน้าเขียนตาด้วยดินและโคลนสีต่างๆที่ได้จากธรรมชาติ จึงได้ขออนุญาตเข้าไปสังเกตการณ์และถ่ายภาพ บ้างก็กำลังใส่เครื่องประดับต่างๆ บ้างก็กำลังรอเขียนสีที่หน้า ไม่นานเหมือนกับจะได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ดังขึ้นเหนือหมู่บ้าน เด็กกลุ่มนี้รีบแต่งตัวให้เสร็จแล้วรีบวิ่งไปที่ลาน ฉันจึงออกวิ่งตามไปด้วย พวกเธอไปรวมตัวกับผู้ใหญ่คนอื่นๆเพื่อไปต้อนรับประธานเปิดงานที่กำลังจะลงมาจาก ฮ. (ที่นี่ไม่มีถนนตัดผ่านถึง นอกจากเดินทางมาทางเรือ แต่ก็มีลานหญ้าสำหรับให้เครื่องบินเล็กของมิชชันนารีและเฮลิคอปเตอร์ลง)

               เสียงร้องรำทำเพลงจากกลางลานเริ่มขึ้น มีชนเผ่าจากหมู่บ้านหนึ่งมาถึงแล้ว และแต่งตัวกันเต็มยศมาก คำว่า “เต็มยศ” ในที่นี้ของฉันคือการนุ่งน้อยห่มน้อยตามฉบับชาวพื้นเมืองด้วยใบไม้แห้งหรือผ้างานฝีมือจากเส้นใยธรรมชาติ ประดับตกแต่งร่างกายด้วยสิ่งต่างๆที่หาได้จากธรรมชาติ เช่นเปลือกหอย ใบไม้ เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวหมูป่า ขนนก โดยเฉพาะขนนกปักษาสวรรค์ (Bird-of-Paradise) และคาสโซวารี (Cassowary) และการทาสีตามตัวด้วยดินและโคลน จะมีที่ทันสมัยที่สุดคงเป็นกางเกงขาสั้นที่บางคนนุ่งแทนผ้าเตี่ยวหรือใส่ไว้ข้างในกระโปรงเชือก ผู้ชายจะถือเครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่นกลอง Kundu (คุนดู) ทำจากไม้สลักและหนังสัตว์เลื้อยคลาน ส่วนผู้หญิงจะถือ Bilum (บีลุม) กระเป๋าใบใหญ่ที่ยึดให้โค้งงอเป็นวงด้วยไม้ไผ่ กระเป๋าเก๋ไก๋นี้เป็นงานฝีมือที่ถักขึ้นจากเส้นใยธรรมชาติอันขึ้นชื่อของชาวปาปัวนิวกินี

               หลังจากเสียงร้องรำทำเพลงแรกเริ่มขึ้น ก็ดูเหมือนว่าลานจัดงานจะดูคึกคักและครึกครื้นขึ้นมาในทันที ชาวบ้านทั่วไปเริ่มเข้ามายืนรอชมกันมากขึ้น ชาวเผ่าอื่นๆเริ่มทยอยกันเข้ามา กิจกรรมของงานหลักๆ นอกจากพิธีกล่าวเปิดงานของบุคคลต่างๆ ก็คือการแสดงการเต้นรำของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละเผ่าที่มาร่วมงานที่เรียกกันว่า “Sing-sing” โดยแต่ละเผ่าจะมีซุ้มเป็นของตัวเอง ให้แต่งตัว เตรียมการ ซ้อมเต้นซ้อมร้อง เมื่อถึงคิวการแสดงของกลุ่มตัวเอง ก็จะออกไปแสดงที่ลานหน้าเวที ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันไปตลอดทั้งวันเป็นที่สนุกสนานและตื่นตาตื่นใจเป็นเวลาสามวัน อย่างไรก็ดี แต่ละเผ่าที่มาจากหมู่บ้านต่างๆ (บ้างนั่งเรือกันมาเป็นวันๆ เพื่อร่วมงาน) ต่างก็แต่งตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างได้อย่างชัดเจน แต่โดยหลักๆต่างก็ใช้เครื่องประดับและเครื่องตกแต่งร่างกายที่ทำจากวัสดุคล้ายๆกันตามที่กล่าวมาแล้ว จะมีเพิ่มขึ้นมาก็เช่น บางเผ่าใช้ลูกจระเข้มาห้อยคอประกอบการเต้นรำ บางเผ่าใช้ใบไม้สดมากกว่า บางเผ่าใช้ขนนก Cassowary ทำเป็นเหมือนวิกอย่างงดงาม บ้างก็ทาผิวที่ดำอยู่แล้วให้ดำเมี่ยมเข้าไปอีก โดยเฉพาะเผ่าที่มีการเต้นแบบนักรบ ถืออาวุธเป็นหอกยาวๆ หรือขวานจาม เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เขี้ยวหมูป่าหรือเขี้ยวจระเข้ขนาดใหญ่คือการแสดงความเข้มแข็งของผู้ที่ห้อยของเหล่านั้น เนื่องจากจระเข้ถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่ดุร้ายที่สุดที่ชาวพื้นเมืองรู้จัก รองลงมาคือหมูป่าและนกเดินบนพื้นขนาดสูงใหญ่อย่าง Cassowary ส่วนเปลือกหอยก็แสดงถึงความมั่งคั่งของแต่ละคน เนื่องจากเปลือกหอยถูกใช้เป็นเงินตราในอดีต ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากเครื่องประดับบนตัวของผู้เฒ่าผู้แก่ในกลุ่มหรือคนที่ท่าทางจะเป็นหัวหน้าเผ่าในกลุ่ม ในส่วนของเพลงที่ร้องและเต้นก็จะแตกต่างกันไป บ้างก็ฟังเหมือนเป็นเพลงและท่าทางที่แสดงวิถีชีวิตเช่นการตัดไม้ทำฟืน บ้างก็แสดงท่าทางแบบการล่าซึ่งเสียงเพลงจะฮึกเหิม บ้างเล่นเป็นวงสตริงมีกีตาร์เข้ามาเสริมเครื่องดนตรีพื้นเมือง แต่ทุกเผ่าจะมีซุ้มหน้ากากขนาดใหญ่หรือไม้ตกแต่งที่ปักตรงกลางวง อันถือเป็นตัวแทนของภูติผีหรือสปิริตที่แต่ละเผ่านับถือ

               อย่างไรก็ดีงานเทศกาล Crocodile Festival แห่งสายน้ำ Sepik ที่มีหลายเผ่ามารวมตัวกันแบบนี้ เพิ่งถูกริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมาไม่ถึงสิบปีดีนี้เอง โดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประจำปาปัวนิวกินี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์จระเข้ตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงดินแดนแถบนี้ (ในแม่น้ำแห่งนี้มีทั้งจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มอาศัยอยู่) และได้กลายมาเป็นงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคในเวลาต่อมา โดยถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับจระเข้ สัตว์ที่มีบทบาทสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตเกี่ยวพันกับสายน้ำแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน ความเชื่อ และความเป็นมาของชนเผ่า (บางเผ่าก็ถือว่าจระเข้เป็นบรรพบุรุษของตนเอง) ซึ่งเป็นการแสดงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของคนและจระเข้ และยังเป็นแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญอีกด้วย (บางเผ่ายังคงล่าจระเข้เพื่อกินเนื้อและขายหนังให้ตัวแทนส่งออกไปต่างประเทศ)

ส่วนเมือง Ambunti สถานที่จัดงานเทศกาลจระเข้นี้ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำ Sepik (Middle Sepik) แม่น้ำที่ถือกำเนิดจากเทือกเขา Victor Emanuel (วิกเตอร์เอ็มมานูเอล) กลางเกาะปาปัวนิวกินี และไหลลัดเลาะผ่านปาปัวตะวันตก (West Papua) ในเขตประเทศอินโดนีเซียก่อนไหลวกกลับเข้ามาสู่ประเทศปาปัวนิวกินี ลัดเลาะไปตามหุบเขาและที่ราบลุ่มเป็นระยะทางกว่า 1,100 กิโลเมตร ก่อนไหลลงสู่ทะเล Bismarck (บิสมาร์ก) ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกที่ทางตะวันออกของเมือง Wewak ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าที่น่าสนใจไม่น้อยหลงเหลืออยู่อีกมากมายให้ค้นหา เนื่องจากเส้นทางตามแม่น้ำสายนี้ รวมไปถึงในที่ลุ่มและที่ราบน้ำท่วมถึงที่กินพื้นที่มากกว่า 80,000 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นที่ตั้งของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมกันเป็นร้อยๆหมู่บ้าน มีทะเลสาบเล็กใหญ่มากกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งสามารถเข้าถึงได้บ้าง เข้าถึงไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับฤดูกาล การเดินทางมาเยี่ยมเยือนดินแดนแถบนี้ในปัจจุบันจึงให้ความรู้สึกเหมือนได้เข้ามาสำรวจดินแดนอันห่างไกลความเจริญแบบที่นักสำรวจชาวตะวันตกที่เข้ามาถึงดินแดนแถบนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีก่อนสำหรับฉัน

จากประสบการณ์ที่ฉันได้ไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ทั้งสามวัน วันที่สองดูจะครึกครื้นมากที่สุด มีเผ่าต่างๆมาร่วมงานมากที่สุด แม้ว่าท้องฟ้าจะดูขมุกขมัวมีเมฆมาก แต่ก็ทำให้ไม่ร้อนจนเกินไป ในขณะที่วันสุดท้ายฟ้าแจ้งไร้เมฆ แต่ดูเหมือนความร้อนจะทำให้สปิริตของหลายๆคนลดน้อยลง (แม้แต่คนชมอย่างฉัน) ใบไม้สดๆที่เอามาประดับตกแต่งก็เริ่มเหี่ยว รวมถึงแม้แต่ลูกจระเข้ที่เข้าร่วมการเต้นรำก็ดูจะแห้งเหี่ยวเพราะขาดน้ำตามไปด้วย ส่วนวันแรกนั้นกว่าจะได้เริ่มงานกันจริงๆจังๆก็หมดไปเกือบครึ่งวัน แถมยังต้องมีพิธีการคนนู้นคนนี้กล่าวนั่นกล่าวนี่อีก ชาวเผ่าที่ยังมาไม่ถึงก็มีอีกหลายเผ่า ส่วนผู้ที่มาเข้าชมงานนั้น 99% เป็นชาวปาปัวนิวกินีเอง และอีกไม่น่าถึง 1% เป็นชาวต่างชาติ การเข้าร่วมงานเทศกาลนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เห็นชาวเผ่าหลายๆเผ่าในเวลาเดียวกัน เพราะในปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่ช่วงงานเทศกาลใดๆแล้ว ชาวเผ่าต่างๆที่อยู่ตามหมู่บ้านก็ไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องในชุดพื้นเมืองอะไรเลย เห็นมีแต่ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น หรือไม่ก็ผ้าถุงเท่านั้น ไม่ว่าจะไปกี่หมู่บ้านต่อกี่หมู่บ้าน เกือบทุกคนเดินเท้าเปล่าเป็นหลัก ทำให้เท้าของชาวปาปัวฯ จะมีฝ่าเท้าแบนและรูปเท้าอวบใหญ่คล้ายเท้าของฮอบบิท ถ้าจะมีรองเท้าใส่กันบ้างก็คือรองเท้าแตะคีบ จะมีใส่ผ้าใบกันบ้างก็คงเพราะมาออกงานมากกว่า

แม้ว่าเทศกาลจระเข้ที่จัดขึ้น 3 วันในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปีจะจบลงแล้ว แต่การเดินทางไปตามลำน้ำ Sepik ของฉันยังไม่สิ้นสุด จากการพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาในงานเทศกาลนี้ ทำให้ฉันสามารถสืบเสาะไปหาเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งที่ฉันเดินทางมายังในดินแดนแถบนี้ได้ นั่นคือการตามหาผู้ที่มีรอยนูนแบบเกล็ดจระเข้ตามตัว อันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชนเผ่าบางกลุ่ม ซึ่งฉันจะขอกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

หมายเหตุการณ์เดินทาง:

  • การเดินทางมายังดินแดนตอนกลางของแม่น้ำ Sepik นี้ คือการเริ่มต้นที่เมือง Pagwi เมืองริมแม่น้ำที่มีถนนเข้าถึง ในปัจจุบันหากบินไปจากเมืองไทยไปลงที่ Port Moresby (พอร์ต มอเรสบี) เมืองหลวงของปาปัวนิวกินีแล้ว จะต้องต่อสายการบินในประเทศมาลงที่เมือง Wewak ซึ่งมีสนามบินพาณิชย์ที่ใกล้กับ Pagwi ที่สุด และเป็นแหล่งซื้อหาเสบียงอาหารทุกอย่างสำหรับการล่องเรือพร้อมสัมภาระ และเสบียงอาหารไปด้วยกันตลอดการเดินทางไปตามแม่น้ำสายแห่งนี้
  • ที่พักที่นับได้ว่าทันสมัยที่สุดมีอยู่เพียงที่เดียวที่เมือง Ambunti (ซึ่งจะเต็มในช่วงเทศกาล) นอกนั้นจะเป็นไปอยู่ตามบ้านชาวบ้านที่มีเกสต์เฮ้าส์ (เจ้าของบ้านสร้างเรือนขึ้นมาให้นักเดินทาง/นักท่องเที่ยวพัก มีโรงครัวให้หุงหาอาหาร มีโต๊ะกินข้าวให้นั่ง โดยมักมีส้วมหลุมสำหรับผู้มาพักอยู่ไม่ไกลกัน)หรือโฮมสเตย์ (คือการเข้าพักในเรือนเดียวกับเจ้าของบ้าน ซึ่งจะใช้ครัว ส้วมหลุมร่วมกันกับเจ้าของและสมาชิกในบ้าน) ในส่วนของเมือง Ambunti นั้น โรงเรียน โบสถ์คริสต์หรือสถานีอนามัยอาจเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักได้เฉพาะในช่วงที่มีเทศกาล

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s