เมื่อนึกถึงการเข้าป่าและชมสัตว์ป่าในประเทศบราซิล ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงแต่คำว่าป่าอเมซอน บริเวณป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ของทวีปอเมริกาใต้ คงมีน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า Pantanal (ปันตานัล) ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว Pantanal เป็นพื้นที่ที่สามารถพบเห็นสัตว์ป่าของทวีปอเมริกาใต้ได้ง่ายดายยิ่งกว่าการไปเสาะหาในเขตป่าอเมซอนเสียอีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะป่าอเมซอนเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่มากมาย อีกทั้งพื้นที่สูงๆต่ำๆ ต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปหาชมสัตว์ป่าหายาก แต่สำหรับ Pantanal แล้ว ปัจจัยหลายๆอย่างของพื้นที่ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นตัวสัตว์ป่าหายากได้ง่ายกว่าป่าอเมซอนหลายเท่านัก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เรามาทำความรู้จักกับ Pantanal กันก่อนดีกว่า Pantanal คือชื่อเรียกพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางของทวีปอเมริกาใต้ โดยสภาพพื้นที่เป็นเหมือนแอ่งกระทะท้องแบนสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 80-150 เมตร โอบล้อมด้วยพื้นที่สูงกว่าที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารเป็นร้อยๆสายที่ต่างไหลลงสู่แอ่งที่ราบอันกว้างใหญ่ของ Pantanal บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของแม่น้ำปารากวัย Pantanal กินอาณาบริเวณกว้างใหญ่มหาศาลโดยมีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 170,000 ตารางกิโลเมตร ขนาดของพื้นที่ย่อลงและขยายตามปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี (140,000-210,000 ตารางกิโลเมตร) นั่นหมายความว่า Pantanal มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศโปรตุเกส หรือประมาณ 2 ใน 3 ของเกาะอังกฤษ! โดยพื้นที่ 80% อยู่ทางทิศตะวันตกตอนกลางของประเทศบราซิล ในรัฐ Mato Grosso (มาโตกรอสโซ่) และรัฐ Mato Grosso do Sul (มาโตกรอสโซ่โดซัล)ในขณะที่พื้นที่อีกประมาณ 10-15% อยู่ในเขตประเทศโบลิเวีย และส่วนที่เหลืออยู่ในเขตชายแดนปารากวัย
คำว่า Pantanal มาจาก pantano ในภาษาสเปน หรือ pântano ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า หนองน้ำ ห้วย บึง ซึ่งหมายความได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแอ่งที่ราบน้ำท่วมถึง ประกอบด้วยทุ่งหญ้า แม่น้ำ ทะเลสาบ ชายป่าริมน้ำและป่าแล้งเป็นบางจุด บริเวณนี้มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 800-1,600 มม. ต่อปี และมีฝนตกชุกในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ซึ่งทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น 2-5 เมตร กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วม มีทะเลสาบและแอ่งน้ำกระจายเป็นวงกว้างถึง 80%ของพื้นที่ จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชน้ำนานาชนิด ซึ่งก็กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของปลาน้ำจืดและสัตว์ป่ามากมายอีกต่อหนึ่ง ในขณะที่ฤดูแล้งในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ระดับน้ำที่เอ่อสูงในช่วงหน้าน้ำ ลดระดับลงเป็นท้องทุ่งหญ้าแห้งๆ มีทะเลสาบเล็กๆ และแอ่งน้ำตื้นๆที่หลงเหลืออยู่เป็นจุดๆ ซึ่งทำให้ปลาที่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่ในช่วงหน้าน้ำมากระจุกตัวตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำตื้น กลายเป็นภัตตาคารชั้นเลิศของนกต่างๆ สภาพพื้นที่จะมองเห็นเป็นทรายด้านบนในขณะที่มีดินตะกอนทับถมเป็นชั้นหนาลึกอยู่ด้านล่าง ด้วยเหตุนี้เองพื้นที่ Pantanal จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถหาสัตว์ป่าดูได้ง่าย เนื่องจากไม่มีป่าทึบแบบป่าอเมซอน และยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง มีความหนาแน่นของปริมาณสัตว์ป่ามาก และเป็นแหล่งอพยพที่สำคัญของนกน้ำนานาชนิด
การเข้าถึง Pantanal ในประเทศบราซิลสามารถเข้าได้จากทางตอนใต้ และตอนเหนือ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นหน้าน้ำก็ต้องใช้เรือเป็นหลัก แต่สำหรับหน้าแล้งแล้ว ยังพอเป็นไปได้ที่จะเดินทางเข้าไปด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ฉันมาเยือน Pantanal ในหน้าแล้ง โดยบินมาที่เมือง Cuiabá (คุยาบา) และนั่งรถต่อมาที่ Poconé (โปโคเน่) ซึ่งเปรียบเสมือนประตูทางเข้าสู่พื้นที่ Pantanal ทางตอนเหนือ เมื่อรถเริ่มเข้าสู่ถนนดินแดงขรุๆขระๆ ฉันก็เริ่มเห็นนกนานาชนิด กระจุกตัวอยู่ตามแอ่งน้ำริมถนน รวมไปถึงจระเข้ Caiman อีกมากมายนอนนิ่งกันอยู่ริมตลิ่งน้ำ ถนนดินแดงเส้นนี้มีชื่อว่า Transpantaneira เป็นถนนที่รัฐบาลทหารของบราซิลริเริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1973 โดยมีแผนจะสร้างถนนตัดสู่ใจกลางพื้นที่ของ Pantanal และเชื่อมต่อเมือง Poconé ทางตอนเหนือเข้ากับเมือง Corumbá (โครุมบา) ทางตอนใต้และชายแดนโบลิเวีย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด และความยากลำบากของพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และต้องมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหลายต่อหลายแห่งทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไป มีเส้นทางที่สร้างเสร็จ 147 กิโลเมตร มีสะพานไม่น้อยกว่า 120 จุด และเส้นทางสิ้นสุดแค่ที่เมือง Porto Jofre อย่างไรก็ดี ถนนเส้นนี้ได้แบ่งพื้นที่ Pantanal ออกเป็นสองฝั่งแยกจากกัน ในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นการรบกวนการไหลของกระแสน้ำและการข้ามฝั่งไปมาของสัตว์ป่า ทำให้ระบบนิเวศน์แทบล่มสลาย ต่อมาจึงมีการแก้ไขโดยการสร้างสะพานและทางน้ำให้น้ำไหลผ่านได้เป็นจุดๆ ทำให้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ถนนดินยาวเหยียดนี้สร้างโดยการขุดหน้าดินจากสองข้างขึ้นมาถมสูง ทำให้สองข้างถนนเป็นแอ่งลึก เมื่อถึงหน้าแล้งจึงเหลือน้ำขังเป็นแอ่งน้ำเล็กๆเกือบจะตลอดแนวสองข้างถนน ในขณะที่ที่อื่นแห้ง นก จระเข้ รวมถึงสัตว์อื่นๆจึงมาหากินกันอยู่ริมถนนนี้นี่เอง ด้วยเหตุนี้ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากจุดเริ่มของถนนไปที่รีสอร์ทที่ฉันจะเข้าไปพัก ที่ถ้าขับรถกันจริงๆอาจใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง แต่รถของเรากลับใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงในการเดินทางเพราะหยุดดูนกและสัตว์ป่ากันตลอดเวลา
นอกจากพื้นที่ที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่มีเอกชนเป็นผู้ครอบครอง หลายแห่งเป็นฟาร์มปศุสัตว์ ในขณะที่หลายแห่งได้สร้างเป็นที่พักรับนักท่องเที่ยวมาตกปลา หรือเที่ยวซาฟารีชมนกและสัตว์ป่าในเชิงอนุรักษ์ Araras Lodge (อารารัสลอดจ์) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตัวที่พักสร้างแบบง่ายๆเป็นคล้ายห้องแถวเรียงต่อกัน หน้าห้องมีเปลผูกให้นอนเล่น มีสระน้ำเล็กๆอยู่ตรงกลางสำหรับนักท่องเที่ยวแช่น้ำดับร้อนในตอนกลางวัน แต่เจ้าของที่พักก็เล่าว่าวันดีคืนดีตื่นเช้ามาก็มีตัว Capibara (คาปิบาร่า) หรือจระเข้ลงไปแช่น้ำอยู่ในสระด้วย ที่พักล้อมรอบด้วยบ่อน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำซึ่งมีนกน้ำและสัตว์มากมายอาศัยอยู่โดยรอบ นอกจากจะได้ดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามกับบรรยากาศโดยรอบแล้ว ตกค่ำยังสามารถออกไปเดินส่องสัตว์รอบๆที่พักได้ มีทั้งค้างคาว นกกลางคืน แมงมุม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสารพัด หากได้ไกด์ดีๆนำชม
การเที่ยวชมสัตว์ป่าของที่นี่โดยหลักๆคือการนั่งรถซาฟารี ไปตามเส้นทางในป่าต่างๆของ Pantanal เช้าหนึ่งรอบ เย็นหนึ่งรอบ และดึกอีกหนึ่งรอบ หรือนั่งรถแล้วไปเดินเข้าเทรลสั้นๆเพื่อหาสัตว์ที่ต่างชนิดออกไป รวมถึงการขี่ม้าชมสัตว์ ซึ่งมักทำกันในช่วงที่ดินยังไม่แห้งดี และมีบ่อมีโคลนหลงเหลืออยู่มากลำบากต่อการเดิน อีกบรรยากาศหนึ่งคือการลงเรือแคนูพายไปตามแม่น้ำ ซอกซอนไปตามที่ต่างๆที่รถเข้าไม่ถึง จึงมีโอกาสได้เห็นนกที่ต่างชนิดออกไป หรือสัตว์น้ำอย่างจระเข้ได้ใกล้ชิดขึ้น หากเลือกที่จะไปพายแคนู ก็ไม่จำเป็นต้องกลับมารับประทานอาหารที่ที่พัก เพราะพนักงานจะตั้งแคมป์ปิ้งเนื้อ BBQ ให้ได้กินกันในป่าริมน้ำ ควบคู่ไปกับการหย่อนเหยื่อเนื้อสดๆผูกกับคันเบ็ดแบบบ้านๆ คอยตวัดเอาปลาปิรันยาขึ้นมาจากแม่น้ำที่พวกเราลงไปพายเรือแคนูกันนั่นล่ะ (ตอนพายแคนู ไม่มีใครแจ้งสักคนว่าในน้ำมีปลาปิรันย่า!) ปลามีค่อนข้างชุกชุมมาก เพราะแค่หย่อนเบ็ดลงไปก็มีปลามากินเบ็ดทันที ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีฝีมือในการตวัดเบ็ดให้ปลาติดตะขอขึ้นมาได้เท่านั้น ถือเป็นการใช้เวลายามบ่ายในป่าริมน้ำที่น่ารื่นรมย์ไม่น้อย
นอกจากนี้ ทางที่พักยังได้ทำทางเดิน Boardwalk ไปยังหอดูสัตว์ชมวิว เพื่อได้ชมความงามจากที่สูง ระหว่างทางเดินก็มีโอกาสได้พบเห็นสัตว์ป่าต่างๆได้ อย่างที่ฉันมีโอกาสได้เจอตัวกินมดยักษ์ (Giant Anteater) ที่ถือเป็นหนึ่งใน Big Five ของสัตว์ป่าแห่งบราซิลอย่างใกล้ชิดเพราะมันเดินลอดใต้ Boardwalk ที่พวกเราเดินอยู่ ถึงขนาดได้กลิ่นตัวกันเลยทีเดียว เมื่อขึ้นไปบนหอดูสัตว์แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าพื้นที่ของ Pantanal ช่างเป็นพื้นที่ที่ราบเรียบจริงๆ มองออกไปได้อย่างสุดลูกหูลูกตาเป็นแนวระนาบเท่ากันหมด โดยไม่มีภูเขาให้เห็นสักลูก ใกล้ๆหอดูสัตว์อีกแห่งยังเป็นที่ทำรังของนกน้ำขนาดใหญ่ ที่ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ของ Pantanal ก็ว่าได้ นั่นก็คือนก Jabiru นกกระสาขนาดใหญ่ที่มีตัวสีขาวดำหัวล้านสีดำ มีหนังคอโป่งพองสีแดงสด เรียกได้ว่าหน้าตาค่อนไปทางอัปลักษณ์เลยทีเดียว
ที่พักแห่งนี้ยังมีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะนกแก้วชนิดต่างๆ เนื่องจากนกแก้วเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งๆที่หลายชนิดเป็นนกแก้วที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ศูนย์ฯแห่งนี้ จะนำนกแก้วสายพันธุ์ต่างๆของท้องถิ่นที่ถูกจับไปขาย กลับมาอนุบาล รักษา และฝึกให้มันบินออกไปหากินได้เองตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี มีนกอีกหลายตัวที่คุ้นชินกับมนุษย์ แม้ว่าพวกมันจะบินออกไปหากินเองได้ตามธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่พวกมันก็ยังกลับมากินอาหารที่ทางศูนย์ฯเลี้ยง ทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชมพวกมันได้อย่างใกล้ชิด
แม้ว่าพื้นที่ของ Pantanal ส่วนใหญ่จะเป็นของเอกชน และตัวพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการตกปลามากเกินไป การทำปศุสัตว์ การเกษตรกรรม รวมถึงการตัดไม้ทำเหมือง แต่สภาพของพื้นที่ที่ต่างกันค่อนข้างมากระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้พื้นที่แอ่งที่ราบน้ำท่วมถึงแห่งนี้ ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่นที่สุดในโลก และมีจำนวนสัตว์ค่อนข้างหนาแน่น จนได้ชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าแห่งโลกใหม่ที่มากที่สุดแห่งหนึ่งเทียบเท่ากับป่าทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกา ด้วยสายพันธุ์นกกว่า 700 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 100 ชนิด ปลาน้ำจืดอีกเกือบ 300 ชนิด รวมถึงสัตว์ครึ่งบนครึ่งน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน ท่ามกลางพืชพรรณไม้ต่างๆนับเป็นพันชนิด น่าแปลกที่ว่า Pantanal กลับไม่ค่อยมีใครนึกถึงยามมาเยี่ยมเยือนบราซิล