

ฉันได้มีโอกาสไปดูนกเค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Blakiston’s Fish Owl (แปลเป็นไทยน่าจะได้ว่า นกทึดทือบลาคิสตัน) มาที่เมือง Rausu บนเกาะ Hokkaido ของญี่ปุ่น โดยไปใช้บริการสถานที่ดูนก/ที่พักที่ Washi no Yado (鷲の宿) ซึ่งมีลักษณะเป็น Minshuku หรือ B&B แบบญี่ปุ่น ที่นี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นที่ที่สามารถดูนกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลกชนิดนี้ได้ง่ายดายที่สุดแล้วในญี่ปุ่น และก็เป็นที่รู้จักกันมายาวนานสำหรับนักดูนกญี่ปุ่นและนักดูนกต่างชาติ เพราะอะไรจะสบายขนาดดูนกได้จากห้องนอน!
ถ้าคิดจะมาที่นี่ก็ต้องติดต่อเจ้าของสถานที่จองที่นั่งใน Observation Cabin (3,000 เยน) หรือจะเข้าพักที่นี่ก็ได้ โดยค่าที่พักจะรวมอาหารเย็นและอาหารเช้าด้วย (9,000 เยน) ราคา ณ ปี 2018 อย่างไรก็ดี ถ้าจะพักที่นี่ ที่ดีที่สุดคือได้ห้องติดด้านลำห้วยที่นกมาลง เพราะสามารถดูนกจากห้องตัวเองได้เลย ถ้าได้ห้องอื่นที่มองไม่เห็นลำห้วย ก็ต้องไปนั่งดูใน Observation Cabin แทน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่จำนวนคนเข้าพักและใครมาก่อนมาหลัง อย่างฉันเข้าไปพักคนเดียว ก็เลยได้ห้องด้านในที่มองไม่เห็นลำห้วย เป็นห้องหกเสื่อเล็กๆ มีเครื่องทำความร้อน ที่นอน โทรทัศน์ (ซึ่งฉันไม่ได้ใช้) ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวมด้านนอก มีห้องอาบน้ำแยกออกไปอีก บ้านมีสองชั้น และมีอีกอาคารหนึ่งแยกออกไปต่างหาก (ซึ่งไม่เห็นนกเช่นเดียวกัน)

ส่วนในห้อง Observation Cabin นั้น เป็นห้องเดียวกับห้องกินข้าว คล้ายตู้คอนเทนเนอร์ต่อกันสองตู้ และมีที่นั่งยาวไปตามหน้าต่างที่สามารถถอดออกจนโล่งได้ หันหน้าเข้าหาลำห้วยเป้าหมาย มีเครื่องทำความร้อน เก้าอี้ ที่วางแขนวางกล้อง และตู้สำหรับกดชากาแฟและน้ำดื่มได้ตลอด 24 ชม. อ้อ! มีห้องน้ำด้วย และมีประตูเปิดออกไปทางด้านหลังสำหรับไปสูบบุหรี่ได้ ซึ่งโดยปกติ ถ้าห้องไม่เต็ม จะ Walk In เข้ามาก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ควรจะเข้าไปก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อรอนก ไม่ใช่ทะเล่อทะล่าเข้ามาตอนกลางคืน (ในวันที่ฉันไป มีผู้หญิงคนญี่ปุ่นคนหนึ่งขับรถทะเล่อทะล่าเข้ามาตอนกลางคืน โดยไม่ได้ติดต่อมาก่อน โชคดีที่นกไม่ได้ลงตอนเธอเข้ามา ไม่งั้นคงโดนรุมประณาม แต่ก็อย่างว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนขี้เกรงใจ ก็เลยไม่มีใครว่าอะไรเธอคนนี้ ที่จู่ๆก็ฉายไฟหน้ารถเข้ามา แถมถอยรถเข้าๆออกๆอยู่สักพักกว่าจะสงบลงได้ ก่อนจะโผล่เข้ามา ขอดู/ถ่ายรูปนกด้วย แต่คนญี่ปุ่นก็มารยาทดีใจหาย พอเธอเข้ามาที่ห้องสังเกตการณ์ที่ว่า ก็ถามว่าอะไรยังไง เสร็จมีคนบอกว่าคงต้องบอกเจ้าของที่ ซึ่งกลับห้องตัวเองไปหมดแล้ว เธอก็นั่งรอ แบบไม่มาตั้งกล้องอะไรล่วงหน้า (ขณะที่ยังไม่ขออนุญาต) รอจนนักถ่ายภาพนกคนอื่นที่พอจะสนิทกับที่นี่เขาไปเคาะห้องเจ้าของให้ ออกมาลงทะเบียนจ่ายเงินเสร็จ เธอถึงจะมาตั้งกล้องที่ริมหน้าต่างเหมือนคนอื่นๆ)

ห้องสังเกตการณ์รวมทั้งห้องนอนที่มองเห็นลำห้วยจุดที่นกมาลง จะห่างจากลำห้วย (Chitorai River)ประมาณ 20-30 เมตรได้ ที่ลำห้วยมีการเอาหินมาก่อให้เป็นเหมือนบ่อน้ำตามธรรมชาติกลางลำห้วย เพื่อให้นกมาลงจับปลาในบ่อ (เดี๋ยวจะเล่าที่มาที่ไป) ที่เจ้าของจะจับปลาจากลำห้วยไปใส่เอาไว้ในตอนกลางวัน หรือไม่ก็ปลาก็เข้าไปเองหาทางออกไม่ได้ เพื่อให้นกจับปลาได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันที่ริมลำห้วย ก็มีการตั้งไฟสูงฉายลงไปตรงกลางลำห้วย แต่การตั้งไฟส่องนี้เขาก็ไม่ได้ตั้งกันมั่วๆ แต่มีการศึกษามาแล้วเช่นว่าใช้ไฟที่กระพริบ 80 ครั้งต่อวินาที (ซึ่งเป็นความถี่ที่ตาคนและตานกไม่เห็น) และฉายไฟจากเสาสูงด้านบนในช่วง 30 องศา ในขณะที่นกทึดทือที่ว่าจะมองเห็นในช่วงแค่ 10 องศาจากศูนย์กลาง ไฟก็เลยไม่แยงตานกให้รำคาญ แสงไฟปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมโดยรวม

ผลก็คือ นกมองเห็นปลาและจับปลาได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกอะไรกับไฟที่ส่องลงมา ตรงบ่อเทียมที่สร้างขึ้นกลางลำห้วย กลายเป็นเวทีแสดงตัวหรือก็คือที่หากินประจำของนกทึดทือบลาคิสตันมาเป็นสิบๆปี และแทบทุกวันของปี ถามว่านกเห็นคนไหม มันคงเห็น (ตอนที่ฉันดูอยู่ก็เห็นมันมองมาหลายรอบอยู่) แต่มันก็ไม่สนใจ เพราะคงเคยชินเสียแล้ว ไม่มีใครไปทำร้ายอะไรมัน อ้อ! จากระบบไฟที่ติดตั้ง สามารถถ่ายรูปนกได้ ถ้าตั้ง ISO สูงและความไวชัทเตอร์ควรเกิน 1/80 ขึ้นไป โดยไม่ต้องใช้แฟลช และที่นี่เขาห้ามใช้แฟลช ซึ่งรวมถึงไฟแดงๆที่ส่องออกมาจากกล้องเพื่อโฟกัสภาพตอนกลางคืนด้วย (ถ้ากล้องใครมี ต้องปิดไฟแดงๆนี่ หรือถ้าปิดไม่ได้ก็ต้องหาเทปมาปิดเอาไว้) ทั้งหมดทั้งมวลนี้เข้าแนะนำไว้ในเว็บเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในการถ่ายรูปนกที่นี่
http://fishowl-observatory.org/facilities3.html
ก่อนหน้าวันที่ฉันจะเข้าไปพัก ได้ไปสำรวจสถานที่ในวันก่อนหน้าและคอนเฟิร์มเรื่องห้องอีกที (เพราะติดต่อมาทางอินเตอร์เน็ท ผ่านคุณ Sato ในเว็บข้างบน โดยไม่ได้จ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า) ก็เลยได้เจอเจ้าของบ้าน คุณป้าคาวามุระ (พูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น) และสอบถามถึงรายละเอียดต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่าเช้าวันต่อมาในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมือง คุณป้ากลับเข้ามาทักฉันก่อน (ในขณะที่ฉันยังมึนๆสับสนว่าเจอคุณป้าคนนี้ที่ไหนหว่า? คือสองสามวันมานี่เจอกับคุณป้าหลายคนจนงงว่าคนไหนแน่) และบอกว่า เมื่อคืนนกมาตั้งแต่หนึ่งทุ่มเลยนะ ตอนตีสองมาสองตัวด้วย…ฉันได้แต่ ค่ะๆ ขณะจ่ายเงินซื้อกาแฟ ในสมองเริ่มรับรู้ว่าคุณป้าคาวามุระนี่เอง ขอบคุณค่ะคุณป้า มาให้ข้อมูลกันถึงร้านสะดวกซื้อเลยทีเดียว
ฉันมาถึงที่พักประมาณ 5 โมงเย็น (ช่วงเดือนนี้ (มิ.ย.) ของปี ฟ้ามืดประมาณหนึ่งทุ่ม) หลังจากเช็คอินเข้าห้องเรียบร้อย ก็มาที่ห้องอาหาร ซึ่งพร้อมประมาณ 6 โมงเย็น อาหารเป็นชุดๆต่อคน เต็มโต๊ะ สไตล์ญี่ปุ่น เบียร์สามารถสั่งแยกต่างหากได้

แต่ต้องถามคุณป้าๆที่ทำอาหาร (ไม่ได้วางให้เห็น) คุณป้าๆเหล่านี้น่าจะเป็นพี่น้องกันหมดกับคุณป้าคาวามุระเจ้าของ เพราะหน้าตาคล้ายกันหมด ในวันที่ฉันไป มีชาวญี่ปุ่นร่วมโต๊ะยาวด้วยประมาณ 10 กว่าคน พอกวาดตาไปทางหน้ากระจกสำหรับไว้ดูนก ก็เห็นมีวางขาตั้งกล้องจองที่กันเป็นแถวเรียบร้อย รวมถึงคนที่มาสังเกตการณ์อย่างเดียวไม่พักที่นี่ ก็เอาขาตั้งมาวางที่ที่ตนเห็นว่าเหมาะสมเพื่อจองที่กันแต่หัววัน คุณลุงสามีคุณป้ามาคุยกับฉันแล้วบอกว่าให้นั่งแถวนี้นะ ชี้ที่ให้ ดีเลยอยู่ใกล้ฮีทเตอร์ (ฉันนึกในใจ) พอได้เวลาใกล้ทุ่ม ทุกคนเริ่มเข้าประจำที่ โต๊ะอาหารถูกเก็บเรียบร้อยหมดแล้ว คุณป้าๆทำงานเสร็จก็กลับไปที่ห้องของตัวเอง ยกเว้นคุณลุงที่มาเดินวนเวียน บอกว่าปกตินกจะลงมายังไง ตอนกี่โมง ตัวผู้และตัวเมียต่างกันยังไง จริงๆแล้วคือดูที่ห่วงขา ซึ่ง ณ ตอนนี้ ฉันจำไม่ได้แล้วว่าห่วงขาด้านไหนเป็นพ่อ ด้านไหนเป็นแม่ ช่วงเดือนนี้นกคู่นี้มีลูกแล้ว กำลังอยู่ระหว่างปะคบปะหงม พอใกล้ได้เวลาก็ปิดไฟในห้องหมด อ้อ! ในห้องมีปูมนก สมุดบันทึกรายวัน ความถี่ของนกที่เข้ามา กิริยาอาการ กินปลา หรือเอาปลาไป ฯลฯ น่าจะเขียนกันมาทุกวัน หลายปีดีดักแล้ว สามารถเปิดดูได้ (ถ้าอ่านออก) เลยหนึ่งทุ่มไปนานโขแล้ว นกก็ยังไม่โผล่มาเหมือนเมื่อวาน ทุกคนได้แต่นั่งรอ จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่คงทำวิจัยเรื่องนกคู่นี้อยู่ในห้องพอดี (ฉันเห็นรูปอาจารย์คนนี้ในหนังสือพิมพ์ที่แปะอยู่บนกำแพง) เดินมาบอกว่า นกคงได้ปลาจากทะเลก่อนมืด เลยไม่เข้ามาเอาปลาที่บ่อตอนเริ่มมืดที่นี่ ธรรมชาติของมันคือจะออกไปจับปลาในทะเลจนกระทั่งมืด มองไม่เห็น แล้วมันจึงมาที่นี่ตอนกลางคืน แต่พอนั่งๆไปจนเกือบสามทุ่ม นกก็ยังไม่มา อาจารย์ก็อธิบายเพิ่มว่าแบบนี้คาดว่าทั้งพ่อและแม่คงจับปลาจากทะเลได้ ช่วงระยะเวลาเลยห่างออกไปอีก กว่าลูกจะกินปลาหมด แล้วมาเอาใหม่ที่นี่ แล้วอาจารย์ก็เดินออกจากห้องสังเกตการณ์ไป (ฉันคิดว่าแกคงไปรอนอนดูอยู่ในห้องแทน) ฉันก็ได้แต่จิบชา ผิงไฟ รอต่อไป…
นกตัวแรกมาเอาเมื่อสามทุ่มกว่าๆ หลังจากที่ได้ยินเสียงร้องมาสักระยะ เสียงชัทเตอร์จากทุกกล้องดังสนั่นหวั่นไหวทุกครั้งที่นกขยับตัว มันมาเกาะที่หินก่อขอบบ่อ รอสักพัก ก็กระโจนลงไปในน้ำ จับปลาขึ้นมา ยืนข้างบ่อ เอาเข้าปากตัวเอง มองมาทางมนุษย์เล็กน้อย ก่อนลงไปจับปลาใหม่ แล้วบินหายไป ทุกคนเริ่มหายเกร็งจากการเฝ้ารอและกดกล้อง ผ่อนคลาย บ้างเข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ หรือไม่ก็กลับไปดูที่ห้อง (สำหรับคนที่ได้ห้องเห็นวิว) เพราะทุกคนดูเหมือนจะรู้ว่า กว่าพวกมันจะมาอีกครั้งก็น่าจะเกือบสองชั่วโมงให้หลัง ฉันก็กลับไปอาบน้ำ นอน ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ เดี๋ยวค่อยตื่นมาใหม่…นาฬิกาปลุกไปนานแล้ว ฉันได้แต่นอนถามตัวเองว่าลุกดีไม่ลุกดี ก็เห็นแล้วนี่หน่า จุใจแล้ว นอนดีกว่า หนาวแบบนี้…แต่ในที่สุดก็ลุกออกไปจนได้ ประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ อากาศเย็นลงอีกเยอะ…ดูเหมือนว่านกจะมาอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อตอนห้าทุ่มกว่าๆไปแล้ว คนในห้องสังเกตการณ์ลดน้อยลง แต่ที่ปักหลักอยู่ก็มีอีกหลายคน อาจเพราะเขาไม่ได้พักที่นี่ และไม่มีที่ไปแอบนอนแบบฉัน… คุณลุงเดินหัวยุ่งกลับเข้ามาอีกครั้ง (หลังจากไปนอนมาแน่ๆ) ถามข้อมูลนก แล้วจดลงในปูม ประมาณตีหนึ่งกว่าๆตีสอง นกโฉบลงมาอีกครั้ง กระพือปีก จับปลากินเองสองตัว และคาบปลาไปอีกตัว คืนนี้นกลงแค่ครั้งละตัว ไม่ได้มาสองตัวแบบเมื่อคืนวาน… หลังจากที่จดบันทึกเสร็จ คุณลุงแจ้งว่าวันนี้คงหมดแค่นี้แล้วล่ะ (เพราะที่จริงฟ้าก็จะสว่างตอนตีสามกว่าๆอยู่แล้ว) ฉันถึงได้เดินไปสลบลงบนที่นอนอันแสนอบอุ่น…
เล่ามาตั้งนาน ฉันนึกอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงมายังไง ถึงได้มี Washi no Yado ที่นี่ และมีเจ้านกทึดทือมาหากินข้างบ้านแบบนี้ติดต่อกันหลายปี เลยลองค้นข้อมูลดู คร่าวๆคือเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ชาวประมงชื่อคาวามุระ (ซึ่งจากการคำนวณ ฉันว่าน่าจะพ่อของคุณป้าเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำสายเล็กๆแห่งนี้ ซึ่งห่างจากทะเลไม่ถึงร้อยเมตร คุณคาวามุระแกมาตั้งบ้านเรือนชำแหละแปรรูปปลาและปูที่จับได้แถวนี้ แล้วโยนเศษปลาเศษปูลงในแม่น้ำ ปลาเทราส์สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Yamane และ Oshorokoma) ก็มากินเศษปลาเศษปู แล้วตกดึกก็สังเกตเห็นว่ามีนกเค้าขนาดใหญ่คู่หนึ่งมาจับปลาเทราส์ที่แม่น้ำแห่งนี้เช่นกันในเวลากลางคืน โดยอาศัยแสงไฟจากบ้านช่วย เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปว่านกเค้าขนาดใหญ่ที่ว่าคือ Blakiston’s Fish Owl ซึ่งเป็นนกหายาก ใกล้สูญพันธุ์ ในฮอกไกโดเองมีอยู่ไม่ถึง 100 คู่ นักดูนกก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาดู จนในปี 1989 Washi no Yado ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักดูนกได้เข้าพัก แน่นอนว่าช่วงแรกๆ ยังไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไร นักถ่ายภาพคงจะไปก่อหิน ทำบ่อ ทำสตูดิโอกัน แต่ที่หนักกว่านั้นคือการใช้แฟลชกันเป็นปกติ เนื่องจากนกมาตอนกลางคืน เมื่อมีคนมาถ่ายรูปด้วยแฟลชมากขึ้นเรื่อยๆ นกก็ตื่นตกใจอยู่แถวบ่อได้ไม่นานก็บินหนีไป จึงได้มีการควบคุม ปรับสภาพแวดล้อม ห้ามมีการใช้แฟลช แต่ใช้การติดตั้งเสาไฟสูง (ตามที่เขียนไว้ข้างต้น) แทน รวมถึงห้ามมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยรอบ แม้แต่การจอดรถก็ห้ามจอดชิดลำน้ำ จนเป็นระบบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ที่สำคัญคือจะไม่มีการเลี้ยงนกโดยตรง เพียงแต่เพิ่มโอกาสให้นกสามารถจับเหยื่อได้ง่าย โดยการเอาปลาในแม่น้ำเองมาปล่อยไว้ในบ่อที่ก่อเอาไว้ในแม่น้ำเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นกคู่นี้จึงอาศัยหากินอยู่ที่นี่อย่างยาวนานเป็นประจำมาหลายต่อหลายปี และให้กำเนิดลูกๆออกไปอีกหลายครอก จนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่านกทึดทือบลาคิสตันนี้มีอายุยืนยาวถึง 30 ปี และพื้นที่หากินของนกชนิดนี้เรียกได้ว่ายึดพื้นที่กันไปคู่ละหนึ่งลำห้วยหรือลำน้ำเลย (จึงไม่เห็นนกคู่อื่นมาหากินในลำห้วยนี้ร่วมกัน) จากการอนุรักษ์พื้นที่มาเป็นเวลานาน Washi no Yado ได้กลายเป็นสถานที่ติดตามศึกษาพฤติกรรมของนักวิชาการ ออกสื่อและสารคดีมาหลายต่อหลายประเทศ และมีชื่อเสียงสำหรับนักดูนกมาจนถึงปัจจุบัน โดยนกไม่หนีหายไปไหน เนื่องจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยมิได้ไปทำลายธรรมชาติการหากินของนกแต่อย่างใด แถมยังพาลูกมาเรียนจับปลาที่นี่อีก ตัวนกเองก็คุ้นเคยพอกับเสียงชัตเตอร์และผู้คน (ที่แฝงตัวอยู่ในห้องสังเกตการณ์) จนอยู่แถวบ่อได้นานๆ สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับคุณลุงคุณป้าเจ้าของบ้าน และเป็นการอนุรักษ์นกหายากที่ชาวพื้นเมืองของเกาะฮอกไกโด (ชาวไอนุ) มีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้ปกปักษ์รักษาหมู่บ้าน (コタンコロカムイKotan-koro-kamui) ชนิดนี้ได้อย่างยั่งยืน
หลังจากอิ่มอกอิ่มใจกับการได้เห็น Blakiston’s Fish Owl ชัดๆนานๆได้สองครั้งเมื่อคืน ฉันนอนหลับได้อย่างสบายใจในที่นอนอุ่นๆ ก่อนจะตื่นขึ้นมารับประทานอาหารเช้าที่เหล่าคุณป้าจัดไว้ให้ในห้อง ก่อนร่ำลาออกมาคุณป้าฝากโปสการ์ดของที่นี่มาให้ พร้อมเบอร์โทรติดต่อ คุณป้าเล่าว่าคนไทยมาที่นี่หลายคนแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปและอยากเห็นนกเทพตัวนี้สักครั้ง เชิญติดต่อได้ตามโปสการ์ดที่คุณป้าให้มา (ภาษาญี่ปุ่น) หรือตามลิงค์ด้านบน (ภาษาอังกฤษ) ได้ตามสะดวก
วิถีชีวิต Blakiston’s Fish Owl (ข้อมูลจากเว็บไซต์ข้างต้น)
ก.พ. ช่วงจับคู่ ร้องเกี้ยว ช่วงนี้จะมาที่บ่อไม่กี่ครั้ง
มี.ค-พ.ค. ช่วงตัวเมียทำรัง ออกไข่ และฟักไข่ (จะมีแต่ตัวผู้มาหาอาหารที่บ่อ)
มิ.ย.-ก.ค. ลูกออกจากไข่ พ่อแม่จะยุ่งขึ้น ขยันมาจับปลาบ่อยขึ้นเพื่อเลี้ยงลูก
ส.ค.-ก.ย. ลูกเริ่มออกจากรังและวนเวียนมาใกล้บ่อ จนกระทั่งมาฝึกจับปลาที่บ่อ ช่วงนี้จะเห็นนกมาที่บ่อบ่อยครั้งมากขึ้น มีบันทึกว่าประมาณ 10-20 ครั้งต่อคืนเลยทีเดียว
ต.ค.-ต้น ม.ค. ลูกเริ่มออกล่าด้วยตัวเอง ช่วงนี้จะมีนกมาที่บ่อถี่มาก 25-30 ครั้งต่อคืน
ม.ค. พ่อแม่เริ่มไล่ลูกที่หากินเองได้แล้วออกจากพื้นที่ของตัวเอง (โตแล้วจะไปไหนก็ไป อย่ามายุ่งแถวนี้!) ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ไม่มีกิจกรรมแถวบ่อมากเท่าไหร่
ปล. คลิปวีดีโอด้านล่างนี้ flicker เยอะมาก เนื่องจากตั้งกล้องไม่เป็น ไม่ทันคิดเรื่องแสง 😅 แต่อยากให้เห็นตอนเคลื่อนไหวบ้าง 😘😘