ฉันนั่งๆ นอนๆ บนรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียมาจากเมือง Vladivostok (วลาดิวอสต็อค) เป็นเวลา 3 คืน เพื่อมาลงรถไฟที่สถานี Ulan-Ude (อุลังอุเด) เมืองหลวงของรัฐ Buryatia (บุริยาเทีย คือเสียงอ่านตามที่ได้ยิน ถ้าตามวิกิ เขาเขียน “บูเรียตียา”) ที่นี่ตั้งอยู่ในภูมิภาคไซบีเรียตะวันออกของประเทศรัสเซีย นอกจากเขตที่ตั้งของตัวเมืองแล้ว ภูมิประเทศโดยทั่วไปของที่นี่จะเป็นทุ่งหญ้ากว้างๆโล่งๆคล้ายๆกับมองโกเลีย บริเวณที่มีการทำการเกษตรฯ จะปลูกข้าวสาลีและมันฝรั่งเป็นหลัก ห่างออกไปไกลๆจะเป็นภูเขาที่มีป่าสน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง จากการตัดท่อนซุงจากบนเขาเอามาใช้เองในภูมิภาคและส่วนหนึ่งส่งออกไปที่ประเทศจีน บางส่วนที่เคยเป็นไร่นารวม (Collective farm) สมัยคอมมิวนิสต์และยังไม่มีคนมาจับจอง ก็จะกลายเป็นที่โล่งๆมีหญ้าขึ้นบ้างต้นไม้ขึ้นบ้างผสมกันไป อย่างไรก็ดีที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในรัสเซียด้วย เลยขาดไม่ได้ที่จะไปเยี่ยมชมวัดวาอารามของดินแดนแถบนี้กันก่อน
วัดแรกที่ไปมีชื่อว่า Ivolginsky Datsan (อิโวลกินสกี้ ดัตซัน) ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง Ulan-Ude โดยทางรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง ถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของดินแดนแถบนี้ สร้างขึ้นในปี ค.ศ 1946…หากสงสัยว่ามันเก่ายังไง ยังไม่ถึงร้อยปี!?…ลองนึกย้อนกลับไปว่า ในช่วงปี 1946 นั้น รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งกวาดล้างศาสนาทั้งหมด แต่วัดนี้กลับตั้งขึ้นมาได้ช่วงนั้น!? ทำไม? นึกไปอีกที 1946 เพิ่งจะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2!….วัดนี้จึงมีที่มาที่ไป…จริงๆแล้วดินแดนแถบนี้เป็นเหมือนดินแดนของชาวมองโกลทางเหนือในอดีต ที่เรียกว่าชาว Buryat (บุริยาท) แต่ด้วยการปกครองทางการเมืองที่แบ่งแยกเขตแดนทำให้ดินแดนส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย พุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้จึงเจริญรุ่งเรืองมาก่อน (พุทธแบบทิเบต นิกายหมวกเหลือง) แต่พอเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างเกี่ยวกับศาสนาก็ถูกทำลาย…ลามะ (พระ) ที่เคยมีอยู่กว่าหกหมื่นรูป แตกหนีกระจัดกระจายไปอยู่ที่ทิเบตบ้าง มองโกเลียบ้าง แต่ก็ยังมีลามะส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอยู่ที่นี่…พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลามะที่นี่ได้ช่วยเหลือกองทัพในหลายๆด้าน เช่นรับบริจาคเงินส่งไปช่วยกองทัพ หรือช่วยรักษาทหารผู้บาดเจ็บ จนเห็นเป็นที่ประจักษ์ของผู้นำสหภาพโซเวียต ต่อมาลามะเหล่านี้จึงรวมตัวกันขอสตาลิน เพื่อก่อตั้งวัดขึ้น…แล้วสตาลิน (ผู้ที่ออกคำสั่งให้กวาดล้างศาสนสถานทั้งหมด) ก็ให้! เนื่องจากตระหนักถึงความช่วยเหลือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง
ในปัจจุบันที่นี่เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาของรัฐ มีส่วนที่เป็นสังฆาวาสและพุทธาวาสแยกกันชัดเจน อาคารสร้างในแบบไซบีเรียคือใช้ไม้เป็นหลัก ประตูและหน้าต่างทาสีสวยๆ ในส่วนของสังฆาวาส (เขตอาศัยของลามะ) จะมีลามะที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆอาศัยอยู่ และจะมีประชาชนทั่วไปมาเยี่ยมเยือนขอคำปรึกษา เช่นให้ดูดวง หรือรักษาอาการป่วยเป็นต้น ส่วนภายในตัววิหารต่างๆ ในเขตพุทธาวาสนั้น ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายใน ปัจจุบันที่นี่มีลามะอยู่ประมาณ 60 รูป และนักศึกษาอีกประมาณ 250 คนอาศัยอยู่ ซึ่งต้องเรียนพุทธศาสนาเป็นภาษามองโกล สันสกฤตและทิเบต หากจบถึงขั้นมหาวิทยาลัยของที่นี่ก็จะได้ปริญญาด้านปรัชญาศาสนา ในบริเวณวัดมีวิหารต่างๆที่อุทิศให้เทพเจ้าแต่ละองค์ เช่น Temple of Green Tara เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารหนึ่งสร้างเป็นกรีนเฮ้าส์โดยด้านในมีต้นโพธิ์ที่ลามะองค์หนึ่งเอากลับมาจากสวนลุมพินีในประเทศอินเดียอีกด้วย แต่ที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดคงเป็นวิหารที่มีร่างของพระอาจารย์ Khambo Lama ที่ 12 ซึ่งศพยังคงสภาพร่างกายที่ไม่เน่าเปื่อยโดยไม่มีการทำมัมมี่หรืออะไรเลย (ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 2002) แม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึง 80 กว่าปีแล้วก็ตาม บ้างว่าอาจเป็นเพราะอากาศที่หนาวเย็นของภูมิภาคและสภาพโดยรอบบริเวณที่ฝังศพมีความเค็มของเกลือสูง อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญบางคนยังยืนยันว่าเส้นผมของลามะยังคงยาวขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆ…
ส่วนอีกวัดหนึ่ง อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของ Ulan-Ude มีชื่อว่า Atsagatsky Datsan (อัตซากัสกี้ ดัตซัน) วัดนี้เป็นวัดเรียบๆ ตั้งอยู่บนเนินที่เป็นทุ่งหญ้าล้อมรอบกว้างไกล มองเห็นหมู่บ้านข้างล่าง เดิมวัดนี้มีประวัติมาเกือบสองร้อยปี แต่ที่เห็นปัจจุบันเพิ่งสร้างปี ค.ศ. 1990 ดาไลลามะองค์ปัจจุบันเคยเสด็จมาที่นี่ถึงสองครั้ง ที่วัดแห่งนี้มีพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของลามะที่เหมือนเป็นผู้วางรากฐานของพุทธศาสนาในแถบนี้และเป็นผู้ที่ทำให้ศาสนายังคงอยู่ ท่านชื่อ Ngawang Dorjee (พระลามะองค์นี้มีประวัติค่อนข้างยาวมาก ท่านศึกษาพุทธศาสนาในทิเบต เคยเป็นพระอาจารย์ดาไลลามะองค์ที่ 13 เคยเป็นรัฐมนตรีของทิเบต และว่ากันว่าเคยช่วยให้พระเจ้านิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียมีรัชทายาทจนได้รับที่ดินเพื่อสร้างวัดในรัสเซีย ฯลฯ อย่างไรก็ดี ท่านถูกจับในปี ค.ศ. 1937 และเสียชีวิตในคุก) มาที่นี่ฉันได้คุยกับลามะเจ้าอาวาสคนปัจจุบันที่มีอารมณ์ขันเป็นที่สนุกสนาน ที่สำคัญคือพอท่านรู้ว่ามาจากเมืองไทย ท่านถามว่าอยู่ที่ไหน พอบอกว่า กรุงเทพฯ ท่านส่ายหน้าบอก “อยู่เข้าไปได้ยังไงเมืองแบบนั้น!?”…นั่นสินะ
นอกจากการเที่ยวชมวัดในพื้นที่แล้ว การท่องเที่ยวของที่นี่ที่เป็นที่นิยมอีกอย่างคือการไปรับประทานอาหารเที่ยงแบบพื้นเมืองในหมู่บ้าน และสัมผัสวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ หนึ่งคือหมู่บ้านที่เป็นของชาว Old Believers อันเป็นชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวรัสเซียที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกสายตะวันออก ที่ยังคงเคร่งในหลักปฏิบัติแบบดั้งเดิม คนกลุ่มนี้อพยพไปอยู่แถบโปแลนด์ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ยามเมื่อราชวงศ์รัสเซียเริ่มขยายอำนาจไปสู่ดินแดนไซบีเรีย ก็เลยจ้าง (ให้เงิน) ให้เหล่า Old Believers ย้ายไปตั้งถิ่นฐานบุกเบิกในไซบีเรียเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งใช้เวลาเดินทางเป็นแรมเดือนแรมปีกว่าจะมาถึง ชนกลุ่มนี้มาตั้งถิ่นฐานใน Buryatia เยอะที่สุด มีหมู่บ้านของตนเองที่ยังคงสืบต่อส่งทอดวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมมาจนปัจจุบัน หมู่บ้าน Nadehino (นาเดฮิโน่)ของชาว old believers ที่ฉันไปเยี่ยมเยือน ทาสีประตูบ้านและตัวบ้านเป็นสีลูกกวาดน่ารักๆ มีเจ้าบ้านในชุดพื้นเมืองออกมาต้อนรับ การเยี่ยมเยือนที่นี่ถือเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมบางส่วน ตั้งแต่การรับประทานอาหารไปจนถึงการให้สาธิตการแต่งตัวในชุดพื้นเมือง และให้พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของการจัดพิธีแต่งงานเป็นต้น พร้อมกับการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน ฉันใช้เวลาเกือบๆ 5 ชั่วโมงในบ้านหลังนี้ก่อนจะลาจากกันพร้อมของที่ระลึกที่เขาทำกันเองในหมู่บ้านติดไม้ติดมือมาด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอาจติดต่อเข้าพักแบบ Homestay ได้ด้วย




ใกล้ๆหมู่บ้านของชาว Old Believers ที่ฉันไป มีจุดชมวิวที่เห็นวิวกว้างไกล โดยเฉพาะลำน้ำ Selenga (เซเลนก้า) ที่ไหลคดเคี้ยวผ่านดินแดนแถบนี้ ที่นี่ถูกเรียกว่า Sleeping Lion Hill เพราะจุดชมวิวตั้งอยู่บนเนินเขาที่ดูไกลๆ จะเหมือนกับสิงโตนั่งหมอบอยู่ แต่จริงๆที่นี่มีชื่อพื้นเมืองว่า Omulyovka Hill (เนินเขาโอมุลโยฟก้า) มาจากชื่อของปลา Omul (โอมุล) จากทะเลสาบไบขาลที่แต่ก่อนมักว่ายมาวางไข่ในแม่น้ำบริเวณนี้ หากเดินขึ้นไปบนเนินจะเห็นวิวพานอราม่าของแม่น้ำและเนินเขาโดยรอบ ยิ่งช่วงพระอาทิตย์ตกดินยิ่งสวย บนยอดเนินยังมีธงมนต์ผูกเรียงรายตามต้นไม้ บ่งบอกว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนที่นี่


นอกจากชาว Old Believers แล้ว การไปเยี่ยมเยือนบ้านชาว Buryat (ออกเสียงตามที่ได้ยินว่า บุริยาท) ชาวพื้นเมืองเชื้อสายมองโกล ที่อาศัยอยู่ในไซบีเรีย (ติดกับชายแดนประเทศมองโกลเลียปัจจุบันทางตอนเหนือ) ชนกลุ่มใหญ่ที่มีภาษาเป็นของตัวเองและมีประชากรมากถึง 50% ของประชากรทั้งหมดล้านกว่าคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ Buryatia แห่งนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน…Gelya (เกลญ่า) เจ้าของบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้าน Arbijil (อาร์บิจิล) (ห่างจาก Ulan-Ude ไปทางทิศตะวันออกประมาณไม่ถึงชั่วโมง) ออกมาต้อนรับหน้าบ้านด้วยชานมพื้นเมือง (ไม่ใส่น้ำตาลไม่ใส่เกลือ) เธออยู่ในชุดพื้นเมืองและพูดภาษาอังกฤษได้โดยไม่ได้เรียนจากที่ไหน แต่จดจำจากการที่เจอนักท่องเที่ยวบ่อยแล้วฟังไกด์แปล เธอพาเข้าไปใน Ger (บ้านแบบชาวมองโกล) ดั้งเดิมที่ทำจากผ้าผืนหนา แล้วอธิบายส่วนต่างๆ ก่อนพาเข้าไปใน Ger ที่สร้างจากไม้อันเป็นบ้านถาวรของเธอ แล้วสอนพวกเราห่อ Buuz (บุซ) หรือโมโม่หรือแป้งห่อเนื้อหมูผสมเนื้อวัวสับปรุงรสนึ่ง (คล้ายเสี่ยวหลงเปาที่คนไทยรู้จัก) สำหรับเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเที่ยงที่เธอทำให้รับประทานพร้อมเหล้าพื้นเมืองรสชาติเยี่ยม ที่เริ่มด้วยการเอานิ้วจุ่มเหล้าสะบัดไปตามทิศต่างๆเพื่อเซ่นไหว้ตามลำดับ หลังมื้ออาหาร เธอยังสอนทำเทียนจากแป้งโดว์ ก่อนชวนเล่นเกมที่ใช้กระดูกแพะและกระดูกวัวเป็นอุปกรณ์ 3-4 เกม แล้วชวนให้แต่งตัวในชุดพื้นเมือง ออกไปหัดยิงธนูแบบชาวมองโกล (เสียทีวันนั้นลมแรงและอากาศหนาวไปหน่อย เลยเจ็บมือมาก)…เวลาผ่านไปเร็วมากด้วยความสนุกสนาน โดยเฉพาะการเล่นเกมแข่งม้าด้วยกระดูกแกะ เฮฮากันจนฉันอยากจะวางพนันกันเลยทีเดียว




อุตส่าห์นั่งรถไฟมาลงที่เมือง Ulan-Ude เมืองหลวงของ Buryatia Region ทั้งที จะไม่เดินชมเมืองเลยก็กระไรอยู่ พอดีมีเวลาอยู่ 2-3 ชั่วโมงก่อนมืด ฉันเลยได้มีโอกาสเดินไปจตุรัสกลางเมืองที่เขาเรียกกันว่า Soviets Square ชมอนุสาวรีย์ศีรษะเลนินที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย เฉพาะหัวนี่สูง 7.7 เมตร หนัก 42 ตัน เขาว่ากันว่าบนหัวเลนินออกแบบมาให้มีผมเป็นแหลมๆขึ้นมา เลยไม่มีนกพิราบมาเกาะ ขี้รดหัวแบบอนุสาวรีย์อื่นๆ อันนี้จริงเท็จไม่ทราบเพราะไม่ได้ปีนขึ้นไปดูเอง…จากเลนิน เดินไปตามถนนจะเจอโรงละครโอเปร่าแห่งแรกและแห่งเดียวของรัสเซียตะวันออก ถัดไปเป็นประตูชัยสร้างฉลองตอนชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางเดินจะค่อยๆลงเนินไปยังถนนคนเดิน ฉันพยายามเดินไปให้ถึงโบสถ์ที่สุดถนน แล้วเลี้ยวซ้ายเดินต่อไป ซึ่งจะเห็นบ้านเรือนเก่าๆในสไตล์ไซบีเรียตั้งเรียงกันเป็นแถว บ้านเหล่านี้สร้างจากท่อนซุง จุดเด่นอยู่ที่หน้าต่างและประตูที่ทาสีตัดกันสวยงาม บางแห่งมีลายฉลุอยู่บนชายหลังคาด้วย แม้จะเก่าทรุดโทรมไปหลายหลัง แต่โดยรวมแล้วก็แปลกตาและงดงามมาก ตัวเมือง Ulan-Ude มีความทันสมัยไม่แพ้เมืองหลักอื่นๆของรัสเซีย มีบาร์ ร้านอาหารร่วมสมัย เดินเล่นได้อย่างปลอดภัย โรงแรมที่พักแม้จะไม่หรูหราแต่ก็กว้างขวางอยู่สบายมีสิ่งอำนวจความสะดวกครบครัน เหมาะสำหรับแวะพักสัก 2-3 คืนระหว่างการเดินทางตามเส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียเป็นอย่างดี








