รู้ไว้ล่วงหน้า…การเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย

บทความนี้คือข้อมูลในการเตรียมตัวเดินทางสำหรับคนที่สนใจเส้นทางสายนี้ จากประสบการณ์การเดินทางตลอดเส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียจากวลาดิวอสต๊อกไปจนถึงมอสโคว์ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นหนึ่งเดือน บทเส้นทางประมาณ 10,000 กิโลเมตร (รวมการเดินทางโดยรถยนต์ไปเที่ยวตามที่ท่องเที่ยวอื่นๆและไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จริงๆทางรถไฟเส้นนี้ ยาว 9,288 กิโลเมตร) โดยแวะเที่ยวตามเมืองต่างๆตลอดเส้นทาง ที่ละ 1-5 วัน ก่อนกลับมาขึ้นรถไฟที่สถานีเดิมแล้วเดินทางต่อ อนึ่งในการเดินทางครั้งนี้ อยู่เฉพาะในประเทศรัสเซีย ไม่ได้เดินทางผ่านเข้าออกไปที่จีนหรือมองโกลเลียแต่อย่างใด ระยะเวลาที่อยู่บนรถไฟนานที่สุดคือประมาณ 3 คืน ที่สั้นที่สุดคือไม่ถึงวัน (คือไม่ต้องค้างบนรถไฟ หรือขึ้นดึกๆไปถึงอีกทีแต่เช้า คือขึ้นไปนอนอย่างเดียว) โดยขอสรุปเป็นข้อๆดังต่อไปนี้

หมายเหตุ: ในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงการจองตั๋วรถไฟ/ราคา/งบประมาณนะคะ ส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่ผ่านไปนั้น ได้เขียนบันทึกไว้ใน FB Page: Lah-no-tabi ค่ะ ไปติดตามกันได้ถ้าสนใจ

  1. สถานีรถไฟส่วนใหญ่โดยเฉพาะในโซนไซบีเรีย เป็นสถานีใหญ่แต่มีแต่บันไดขึ้นๆลงๆเท่านั้น ไม่มีลิฟต์ให้บริการ นั่นหมายความว่า ผู้เดินทางจำเป็นต้องขนของขึ้นลงบันไดสูงๆเอง รวมถึงขนขึ้นลงรถไฟเองตลอดเวลา จึงแนะนำให้ใช้กระเป๋าที่สะดวกต่อการขึ้นลงบันได แล้วแต่ว่าจะถนัดกันอย่างไร ที่สำคัญไม่ควรมีลูกเล็กลูกน้อย หรือมีน้ำหนักมากเกินไป บอกตามตรงว่าการขนของขึ้นลงบันไดตามสถานีต่างๆนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้ง่าย ตามสถานีบางแห่งจะมีคนขนกระเป๋าไปดักรออยู่ แต่ไม่แนะนำให้ใช้บริการ เนื่องจากที่ผ่านมามีประวัติของหายกันเยอะมาก พี่แกหายไปพร้อมกระเป๋าเลย ตามยังไงก็ตามไม่ทัน อย่างไรก็ดี สถานีใหญ่ๆในโซนยุโรปนั้น จะมีลิฟต์ให้บริการด้วย แต่ก็อาจต้องเดินกันไกลกว่าปกติ
  2. ทุกสถานีใหญ่ๆจะมีเครื่องตรวจกระเป๋าแบบสนามบิน บางแห่งก็มีทั้งขาเข้าขาออก เผื่อเวลาสำหรับการผ่านเครื่องพวกนี้ด้วยเสมอ
  3. พกพาสปอร์ตติดตัวเสมอในจุดที่สามารถควักออกมาได้ง่ายๆ เพราะการเช็คอินเข้ารถไฟนั้น เขาจะตรวจพาสปอร์ต ไม่ได้ตรวจตั๋วอย่างเดียว บางครั้งเขาดูแต่พาสปอร์ตด้วยซ้ำ เพราะพนักงานมีข้อมูลอยู่ในเครื่องแล้ว แค่ตรวจชื่อกับหน้าให้ตรง ลองคิดดูว่าต้องหอบสัมภาระพะรุงพะรังแล้วยังต้องมาควานหาพาสปอร์ตก่อนขึ้นรถไฟอีก จะทุลักทุเลแค่ไหน
  4. ทุกครั้งที่จะลงจากรถไฟไปเดินเล่น เวลาที่รถไฟจอดตามสถานีต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่ควรจะลงไปเฉพาะสถานีที่จอดนานเกิน 10 นาที เช็คตารางเวลาได้จากบนรถไฟ หรือถามเจ้าหน้าที่ประจำตู้ที่เรียกว่า Provodnik (ชาย) หรือ Provodnista (หญิง)) ควรต้องพกพาสปอร์ต เงิน และตั๋วรถไฟติดตัวลงไปด้วยเสมอ ทั้งนี้ในกรณีที่เหตุสุดวิสัย ที่ไม่สามารถกลับมาขึ้นรถไฟได้ทัน อย่างน้อยยังมีเอกสารสำคัญแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปได้
  5. ในกรณีที่มีการนัดหมายกับไกด์ท้องถิ่น เพื่อไปท่องเที่ยวในเมือง ควรรอไกด์อยู่ที่หน้าตู้รถไฟของเราเวลาลงจากรถไฟเท่านั้น แต่ละตู้มีทางขึ้นลงทางเดียว (ส่วนใหญ่บริษัททัวร์ต่างๆจะนัดหมายไกด์มารับที่ตู้รถไฟ ที่เราได้แจ้งหมายเลขขบวน หมายเลขตู้และที่นั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว) บางครั้งถ้าไปถึงสถานีนั้นๆแล้ว ไม่มีใครมารอรับที่ชานชาลาตรงทางลงจากตู้รถไฟ ก็ควรรออยู่ตรงแถวๆนั้นตลอด เพราะบางครั้งไกด์อาจต้องใช้เวลาในการเดินหาตู้ หรือรถไฟเข้าชานชาลาไม่ตรงตามกำหนดการ อย่าพยายามเดินออกไปหาไกด์ที่อื่นเอง เนื่องจากร้อยทั้งร้อยจะหากันไม่เจอเนื่องจากความใหญ่โตของสถานี และความไม่รู้ภาษา ถ้ารอจนรู้สึกว่าไม่มีใครมารับแน่ๆแล้วจริงๆ จึงค่อยหาวิธีโทรศัพท์หรือติดต่อกับทางทัวร์ที่เราติดต่อไว้ก่อน แล้วค่อยขยับขยายต่อไป (มีนักท่องเที่ยวหลายคน พอลงจากรถมักจะลืม เดินตามฝูงชนออกไปจากชานชาลาเลย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ไกด์จะหาไม่เจอ แล้วจบลงด้วยการต้องนั่งแท็กซี่ไปโรงแรมเอง)
  6. แต่ละตู้รถไฟจะมีพนักงานที่คอยตรวจตั๋วและดูแลทุกอย่างภายในตู้รถไฟ (ที่เรียกว่า provodnik/provodnista ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว) เจ้าพนักงานนี้จะช่วยเราหากเกินมีปัญหาในตู้ รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องนอนในตู้ และขายของกินเล็กๆน้อยๆ และของที่ระลึก จึงควรที่เราผู้โดยสารควรทำตัวเป็นมิตรกับเขาและเธอที่อยู่ประจำตู้เรา ไม่ว่าจะช่วยซื้ออะไรเล็กๆน้อยๆ หรือยิ้มแย้มแจ่มใส เท่าที่ประสบมา คนรัสเซียส่วนใหญ่หน้าตาจะไม่ค่อยยิ้ม (แต่จริงๆนิสัยดี) ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ บางคนดีหน่อย (ที่อยู่ขบวนชั้นหนึ่ง) ก็จะใช้แอพในโทรศัพท์ช่วยแปลบ้าง ถ้าไม่เข้าใจกันจริงๆอาจต้องมองหาผู้โดยสารคนอื่นที่พูดอังกฤษได้มาช่วยสนทนา
  7. บนรถไฟเส้นทางยาวๆ จะมีตู้เสบียง (ขึ้นแล้วสอบถามหรือสำรวจเอาเองว่าอยู่ไกลมากน้อยแค่ไหน) ซึ่งสามารถไปนั่งรับประทานอาหารเป็นมื้อๆได้ หรือบางทีเจ้าหน้าที่จะเดินมาสอบถามที่ตู้ (แล้วแต่กรณี) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีขายที่ตู้เสบียงเท่านั้น อย่าไปถามหาจากเจ้าพนักงานประจำตู้ บางครั้งเช้าๆ หรือสายๆ พนักงานก็จะเอาพวกขนมปังอบหรือพายต่างๆมาขายเลยที่ตู้ ถ้ารู้ว่าจะต้องนอนบนรถไฟ สิ่งที่ควรเตรียมไปคือชา กาแฟ น้ำดื่ม รวมถึงกระติกหรือถ้วยประจำตัว (ทุกตู้มีน้ำร้อนให้เติมได้ตลอด แต่ต้องมีภาชนะไปใส่เอง) หรืออาหารที่ตัวเองโปรดปรานประจำตัว (โดยเฉพาะคนที่กินยาก) ไปด้วย จะช่วยประหยัดเงินได้มาก
  8. ควรตรวจสอบและทำความเข้าใจกับตั๋วที่จองทุกครั้ง ว่าตั๋วนั้นรวมอะไรไว้บ้าง บางครั้งจะมีอาหารวันละหนึ่งมื้อรวมอยู่ด้วย หรือมีอาหารเย็นที่ตู้เสบียง ฯลฯ เพราะพอรถออกได้ไม่นาน เจ้าพนักงานอาจมาถามว่าจะกินอะไร กี่โมง กินที่ไหน ฯลฯ เพื่อเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องและไม่ต้องเอาเสบียงมาเกิน
  9. เวลาที่ใช้ในขบวนรถไฟได้ปรับมาใช้เวลาท้องถิ่นของแต่ละที่แล้ว (ไม่ได้ใช้เวลามอสโคว์แบบสมัยก่อน) แม้ว่าในตั๋วจะมีเขียนไว้ทั้งสองแบบ แต่ตารางเวลาทุกอย่างในตารางบนรถไฟ และเวลาขึ้นลงแต่ละสถานีปรับเป็นเวลาท้องถิ่นหมดแล้วตั้งแต่ปี 2018 ผู้ที่หารีวิวเก่าๆมาอ่าน โปรดระวัง
  10. เท่าที่เดินทางมา หากจองชั้นหนึ่ง จะเป็นตู้นอนห้องสองเตียง ไม่มีเตียงบน มีของใช้ง่ายๆให้เช่นรองเท้าแตะ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาขัดรองเท้า ผ้าเช็ดมือ ผ้าขนหนู เป็นต้น ส่วนตู้ชั้นสอง จะเป็นห้องสี่เตียง มีชั้นบนชั้นล่าง ระบุหมายเลขชัดเจนบนตั๋ว มีของใช้ต่างๆให้เช่นรองเท้าแตะ ยาสีฟันและแปรงสีฟัน (ไม่มากเท่าชั้นหนึ่ง) ส่วนชั้นสาม จะไม่มีห้องส่วนตัว จะเป็นตู้นอนรวม แนวขวางสองชั้น และมีแนวนอนด้านทางเดินอีกสองชั้น มีม่านกั้นตรงที่นอนเพื่อความเป็นส่วนตัว
  11. ทุกตู้มีห้องน้ำให้ไม่ที่หัวก็ที่ท้ายตู้ ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม (โปรดรักษาความสะอาด) มีอ่างล้างหน้าให้ ถ้าตู้รุ่นใหม่ๆ ส้วมจะเหมือนบนเครื่องบินคือกดปุ่มแล้วดูดวืบลงไป ถ้าเป็นตู้รุ่นเก่า ส้วมจะใช้เหยียบที่เท้าหรือกดปุ่มข้างๆ มีน้ำไหลออกมาล้าง ส่วนห้องอาบน้ำมีอยู่บางตู้ ซึ่งต้องเสียเงินค่าใช้ห้องอาบน้ำ และต้องจองเวลากับเจ้าพนักงาน ส่วนถังขยะจะอยู่แถวหน้าห้องน้ำ เวลามีขยะส่วนตัวในห้อง ควรเอามาทิ้งที่ถังเหล่านี้ก่อนลงจากรถไฟ
  12. หากเป็นตู้ชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง ในห้องจะมีปลั๊กไฟให้ แบบหัวกลมสองขา (หาอแดปเตอร์ไปกันเองถ้าจำเป็น) ห้องละ 1-2 จุดถ้ าต้องชาร์จอะไรหลายอย่าง ควรหารางปลั๊กติดตัวไปด้วย แต่มีรถไฟรุ่นเก่าบางรุ่นจะไม่มีปลั๊กในห้องด้วย มีอยู่แต่ที่ทางเดินด้านนอกหรือในห้องน้ำ อันนี้ก็ต้องหาเวลาที่เหมาะสมไปชาร์จกันเอาเอง (หรือฝากพนักงานประจำตู้ชาร์จให้ จ่ายเงินเล็กน้อย)

เอาเป็นว่าตอนนี้นึกออกแค่นี้ ใครอ่านแล้วสงสัยตรงไหน สอบถามเพิ่มเติมมาได้ค่ะ

ส่วนสองคลิปด้านล่างเป็นคลิปแนะนำรถไฟแบบสั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่จะต้องเจอมากขึ้นค่ะ

First class carriage of the Trans-Siberian Train (from Vladivostok to Ulan-Ude)
Second class carriage of the Trans-Siberian Train (from Irkutsk to Krasnoyak)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s