Journey Along the Sepik River (II): Crocodile Skins

จากที่ได้เกริ่นไว้ในตอนที่แล้วว่าเป้าหมายหนึ่งของการเดินทางมายังดินแดนห่างไกลในเขตลุ่มน้ำ Sepik (ซีปิค) แห่งประเทศปาปัวนิวกินีนี้ คือการตามหาชายที่มีรอยนูนคล้ายเกล็ดจระเข้ตามตัว ในการเยี่ยมชมงานเทศกาลจระเข้ (Crocodile Festival) ที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ฉันพยายามมองหาชายที่มีรอยนูนบนผิวหนังดังกล่าวด้วย ด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพียงแค่อยากเห็นของจริงกับตาและถ่ายภาพผิวหนังอันแปลกประหลาดของพวกเขาเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนจะหายากเสียเหลือเกินจนสีสันอื่นๆของงานเทศกาลเกือบทำให้ฉันลืมเป้าหมายนี้ไปเสียแล้ว แต่ในระหว่างที่เดินไปมาอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่เข้าชมงานกับชาวเผ่าต่างๆที่มาร้องรำทำเพลงอยู่นั่นเอง ฉันก็เหลือบไปเห็นชายหนุ่มที่มาชมงานคนหนึ่งในชุดเสื้อกล้ามโชว์รอยผิวนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดคล้ายเกล็ดเป็นแนวยาวจากหัวไหล่ลงมาตามต้นแขน ฉันปรี่เข้าไปพูดคุยด้วยและขอให้เขาถอดเสื้อให้ฉันชมภายในสามประโยคที่ได้ทักทายกัน! ชายหนุ่มผิวเข้มกล้ามโตคนนี้ก็ดีใจหาย ยอมถอดเสื้อให้ฉันชมในทันที ทันใดนั้นผู้คนก็เริ่มห้อมล้อมเข้ามามุงดูเขากับฉันด้วย และข้อมูลต่างๆจากคนนั้นคนนี้ก็เริ่มทยอยเข้ามาหาฉันหลังจากนั้น

สาเหตุที่ฉันไม่ได้เจอชายหนุ่มทุกคนที่มีผิวหนังแบบที่ว่า ก็เนื่องจากการทำให้ผิวหนังนูนเป็นเกล็ดนี้มาจากการทำพิธีกรรมบางอย่างที่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของชาวลุ่มน้ำ Sepik ตอนกลางบางส่วนเท่านั้น ซึ่งในเมือง Ambunti (อัมบุนติ) เองที่เป็นสถานที่จัดงานก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ การจะหาชายที่มีผิวหนังแบบนี้เกือบทั้งหมู่บ้านนั้นจะต้องเดินทางไปยังหมู่บ้านอื่นที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 6-7 ชั่วโมงโดยทางเรือ ฉันเดาเอาเองว่าชายหนุ่มคนที่ฉันเจอก็คงจะเดินทางมาจากดินแดนแถบนั้น เพราะหลังจากที่เขาถอดเสื้อให้ฉันได้ยลเพียงไม่นาน เขาก็ขอตัวเดินจากไปกับกลุ่มเพื่อน ยังไม่ทันที่ฉันจะได้ถามอะไรไปมากกว่าการขอถ่ายรูป แต่ ณ จุดเริ่มต้นแบบนั้นเอง หลังจากนั้นฉันก็สังเกตเห็นชายชาวปาปัวฯ ที่มีผิวนูนเป็นเกล็ดอีกจำนวนหนึ่งในงาน โดยเฉพาะกลุ่มชายจากชนเผ่าหนึ่งที่มาร่วมแสดง “Sing-Sing” ก็มีผิวอย่างที่ว่า แม้บางคนรอยจะค่อนข้างจางและไม่ชัดมาก แต่ฉันก็ได้ข้อมูลที่มาที่ไปเพิ่มขึ้นและเป็นเหตุชักนำให้ฉันเดินทางต่อไปเพื่อไปชมพิธีกรรมดังกล่าวกับตา ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าว่าจะได้เห็น…

ฉันนั่งเรือล่องตามลำน้ำจากเมืองเทศกาล Ambunti มาถึงชายหมู่บ้าน Palambei (ปาลัมเบ้) หมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากริมแม่น้ำ Sepik ตอนกลางในช่วงหน้าแล้ง และเดินเท้าลัดเลาะผ่านแนวชายป่าละเมาะ ทุ่งหญ้าและสวนเล็กๆของชาวบ้านเข้าไปประมาณครึ่งชั่วโมงจากริมตลิ่งที่จอดเรือ หมู่บ้านที่อดีตเคยถูกถล่มด้วยระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรเนื่องจากเป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แห่งนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นเพียงหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่โต มีโบสถ์คริสต์ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน โดยที่ด้านซ้ายและด้านขวาของโบสถ์เป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่เรียกกันว่า Haus Tambaran (เฮ้าส์ตัมบะรัน) หรือ Spirit House สองหลังใกล้ๆกัน (แต่ละหลังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวบ้านคนละสายตระกูลที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ) Haus Tambaran เป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน ใช้ในการประกอบพิธีกรรมหรือเป็นที่ประชุมของหมู่บ้าน และเป็นที่สงวนสำหรับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงและเด็กจะเข้ามาไม่ได้ถือเป็นการผิดผี (ยกเว้นชาวต่างชาติที่เขาอนุญาตให้เป็นพิเศษ) ไกด์ท้องถิ่นพาฉันเดินผ่านเสาไม้เก่าอันเป็นซากปรักหักพังของหลังที่ถูกระเบิดทำลายลงในสมัยสงครามโลก (ฉันเห็นยอดเสาบางต้นมีต้นไทรงอกออกมาดูสวยงามแปลกตา บางต้นยังมีร่องรอยกระสุนหลงเหลืออยู่) ไปยังอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นแทนหลังเก่า โดยชาวบ้านเรียกชื่อ Haus Tambalan นี้ว่า Nambaaruman (นัมบารุมัน) ซึ่งสร้างมานานกว่า 60 ปีแล้ว และเป็นหลังที่เล็กกว่าอีกหลังหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของลานหญ้ากลางหมู่บ้าน

เหตุที่ฉันเดินทางมาที่นี่ ก็เนื่องจากในเวลานั้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้กำลังประกอบพิธีกรรมสำคัญของชนเผ่า อันเป็นพิธีกรรมที่ให้เด็กหนุ่มของหมู่บ้านหรือในสายตระกูลที่เกี่ยวข้องเข้าไปกินอยู่ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่จะทำให้เด็กหนุ่มเหล่านี้ผ่านออกมาเป็นชายหนุ่มที่สมบูรณ์แบบ เป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆในหมู่บ้าน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Initiation Ceremony อันเป็นวัฒนธรรมชนเผ่าที่มีอยู่แทบทุกแห่งในโลก แต่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และใน Spirit House หลังนี้เองที่กำลังมีพิธี Wan Waru (วานวารุ) หรือแปลตามตัวว่าพิธี Crocodile Bites อันเป็นพิธีที่มีการกรีดผิวหนังตามลำตัวและบำบัดผิวหนังให้ทิ้งรอยแผลเป็นเป็นรอยนูนขึ้นมาคล้ายเกล็ดหนังจระเข้ ซึ่งก็คือชายหนุ่มที่มีผิวเป็นเกล็ดจระเข้ตามที่ฉันตามหานั่นเอง! ฉันมีโอกาสได้เข้าไปชมพิธีกรรมจริงๆที่กำลังปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งในช่วงที่ฉันได้รับอนุญาตเข้าไปชมนั้นคือช่วงกลางๆของพิธีกรรมที่ได้เริ่มกันมาตั้งแต่เมื่อสองสัปดาห์ก่อนแล้ว สิ่งที่ฉันได้เห็นเป็นประจักษ์พยานด้านในอาคารไม้สองชั้นหลังยาว หลังจากที่เดินผ่านกำแพงชั่วคราวเข้าไป (กำแพงทำจากใบไม้แห้งที่ทำล้อมรอบ Spirit House จำกัดเขตไว้เฉพาะช่วงที่มีพิธีกรรม เพื่อไม่ให้คนนอกเห็น) คือชายหนุ่มที่เข้าร่วมพิธี 13 คนลำตัวเปล่าเปลือย มีเพียงพู่ใบไม้คาดเอวปกปิดของสงวนไว้เท่านั้น ทุกคนมีโคลนพอกทั้งตัว และกำลังนั่งผิงไฟให้โคลนและแผลจากการโดนกรีดแห้ง โดยมีเหล่าพี่เลี้ยง (ทุกคนเคยผ่านพิธีกรรมมาแล้ว) คอยช่วยเหลือดูแลอยู่…มาถึงตรงนี้ ฉันขอเล่ารายละเอียดคร่าวๆของพิธีกรรมตั้งแต่ต้นจนจบซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-6 สัปดาห์ ตามคำบอกเล่าของหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านนี้ไว้เพื่อความเข้าใจก่อนดีกว่า

พิธี Initiation ของหมู่บ้าน Palambei ที่เรียกว่า Wan Waru (Crocodile Bites) นี้ จะถูกจัดขึ้นเมื่อถึงเวลาอันสมควร (ไม่มีกำหนดแน่นอนตายตัวว่าเมื่อไร) โดยเด็กหนุ่มที่ต้องการเข้าพิธีจะเอาหมากมาแขวนที่ Haus Tambaran เพื่อบอกกล่าวความประสงค์ในขั้นแรก โดยระหว่างนั้นจะต้องจัดหาหมู น้ำตาล ข้าวสาร สาคู ฯลฯ ตามที่จำเป็นสำหรับใช้ในการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ของเหล่านี้ไม่ใช่หาเองได้ง่ายๆ จึงจำเป็นต้องมีครอบครัวเป็นฝ่ายสนับสนุน) ในวันเริ่มพิธีวันแรกที่จะมีการร้องรำเต้น Sing-Sing ภายนอก โดยมีคนทั้งหมู่บ้านเข้าร่วมแต่เช้าตรู่ หนุ่มๆที่ตกลงใจเข้าร่วมจะถูกไล่เฆี่ยน (ทั้งเฆี่ยนจริงเฆี่ยนเล่น) เดินแถวเข้ามาใน Spirit House (ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เข้าได้เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น) และจะมีพิธีการกรีดผิวหนังให้เป็นลายจระเข้ทั้งตัวโดยพี่เลี้ยง 3 คนต่อผู้เข้าพิธี 1 คน คนหนึ่งกรีด อีกสองคนช่วยจับแขนและขาเอาไว้ขณะที่ชายหนุ่มนอนราบอยู่บนท้องเรือลำยาวทำจากไม้ขุด(พาหนะหลักของคนที่นี่) ที่จับคว่ำไว้บนพื้น โดยกรีดข้างหลังก่อนแล้วจึงกรีดข้างหน้าโดยใช้มีดโกน (ในอดีตใช้ไม้ไผ่เหลากรีด) ให้เป็นรอยเกล็ดจระเข้ทั้งตัวในคราวเดียว ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วจึงราดน้ำล้าง (คิดดูว่าเสียงร้องจะโหยหวนขนาดไหน!?) ก่อนชโลมด้วยน้ำมันจากต้นไม้ เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า Kwat (ควัท) (จากการสอบถาม แม้ว่าจะใช้คำว่า tree oil แต่ฉันเข้าใจว่าน่าจะเป็นยางไม้ (sap) มากกว่า) และปล่อยไว้แบบนั้นสามวัน จากนั้นจะเริ่มพอกโคลน นั่งผิงไฟให้แผลแห้ง ทำแบบนั้นไปตลอดหนึ่งสัปดาห์ แต่หลังจากนั้นก็จะใช้ไม้ไผ่ขูดลอกสะเก็ดออกอีก แล้วชโลมด้วย Kwat เช่นเดิม พอกโคลน ผิงไฟ ผ่านไปอีกสัปดาห์ ก็จะให้ลงไปแช่น้ำในแม่น้ำประมาณ 10 ชั่วโมง ก่อนที่จะขึ้นมาให้พี่เลี้ยงขูดสะเก็ดออกอีกครั้งด้วยใบไม้และพอกโคลน ผิงไฟอีกจนแผลแห้งสนิท (ช่วงที่ฉันไปดู อยู่ในช่วงนี้ ซึ่งแผลเริ่มแห้งหมดแล้ว) จนเกิดเป็นรอยแผลเป็นนูนขึ้นมาบนผิวหนังคล้ายเกล็ดจระเข้ในที่สุด โดยในระหว่างพิธีต่างๆเหล่านี้ หนุ่มๆจะไม่สามารถออกไปเจอหน้าใครได้ (ยกเว้นคนในพิธี) ถ้าจะต้องออกไปด้านนอกเช่นไปอาบน้ำที่แม่น้ำเพื่อพอกโคลน ก็จะต้องทำเสียงดัง (เหวี่ยงกิ่งไม้) เหมือนเสียงจระเข้ เพื่อบอกกล่าวให้คนนอกที่อยู่แถวๆนั้นถอยห่างออกไป โดยอาหารการกินต่างๆ ครอบครัวจะจัดหามาวางตามจุดที่กำหนด และพี่เลี้ยงจะเป็นคนออกไปเอามาให้กิน หลังจากที่แผลพอจะหายดีไม่ทรมานจากการเจ็บปวดแล้ว หัวหน้าและพี่เลี้ยงก็จะเริ่มสั่งสอนในเรื่องต่างๆเช่น จารีต ธรรมเนียม วิถีในการปฏิบัติตน รวมถึงฝึกการรบและการล่าสัตว์ เพื่อให้เด็กหนุ่มได้กลายเป็นชายชาตรีอย่างเต็มตัวในวันที่สำเร็จวิชาออกจาก Spirit House ซึ่งจะมีการกำหนดวันขึ้นในภายหลังโดยความตกลงของหัวหน้าและคณะกรรมการ (พี่เลี้ยง) ที่เกี่ยวข้องหลังจากที่พิธีกรรมผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ในวันสุดท้ายของพิธีกรรมก็จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ญาติๆต่างเอาของต่างๆมาเซ่นไหว้บูชาเฉลิมฉลอง มีการล้มหมู มีการเต้น Sing-Sing ร้องรำทำเพลงเพื่อต้อนรับลูกหลานตัวเองกลับสู่สังคมปกติในฐานะชายชาตรีที่ได้รับการยอมรับและมีสิทธิมีเสียงในชุมชน

ที่จริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวในที่นี้ได้หมดเนื่องจากพื้นที่อันจำกัด อย่างไรก็ดี ถือเป็นโอกาสอันไม่คาดคิดมาก่อนที่ฉันได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสพิธีกรรม Crocodile Bites นี้โดยตรง แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ กึ่งกลางพิธีกรรมก็ตาม ฉันยังได้เห็นว่าในระหว่างที่ว่างๆนั้น พี่เลี้ยงก็จะคอยสอนและฝึกให้ผู้เข้าร่วมรู้จักแกะสลักงานไม้ที่เป็นศิลปะพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวปาปัวฯ อีกด้วย (มีลักษณะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น และส่วนใหญ่จะวางขายนักท่องเที่ยวบนชั้นบนของ Spirit House) ชายผู้มีผิวเป็นเกล็ดจระเข้ทุกคนดูจะเป็นผู้ที่มีความมั่นใจ และภาคภูมิใจในประสบการณ์ที่ตัวเองได้ผ่านมา ไม่มีใครเหนียมอายที่จะปกปิดรอยแผลเป็นแบบนั้นเลย ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่คนของหมู่บ้านหรือสายตระกูลเท่านั้นที่เข้าร่วม บางครั้งชายจากหมู่บ้านอื่น (ที่ไม่มีการปฏิบัติพิธีกรรมนี้) หรือทหารที่อายุเกินกว่าที่จะเรียกว่าเด็กหนุ่มแล้ว ก็ขอมาเข้าร่วมพิธีกรรมนี้ด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขาจะกลับออกไปเป็นชายชาตรีที่แข็งแกร่งเก่งกล้ากว่าเดิม ดุจเดียวกับจระเข้ ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่ดุร้ายเข้มแข็งและเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลหรือเป็นต้นกำเนิดชาวพื้นเมืองเหล่านี้มาแต่โบราณ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s