ครั้งเมื่อฉันตกลงใจกับเพื่อนได้ว่าจะไปเที่ยวประเทศกรีซ การวางแผนเที่ยวจึงเริ่มขึ้น นอกจากกรุงเอเธนส์ที่เป็นของตายที่ไม่ไปไม่ได้แล้ว ต่างคนต่างเริ่มเสนอชื่อสถานที่ที่ตัวเองอยากจะไป เพื่อนำมาประมวลดูความเป็นไปได้ที่จะแวะไปเที่ยว ชื่อแรกที่ฉันบอกเพื่อนร่วมทางว่าอยากไปเห็นคือ เมเตออรา (Metéora) ซึ่งตั้งอยู่ในทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศ ตอนแรกเพื่อนฉันได้แต่ทวนชื่อและถามว่ามันคืออะไร ฉันปล่อยให้เพื่อนไปค้นข้อมูลดูเอาเอง หลังจากเกริ่นๆไปว่า ชอบหนังเรื่องเจมส์บอนด์ไม่ใช่เหรอ เคยดูตอน For Your Eyes ไหมล่ะ? มีฉากหนึ่งถ่ายทำที่นี่ เพื่อนฉันหายไปสองวัน ก่อนกลับมายืนยันแน่นหนักว่าความตั้งใจเดิมของฉันว่า “ไปสิ” ความแปลกพิศดารของพื้นที่ทางทิศตะวันตกของที่ราบสูงเทสสาลี (Thessaly) แห่งนี้ ถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในโปรแกรมท่องกรีซทันที แม้ว่าจะต้องฉีกออกนอกเส้นทางอื่นๆเล็กน้อย เนื่องจากเราวางแผนเที่ยวไล่มาจากทางเหนือ โดยรวมจะเลาะลงใต้เลาะมาตามทะเลเอเจียนเป็นหลัก เมเตออราทำให้เราต้องตีวงเข้าไปในแผ่นดินไปทางทิศตะวันตก หลังจากที่แวะเที่ยวเขาโอลิมปัส เทือกเขาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกกล่าวถึงในตำนานต่างๆของกรีก ก่อนที่จะมุ่งลงใต้ต่อไปยังเมืองแห่งเทพพยากรณ์อย่างเดลฟี
เส้นทางไปยังเมเตออราจากเทือกเขาโอลิมปัสนั้น หลังจากที่ไต่ระดับลงจากความสูงของเทือกเขา เส้นทางจะตัดผ่านที่ราบกว้างใหญ่แห่งเทสสาลี ที่เต็มไปด้วยไร่นาและหมู่บ้านเล็กๆเป็นหย่อมๆ แล้วจู่ๆความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า แท่งหินสูงชันขนาดมหึมารูปทรงแปลกตาหลายต่อหลายแท่ง ตั้งตระหง่านอยู่ติดทุ่งราบอันกว้างใหญ่ที่เรากำลังมุ่งหน้าไป มีแนวเทือกเขาพินดอส (Pindhos) เป็นเงาตะคุ่มอยู่ให้เห็นไกลๆเป็นฉากหลัง เมื่อเราเข้าไปใกล้ขึ้น จึงได้เห็นสิ่งที่เราอยากเห็น เพราะนอกจากแท่งโขดหินพิศดารกลางท้องทุ่งแล้ว บางยอดของแท่งหินเหล่านี้ ยังเป็นสถานที่ตั้งของอารามศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ที่สร้างต่อยอดหินขึ้นไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทำไมต้องไปสร้างอารามบนยอดหินแบบนั้น? แล้วเขาขึ้นไปสร้างกันได้อย่างไร? แล้วฉันจะขึ้นไปชมภายในอารามเหล่านั้นได้จริงๆไหม? คำถามต่างๆ ผุดขึ้นมาในใจ แต่ที่แน่ๆแท่งโขดหินเหล่านี้คงเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับนักปีนผาขั้นแอ๊ดวานซ์ทั้งหลาย
วันนั้นเราตัดสินใจเข้าพักที่แคมป์ไซด์ที่เมืองคาสตรากิ (Kastráki) เมืองเล็กๆใต้เงาโขดหินอัศจรรย์แห่งนี้ แคมป์ไซด์พื้นที่ไม่ใหญ่ไม่โตแห่งนี้ มีสระว่ายน้ำเช่นเคยเหมือนกับแคมป์ไซด์ที่เมืองอื่นๆที่เราผ่านกันมา (ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เอาเสียเลยสำหรับชาวกรีซ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเช่นนี้) มองขึ้นไปเหนือสระว่ายน้ำ เป็นแผ่นผาตัดตรงสูงชันของโขดหินหนึ่งของเมเตออรา ที่กลางแผ่นผามีช่องรอยแตกของหินเหมือนถ้ำเล็กๆ มีผ้าสีสันต่างๆผูกแขวนอยู่ เนื่องจากถ้ำที่เห็นนั้นเป็นหนึ่งในถ้ำที่เป็นที่บำเพ็ญตนของฤษีที่หนีความวุ่นวาย มาจำศีลหาความสันโดษอยู่ตามเพิงผาเหล่านี้มาแต่โบราณกาล ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มแรกๆที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 10 เพิงผาถ้ำบางแห่งจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยาย ส่วนผ้าหลากสีที่เห็นนั้นเจ้าของแคมป์ไซด์ให้ความกระจ่างว่า ไม่ใช่ผ้าของฤษีที่ไหนไปตากทิ้งไว้ หากแต่เป็นเหมือนผ้ายันต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยจะมีเทศกาลเปลี่ยนผ้าที่ว่านี่ทุกปี ถือเป็นการท้าทายความสามารถและความศรัทธา โดยผู้ที่มีจิตศรัทธาบวกความสามารถเหล่านั้นจะต้องปีนไต่หน้าผาขึ้นไปเปลี่ยนผ้าใหม่ และเก็บผ้าเก่าเอาไว้ถือเป็นผ้านำโชคให้กับตัวเอง ซึ่งเทศกาลนี้จะมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ แน่นอนว่าข่าวการมีคนตกลงมาจากหน้าผาบ้าง คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด…
ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พวกฤษีเริ่มเข้ามาหาความสันโดษตามรอยแยกของโขดหินเหล่านี้ (โดยจะมีการชุมนุมกันเป็นครั้งคราวเพื่อทำพิธีบูชาและสวดภาวนา จนเกิดเป็นชุมชนผู้ถือสันโดษขึ้นและยังคงมีผู้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน) ที่นี่กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นตัวเป็นตนเมื่อ อะธานาซิออส (Athanasios) ได้นำพาศาสนิกชนผู้รักสันติเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อหลบหนีความวุ่นวายและการคุกคามของ ผู้รุกรานชาวเติร์ก ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 ซึ่งต่อมาได้มีการสร้างอารามแห่งแรกขึ้น (ซึ่งก็คือ Great Metéora ในปัจจุบัน) บนยอดโขดหิน Broad Rock โดยมีบันไดลิงห้อยลงมาจากอารามด้านบนเป็นเส้นทางหลัก เมื่อเวลาถูกรุกรานก็ชักบันไดกลับขึ้นไป ต่อมาอารามหลายๆหลังก็ได้ค่อยๆถูกสร้างขึ้นบนยอดโขดหินต่างๆ จนถึงยุครุ่งเรืองสูงสุดในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 16 ว่ากันว่า ในยุคนั้นมีอารามบนยอดหินเหล่านี้มากถึง 24 แห่ง การขึ้นลงเริ่มมีการใช้แหตาข่ายและเชือกชักขึ้นลงโดยใช้กว้านติดอยู่บนโครงเหนือผาหิน อย่างไรก็ตามอารามหลายแห่งมิได้สร้างขึ้นอย่างถาวรให้คงทนเป็นร้อยๆปี จึงย่อมมีการปรักหักพังเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา อีกทั้งอารามถาวรหลายๆแห่งก็เริ่มมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์น้อยลง เขตป่าหินศักดิ์สิทธิ์แห่งเมเตออราจึงเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ แผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1858 ได้ทำให้อารามหลายแห่งต้องถูกทิ้งร้าง ในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีอารามที่มีการประกอบพิธีกรรมจริงๆจังเหลืออยู่เพียง 5-6 แห่งเท่านั้น เมเตออรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรีซในช่วงหลังปี 1970 โดยเฉพาะหลังจากที่เจมส์บอนด์มาโลดแล่นอยู่ตามหน้าผาหินแห่งเมเตออราเหล่านี้ ปัจจุบันจึงมีการสร้างบันไดขึ้นลงอย่างถาวรขึ้นตามอารามที่ได้รับการบูรณะและยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีเพียง 6 แห่ง และในปี ค.ศ. 1988 องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้เมเตออราแห่งนี้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมควบคู่กันไป
เย็นนั้น เราเดินวนเวียนหาของกินอยู่ในเมืองคาสตรากิเล็กๆแห่งนั้น ระหว่างที่จิบกาแฟกรีกนั่งดูผู้สูงอายุชาวกรีซที่ชอบจับกลุ่มนั่งคุยกัน (บ้างก็นั่งคนเดียวเฉยๆ) ตามร้านกาแฟ ดูเด็กๆวิ่งเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่นแห่งเดียวของเมืองอยู่นั้น แสงอาทิตย์สีส้มแดงยามอาทิตย์อัศดงก็ตกกระทบแผ่นผาที่ตั้งตระหง่านอยู่ติดชุมชนเล็กๆแห่งนี้ ย้อมหน้าผาสีเทาทมึนให้เป็นสีส้มสวย แสงลามเลียต่อลงมายังโบสถ์สมัยใหม่สีขาวที่อยู่ใกล้ๆ รวมไปถึงลานสนามเด็กเล่น เปลี่ยนบรรยากาศของเมืองไปในบัดดล แสงส้มสวยย้อมเมืองทั้งเมืองรวมถึงโขดหินมหึมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ พวกเราจึงรีบรุดไปที่จุดชมวิวบนเขาเพื่อเก็บภาพแสง Twilight กับเมเตออราและที่ราบสูงเทสสาลีอันกว้างใหญ่ไว้ในความทรงจำ ฉันรู้สึกได้ทันทีถึงความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของป่าหินอันยิ่งใหญ่แห่งนี้
การเยี่ยมชมศาสนสถานเริ่มขึ้นในวันถัดมา แต่จากข้อมูลที่ได้หามาได้ พวกเราต้องเตรียมพร้อมกันก่อนสองสามอย่าง หนึ่งคือต้องเตรียมใจใช้พลังขาไว้ให้ดี (อันที่จริง อันนี้ควรต้องฝึกกันล่วงหน้าก่อนเดินทาง แต่ในกรณีของฉันนั้น เกิดอาการเดี้ยงมาตั้งแต่ขึ้นลงเขาโอลิมปัสก่อนเดินทางมาถึงที่นี่แล้ว) ไม่เช่นนั้น อาจเกิดอาการเดี้ยง (ซ้ำซ้อน) หลังจากเที่ยวชมอารามได้ เพราะถึงแม้เราจะไม่ต้องไต่บันไดลิงหรือนั่งห้อยต่องแต่งไปบนแหตาข่ายร้อยเชือกให้คนข้างบนดึงขึ้นไปตามหน้าผาที่สูงกว่า 100 เมตร ก็จริง แต่บันไดถาวรที่สร้างขึ้นนั้น บางแห่งก็ค่อนข้างแคบและชัน วนเวียนขึ้นไปตามหน้าผาหิน กว่าจะขึ้นไปถึงอารามบางแห่งได้ ก็น่าจะเล่นเอาหอบไม่ใช่เล่น นอกจากนี้ พวกเรายังต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย เพราะอารามที่นี่ค่อนข้างเคร่งครัด และไม่อนุญาติให้ใส่ขาสั้น เสื้อแขนกุดเข้าไปได้ ผู้หญิงก็ต้องใส่กระโปรงเท่านั้น โชคดีที่ก่อนเข้าบริเวณตัวอาคาร มักจะมีผ้าพันและเสื้อคลุมไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย คล้ายๆกับที่หน้าวัดพระแก้วบ้านเรา อย่างไรก็ตามภายในอารามไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปโดยเด็ดขาด (ความจริงก็เป็นเหมือนกันแทบทุกที่ ถ้าไปเที่ยวตามโบสถ์ออโธด็อกซ์ของกรีซ) โดยเฉพาะการถ่ายรูปแม่ชี หรือพระบาดหลวงที่อาศัยอยู่ข้างใน โดยส่วนใหญ่ สิ่งที่สวยงามน่าสนใจภายใน คือภาพเขียนสีเฟรสโกบนผนังนั่นเอง แต่ละแห่งก็มีความสวยงามและความละเอียดแตกต่างกันไป อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำการบ้านมาคือวันและเวลาเปิดปิดของอารามแต่ละแห่ง ซึ่งจะแตกต่างกันไป โดยไม่มีวันไหนที่จะสามารถเข้าชมได้ทุกที่ได้ภายในวันเดียว ถ้าอยากเข้าชมที่ไหนเป็นพิเศษคงต้องดูวันเวลาให้ดี สุดท้าย ต้องเตรียมเงินไว้เล็กน้อยเป็นค่าเข้าชมแต่ละแห่ง
จากข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น ทำให้ฉันเลือกเข้าชมอาราม(ได้)เพียงสองแห่งเท่านั้น ที่วงเล็บว่า “ได้” ไว้ก็เพราะความจริงตั้งใจจะเข้าชมมากกว่านี้ แต่ช่วงที่ไปเป็นช่วงวันหยุดหน้าร้อนของชาวยุโรป บางที่ผู้คนจึงหลั่งไหลมามากมาย เห็นต่อคิวกันเป็นแถวตั้งแต่ยอดยาวลงมาถึงลานจอดรถเบื้องล่าง บางแห่งก็ปิดทำการ (อย่างที่บอก) ฉันจึงเลือกที่จะชื่นชมอารามและความมหัศจรรย์ของหินทุกแห่งจากภายนอกมากกว่า อารามแห่งแรกที่พวกเราปีนขึ้นไปเข้าชมด้านในคือ Ayíou Nikoláou Anápavsa หรืออารามเซนต์นิโคลัส ซึ่งเป็นอารามเล็กๆเก่าแก่ย้อนไปถึงคริสตศตวรรษที่ 15 และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เป็นอาคารเล็กๆ ก่อด้วยหินฉาบปูน มีส่วนระเบียง ประตูต่างๆเป็นไม้ ผนังด้านในมีภาพเขียนสีเฟรสโกช่วงหลังยุคไบแซนไทน์ที่มีความเก่าแก่กว่า 400 ปีที่สวยงามมาก บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์บางตอนในคัมภีร์ไบเบิล (เสียดายที่ถ่ายรูปมาไม่ได้) จากระเบียงไม้สามารถมองเห็นวิวอันสวยงามของเมเตออรา รวมถึงแท่งโขดหินอื่นๆที่เคยเป็นที่พำนักอาศัยของฤษี หรือที่ตั้งของอารามอื่นๆที่พุพังล่มสลายไปแล้ว เมื่อลากสังขาร (อันเนื่องมาจากขาเดี้ยง) ลงมาถึงด้านล่างได้ ก็ถึงเวลาต้องเดินขึ้นยอดแท่งหินอีกแท่งหนึ่งเพื่อเยี่ยมชมศาสนสถาน Roussánau ซึ่งก็คืออารามบนยอดหินที่มีกำแพงต่อยอดขึ้นจากขอบหินแทบทุกด้านที่มักพบเห็นในรูปถ่ายบ่อยๆ โดยส่วนมากมักถ่ายจากจุดชมวิวของเมเตออราที่ฉันขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกมาเมื่อวันวาน อารามเก่าแก่กว่า 400 ปีแห่งนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นที่พำนักและที่ประกอบพิธีกรรมของแม่ชี ระเบียบต่างๆจึงค่อนข้างเข้มงวดกว่าบางอาราม (ที่ปัจจุบัน เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์มากกว่า) สังเกตได้จากป้ายทางเข้าตั้งแต่ก่อนขึ้น เพราะนอกจากกฏบางข้อข้างต้นแล้ว ยังห้ามแม้แต่การใส่เสื้อแขนสั้นเข้าชมภายใน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทางขึ้นชมที่ทำขึ้นใหม่ เป็นทางบันไดหินอย่างดี เดินขึ้นๆลงๆไปตามริมผา ผ่านสวนหย่อมเล็กๆในอาณาบริเวณของอาราม ก่อนต้องข้ามสะพานหินกลางความสูงลิบลิ่วต่อไปยังโบสถ์หลัก ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวความสูงเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดิม ผนังภายในโบสถ์ได้รับการแต่งแต้มสีสันสวยงามโดยศิลปินวาดภาพสีเฟรสโกเมื่อสามสี่ร้อยปีที่แล้ว และระเบียงนอกโบสถ์ก็เป็นจุดชมวิวที่ไม่แพ้จุดอื่นๆ
อารามอีกสองแห่งที่ใหญ่โตที่สุดของเมเตออราคือ Megálou Meteórou (Great Metéora) และ Varlaám ซึ่งอยู่บนเส้นทางเดียวกันนั้น เป็นอารามที่พวกเราจนปัญญาที่จะไปต่อแถวเรียงคิวเข้าชม ที่แรกเป็นอารามที่ใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ในจุดที่สูงที่สุดคือประมาณ 615 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นอารามแห่งแรก ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในบริเวณนี้ บนยอดหินบอร์ดร็อคตามที่เล่าถึงในตอนต้น เมื่อดูจากสภาพภูมิประเทศแล้ว ก็เป็นที่น่าสงสัยเหลือเกินว่าในยุคนั้น สาธุคุณอะธานาซิออสนั่น ไต่ขึ้นมาบนนี้ได้อย่างไร ความสงสัยนี้ก่อให้เกิดตำนานเล่าขานกันว่า แกขึ้นมาได้โดยนั่งบนหลังนกอินทรีย์ที่พาบินมาส่ง ในขณะที่ศาสนสถานวาร์ลาอัมแห่งหลังนั้นก็เป็นอารามที่ถูกสร้างขึ้นในยุคแรกๆเช่นกัน โดยสร้างขึ้นบนยอดหินใกล้ๆถ้ำบำเพ็ญตนของเซนต์วาร์ลาอาม หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการตั้งสถานศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนี้ และเชื่อกันว่าอารามแห่งนี้เป็นหนึ่งในอารามที่สวยที่สุดในบริเวณหุบเขาแห่งนี้ การใช้เชือกและแหตาข่ายแบบดั้งเดิมยังคงมีให้เห็น นอกเหนือไปจากการชักรอกส่งของข้ามเขาจากบริเวณใกล้ๆที่จอดรถไปตามลวดสลิง รวมทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สองสิ่งคือนิ้วมือของเซนต์จอห์น และกระดูกสะบักของเซนต์แอนดรูร์อีกด้วย
ส่วนอารามอีกสองแห่งที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันที่ตั้งแยกออกไปตามถนนอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ Ayías Triádhos (Holy Trinity) ที่มีส่วนหนึ่งจัดแสดงสิ่งของคล้ายพิพิธภัณฑ์ (บันไดขึ้น 130 ขั้น ทำให้พวกเราหยุดคิด ก่อนตัดสินใจที่จะไม่ขึ้นไปชม) และเป็นที่อาศัยของพระ ในขณะที่ Ayíou Stefánou ปัจจุบันเป็นที่พำนักของแม่ชีเท่านั้น (ปิดในวันนั้น)
ก่อนลาจากเมเตออรา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนภูมิทัศน์อันแปลกตาแห่งนี้ พวกเราย้อนกลับมาที่จุดชมวิวอีกครั้ง มองเห็นที่ราบเทสสาลีและแม่น้ำพีนิโอส (Píniós) ที่ไหลคดโค้งไปมาจากแนวเขาพินดอส ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นพื้นดินใต้มหาสมุทรมาก่อน ก่อนยกตัวขึ้นจากการเกิดแผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้งจนเป็นที่ราบสูงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แท่งหินมหัศจรรย์แห่งเมเตออรา เองก็คือโขดหินใต้ทะเลที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 60 ล้านปีก่อน โดยมีรอยเลื่อนแต่ละยุคเป็นหลักฐานให้เห็นเป็นเส้นตะเข็บตามแนวนอนตามหินผา เมื่อแท่งหินเหล่านี้โผล่ขึ้นมาอยู่เหนือพื้นดิน จากนั้นจึงถูกขัดเกลาโดยสายลม แสงแดดและสายฝน จนมีรูปร่างแปลกตาอย่างที่มองเห็นได้ในปัจจุบัน หินทรายและหินกรวดมนมีร่อยรอยของน้ำกัดเซาะจนเป็นโพรงถ้ำให้ฤษีในยุดแรกๆเข้ามาบำเพ็ญตน…สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับ “แท่งหินกลางเวหา” หรือ “หินผาบนสรวงสวรรค์” ตามความหมายของชื่อเสียงเรียงนามในภาษากรีกของสถานที่แห่งนี้ “Metéora”