Maroc: From Fez to Volubilis

บนดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาทางด้านฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค เป็นที่ตั้งของประเทศที่ร่ำรวยอารยธรรมอีกแห่งหนึ่งของโลก โมร็อคโคคือดินแดนที่ฉันกำลังกล่าวถึง อันที่จริงประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามแห่งนี้ มีอะไรหลายๆอย่างที่น่าเยี่ยมชม แต่สิ่งที่ฉันขอนำเสนอในคราวนี้ เป็นความยิ่งใหญ่ของสองอารยธรรมต่างยุคต่างสมัย แต่ลงหลักปักฐานอยู่ไม่ห่างไกลกันนักในแง่ภูมิศาสตร์ หนึ่งเป็นอารยธรรมที่ยังคงมีชีวิตแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่าพันปีแล้ว และอีกหนึ่งเป็นอารยธรรมที่ไม่มีชีวิตแต่เป็นรากฐานที่สำคัญของอารยธรรมอื่นๆมากมายในปัจจุบัน

หนึ่งในอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ฉันกำลังพูดถึงอยู่ที่เมืองเฟส (Fez) การไปเยือนเมืองนี้ของฉันเน้นหนักอยู่ที่อารยธรรมอาหรับสมัยกลางผสมผสานกับอารยธรรมพื้นเมืองเก่าแก่ดั้งเดิมของพื้นที่ ที่ถือกำเนิดและดำเนินมาจนถึงปัจจุบันในเขตเมืองเก่าที่รายล้อมด้วยกำแพงดิน หรือที่เรียกกันว่าเมดิน่า (Medina) ครั้งแรกที่ฉันนั่งรถไปถึงริมๆ กำแพงเมืองที่ว่า คนนำทางบอกให้ฉันลงจากรถแล้วเดินลากกระเป๋าไปสู่ที่พักที่ติดต่อจองเอาไว้ เนื่องจากในเขตเมืองที่ว่านี้ รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ ฉันพาตัวเองเดินลัดเลาะผ่านประตูกำแพงเล็กๆ เลี้ยงลดไปตามตรอกซอกซอยกว้างประมาณเมตรกว่าๆ ไปจนถึงหน้าที่พักที่เรียกกันว่าริยาด (Riad) แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหมือนเกสต์เฮ้าส์เล็กๆที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง โดยการปรับสภาพที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของคนที่นี่มาเป็นที่พักให้นักเดินทาง เมื่อเดินผ่านประตูเล็กๆที่ไม่น่าจะมีอะไรเข้าไป ฉันก็ต้องชะงักงันกับความสวยงามและน่ารักของสถานที่ การประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องสี ในลวดลายสวยงามที่ไม่คุ้นเคย มีใจกลางเป็นลานที่ตั้งวางโต๊ะอาหารและข้าวของเครื่องใช้แบบโมร็อค ลานกลางบ้านนี้ถูกล้อมรอบด้วยห้องเล็กๆกระทัดรัดที่มีหน้าต่างเปิดสู่ลานภายใน จากการเดินสำรวจการตกแต่งแต่ละห้อง จะเห็นว่าแต่ละห้องต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่ถูกตกแต่งให้เข้ากับขนาดดั้งเดิมของห้อง ตัวอาคารที่มีลานตรงกลางนั้น สูงขึ้นไปเพียงแค่สามชั้น ถ้าจะเปรียบเทียบ ฉันคงได้แต่บอกว่า มันเป็นที่พักแบบที่บ้านเราเรียกว่าฮิปรีสอร์ทนั่นเอง ริยาดในเมดิน่าในเมืองเฟสแห่งนี้ มีอยู่หลายสิบแห่ง ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไม่เหมือนใคร ยกเว้นสิ่งที่เหมือนกัน คือการนำบ้านพื้นเมืองเก่าแก่มาปรับให้เป็นที่พักน การก้าวเท้าเข้าไปที่นี่ นอกจากจะได้เห็นลักษณะบ้านเรือนดั้งเดิมของพื้นที่แล้ว ยังทำให้ฉันตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่า ฉันไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษกับเจ้าของสถานที่และพนักงานที่นี่ได้ ภาษาฝรั่งเศสแบบงูๆปลาๆ ที่ยังคงค้างจากการร่ำเรียนมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน จึงถูกขุดออกมาจากก้นบึ้งสมองอย่างเต็มที่ (กว่าจะได้น้ำร้อนสักกา)

วันต่อมาที่ฉันได้มีโอกาสเดินเท้าเยี่ยมย่ำในเมดิน่าอย่างเต็มที่ ฉันจึงได้รับรู้ว่าที่เมดิน่าของเฟสเป็นไปอย่างที่ร่ำลือจริงๆ เนื่องจากตรอกซอกซอยที่ถี่ยิบ ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแห่งนี้ เปรียบเหมือนเขาวงกตสำหรับผู้มาใหม่ บ้านกำแพงดินและร้านรวงสูงไม่เกิน 3-4 ชั้นเรียงตัวอย่างเบียดเสียดเยียดยัด แบบไม่มีพื้นที่สีเขียว (ยกเว้นลานด้านในบ้าน) อาคารที่สูงที่สุดในพื้นที่คือมัสยิดและหอคอยของมัสยิดกลางเมืองเท่านั้น ตรอกซอยที่ว่ากันว่ามีมากกว่าหกพันตรอกตัดกันไปมา มีตั้งแต่ที่กว้างแค่ 60 ซม. ที่แค่พอพาตัวเรียงเดี่ยวเดินผ่านไปได้ ไปจนถึงบริเวณที่กว้างที่สุดขนาด 5 เมตร ซึ่งจะมีเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น ส่วนใหญ่ถนนคนเดินจะมีขนาดไม่กว้างไปกว่า 1-2 เมตรเท่านั้น สิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของเมดิน่า ของอาหรับสมัยกลาง ที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงขนาดของคนเป็นหลัก ไม่ได้สร้างเผื่อให้รถรามาวิ่งนั่นเอง เมดิน่าแห่งเฟสโดยเฉพาะ Fez al-Bali (เฟสมีสองเมดิน่าคือเมดิน่าเก่ากว่าแต่ใหญ่กว่าที่เรียกว่า Fez al-Bali และเมดิน่าใหม่ที่เรียกว่า Fez el-Jdid) จึงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ในเมือง (เฟสเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศโมร็อคโค) ที่ปราศจากรถยนต์ (carfree) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร) ด้วยความจำกัดของขนาดความกว้างของถนนในตัวมันเอง แม้ว่าจะมีรถจักรยานยนต์ให้เห็นบ้างในบางตรอกที่กว้างพอก็ตาม พาหนะที่มีให้เห็นนอกจากคนที่เดินกันควั่กไขว่คือลา ล่อ รถเข็น รถลาก และจักรยานเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นได้คือแม้ว่าจะมีตรอกซอกซอยเล็กๆมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างสะอาดในความรู้สึกของฉัน (นอกจากมูลลาและล่อที่มีให้เห็นในบางพื้นที่) ถ้ามีลักษณะเช่นนี้ในเมืองไทยแต่ละตรอกคงเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลต่างๆอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่ฉันเกริ่นไว้ว่า อารยธรรมอาหรับในเขตเมืองเก่าของเฟสเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และยังมีชีวิต เนื่องจากเมืองเฟสถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 8 โดยผู้นำชื่อมูเลย์ ไอดริสที่สอง (Moulay Idriss II) ให้เป็นเมืองหลวงของโมร็อคโค รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของศาสนาและวัฒนธรรมอีกด้วย และความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนั้น ก็ยังสืบสานมาให้เห็นแม้ในปัจจุบัน ภายในเขตเมืองเก่า เป็นที่ตั้งของทั้งมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโมร็อคโคที่เรียกว่า Kairaouine Mosque ที่ยืนหยัดมานานกว่าพันปี เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีมัสยิดที่เป็นที่ฝังพระศพของพระเจ้ามูเลย์ไอดริสที่สองผู้สร้างเมือง ที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของการนมัสการจากผู้คนทั่วทุกสารทิศ นอกจากนี้ยังมีสถานที่สอนศาสนาอิสลามและเป็นหอพักนักเรียนที่แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมอิสลามอย่าง Medersa Bou Inania และ Medersa Bou Attarine ที่สร้างขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 14 แต่ยังคงความงดงามขลึงขลังไม่ว่าจะเป็นหินอ่อน ปูนขาวและไม้สนซีดาร์ที่แกะสลักเป็นรูปทรงเรขาคณิต และตัวอักษรอาหรับอย่างสวยงาม น่าตื่นตะลึงอีกด้วย นอกจากสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ภายในเมดิน่าแล้ว เขตเมืองเก่าของเฟสยังเต็มไปด้วยศิลปะวิทยาการที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เห็นได้จากย่านการค้าและธุรกิจเล็กๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่พบเห็นได้เป็นย่านๆ จากการเดินลัดเลาะไปในที่ต่างๆ ฉันมีโอกาสได้พบเห็นช่างตีเหล็ก ลับอาวุธ ช่างปักผ้า ช่างทอพรม ช่างเย็บหนัง ช่างฟอกหนัง (และลานฟอกหนังที่ส่งกลิ่นคละคลุ้ง) ช่างทองเหลือง ช่างปั้น และช่างอื่นๆ อีกมากมายตลอดเส้นทาง นอกเหนือไปจากร้านรวงขนาดเล็กๆ ที่ขายของให้นักท่องเที่ยวโดยทั่วไป โดยสังเกตได้ว่า คนซื้อจะยืนอยู่บนถนนด้านนอกร้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะร้านจะมีขนาดเล็กวางของอยู่เต็มพื้นที่แล้วนั่นเอง และที่ขาดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงคือย่านตลาดและของกิน รวมทั้งที่พักราคาถูกสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างบริเวณใกล้ๆประตูเมดิน่าทางทิศตะวันตกที่เรียกว่า Bab Boujaloud (สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1913) ที่ด้านนอกของประตูประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน และด้านในประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียวสวยงาม แน่นอนว่าเป็นลวดลายเรขาคณิตตามวัฒนธรรมมุสลิม

ความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยด้วยอารยธรรมแห่งเมืองเฟส เป็นที่ตระหนักของชาวโลกได้เป็นอย่างดี จากการที่เขตเมืองเก่านี้ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกจากองค์การยูเนสโกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ประกอบด้วยอาคารโบราณกว่า 13,000 แห่ง และร้านรวงอีกมากกว่า 10,000 ร้าน ซึ่งถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งเมืองเฟส ถึงกับมีคำกล่าวว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมดิน่านี้ สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปนอกกำแพงดินเลย นอกจากนี้ เฟสยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองเก่าแก่ของอาหรับที่ยังคงสภาพเดิมไว้ได้ดีที่สุดในโลกอีกด้วย

ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากความยิ่งใหญ่ด้านวัฒนธรรมอย่างเฟส ฉันมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนอารยธรรมโบราณของยุโรปที่แพร่อิทธิพลมาถึงดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ด้วยการนั่งรถไปตามถนนผ่านภูมิประเทศชายเทือกเขามิดเดิลแอตลาสอันค่อนข้างแห้งแล้ง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 60 กิโลเมตร จากประตูทางเข้า เดินผ่านป่าละเมาะพุ่มเตี้ยๆ ไปบนเนินสูงกลางพื้นที่ ฉันได้เห็นซากโบราณสถานโรมันเก่าแก่เกือบ 2,000 ปีปรากฏในสายตา ด้านซ้ายมือ ยังคงมีซากความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างเป็นรูปทรงให้เห็นมีประตูชัยอยู่เยื้องไปทางขวาตรงหน้า และถัดไปทางซ้ายจะเห็นเหลือเพียงแค่รากฐานอาคารบ้านเรือนตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนสายหลักตรงกลาง ที่ตัดตรงยาวไปจนถึงซุ้มประตูโค้งสุดถนน โบราณสถานอีกหนึ่งมรดกโลกแห่งนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า โวลูบิลิส (Volubilis) ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าชาวโรมันสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 40 โดยสร้างบนถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองที่นับย้อนไปได้ถึง 3 ศตวรรษก่อนคริสตกาล สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองหลวงในการปกครองพื้นที่แถบนี้ของชาวโรมัน บนพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างสูง เป็นแหล่งผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ส่งออกไปยังกรุงโรม และยังเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับชาวพื้นเมืองแอฟริกาเหนืออย่างชนเผ่าเบอร์เบอร์ที่ชาวโรมันไม่เคยสยบลงได้ นอกจากการติดต่อเจรจาที่ต้องได้ผลประโยชน์แบบเท่าเทียมกันเท่านั้นอีกด้วย ที่สำคัญเมืองแห่งนี้ไม่ได้ถูกทิ้งร้างเช่นเมืองอื่นๆที่โรมันสร้างขึ้น เมื่อโรมันสิ้นอำนาจลงในช่วงคริสตศตวรรษที่ 3 พื้นที่บริเวณนี้ยังคงเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนต่อๆกันมา เชื่อกันว่าภาษาละตินยังคงถูกใช้ในพื้นที่จนกระทั่งชนชาวอาหรับเข้ามามีอำนาจต่อในพื้นที่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 7

แม้ว่าความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณแห่งนี้ จะถูกตัดทอนลงไปบ้าง อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวสองครั้ง และมีการขนย้ายหินแกรนิตและหินอ่อนที่ปรักหักพังไปสร้างเมืองใกล้เคียงอย่างเมคเนส (Meknes) และมูเลย์ไอดริส (Moulay Idriss) แต่ซากประตูชัยบนปลายถนนสายหลักของเมืองยังคงตั้งตระหง่านให้เห็นถึงความอลังการของรากเหง้าอารยธรรมยุโรปได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงศาสนสถานที่ยังคงมีซากกำแพงที่สูงถึง 10 เมตรและเสาขนาดใหญ่อีกหลายต้นที่ยังตั้งตระหง่านให้เห็น เหนือสิ่งอื่นใด ภาพกระเบื้องสีประดับพื้นโมเสคที่ยังคงความชัดเจนอีกหลายๆบริเวณ แม้ว่าเวลาจะผันผ่านมานานนับเป็นพันปี ยังคงได้รับการอนุรักษ์ให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวโรมันในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี การไล่ล่าตามหาภาพโมเสคสวยๆที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ถือเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของฉันท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุและแห้งแล้ง เนื่องจากในตอนนั้นฉันไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ที่ใดกันแน่ ภาพเด่นๆสวยๆที่ว่ามีให้ได้ชมที่ House of Euphebus ใกล้ประตูชัย House of Orpheus และ House of Dionysus ส่วนบ้านใครจะอยู่บริเวณไหนของโบราณสถานแห่งนี้ ฉันอยากให้คุณผู้อ่านได้ไปติดตามมองหากันเอาเองเมื่อได้ไปเยี่ยมเยือนโบราณสถานแห่งนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสำรวจสถานที่โดยรอบไปในตัวด้วย

ความยิ่งใหญ่ของสองอารยธรรมที่กล่าวถึง แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้งของโมร็อคโคที่เห็นในปัจจุบันนั้น เคยอุดมสมบูรณ์เพียงใด การได้เห็นความอลังการของโบราณสถานโรมันตรงหน้าที่โวลูบิลิส และการได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอาหรับในเขตเมืองเก่าของเฟส ถือเป็นประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนที่มาจากดินแดนและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่างฉัน แน่นอนว่าโมร็อคโคยังมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้สัมผัสและสร้างเสริมประสบการณ์อันแปลกใหม่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในแถบภูเขาสูงและดินแดนอันแสนกันดารในทะเลทราย และวิถีชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิมในพื้นที่ นอกเหนือไปจากเมืองใหญ่อันลือชื่ออย่างคาซาบลังก้าและราบัด ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

TIP:

ตรอกซอกซอยในเขตเมืองเก่า (เมดิน่า) ของเฟสเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก และงานฝีมือ ที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ตั้งแต่เครื่องเงิน เครื่องโลหะ เครื่องถ้วยเซรามิค เครื่องหนัง เครื่องประดับ พรม ผ้าปักไปจนถึงงานไม้แกะสลักต่างๆ และโคมไฟโลหะฉลุลาย ความสนุกของการซื้อของที่นี่ อยู่ที่ศิลปะในการต่อราคาของเนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปที่ว่า คนขายจะบอกราคาผ่านเกินจริงเสมอ เพื่อนให้ลูกค้าต่อรองราคาโต้ตอบกลับไปกลับมาอย่างสนุกสนาน (โดยปกติควรต่อราคาลงมาอย่างต่ำให้เหลือครึ่งราคาหรือหนึ่งในสามของราคาของ หรือต่ำกว่านั้น) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพงานของสินค้าชิ้นนั้นๆด้วย

สตูว์ หรือทาจีน (Tajine) เป็นอาหารที่สามารถหารับประทานได้ทั่วไป แต่ที่จะขอแนะนำเมื่อมาถึงที่เมืองเฟสคือ คูสคูส (Couscous) ผักเจ็ดชนิด ซึ่งเป็นเมล็ดข้าวชนิดหนึ่งขนาดเล็ิกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าคูสคูส นำมาหุงหรือตุ๋นจนสุกเสริฟในภาชนะดินเผา โปะหน้าด้วยสตูว์ผักนำโชคเจ็ดชนิด ซึ่งมีรากฐานเดิมมาจากอาหารของชาวเบอร์เบอร์ (ชาวพื้นเมืองแอฟริกาเหนือ)นำมาประยุกต์จนเป็นอาหารโมร็อคโคในปัจจุบัน อาหารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่น่าพลาดคือ Bisteeya พายไก่สับใส่เครื่องเทศแบบโมร็อคโค พร้อมอัลมอนด์โรยด้วยอบเชยและน้ำตาลละเอียด รูปร่างหน้าตาน่ารับประทาน รับประทานพร้อมชาร้อนใส่สะระแหน่ หรือชามินท์ เครื่องดื่มพื้นเมืองที่หาดื่มได้ทั่วไป

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s