ภาพของเมืองสีแดงส้มของมาราเคชยามเย็นย่ำ เริ่มปรากฏให้เห็นในพื้นที่ราบเบื้องหน้า ในขณะที่รถตู้ของพวกเราวิ่งตัดผ่านดินแดนอันแห้งแล้งลงมาจากเทือกเขาแอตลาส หลังจากตระเวนเที่ยวอยู่หลายวันในเขตเทือกเขาและทะเลทรายอันกว้างใหญ่ของโมร็อคโค ความอึกทึกคึกคักของเมืองเริ่มขึ้น พร้อมกับถนนที่แคบลงและความจอแจของจราจรในเมือง รถพาพวกเราวนไปวนมา ตามความรู้สึกประสาผู้มาใหม่ ก่อนจอดลงข้างกำแพงสีแดงส้ม ริมกำแพงเมดิน่า เขตเมืองเก่าของเมือง คนขับทำท่าบอกพวกเราว่า เขาส่งได้แค่นี้ เมื่อลงจากรถ มีเด็กหลายคนวิ่งเข้ามาพร้อมชี้ชวนอะไรบางอย่าง พร้อมๆกันกับกรรมกรเข็นรถเข็นเข้ามาทาบทาม จากจุดนี้ พวกเราต้องเดินลากกระเป๋าเอาเอง หรือไม่ก็ต้องจ้างชายกรรมกรเหล่านี้ช่วยแบกของและนำทางพวกเราเข้าไปในทางแคบๆในเมดิน่า เพื่อไปยังที่พักที่นำบ้านแบบพื้นเมืองมาแต่งใหม่เป็นที่พักให้นักท่องเที่ยว หรือที่เรียกกันว่า ริยาด (Riad)
เนื่องจากมาราเคชเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศโมร็อคโค และถือเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของประเทศ ที่พักอย่างริยาด หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆคือเกสต์เฮ้าส์สุดฮิปจึงมีอยู่อย่างหลากหลาย ในเขตเส้นทางเขาวงกตของเมืองเก่า จนแม้แต่ไกด์พื้นเมืองของเราที่ไม่ใช่คนเมืองนี้ก็ไม่ทราบแน่ว่าริยาดที่พวกเราจองเอาไว้ตั้งอยู่ตรงไหนกันแน่ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งคนนำทางและขนกระเป๋าพาพวกเราไปยังที่หมาย คนนำทางพาพวกเราเดินเลี้ยวไปเลี้ยวมาอยู่สี่ห้าครั้ง ก่อนจะพาเดินเข้าไปในทางแคบๆมืดๆ ไม่มีแสงไฟ และหยุดลงที่หน้าประตูไม้บานใหญ่แห่งหนึ่งมีป้ายชื่อริยาดเล็กๆติดอยู่ที่หัวมุม หลังจากลองกดกริ่งเรียกอยู่หลายครั้ง โทรศัพท์เรียกอยู่หลายหน จนพวกเราชักหวั่นๆว่ามาผิดที่หรือเปล่า ในที่สุด เจ้าของหรือผู้ดูแลก็เดินถือถุงพลาสติกกลับมาจากการซื้อของข้างนอก และมาเปิดประตูให้ (ด้วยความงุนงงของพวกเราทุกคน) อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านประตูเข้าไปแล้ว พวกเราต่างก็ส่งเสียงกันอื้ออึงกับความฮิปของริยาดแห่งนี้ กำแพงสีพื้นสีขาว เรียบง่ายแต่ดูดี ลานกลางบ้าน มีโต๊ะกินข้าวข้างๆทางน้ำพุกลางพื้น ต้นไม้ประดับ มุมนั่งเล่น และบ่อแช่น้ำเล็กๆ อยู่ที่มุมหนึ่ง ความเรียบง่ายของตัวอาคารที่มีลานโล่งปลอดหลังคาตรงกลาง แปรเปลี่ยนไปอย่างแปลกตา เมื่อเพดานโล่งถูกประดับประดาจากแสงไฟหลากสีที่ส่องผ่านโคมไฟโลหะฉลุลาย ห้องแต่ละห้องมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน ตามแต่มุมของบ้านที่จัดเป็นห้องนั่นๆ จนพวกเราต้องวนเวียนขอดูห้องของแต่ละคนจนครบทุกห้อง (ทุกห้องมีหน้าต่างเปิดมองเห็นลานโล่งกลางบ้านได้) ก่อนพากันบอกใบ้ถามเจ้าถิ่นถึงทางไปตลาดและจตุรัสอันลือชื่อของเมือง
เจ้าของริยาดยื่นกระดาษที่มีแผนที่พร้อมคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษบอกทางกลับมาริยาดแห่งนี้ให้เรา พร้อมส่งยิ้มให้ เดินพาพวกเราออกจากริยาดผ่านซอกซอยวกวนออกไปยังถนนใหญ่ ยื่นกุญแจบ้านให้หนึ่งดอก (ไม่มีกุญแจห้องพักให้ มีแต่กุญแจบ้าน) แกชี้ทางและอธิบายเป็นภาษาของแกอยู่สักพัก เมื่อเห็นพวกเรายังคงทำหน้างงอยู่ แกเริ่มพูดภาษาฝรั่งเศสที่พวกเราจับคำได้อย่างงูๆปลาๆ จนในที่สุดคงอดรนทนไม่ไหว จึงพาเดินนำพวกเราไปยัง Djemaa el Fna จตุรัสริมตลาดพื้นเมืองเก่ากลางเมืองอันลือชื่อ พร้อมชี้ชวนให้จำแลนมาร์คต่างๆระหว่างทาง เดินอยู่เกือบยี่สิบนาที ภาพความคึกคักของตลาดก็เผยตัวให้เห็น แกชี้บอกทางครั้งสุดท้ายก่อนแยกตัวเดินกลับไป (อะไรจะใจดีขนาดนั้น พาเดินมาเป็นกิโล!)
หลังจากที่เดินผ่านถนนหน้าจตุรัสที่เต็มไปด้วยรถม้าจอดรอนักท่องเที่ยวอยู่เต็ม พวกเราเดินมาถึงลานกว้างของจตุรัส Djemaa el Fna ลานกลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางของมาราเคชมาหลายศตวรรษ ซึ่งอดีตเคยเป็นลานประหารนักโทษมาก่อน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันจตุรัสแห่งนี้เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมเบอร์เบอร์ (ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในดินแดนแถบนี้) และอาหรับเข้าด้วยกัน ลานกว้างที่ฉันเห็นในคืนนั้นเต็มไปด้วยร้านหาบเร่แผงลอย ขายน้ำส้ม ถั่ว และผลไม้อย่างอินทผลัมและมะกอกเรียงเป็นแถว อีกด้านหนึ่งก็เต็มไปด้วยร้านขายอาหาร ควันคลุ้ง ตรงส่วนที่ปลอดจากร้านค้า ก็ถูกจับจองโดยนักแสดงข้างถนนบ้าง มีเกมส์การละเล่นต่างๆ มากมายแบบงานวัดบ้าง ตลอดจนถึงคนแสดงการโชว์งู อับดุลย์รักษาโรค สาวชาวเบอร์เบอร์นั่งเพ้นท์เฮนน่า พวกเรามองหาคนขายน้ำในชุดพื้นเมืองสีแดงสดที่มักเห็นอยู่ในหนังสือนำเที่ยวทั่วไป (ในสมัยก่อนคนขายน้ำชุดแดงนี้จะเร่ร่อนขายน้ำให้กับคนเดินทางในดินแดนแห้งแล้งแห่งนี้) แน่นอนว่าการถ่ายรูปพวกเขาต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน จนพวกเราค่อนข้างแน่ใจว่ารายได้หลักของพวกเขาไม่ใช่มาจากการขายน้ำอีกต่อไปแล้ว แต่มาจากการเป็นแบบให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปนั่นเอง (แพงเสียด้วย) คืนนี้ พวกเราได้แต่เดินวนดูจตุรัสแต่เพียงลานด้านนอกเท่านั้น ด้านหลังลานคือตลาดพื้นเมืองขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่าซุค (Souk) ที่พวกเรากะจะมาอีกทีกันในวันพรุ่ง คืนนี้ขอกลับไปกินทาจิ้น อาหารค่ำพื้นเมืองโมร็อคโคในบรรยากาศโรแมนติคภายในริยาดที่เจ้าของจัดเตรียมไว้ให้ก่อน ในตอนแรกพวกเรากะว่าจะนั่งรถม้ากลับเมื่อนึกถึงระยะทางที่เดินกันมา แต่พอเจรจาค่าโดยสารแล้ว พวกเราก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตายอมเดินกลับกันแต่โดยดี แม้ว่าจะต้องใช้เวลาถึงเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม
เช้าวันต่อมาที่พวกเราได้มีโอกาสเที่ยวในเมือง ทำให้ฉันได้เห็นภาพเมืองลือชื่อที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนี้มากขึ้น มาราเคชเคยเป็นเมืองหลวงของโมร็อคโคมาก่อน สร้างขึ้นโดยราชวงศ์อัลโมราวิด (Almoravid) ตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์อัลโมฮัด (Almohad) จนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ 13 วัฒนธรรมอิสลาม สถาปัตยกรรม เศรษฐกิจ การเมืองและการค้าเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงสองร้อยกว่าปีนี้ สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมอิสลามในยุคนั้นแห่งหนึ่งของเมืองคือมัสยิด Koutoubia ซึ่งเป็นมัสยิดที่ใหญ่โตที่สุดของมาราเคช มีหอคอยศักดิ์สิทธิ์ (Minaret) ที่สูงถึง 69 เมตร ก่อสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1184-1199 ใช้เวลาสร้างถึง 15 ปีโดยตั้งใจจะให้เป็นมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น หอคอยตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองใกล้ๆกับจตุรัสและตลาดซุค หอคอยศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดหอคอยอิสลามของโลก เป็นต้นแบบของมัสยิดอื่นๆ รวมถึงตึกสูงต่างๆมากมายในสเปนและยุโรปตะวันออก รวมไปถึงตึกสูงหลายๆตึกในอเมริกาด้วย หอคอยเชื่อมต่อกับอาคารมัสยิดและซากปรักหักพังบางส่วนของอาคารที่ถูกทำลายลงตามกาลเวลา ที่ได้รับการขุดค้นบูรณะแล้ว รอบๆโบราณสถานของมัสยิดแห่งนี้ยังมีสวนกุหลาบ ลานน้ำพุ สวนสาธารณะ อันเป็นบริเวณที่นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราสามารถพบเห็นต้นแบบแขกขายถั่ว เด็กชาวเมืองวิ่งเล่น และชาวเมืองออกมานั่งพักผ่อนกัน
เมืองมาราเคชถูกปล่อยปละละเลยไปกว่า 250 ปี เมื่อราชวงศ์ที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากนั้น ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองเฟส แต่ก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเมื่อราชวงศ์ซาเดียน (Saadian) ชนชาวเผ่าที่มีอำนาจขึ้นมาครอบครองดินแดนทางตอนใต้ของโมร็อคโค บูรณะมาราเคชขึ้นมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1551 การเยี่ยมชมสุสานซาเดียน ถือเป็นตัวแทนอย่างดีที่จะชื่นชมศิลปะวัฒนธรรมของยุคนี้ ตัวสุสานแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1578-1603 แต่ถูกปิดตายซ่อนเอาไว้เมื่อราชวงศ์ต่อมาขึ้นมาลบล้างอำนาจ ตัวสุสานได้รับการค้นพบอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1917 และได้รับการบูรณะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สุสานนี้เป็นที่ฝังศพของสุลต่านและคนในราชวงศ์ถึง 60 พระองค์ ยังไม่รวมถึงข้าราชบริพารและทหารรับใช้ที่ถูกฝังอยู่บนลานโล่งด้านนอก ตัวอาคารสุสานสร้างด้วยหินอ่อนจากเมืองคาราร่า อิตาลี ร่วมกับไม้สนซีดาร์และปูนขาวแกะสลัก ประกอบกับพื้นโมเซอิคที่จัดวางเป็นลวดลายเรขาคณิตอย่างสวยงามตามแบบศิลปะของโมร็อคโค การเข้าชมสุสานหลักด้านในเพื่อชื่นชมฝีมือการแกะสลักอันเลื่องลือนี้ จำเป็นต้องเข้าแถวเรียงหนึ่งต่อกันชมเพราะทางเข้าเป็นเพียงประตูแคบๆเท่านั้น และมีเวลาเพียงชื่นชมเพียงไม่กี่วินาทีเนื่องจากคิวต่อแถวที่ยาวเหยียดด้านหลัง บริเวณหลังคาสุสานยังสามารถมองเห็นนกกระสาขาว (White Stork) ตัวโตยืนเกาะเด่นเป็นสง่าให้เห็นกันกลางเมือง
เที่ยงวันนั้น พวกเราตัดสินใจไปกินอาหารที่แมคโดนัลด์ในเขตเมืองใหม่ของมาราเคช เนื่องจากเริ่มเบื่อกับอาหารพื้นเมืองโมร็อคโคที่กินกันมาหลายต่อหลายวันแล้ว เขตเมืองใหม่ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่นี้ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อโมร็อคโคตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงไม่น่าแปลกที่อารยธรรมยุโรปจะมีให้เห็นได้โดยทั่วไปในบริเวณนี้ การกินแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้ ทำให้พวกเราได้เห็นวัฒนธรรมของชาวโมร็อคโคในอีกลักษณะหนึ่ง คือวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่มีชนชั้นกลางและวัยรุ่นแต่งตัวทันสมัย แตกต่างจากการนุ่งเครื่องนุ่งห่มปกปิดหน้าตากันแบบในเขตเมืองเก่า ตัวอาหารเองก็แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านการกินได้อย่างชัดเจน ด้วยการปรุงรสชาติแบบอาหรับ ไม่มีหมูขาย และมีสัญญลักษณ์ฮาลาลที่ป้ายเมนูทุกอัน เป็นต้น
บ่ายวันนั้น พวกเราได้เยี่ยมชมพระราชวังอันสวยงามยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของมาราเคช Bahia Palace เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ให้กับ Ahmed Ibn Moussa แห่งราชวงศ์อาราวิด (Alawid) สร้างขึ้นโดยใช้ช่างฝีมือจากเมืองเฟส โดยตั้งใจจะให้เป็นพระราชวังที่ใหญ่โตที่สุดในสมัยนั้น ตัวพระราชวังประกอบด้วยห้องต่างๆ ถึง 160 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องได้รับการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป ว่ากันว่าความสวยงามหรูหราของแต่ละห้องขึ้นอยู่กับความโปรดของตัวเจ้าของปราสาทที่มีต่อภรรยาและนางสนมแต่ละนางที่อาศัยอยู่ในห้องนั้นๆ โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นหลังคา บานประตูไม้สนซีดาร์แกะสลัก กำแพงปูนขาวแกะสลัก กระเบื้องโมเซอิคสีอย่างสวยสดงดงาม สมกับความหมายของชื่อพระราชวัง Bahia ซึ่งแปลว่าความสวยงามเลิศเลอ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ห้องรับรอง มีสวนหย่อมขนาดเล็กระหว่างห้อง ลานน้ำพุ รวมถึงลานกว้างขนาดใหญ่อีกด้วย การเข้าชมพระราชวังแห่งนี้ สามารถเห็นศิลปะอิสลาม-โมร็อคโคได้อย่างเต็มอิ่ม แต่ต้องระวังอย่างยิ่งหากแบกเอากล้องตัวใหญ่ๆ แบบมืออาชีพเข้าไป เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้ามาห้าม (อีกนัยหนึ่งคือขอเก็บเงิน) โดยทันที
เย็นวันนั้น พวกเรากลับมาที่ตลาดพื้นเมือง (Souk) และจตุรัสอันลือชื่ออีกครั้ง คราวนี้เรามาถึงก่อนพระอาทิตย์ตก เพื่อขึ้นไปนั่งจิบชามินต์พื้นเมือง บนดาดฟ้าอาคารรอบๆ ที่สามารถมองเห็นเขตเมดิน่า เมืองเก่าของเมือง ร้านค้า ตลาดและลานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาแห่งนี้อย่างเต็มที่ รอเวลาอาทิตย์อัศดงริมขอบภูเขาแอตลาสที่เห็นอยู่ไกลๆ แสงไฟจากร้านค้าเริ่มสว่างไสวมากขึ้น เมื่ออาทิตย์เริ่มอ่อนแสง อากาศเริ่มเย็นลงทันทีเมื่อแสงหมด พวกเราขยับตัวลงไปผจญภัยในตลาดพื้นเมืองที่มีร้านค้ามากมายดั่งเขาวงกตด้านล่าง การซื้อของในโมร็อคโคนั่น การต่อรองราคาอย่างเมามันเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะราคาที่พ่อค้าบอกมานั้นอาจสูงกว่าราคาจริงอย่างไม่น่าเชื่อเพื่อให้เกิดการเจรจา ต่อรองกัน หลังจากนั้นจะตาดีได้ตาร้ายเสียอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับศิลปะในการต่อรองเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุดคือควรมีราคาของอยู่ในใจแล้ว เพราะทันทีที่พ่อค้าบอกราคาแรกมา และเราส่ายหัว เขาจะถามกลับทันทีว่าเราให้เท่าไร และดูจากราคาที่เราบอกไปว่าจะขายให้ได้หรือเปล่า ของบางอย่างพวกเราพบว่าพ่อค้าบอกราคามาสูงกว่าความเป็นจริงเป็นสิบเท่า นอกจากนี้ จะมีคนคอยเดินตามตื้อให้ซื้อของตลอดเวลา ถ้าเราเข้าร้านนั้นแล้วยังตกลงราคากันไม่ได้ บางทีจะถูกเดินตามต่อรองราคาอยู่เป็นครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี พวกเราพบว่าวัฒนธรรมการต่อรองราคาแบบนี้ เป็นการสร้างสัมพันธภาพได้อย่างดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะนอกจากการต่อรองราคาแล้ว คำสนทนาจะปนเปไปกับการคุยเล่น ถามไถ่ความเป็นมา และบางครั้งถึงกับแนะนำสินค้าเจ้าอื่นๆให้ (แถมพาเดินไปหาของที่เราต้องการให้อีกด้วย บางคนยังช่วยต่อราคาให้อีก โดยเฉพาะคนที่พอจะสื่อสารกับพวกเราเป็นภาษาอังกฤษได้) ตลาดพื้นเมืองของเมืองมาราเคชนี้ ว่ากันว่าเป็นตลาดพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของโมร็อคโค นอกจากของพื้นเมืองต่างๆเช่น ถ้วยชามเซรามิค หนังอูฐ เสื้อผ้า เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก พรมพื้นเมือง โลหะฉลุลาย เครื่องทองเหลืองและของอื่นๆอีกมากมายแล้ว ยังมีของแบกะดินแปลกๆ ยาโดป สมุนไพรวางขายอยู่บนลานกว้างในจตุรัสด้วย นอกเหนือไปจากของกินต่างๆมากมายที่กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น พวกเราลองเดินห่างออกมาจากตลาดที่มีแต่นักท่องเที่ยวออกไปสักนิด เข้าไปดูร้านขายของพื้นเมืองที่เขาขายให้กับชาวบ้านด้วยกัน จะเห็นได้ว่าราคาแตกต่างกันลิบลับ แต่ที่สำคัญร้านที่ขายของทั่วไปให้ชาวโมร็อคโคด้วยกันใช้เองนี้ มักจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย (เช่นเดียวกับชาวเมืองทั่วๆไป) การเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสไปสักนิดก่อนไปเที่ยวประเทศนี้ จึงน่าจะใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ค่ำนั้น พวกเรานั่งรับประทานอาหารพื้นเมืองในร้านหรูริมจตุรัส พร้อมๆกับเฝ้ามองความเป็นไปของผู้คนในละแวกนั้นอย่างไม่รู้เบื่อ ก่อนเตรียมบอกลาเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ส่วนตัวและรุ่มรวยอารยธรรมแห่งนี้ในวันรุ่งขึ้น… ในเมื่อชื่อเมืองมาราเคช (Marrakesh) เป็นที่มาของชื่อประเทศ Morocco รวมถึงชื่อเรียกประเทศนี้ใน ภาษาต่างๆอีกหลายชื่อ เช่น Maroc, Morokko, หรือ Marruecos เพราะชื่อประเทศเหล่านี้มาจากภาษาละตินว่า “Morroch” อันเป็นชื่อเรียกของมาราเคชในยุคกลาง การจะเข้าใจและเรียนรู้ถึงอารยธรรมที่แท้จริงของประเทศฮิปๆอย่างโมร็อคโคนี้ คงเป็นไปได้ยากหากมิได้มาเยี่ยมเยือนเมืองหลวงเก่าสองสมัยของประเทศอย่างเมืองมาราเคชแห่งนี้