












หลังจากเที่ยวเมืองอีร์คุสตค์ (Irkutsk) กันมาในฉบับที่แล้ว คราวนี้ฉันขอพาออกนอกเมืองไปเที่ยวยังส่วนอื่นของไซบีเรียกันบ้าง แน่นอนว่าถ้าลองดั้นด้นกันมาถึงกึ่งกลางไซบีเรียตะวันออกนี้แล้ว คงหนีไม่พ้นการได้ไปเยือนทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่อันขึ้นชื่อของไซบีเรียอันได้แก่ทะเลสาบไบคาล (Baikal Lake) ส่วนที่อยู่ใกล้ตัวเมืองอีร์คุสตค์ที่สุดคือการเดินทางไปตามถนนที่ลัดเลาะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองตามแนวแม่น้ำอังการา (Angara) ที่มุ่งไปสู่ตัวทะเลสาบที่เป็นที่ตั้งของเมืองท่องเที่ยวเล็กๆริมทะเลสาบที่ชื่อว่า ลิสต์เวียนก้า (Listvyanka)
ฉันเดินทางไปตามถนนที่เรียกว่า Baikal Highway ถนนลาดยางอย่างดีให้รถวิ่งฉิวมุ่งสู่ทะเลสาบ ดูจากแผนที่แล้ว เส้นทางนี้ยาวประมาณ 70-80 กิโลเมตร ซึ่งจะขึ้นลงเขาเป็นระยะๆ ผ่านป่าไทก้าที่มีต้นสนเป็นไม้หลักสลับกับต้นเบิร์ชและพันธุ์ไม้พุ่มเมืองหนาวอื่นๆ หรือไม่ก็เลาะแม่น้ำเป็นบางช่วง ว่ากันว่าถนนราดยางเส้นนี้สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่อเตรียมการต้อนรับการประชุมร่วมระหว่างประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์แห่งสหรัฐอเมริกา กับนิกิตา ครุสซอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น แต่ในที่สุดก็มีเหตุให้การประชุมนั้นยกเลิกไป ชาวไซบีเรียจึงได้ประโยชน์จากถนนเส้นนี้ จากที่แต่เดิมต้องใช้เวลาเดินทางกันเป็นวันๆ
ประมาณครึ่งค่อนทางจากเมืองอีส์คุสตค์ ฉันหยุดแวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งทัลต์ซี (Taltsy) ที่จัดแสดงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองไซบีเรีย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กินพื้นที่กว้างขวาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ มีการนำบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่สร้างจากไม้สมัยเก่าตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17-19 มาจากหมู่บ้านพื้นเมืองไซบีเรียในพื้นที่ต่างๆมาจัดแสดงไว้รวมกัน ซึ่งค่อนข้างแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่นอย่างฉัน โดยจัดแสดงเป็นโซนหมู่บ้านชาวรัสเซียสมัยก่อน ชาวพื้นเมืองเบอร์ยัค (Buryat), ชาวเอเว้นค์ (Evenk)และชาวโทฟาลาร์ส (Tofalars) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของไซบีเรียตะวันออกที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆทะเลสาบไบคาล มีทั้งบ้านของช่างทอผ้า ช่างทำขวดแก้ว ช่างตีเหล็ก โรงเรียนและโบสถ์ แต่ที่ดูโดดเด่นมาก ดูเหมือนจะเป็นคล้ายๆกำแพงเมืองและมีประตูเมืองเป็นป้อมปราการสร้างจากไม้ซุงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Spasskaya Tower of Ilimskiy Fort ซึ่งเป็นอาคารโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1667 นอกจากอาคารไม้ต่างๆแล้ว ยังมีชิงช้าไม้ขนาดใหญ่ที่ทำจากท่อนซุงทั้งท่อน และการละเล่นอื่นๆของชาวพื้นเมืองให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองเล่น ไปจนถึงกระโจมของชาวพื้นเมืองไซบีเรียที่คล้ายคลึงกับของชาวมองโกล ซึ่งจริงๆแล้วชาวพื้นเมืองบางเผ่าก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือญาติถึงกันเนื่องจากดินแดนอยู่ติดกัน (ก่อนที่จะมีการแยกประเทศตามเส้นแบ่งเขตแดนในปัจจุบัน) โดยได้จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยและอุปกรณ์ในการใช้ชีวิตแบบต่างๆในสมัยก่อนให้ได้ชมภายในแต่ละอาคาร รวมทั้งขายของที่ระลึกต่างๆด้วย
เมื่อพูดถึงบ้านกระโจมของชาวพื้นเมืองแล้ว ฉันขอแทรกประสบการณ์ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านชามาน (Shaman) หรือถ้าเรียกกันแบบไทยๆก็คือหมอผีของหมู่บ้าน ที่เป็นเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณและหมอรักษาโรคของชาวพื้นเมืองเบอร์ยัค ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ๆกับทะเลสาบไบคาลไว้ ณ ที่นี้ บ้านของชามานคนนี้สร้างแบบสมัยใหม่ที่ดูค่อนข้างถาวรแล้ว (ไม่ใช่แบบชั่วคราวและเร่ร่อนไปเรื่อยๆแบบสมัยก่อน) แต่ยังคงสร้างเป็นทรงกลม หลังคาสูง มีช่องแปดเหลี่ยมให้แสงผ่านตรงกลางแบบกระโจม (Ger) อยู่ ตรงกลางบ้านมีหินสามก้อนวางก่อเป็นเหมือนเตาผิง ตัวพ่อหมอจะนั่งอยู่ทางทิศเหนือ โดยผู้หญิงต้องนั่งทางซ้าย และผู้ชายต้องนั่งทางขวาของพ่อหมอเสมอ (แม้แต่ตอนถ่ายรูปรวม) รูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆจะวางไว้ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งสำหรับพ่อหมอคนนี้ เขาได้มีโอกาสเดินทางไปพบปะชามานของชาวเผ่าต่างๆจากทั่วโลกมาแล้ว จึงมีสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าต่างๆตั้งแสดงไว้ด้วย หลังจากพูดคุยซักถามเรื่องราวต่างๆแล้ว (ซึ่งฉันขอละไว้ไม่เขียนถึงรายละเอียด ณ ทีนี้) เขาได้พานั่งรถออกไปชมเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นทรงปิระมิดในทุ่งกว้างไม่ไกลจากทะเลสาบและบ้านของพ่อหมอเท่าไรนัก โดยเอาโล่ห์หนังกวางออกมาแสดงพิธีกรรมหน้าเสาไม้ที่ผูกผ้าหลากสี (แสดงถึงบริเวณศักดิ์สิทธิ์) หน้าเนินเขาปิระมิดนี้ให้ได้ชม จากนั้นก็ยังพาไปดูภาพเขียนโบราณบนหินกลางทุ่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะมีอายุตั้งแต่ 3,000 -10,000 ปีมาแล้วอีกด้วย
ย้อนกลับมาที่เส้นทางไบคาลไฮเวย์ต่อ หลังจากชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแล้ว ฉันได้เดินทางต่อไปยังเมือง Listvyanka ตามที่ได้เกริ่นไว้แล้วในตอนต้น เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำ ซึ่งความจริงน่าจะเรียกว่าต้นน้ำของแม่น้ำอังการา (แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลออกจากทะเลสาบไบคาล) มากกว่า ตรงกลางแม่น้ำที่ติดกับทะเลสาบมีหิน Shaman Rocks ตั้งอยู่ ซึ่งชาวไซบีเรียเองก็มีตำนานเล่าถึงสาเหตุที่ทำไมอยู่ดีๆมีกองหินนี้อยู่กลางแม่น้ำว่าเป็นหินที่เทพเจ้าไบคาลใช้เพื่อที่จะพยายามหยุดลูกสาวที่ชื่ออังการา (Angara) ไม่ให้หนีไปจากทะเลสาบ (ซึ่งสุดท้ายก็หยุดไม่อยู่ แม่น้ำอังการาจึงได้ไหลออกจากทะเลสาบไบคาลไป)
หลังจากเห็นตัวทะเลสาบไบคาลกว้างใหญ่อันลือชื่อได้ไม่นาน ถนนก็หักเลี้ยวไปตามทะเลสาบไปทางซ้าย อันเป็นที่ตั้งของเมือง ฉันแวะที่พิพิธภัณฑ์ไบคาล (Baikal Museum) ที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับผืนน้ำแห่งนี้ก่อน จริงๆแล้วสถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย หน่วยงานไซบีเรีย ที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบเพียงแห่งเดียวในรัสเซีย สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1993 โดยอาคารส่วนหนึ่งจัดแสดงประวัติความเป็นมาของทะเลสาบซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วิวัฒนาการของทะเลสาบแห่งนี้แสดงให้เห็นว่าทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้เป็นทะเลสาบที่เก่าแก่ที่สุด (25 ล้านปี) และลึกที่สุด (ส่วนที่ลึกที่สุด 1,637 เมตร) และเกือบจะใหญ่ที่สุด (แพ้ทะเลสาบแคสเปี้ยน) ของโลก มีรูปร่างยาวรี โดยมีความยาวถึง 636 กิโลเมตร (เกือบๆกรุงเทพฯ-เชียงใหม่) และส่วนที่กว้างที่สุดกว้างเพียง 80 เมตร ที่สำคัญคือเป็นที่กักเก็บน้ำจืดถึง 20% ของน้ำจืดในโลกใบนี้ (80% ของรัสเซีย) โดยมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำ 330 กว่าสายที่ไหลลงสู่ทะเลสาบ และมีเพียงแม่น้ำสายเดียวที่ผันน้ำออกจากทะเลสาบตามที่ได้กล่าวไปแล้ว น้ำที่นี่มีความใสเกือบเป็นอันดับต้นๆของโลก ในหน้าหนาวผิวน้ำจะเป็นน้ำแข็งหนามากกว่าหนึ่งเมตร ในขณะที่ฤดูร้อนน้ำจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส ที่น่าตื่นเต้นไปยิ่งกว่านั้น คือทะเลสาบแห่งนี้มีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 3,500 ชนิด โดยที่ 70-80% เป็นชนิดพันธุ์ที่พบแต่ที่นี่เพียงที่เดียว (Endemic) ที่เด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ นั่นก็คือแมวน้ำไบคาล (Baikal Seal) ตัวกลมบ๊อกน่ารักหรือที่เรียกในภาษาถิ่นว่าเนอร์ปา (Nerpa) ไม่มีใครรู้ว่าบรรพบุรุษของมันย้ายถิ่นมาจากน้ำเค็มมาที่นี่ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพันธุ์ปลาท้องถิ่นของทะเลสาบไม่ว่าจะเป็นปลาสเตอร์เจียน (สัตว์สงวน ห้ามจับ) ปลาโอมุล (Omul) ปลาเศรษฐกิจที่กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของไซบีเรีย ปลา Bullhead ที่เป็นญาติกับปลาในแคลิฟอร์เนีย และปลาอื่นๆอีกหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งนอกจากสัตว์สต๊าฟต่างๆแล้ว ยังมีของจริงตัวเป็นๆจัดแสดงอยู่ในส่วนของอควาเรี่ยมอีกด้วย (รวมถึงแมวน้ำแม่ลูก) โดยเขาภูมิใจนำเสนอว่าสัตว์ที่จัดแสดงที่นี่ได้รับการถ่ายเทน้ำจากทะเลสาบโดยตรง นอกพิพิธภัณฑ์ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ได้ชื่นชมพันธุ์ไม้พื้นเมืองต่างๆกว่า 400 ชนิดที่ขึ้นอยู่รอบทะเลสาบอีกด้วย
มาถึงเมืองริมทะเลสาบอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเดินชมตลาดพื้นเมืองของท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนสินค้าหลักของที่นี่คือปลาจากทะเลสาบนั่นเอง ฉันได้ลองซื้อปลาชนิดที่เป็นอาหารหลักของแมวน้ำที่นี่มาลอง (ราคาแพงมากเมื่อเทียบกับปลาอื่น) อันได้แก่ปลาตัวเล็กๆที่เรียกว่า Golomyanka ซึ่งว่ากันว่ามีไขมันมากกว่าครึ่งตัว ทำให้ใช้ชีวิตในน้ำเย็นจัดได้อย่างสบายๆ… บรรยากาศริมทะเลสาบของเมืองในวันหยุดสุดสัปดาห์เต็มไปด้วยชาวรัสเซียมากมายมานั่งๆนอนๆอาบแดดไปตลอดแนวหาดหินที่น้ำเย็นเจี๊ยบ อีกด้านหนึ่งของถนนเป็นที่ตั้งของที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวตลอดแนวยาวสลับกับร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก โดยด้านในลึกเข้าไปเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน…ระหว่างหันมองไปมาระหว่างเมืองกับทะเลสาบ ทันใดนั้น ฉันก็ได้เห็นหัวดำมะเมื่อมๆโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ไม่ผิดแน่มันคือแมวน้ำไบคาลนั่นเอง…ฉันยิ้มกับตัวเองด้วยความลิงโลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นแมวน้ำตัวเป็นๆในธรรมชาติ นอกจากที่ได้เห็นความน่ารักของมันในพิพิธภัณฑ์มาแล้ว…
ในยามที่ไม่มีหิมะปกคลุมเช่นนี้ รถกระเช้าที่สำหรับใช้ขึ้นไปเล่นสกีในฤดูหนาวของเมือง ได้กลายเป็นพาหนะที่ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างฉัน ไม่ต้องเดินขึ้นเขาให้เหนื่อยไปยังจุดชมวิวหินเชอร์สกี้ (Cherskiy Stone) (ตั้งชื่อตามนักวิจัยที่เข้ามาศึกษาทะเลสาบแห่งนี้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว) กระเช้าพาฉันข้ามทุ่งหญ้าบนเขาที่มีดอกไม้สีต่างๆบานสลอนขึ้นไปบนเขา เมื่อถึงสถานีปลายทางก็ใช้แรงขาเดินต่อไปอีกไม่ไกลนักก็ถึงจุดชมวิวทะเลสาบจากบนที่สูง มองเห็นวิวทิวทัศน์เบื้องล่างของแนวภูเขาและทะเลสาบได้อย่างงดงาม ฉันเฝ้ามองทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่สะท้อนเงาแดดอยู่ตรงหน้า พรางคิดในใจว่าอีกไม่นานฉันจะได้ออกไปสำรวจทะเลสาบไบคาลแห่งนี้อย่างใกล้ชิดแล้วสินะ… (ติดตามต่อตอนหน้า)