Maroc: The Sahara

ก่อนหน้าที่จะมาที่โมร็อคโค ประเทศขนาดไม่ใหญ่ไม่โตทางตะวันตกของแอฟริกาเหนือติดมหาสมุทรแอตแลนติคแห่งนี้ หลายต่อหลายคนบอกฉันว่า นอกจากตลาดพื้นเมืองและซากโบราณสถานต่างๆแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการขี่อูฐท่องทะเลทรายซาฮาร่า แม้ว่าจะเป็นเพียงการเยี่ยมเยือนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของทะเลทรายที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ก็ตาม แต่ประสบการณ์บนหลังอูฐและเนินทรายอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ก็เรียกได้ว่าเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่ยากที่จะลืมเลือนได้

ฉันมาถึงเมืองเออร์ฟูด (Erfoud) เอาตอนเย็นย่ำ หลังจากนั่งรถปุเลงๆ ผ่านเทือกเขาแอตลาสมาจากเมืองเฟส (Fez) อันลือชื่อ เป็นเวลากว่าแปดชั่วโมง ครอบคลุมระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตร แม้ว่าเทือกเขาตามเส้นทางที่ผ่านมาจะมีทิวทัศน์ที่แปลกตาน่ารื่นรมย์มิใช่น้อย แต่บ้างส่วนก็ดูแห้งแล้งเหลือเกินในความรู้สึกของคนที่มาจากดินแดนเขตร้อนชื้นอันชุ่มฉ่ำของเมืองไทย ต้นอินทผลัม หนึ่งในพืชที่พบได้มากที่สุดในประเทศนี้ มีให้เห็นเป็นระยะๆ สลับกับทุ่งหญ้าแห้งๆและฝูงแพะฝูงแกะของชาวบ้าน เออร์ฟูด เหมือนเป็นเมืองโอเอซิสขนาดย่อมๆ ที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายอย่างไรอย่างนั้น เมื่อรถวิ่งลัดเลาะลงจากเทือกเขา ผ่านเข้ามายังบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบที่มีแนวต้นอินทผลัมขึ้นเป็นแนวขนาบถนนที่ผ่านเข้าเมือง รถเลี้ยวเข้าจอดข้างหน้าโรงแรมคาสบา ซาลูก้า ซึ่งดูภายนอกเหมือนเป็นป้อมที่ก่อสร้างจากดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางพื้นที่อันแห้งแล้ง จริงๆแล้ว คำว่าคาสบา (Kasbah) เป็นชื่อของเมืองป้อมปราการสมัยก่อนของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่แห้งแล้งแถบนี้ ภายในกำแพงดินของคาสบาโบราณจะมีบ้านเรือน โรงเรียน ที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและป้อมปราการที่ทำการของเจ้าผู้ครองคาสบา เปรียบเสมือนเป็นชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีแทบทุกอย่างพร้อมสรรพอยู่ในตัว แต่ในยุคที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูแบบนี้ คาสบาถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกโรงแรมขนาดใหญ่ที่สร้างจากดินและฟางตามลักษณะการก่อสร้างคาสบาดั้งเดิม โดยด้านในมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน เมื่อฉันเดินผ่านประตูดินฝ่าความร้อนเข้าไปด้านใน ก็ต้องตะลึงกับการตกแต่งของโรงแรมที่มีแผ่นหินอ่อนมีซากฟอสซิลสวยงามขนาดใหญ่ตกแต่งอยู่เต็มล็อบบี้ เมื่อเดินลึกเข้าไปก็พบกับสระว่ายน้ำ และการตกแต่งที่นำเอาของพื้นเมืองต่างๆมาประดับประดาเต็มบริเวณลานกลางโรงแรม ห้องพักแทรกตัวอยู่ตามตึกดินสูง 2-3 ชั้น ที่สร้างล้อมรอบเป็นแนวลึกเข้าไปด้านใน ภายในห้องพักตึกดินกลับเย็นสบาย หน้าต่างเปิดออกไปด้านนอกคาสบาที่เป็นทะเลทรายอันว่างเปล่าที่มีบ้านเป็นหย่อมๆ ในห้องประดับประดาอย่างน่ารักสวยงามด้วยของพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นเครื่องสาน โคมไฟฉลุลาย หม้อไห ไม้ และที่ขาดไม่ได้คือหินอ่อนที่มีซากฟอสซิลสวยงามทำเป็นอ่างล้างหน้า ถ้าเป็นเมืองไทย น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบูติครีสอร์ทหรูๆแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

ไม่น่าแปลกที่หินอ่อนฟอสซิลถูกนำมาประดับประดาอย่างฟุ่มเฟือยในโรงแรมแห่งนี้ เนื่องจากบนเทือกเขาอันแห้งแล้งที่ห่างจากตัวเมืองเออร์ฟูดไปไม่เกิน 20 กิโลเมตร ถือเป็นแหล่งฟอสซิลที่สำคัญ มีการขุดพบและแปรรูปเป็นสินค้าอันลือชื่อของพื้นที่ ฉันมีโอกาสได้เข้าชมโรงงานทำหินอ่อนฟอสซิลนี้ในตัวเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อธิบายขั้นตอนการทำอย่างเป็นกันเองตั้งแต่การนำหินอ่อนที่พบฟอสซิลซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟอลซิลของสัตว์ทะเลในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) เมื่อประมาณ 480 ล้านปีที่แล้ว และยุคดีโวเนียน (Devonian) เมื่อประมาณ 360 ล้านปีที่แล้ว เป็นซากสัตว์ทะเลโบราณที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัวอย่าง ไทรโลไบต์ หอยงวงช้างและเปลือกหอยอื่นๆ หรือไครนอยด์ ที่มีรูปร่างคล้ายดอกไม้ทะเล รวมไปถึงเขี้ยวและฟันฉลามหลากหลายขนาด มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งบ้านในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะทำเป็นแผ่นไว้ตั้งโชว์เฉยๆ เป็นอ่างล้างหน้า โต๊ะ กรอบกระจก หรือที่ใส่ขวดไวน์ รวมไปถึงขวดไวน์ และอื่นๆ สนนราคาก็แตกต่างกันไปตามความสมบูรณ์และสวยงามของฟอสซิลชิ้นนั้นๆ รวมไปถึงคุณค่าที่นักสะสม หรือผู้รักในโบราณวัตถุเหล่านี้จะมองกันไป

หลังจากคืนวันอันสะดวกสบาย อาหารการกินครบครันในคาสบา ฉันและเพื่อนก็พร้อมที่จะออกไปนอนกลางดินกินกลางทะเลทรายกันหนึ่งคืนเต็มๆ รถขับเคลื่อนสี่ล้อที่พวกเรานัดไว้มารับที่โรงแรม ก่อนแล่นตะบึงออกนอกเมืองตามถนนลาดยางผ่านเนินเขาหินแห้งแล้งที่เต็มไปด้วยซากฟอสซิล วิ่งไปได้สักพัก รถก็หัวเลี้ยวออฟโรด วิ่งห้อไปตามทะเลทรายอันแห้งแล้งและว่างเปล่า ทะเลทรายบริเวณนี้เป็นที่ราบ เต็มไปด้วยทรายและก้อนหิน ก้อนกรวดดำๆ ไปตลอดทาง มีเห็นแนวบ่อน้ำบาดาลที่ทางการทำไว้เป็นระยะๆ รถวิ่งฝุ่นตลบไปได้ประมาณ 45 นาที พวกเราก็มาถึงขอบทะเลทรายในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Sand Dune ซึ่งก็คือเนินทรายละเอียดพอกพูกตามแรงลม เป็นระลอกคลื่นขึ้นๆลงๆ เรียกว่าเป็นทะเลทรายจริงๆ แบบที่พวกเราเคยจินตนาการกันไว้ในใจหรือเคยเห็นในสื่อต่างๆ ที่ขอบทะเลทรายที่พวกเราไปถึงเป็นที่ตั้งของคาสบา (ในที่นี้คือโรงแรม) ขนาดหย่อมๆอีกแห่งหนึ่งที่พวกเราใช้เป็นที่ตั้งตัวครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นหลังอูฐ ออกเดินทาง บางส่วนของพวกเราเลือกที่จะนอนที่คาสบาแห่งนี้รอ โดยขอขี่อูฐออกไปเดินเล่นใน Sand Dune ใกล้ๆ ประมาณ 45 นาทีเป็นประสบการณ์ แต่ฉันและพรรคพวกอีกส่วนหนึ่ง เลือกที่จะขึ้นหลังอูฐออกเดินทางเป็นคาราวานเล็กๆ ออกไปกลางระลอกเนินทรายอันว่างเปล่าแห่งนี้เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อไปพักนอนในเต๊นท์แบบพื้นเมืองที่โอเอซิสเล็กๆ แทน บริเวณพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเนินทรายอันกว้างใหญ่ ที่ภาษาอาหรับเรียกว่าเอิร์ก (Erg) แห่งนี้มีชื่อว่าเอิร์กเชบบิ (Erg Chebbi) ซึ่งเป็นเอิร์กแห่งเดียวในโมร็อคโค อันเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮาร่า ขนาดของเอิร์กแห่งนี้มีความยาวประมาณ 22 กม. ตามแนวเหนือใต้ และกว้างประมาณ 5 กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเออร์ฟูด ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชายแดนแอลจีเรียเท่าไรนัก (ประมาณ 50 กิโลเมตร) ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนเดียวของทะเลทรายซาฮาร่าอันกว้างใหญ่กว่า 9 ล้านตารางกิโลเมตร (เท่าๆ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่ครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกาเหนือไล่จากทะเลแดงทางทิศตะวันออก ยื่นไปถึงบางส่วนของขอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือ และขอบมหาสมุทรแอตแลนติคทางทิศตะวันตก ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าซาฮาร่าจะมีเอิร์กอยู่หลายแห่ง แต่รวมกันแล้วก็ไม่ถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่เกือบ 80% จะเป็นที่ราบโล่งเป็นกรวดหินแห้งแล้ง ยอดเขาสูงแห้งผาก หรือไม่ก็เป็นที่ราบที่ปกคลุมด้วยเกลือเสียมากกว่า

พวกเราเริ่มขึ้นขี่อูฐที่ถูกผูกต่อกันเป็นแถวตามจำนวนคน โดยมีไกด์นำทางเป็นชาวเบอร์เบอร์ (ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้)ใส่เสื้อคลุมสีฟ้าสด เผ่า Blue Men หน้าตาคมเข้มชื่อมุสตาฟา คอยให้ความช่วยเหลือ พวกเราออกเดินทางตอนเย็นย่ำแดดร่มลมตก เพื่อจะได้ไม่ร้อนมาก แต่หลังจากออกเดินเข้าสู่เอิร์กได้ไม่นาน กลับมีลมกรรโชกแรง คล้ายๆพายุทรายขนาดย่อมๆ พัดพาเอาฝนและทรายมากระทบร่างกายตลอดเวลา มุสตาฟาดูจะไม่สะทกสะท้านอะไรนัก รวมไปถึงเจ้าอูฐอาหรับทั้งหลายที่พวกเราขึ้นขี่อยู่ด้วย อาจเป็นเพราะพวกมันได้ผ่านวิวัฒนาการมาให้เหมาะสมกับพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขนตาดก เปลือกตาหนาปกป้องนัยน์ตาจากฝุ่นทราย กล้ามเนื้อใบหน้าที่บังคับให้ปิดเปิดรูจมูกได้ตามใจ ฝ่าเท้ากว้างและหนา ช่วยให้ไม่จมลงไปในทราย รวมไปถึงขนกระเซิงช่วยป้องกันอันตรายเมื่อมีทรายปลิวมาประทบ และเป็นฉนวนกันความร้อนอย่างดี อย่างไรก็ตาม อากาศในทะเลทรายย่อมแปรปรวนอยู่เสมอ หลังจากทนฝ่าพายุได้ไม่นาน ฟ้าก็เปิด แดดส่องกระทบเนินทราย ที่บางแห่งสูงใหญ่เกิน 20-30 เมตร พระอาทิตย์เริ่มลดต่ำกว่าเนินทรายเป็นบางขณะ ข้างหน้าพวกเราก็ยังเป็นระลอกเนินทรายเวิ้งว้างสีทองต่อไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ฉันเริ่มฉุกใจถามมุสตาฟาที่เดินจูงอูฐในชุดฟ้าที่ตัดกับผืนทรายสีทองสวยงามไปว่า “จำทางได้อย่างไร” เขาตอบว่า “ทุกอย่างอยู่ที่นี่ (มือชี้ไปที่หัว) และที่นี่ (ชี้ไปที่หัวใจ) เพราะเขาเกิดและเติบโตที่นี่” เอิร์กแห่งนี้ไม่มีต้นไม้ใดๆให้เห็น นอกจากหญ้าเตี้ยที่ขึ้นเป็นหย่อมๆในบางพื้นที่เท่านั้น จนเมื่อสุภาพบุรุษในคณะเริ่มออกปากครวญครางถึงความเจ็บปวดจากการขี่อูฐเกือบๆสองชั่วโมงที่ผ่านมา มุสตาฟาก็พาพวกเราเดินพ้นเนินแห่งหนึ่งเผยให้เห็นกระโจมเต๊นท์แบบเบอร์เบอร์ตั้งอยู่เป็นหย่อมๆ มีต้นอินทผลัมขึ้นอยู่ทั้งหมด 5 ต้นเท่าที่ฉันนับได้ ริมเนินทรายสูงใหญ่เหมือนเป็นกำแพงตระหง่านอยู่ทางด้านหนึ่ง โอเอซิสแห่งนี้คือที่พักของพวกเราในคืนนี้ โต๊ะถูกนำมาตั้งกลางทรายหน้าเต๊นท์ พร้อมมีพรมปูโดยรอบให้พวกเราได้นั่ง ชามินต์หรือที่มุสตาฟาบอกว่าเป็นวิสกี้เบอร์เบอร์ และอาหารเย็นแบบพื้นเมือง (ทาจิ้นไก่) ถูกนำมาเสริฟ เมื่ออาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า อากาศก็เริ่มเย็นสบาย วงเสวนาตอนเย็นย่ำจนถึงค่ำวันนั้นอยู่ภายใต้แสงดาวระยิบระยับบนฟ้า ห้อมล้อมด้วยผืนทรายอันกว้างใหญ่ โดยมีวิสกี้เบอร์เบอร์เป็นเครื่องบรรเทาความหนาวที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ากลางทะเลทรายแบบนี้ ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีห้องส้วมให้พวกเราใช้ ถึงเวลาก็ไปหาที่โล่งๆ เหมาะๆกลางพื้นที่อันกว้างใหญ่นี้กันเอาเอง ในเต๊นท์พื้นเมืองผ้าหนาเตอะสีน้ำตาล มีเครื่องนอนให้ครบครัน ปูอยู่บนพรม แต่เต็มไปด้วยทราย คืนนั้น ฉันได้ยินเสียงนกหรือสัตว์ทะเลทรายบางอย่างร้อง มีลมกรรโชกพัดเอาทรายที่ติดค้างอยู่ตามผนังเต๊นท์หล่นใส่ตัว แต่ก็นอนหลับได้อย่างสบายและอบอุ่น

เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พวกเรารีบรุดออกจากเต๊นท์ ไต่ขึ้นเนินสูงใกล้ๆ เพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้นพ้นเนินกลางทะเลทราย และได้รับรู้กันถ้วนหน้าว่าการเดินขึ้นเนินทรายมันยากลำบากขนาดไหน เวลาที่ก้าวเท้าทีหนึ่งจมทรายไปถึงหน้าแข้ง อย่างไรก็ดี แม้จะขึ้นไปได้ไม่ถึงยอดเนินสูงสุด เมื่อแสงเช้าส่องกระทบ ผืนทรายสีทองตุ่นๆก็เปลี่ยนเป็นสีส้มแดงอย่างสวยสดงดงาม มันเป็น “ดินแดนแห่งความงดงามอันไร้ประโยชน์ ทว่า ไม่อาจหาที่ใดมาทดแทนได้” ตามที่อัลแบร์ กามู นักเขียนมีชื่อชาวฝรั่งเศส ที่เกิดในแอลจีเรีย ได้เคยเขียนบรรยายถึงดินแดนแห่งหนึ่งในทะเลทรายซาฮาร่าแห่งนี้ไว้จริงๆ …เช้าวันนั้น มุสตาฟาเตรียมอาหารเช้าแบบง่ายๆ และเริ่มพาอูฐเดินยืดเส้นยืดสาย ก่อนพานำพวกเราขึ้นขี่อูฐเดินกลับไปยังคาสบาริมเอิร์กที่พวกเราจากมาเมื่อวันวาน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s